ครูพันธุ์ใหม่ ไม่ควรติดกรอบเกินไป จนเป็นหุ่นยนต์สอนหนังสือ


ผมอยากเห็นครูพันธ์ใหม่เป็นครูมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์สอนหนังสือครับ

     อังคารที่แล้วว่าจะไปพบปะนักศึกษาฝึกสอนเอกภาษาอังกฤษ 3 คนที่รร.มัธยมวัดบึงทองหลาง  แต่ร่างกายไม่อำนวย  สุขภาพยังแย่อยู่ก็เลยเบี้ยวไม่ได้ไป

     พูดถึงเรื่องการนิเทศนักศึกษาแล้วมีหลายเรื่องที่พบและเป็นภาพสะท้อนอะไรอีกหลายๆอย่างที่เป็นปัจจัยหนุน ให้เกิดสิ่งเหล่านั้น เรื่องดีที่ควรชื่นชมก็มีครับเช่นการที่นักศึกษารักษาเวลาในการมาทำหน้าที่  ไม่ขาด ไม่สาย ความมีน้ำใจต่อครูอาจารย์ในโรงเรียน  แต่การมองแต่ซีกบวกและมัวแต่ชื่นชมกันไม่น่าจะถูกต้อง  ตรงกันข้าม หากเราเปิดใจยอมฟังเรื่องที่ไม่เป็นไปในทางที่พึงปรารถนา และหันมาค้นหาสาเหตุ และช่วยกันปรับแก้ที่เหตุ น่าจะช่วยให้อะไรๆดีขึ้น

   เรื่องแรกขอย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ไปส่งตัวนักศึกษาทั้ง 3-4 เอก จำนวน 12 คน ตั้งแต่วันที่ 26  พค. 51  ในการประชุมร่วมกับท่านผู้อำนวยการ  รองฯฝ่ายวิชาการ และอาจารย์พี่เลี้ยงที่มาต้อนรับนักศึกษาในวันนั้น ท่านผู้บริหารได้ให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์ และมีหลายประเด็นที่น่าจะบันทึก จดจำเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง  ผมนั่งฟังไปก็จดบันทึกย่อๆได้เกือบ 3 หน้าของสมุดบันทึก  แต่ที่เหลือเชื่อคือไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียวที่จดบันทึกเรื่องควรรู้เหล่านั้น  จะว่าเขาทำ Deep Listening กันอยู่ก็ไม่น่าจะใช่ สรุปความก็คือนิสัยการจดบันทึกเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต น่าจะได้รับการฟื้นฟู หรือปฏิวัติกันได้แล้ว ด้วยกระบวนการอย่างไร โดยมีใครเกี่ยวของบ้าง  ก็ลองคิดกันดูเถิดครับ 

     ครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นนักวิจัยอยู่ในตัว  แล้วนักวิจัยที่ไม่ใส่ใจการเก็บข้อมูล  จะทำงานที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้อย่างไรกันเล่าครับ

     เรื่องที่สอง คือเรื่องหลักที่สอดคล้องกับชื่อบันทึกนี้ครับ  นั่นคือการปฏิบัติการสอนที่เหมือนหุ่นยนต์  ฟังจากครูพี่เลี้ยง และการพูดคุยกับนักศึกษาแล้วก็ให้เหนื่อยใจ  สรุปความก็คือนักศึกษาเรียนทฤษฎี หลักการสอนอะไร ก็นำไปปฏิบัติ  แต่ทำไปแบบไม่ปรับตัว ไม่ยืดหยุ่น  เหมือนท่องสูตรไปว่าจะต้องทำอะไรบ้างให้ครบถ้วน  แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำไปโดยไม่ใส่ใจบรรยากาศว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการ  ผลก็คือยิ่งสอนยิ่งขาดความเชื่อมั่น เพราะทำตามที่เรียน แต่นักเรียนก็ไม่สนใจ  ออกอาการต่อต้านให้เห็นก็มีด้วยพฤติกรรมต่างที่ไม่น่าจะมีให้เห็น  แน่นอนครับคำแนะนำที่ง่ายๆ แต่ทำยากก็คือ  บอกให้นักศึกษาใช้หลักการสอนที่เรียนมาโดยต้องประยุกต์และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์  ทำอย่างมีความหมายและมีชีวิตชีวา   แต่พอคุยลึกลงไปก็พบว่าในการเรียนหรือฝึกฝนมาในชั้นเรียนนั้น นักศึกษาให้ข้อมูล  สอดคล้องกับอย่างที่ผมเคยเห็น  นั่นคืออาจารผู้สอนในสถาบันผลิตครู  ที่สอนหลักการสอนหรือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ บางคน  ยึดทฤษฏีมากเกินไป  และใช้ในการประเมินนักศึกษา  เช่นการสอนที่ดีต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีกี่ขั้นตอน  พอไม่ครบถ้วนก็ถือว่าไม่ถูก  หักคะแนนทันที  ผลสุดท้าย นักศึกษาก็ยึดกรอบ หรือรูบแบบเป็นสรณะ  ไปแสดงอาการที่โรงเรียนตอนออกฝึกสอน  คอยแต่กลัวว่าจะไม่ครบขั้นตอน  ไม่สมบูรณ์ โดยมิได้สนใจบริบท หรือสถานการณ์เฉพาะหน้า  ไม่สามารถยืดหยุ่น หรือประยุกต์ความรู้สู่การปฎิบัติอย่างเหมาะสมได้  ...

     ขอเถอะครับ  หากท่านทำดีอยู่แล้วก็จงทำต่อไป  แต่หากทบทวนแล้วได้เผลอไปชี้เป็นชี้ตายว่าที่ถูกต้องคืออย่างนั้นอย่างนี้ล่ะก็ ได้โปรด ลด ละ เลิกเสียเถอะครับ .. เด็ก คือนักศึกษาครู จะได้มีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับความรู้สู่การปฎิบัติที่เหมาะสมได้บ้าง .. ผมอยากเห็นครูพันธ์ใหม่เป็นครูมนุษย์  ไม่ใช่หุ่นยนต์สอนหนังสือครับ

หมายเลขบันทึก: 193556เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับ อาจารย์

  • แวะมาเยี่ยมครับ
  • มาอ่านบันทึกครับ
  • ผมว่า ครูรุ่นใหม่ ควรอ่านบันทึกนี้มาก ๆ และนำไปปรับใช้
  • สิ่งที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่น ความมีชีวิตชีวา ไม่ติดกรอบ
  • แต่อย่าออกนอกกรอบมาก จนเลยเถิด
  • สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและประสบการณ์
  • เชื่อว่าครูพันธุ์ใหม่เมื่ออ่านแล้วคงจะนำไปปฏิบัติ
  • ผมก็อีกคนครับ ที่เป็นครูพันธุ์
  • จะนำไปใช้ครับ อาจารย์
  • ขอบคุณอาจารย์ที่นำสิ่งดี ๆ มานำเสนอ
  • รู้ว่าสุขภาพไม่ค่อยดี
  • ยังไงก็รักษาสุขภาพด้วยนะครับ
  • คิดถึงครับ อาจารย์

 

สวัสดีครับอาจารย์

  • ครูสุก็นึกถึงตอนตัวเองเป็นนักศึกษา
  • คิดว่าจะต้องสอนให้เหมือนทฤษฎีเป๊ะ ๆ
  • การเป็นครูนี่ต้องปรับตัวเป็นเวลาหลาย ๆ ปี กว่าจะเป็นธรรมชาตินะครับ
  • อาจารย์ครับขอบคุณสำหรับข้อคิดสำหรับครูพันธุ์ใหม่
  • จะได้นำไปปฏิบัติครับ
  • อาจารย์ครับ แวะมาอีกรอบครับ
  • ช่วยลบข้อความข้างบน ด้วยครับ
  • พอดีเครื่องรวน โพสไปทั้งสองครั้ง
  • ปล. อาจารย์พิมพ์คำว่า
  • ครูพันธุ์ใหม่ ไม่ควรติดกรอบเกินไป จนเป็นหุ่นยต์สอนหนังสือ
  • ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ แอบเข้ามาดูค่ะ คิดว่าอาจจะเนื่องมาจากว่านักศึกษายังขาดประสบการณ์อยู่น่ะค่ะ ถ้าตัวนักศึกษาได้มีโอกาสฝึกประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถประยุกต์ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้นะคะ อีกอย่างหนึ่งสำหรับการฝึกสอนนะคะ หนูมะขามคิดว่า คนที่สำคัญมากสำหรับนักศึกษา คือ อาจารย์พี่เลี้ยง ถ้าอาจารย์พี่เลี้ยงสามารถให้คำแนะนำนักศึกษาได้เป็นอย่างดี หรือสามารถชี้ให้นักศึกษาเห็นจุดบกพร่องได้ ก็จะทำให้นักศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

สนใจเรื่องนี้อยู่มากขอให้ความเห็นหน่อยนะคะ คิดว่าผลผลิตออกมาจากมหาวิทยาลัยนะแหล่ะค่ะ ฝึกเขาน้อยไปหรือเปล่า !!! หรือเป็นเพราะตัวเด็กเอง !!

ซึ่งอาจารย์คงต้องพิจารณาเหมือนกันเพราะทำไมเดี๋ยวนี้ออกมาเป็นแบบนี้กันหมด ที่ขอคุยด้วยเพราะตัวเองก็เป็นผลผลิตจากวิทยาลัยครูที่ภาคภูมิใจในสถาบันของตนเองเสมอมาค่ะ จากวิทยาลัยครูเราจึงได้เป็นครูที่ดีมาจนถึงทุกวันนี้ แต่เดี๋ยวนี้คงมีตัวแปลแซกซ้อนมากกระมังคะอะไรๆจึงเปลี่ยนไป

การนิเทศครูในโรงเรียนก็มีปัญหาเช่นกันค่ะ ในบทบาทหัวหน้ากลุ่มสาระ ได้นิเทศครูอัตราจ้าง ซึ่งค่อนข้างผิดหวังตอนเราคัดเลือกเข้ามาดูดี แต่พอเผลอหน่อยเดียวมานิเทศอีกรอบ ไหงกลายเป็นแบบนี้ไปได้ พอเข้าไปจะสังเกตการสอนเพื่อการนิเทศ พบว่าคุณครูสอบนักเรียนเสียทุกครั้ง หัวหน้ากลุ่มสาระเลยสุดงง เข้าไปดู 3 คน ตั้งใจสอนเต็มที่ 1 คน อีก 2 คนมีสอบกับ ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด นี่ก็ผลผลิตครูสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องปรับปรุงนะคะอาจารย์ขา...อาจารย์คงต้องรับบทหนักกันต่อไปนะคะเพราะนับวันเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจเรื่องอะไรๆแบบง่ายมากขึ้นค่ะ ...ครูมัธยมก็พยายามช่วยสังคมเท่าที่จะช่วยได้ในบริบทของตนเอง

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์คะ

  • ในความคิดเห็นส่วนตัว ชอบสอนเด็กเรื่องการใช้ชีวิตค่ะ 
  • ครูจะต้องเชื่อมโยงเรื่องราวที่ตนเองกำลังสอนเข้ากับการใช้ชีวิตของเขาให้ได้ค่ะ
  • เรียนไปทำไม เกี่ยวอะไรกับฉัน ทำไมฉันต้องเรียน เหล่านี้คงเป็นคำถามที่เด็ก ๆ ก็คิดเงียบ  ๆ อยู่คนเดียวเหมือนตอนเราเป็นเด็กมังคะ 
  • เพราะการดำเนินชีวิตต้องใช้ทั้งศาสตร์ซึ่งอาจได้จากการเรียน
  • และต้องใช้ศิลปะ ที่จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้อย่างที่ใจต้องการ
  • หากครูเองยังไม่แตกฉานในการบริหารจัดการองค์ความรู้ในชีวิตตัวเอง ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะสำเนาถูกต้องนักเรียนที่ตัวเองสอนกระมังคะ
  • ด้วยหลักการนี้เองค่ะ จึงพยายามที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตอยู่เสมอ เพื่อจะได้ย่อย และตกผลึกให้นักเรียนได้อย่างชัดเจนค่ะ
  • แต่ก็อยู่ในขั้นพยายามนะคะ  เด็ก ๆ ก็ยังมีเปอร์เซนต์เสี่ยงกับวิกฤติการณ์การรับรู้ในช่วงต่าง ๆ ของครูอยู่ดีแหล่ะค่ะ
  • เข้าไปในมหาวิทยาลัย ฯ ไม่เห็นท่านอาจารย์เลยค่ะ จะโทรไปก็ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ติดภารกิจใดหรือเปล่าค่ะ
  • ยังไงแล้วท่านอาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

 

ในนามตัวแทนของนักศึกษาครูพันธุ์ใหม่ที่กำลังฝึกสอน อยากบอกสังคมนี้เหลือเกินว่า เข้าใจและให้โอกาสพวกเราหน่อย ทุกคนในสังคมอยากเห็นเราเป็นพันธุ์ใหม่ แต่ลองนึกสักนิดไหม เราเรียน ก็เรียนแบบเก่าๆที่ไม่ได้ต่างอะไรกับรุ่นก่อนหน้านี้นัก อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำอะไรที่บอกได้ว่า เรียนแบบใหม่จริงๆๆ พูดว่าใหม่แต่ก็ทำแบบเก่า อยากให้เราเป็นแบบใหม่แต่ความคิดของท่านทั้งหลายยังล้าสมัย(บางส่วน)พอเราไปสอนทางโรงเรียนก็อยากได้แบบใหม่ (แบบของโรงเรียนเอง) พออาจารย์ไปนิเทศก็บอกไปอีกอย่าง อยู่กับครูพี่เลี่ยงก็ไปกันอีกอย่าง บอกตรงๆ คำว่าครูพันธุ์ใหม่ที่เรียกกันน่ะคือ ใหม่ตามความต้องการของแต่ละคน แม้แต่ผู้สอน และผู้ถูกสอนยังไม้รู้จริงๆเลยว่า การเป็นครูพันธุ์ทำอย่างไร เน้นทำอย่างไร ไม่ใช่พูดแต่ทำไม่ได้ สุดท้ายอยากบอกความในใจว่า การเป็นครูที่ดีตามความต้องการของสังคมนั้น คงไม่สามารถตัดสินได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ การเป็นครู คือเป็นทั้งชีวิต เพราะฉะนั้นเราขอใช้ชีวิตเป็นเดิมพันธุ์ กับเส้นทางฝันอันทรงเกียรติ .."วิชาชีพครู".. รอสักวันที่เมล็ดพันธุ์ใหม่จะได้งอก โดยไร้เฉาวัลย์คาบเกี่ยว วันที่ความคาดหวังของสังคมจะเป็นจริง

+ สวัสดีค่ะอาจารย์...

+ หนูก็เป็นครูพันธุ์กลางใหม่กลางเก่าค่ะ....

+ อ่านแล้วได้ข้อคิดมากมายค่ะ...

+ จะนำไปประยุกต์ใช้ค่ะ....

+ โดยเพาะเด็กใน 3 จังหวัดแดนใต้ค่ะ...ครูผู้สอนต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์มากเป้นพิเศษค่ะ....

+ ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่นำเสนอสิ่งดี ๆ ให้ได้คิดกันค่ะ

+ รักษาสุขภาพกายและใจด้วยค่ะ

สวัสดีครับ

หากเรียนแล้วไม่ง่วง ไม่น่าเบื่อ มีสิ่งที่กระตุ้น ทำให้มีความกระตื้อรือล้นที่อยากจะเรียนก็คงดีนะครับ หนึ่งในนั้นก็คือการเปลี่ยนสถานที่เรียน ไม่ใช่เรียนอยู่แต่ในห้องแล้วก็มีอาจารย์มาพูดๆแล้วก็ถามว่าเข้าใจไหม แล้วก็ไม่ใครถามแล้วครูก็เดินออกไป โดยที่ไม่รู้เลยว่านักเรียนนั้นสนใจหรือเข้าใจมากน้อยแค่ไหน หากเราเปลี่ยนสถานที่บ้างไม่อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว ออกมาเปิดหูเปิดตากับความจริงก็เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนอยากที่จะเรียนรู้ สนใจมากยิ่งขึ้นได้เหมือนกันนะครับ

ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณทุกท่าน ทุกความเห็นครับ
  • มีมุมมอง หลากหลาย น่าสนใจทีเดียว
  • ขอยืนยันว่า เรื่องทั้งหมดมิใช่การตำหนิ ติเตียนฝ่ายใด
  • อยากให้ช่วยกันก่อ ช่วยกันคิด เพื่อปรับเปลี่ยน ในส่วนที่จะช่วยกันได้ เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา
  • แน่นอนครับ .. หนึ่งผล ที่ปรากฏ มิได้มาจากเหตุเดียว .. การพุ่งเป้าไปที่จุดใดจุดหนึ่งที่เดียว จึงไม่น่าจะได้คำตอบที่เพียงพอ ต่อการแก้ปัญหาครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดิฉัน เอกภาษาอังกฤษที่เรียนกับอาจารย์ค่ะ

ดิฉันชอบเทคนิกการสอนของอาจารย์มากค่ะ ถ้าเป็นไปได้อยากสอนให้ได้เหมือนกับอาจารย์ ...

หลังจากที่ได้นั่งฟังอาจารย์สอนในห้องนั้น ตอนแรกดิฉันคิดว่าไม่ได้อะไรแต่พอเรียนไปทำให้รู้อะไรหลายอย่าง ได้แง่คิดมากมาย รู้ในสิ่งที่หลายคนมองข้าม เล็กๆน้อยที่หลายคนมองข้าม แต่สิ่งเหล่านั้น มันไม่ได้เล็กอย่างที่คิด มันทำหั้ยตกม้าตายเหมือนที่อาจารย์พูด ข้าพเจ้าเห็นด้วยค่ะ

ขอหั้ยอาจารย์รักษาสุขภาพค่ะ

นันทกานต์

คุณ นันทกานต์

  • ขอบคุณครับ .. คนเป็นครูก็อย่างนี้แหละ .. หายเหนื่อยก็เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ทำไป ผลิดอก ออกผล หรือเกิดประโยชน์แก่ศิษย์
  • แต่ .. ไม่ หั้ย ก็ดีนะ ให้ ดีกว่า .. เดี๋ยวเด็กๆมาเห็นเข้า .. จะพากัน หั้ย ตาม .. อิ อิ.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท