เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข 13 หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าเมืองไทยมาตั้งแต่ ปี ๒๕๐๖ ต้องมาป่วย(ตอนที่๒)จบ


นักวิจัยขอให้วิษณุเข้มแข็งอย่างนี้ตลอดไป ให้วิษณุภูมิใจกับการได้ดูแลแม่และยายอย่างไม่ท้อถอย และขอวิษณุว่าอย่าไปยอมแพ้กับโชคชะตาที่เป็นอยู่...วิษณุก็ตอบกลับมาอย่างเสียงดังใสว่า “ ครับ ..ผมจะไม่ยอมแพ้...ผมจะสู้กับมัน ”

 “ข้อสังเกตและข้อค้นพบบางประการที่จำเป็นต้องเร่งทำการแก้ไข”
 
แต่ข้อสังเกตและข้อค้นพบอย่างหนึ่งที่นักวิจัยพบในการเข้าไปดูแลผลกระทบด้านการรักษาพยาบาลของวิษณุ ที่มีต่อโรงพยาบาลสมุทรปราการ หลังจากที่มีการพูดคุยกับพยาบาล และ คุณหมอสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)จังหวัดสมุทรปราการ คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าหากมีคนไข้ซึ่งเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มาทำการรักษาพยาบาลหรือคลอดลูกที่โรงพยาบาล เมื่อทำการรักษาพยาบาลเสร็จแล้วทางโรงพยาบาลก็จะแจ้งและนำส่งตัวคนไข้ให้กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สนง.ตม.) จังหวัดสมุทรปราการ 
  
ข้อเท็จจริงนี้ได้มาจากข้อสงสัยที่ได้จากการพูดคุย ทำให้นักวิจัยขอตัวที่จะไปเยี่ยมบ้านวิษณุตามคำเชิญ และส่งเด็กชายวิษณุและญาติๆ ที่ไม่มีใครมีเลข ๑๓ หลักเลยนั้นกลับบ้านไปก่อน เพื่อไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงพบว่าข้อสงสัยนั้นเป็นจริง และมีระบบขั้นตอนของการนำส่งคนไข้ที่เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง หรือ คนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก ดังนี้  คือ
  
เมื่อคนไข้มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และพบว่าเป็นคนต่างด้าวก็จะมีการซักประวัติในแบบฟอร์ม “ใบรายงานหอผู้ป่วย”[๘] และกรอกในใบรายงานนั้น โดยแบ่งเป็นคนต่างด้าวออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
 
กลุ่มที่ ๑ เป็นบุคคลต่างด้าว ซึ่งแยกเป็น บุคคลต่างด้าว  พม่า กัมพูชา ลาว เนปาล หรือ อินเดีย ซึ่งมีลักษณะเป็นคนต่างด้าวความผิดหลบหนีเข้าเมือง ใน ๓ กรณี คือ
 
(๑)   มีใบอนุญาตทำงาน แต่หมดอายุ
 
(๒)   ใบอนุญาตทำงาน แต่อยู่นอกพื้นที่ (โดยไม่มีเอกสารขออนุญาตออกนอกพื้นที่แสดง)
 
(๓)   ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ หลักฐานเอกสารแสดงตน
 
กลุ่มที่ ๒ เป็นบุคคลบนพื้นที่สูง (ได้แก่ กลุ่มผู้ถือบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย-บัตรสีของทางกรมการปกครอง)  ซึ่งแยกเป็น  กระเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญในประเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นคนต่างด้าวความผิดหลบหนีเข้าเมือง ใน ๓ กรณีเช่นกัน  คือ
 
(๑)    มีบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง แต่ออกนอกพื้นที่ (โดยไม่มีเอกสารขออนุญาตออกนอกพื้นที่แสดง)
 
(๒)   ไม่มีบัตรอนุญาตและหลักฐานเอกสารแสดงตน
 
(๓)   มีหนังสืออนุญาตให้ชาวเขาออกนอกเขตจังหวัดเป็นการชั่วคราว (และหนังสือนั้นเลยกำหนดวันเวลาอนุญาตแล้ว)
 
โดยกรณีที่คนไข้ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งใน ๖ กรณี ดังกล่าว ทางหอผู้ป่วยที่รักษาคนไข้นั้น จะส่งใบรายงานหอผู้ป่วยมายังฝ่ายบริหารทั่วไปของโรงพยาบาล[๙] และ ฝ่ายบริหารทั่วไปก็จะมีหน้าที่ ทำหนังสือ “บันทึกข้อความ” ของโรงพยาบาลสมุทรปราการ
 
 เรื่อง “รับผู้ป่วยต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไว้รักษาพยาบาล” และส่งหนังสือ เรียนไปยัง “สารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ” 
  โดยข้อความในหนังสือดังกล่าว มีใจความว่า “โรงพยาบาลสมุทรปราการได้รับคนไข้ ซึ่งมี ชื่อ ประวัติ อาการเจ็บป่วยดังนี้ …….” และ “ ทางโรงพยาบาลขอเรียนว่าเพื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  จึงขอให้พนักงานตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้โปรดนำไปสอบสวนและรับผู้ป่วย
ดังกล่าวออกจากโรงพยาบาล เมื่อแพทย์ผู้ตรวจรักษาอนุญาต”
  
แต่ในความเป็นจริงเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตม.สมุทรปราการ มีคนไม่เพียงพอ ทางโรงพยาบาลจึงจะนำส่งคนไข้ด้วยรถตู้ของทางโรงพยาบาลเอง พร้อมกับหนังสือฉบับดังกล่าว ซึ่งเมื่อนักวิจัยพูดคุย สอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็ทราบว่า มีหลายครั้งเหมือนกันที่คนไข้ก็จะพยายามหนีออกจากโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดีขึ้น ก่อนที่จะโรงพยาบาลจะนำส่งตม.  ซึ่งโรงพยาบาลก็ติดตามได้เท่าที่คนไข้ยังอยู่ในโรงพยาบาล
  
ส่วนกรณีหากเป็นคนไข้ผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้เข้ารับรักษาในหอผู้ป่วยต่างๆ ผู้ซักประวัติคนไข้ก็จะทำการโทรศัพท์แจ้งมาที่ฝ่ายบริหารทั่วไป โดยไม่ต้องส่งใบรายงานหอผู้ป่วย และทางฝ่ายบริหารทั่วไปก็จะโทรศัพท์แจ้งสนง.ตม ต่อไปโดยไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่สนง.ตม.สะดวกก็จะมารับตัวที่โรงพยาบาลเอง โดยโรงพยาบาลไม่มีการนำส่ง
  
ในจำนวนของคนต่างด้าวกลุ่มนี้ น่าตกใจอย่างยิ่งว่าถ้าเป็นหญิงต่างด้าวที่มาทำการคลอดบุตรซึ่งจะต้องนอนพักในหอผู้ป่วย ก็จะถูกรายงานและนำส่งตม.เป็นประจำ  พร้อมกับลูกน้อยที่คลอด และน่าตกใจยิ่งกว่า คือ หากสามีหรือ คนเฝ้าไข้เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเข้าข่าย ๖ กรณีนั้น เช่นกัน ทางโรงพยาบาลก็จะนำส่งตม.ด้วย ทั้งครอบครัว  เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับตม.อย่างเหลือเชื่อ
  
แต่จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผู้รับผิดชอบการทำหนังสือ การแจ้ง และการนำส่ง พบว่า เจ้าหน้าที่เองก็ไม่เคยเห็นหนังสือขอความร่วมมือจาก สนง.ตม .หรือ กรมการปกครอง ตามที่อ้างว่าโรงพยาบาลจำเป็นต้องกระทำ เพราะมีการขอความร่วมมือมา เพราะเจ้าหน้าที่ท่านนี้เพิ่งเข้ามารับผิดชอบหน้าที่นี้ต่อจากเจ้าหน้าที่คนเก่าซึ่งลาออกไปแล้ว  ไม่เคยเห็นหนังสือเรื่องดังกล่าวเช่นกัน  แต่ก็เป็นแนวปฏิบัติที่ทำกันมานาน  โดยเจ้าหน้าที่ก็ทำไปด้วยความสุจริตใจตามที่ปฏิบัติกันมา และ ทางตม.ขอความร่วมมือ
 
ในเรื่องการนำส่งตัวนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่เคยทำสถิติว่ามีการนำส่งคนไข้เดือนละจำนวนเท่าไหร่ (แต่ก็มีสำเนาหนังสือ ส่งตัวเก็บไว้ที่โรงพยาบาลอีกชุดหนึ่ง) ซึ่งจริงๆ แล้ว ทางโรงพยาบาลก็อธิบายว่าโรงพยาบาลก็มีงานยุ่ง เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการทำงาน แต่ก็ต้องทำเพราะ เป็นเรื่องความมั่นคงที่ทางตม. ขอความร่วมมือ และคนไข้คนล่าสูดที่ถูกโรงพยาบาลส่งตัวไปตม.  ก็คือ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ผ่านมานี้เอง
  
เมื่อค้นพบข้อเท็จจริงเช่นนี้ ทางนักวิจัยได้อธิบายเบื้องต้นเช่นกันว่าไม่ใช่หน้าที่ของโรงพยาบาล และ โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น  และ ได้โทรศัพท์ แจ้งข้อเท็จจริงที่พบเบื้องต้นกับคุณเพิ่มศรี  เจ้าหน้าที่ กลุ่มงานการพัฒนาระบบบริการเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคงจะมีการพูดคุยในระดับนโยบายของกระทรวงสาธารณะสุขให้ลึกยิ่งขึ้นต่อไป
  
เมื่อจบการพูดคุยแล้ว …นักวิจัยรู้สึกขอบคุณทางโรงพยาบาลเป็นอย่างยิ่งที่ไม่นำส่งเด็กชายวิษณุให้กับทางสนง.ตม.  อีกทั้งเชื่อและมีความเข้าใจต่อสาเหตุและการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของครอบครัวนี้อย่างดีมากขึ้น
  
เห็นได้ชัดว่าการทำความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ และ ทำให้คนที่เกี่ยวข้องมีความรู้ และทัศนคติ ที่ดีขึ้น เพราะหากไม่เช่นนั้นนักวิจัยเกรงว่า หากนักวิจัยไม่เข้ามาร่วมประสานงาน หรือ ทางโรงพยาบาลไม่เชื่อและไม่เข้าใจในสิ่งที่นักวิจัยอธิบาย เป็นไปได้ว่าเมื่อวิษณุผ่าตัดไส้ติ่งแล้วทางโรงพยาบาลอาจจะส่งตัววิษณุให้กับทางตม. รวมถึงแม่และญาติคนอื่นๆ ในครอบครัวของป้าสันที ที่มาเฝ้าเยี่ยมวิษณุอีกด้วย
  
นักวิจัยกลับมาถึงบ้านก็รู้สึกดีใจที่บ่ายนั้น ได้เป็นคนเข็นรถที่วิษณุนั่งออกมาจากโรงพยาบาลเพื่อขึ้นแท็กซี่กลับบ้าน  แทนที่จะเป็นรถตู้ของโรงพยาบาลที่อาจพาคนในครอบครัวนี้ไปสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
  และรอยยิ้มของวิษณุก็ทำให้นักวิจัยมีกำลังใจ ...เพราะตอนหนึ่งที่วิษณุนั่งอยู่บนรถเข็น.. ประโยคหนึ่งที่เราคุยกัน ก็คือ  นักวิจัยขอให้วิษณุเข้มแข็งอย่างนี้ตลอดไป  ให้วิษณุภูมิใจกับการได้ดูแลแม่และยายอย่างไม่ท้อถอย และขอวิษณุว่าอย่าไปยอมแพ้กับโชคชะตาที่เป็นอยู่...วิษณุก็ตอบกลับมาอย่างเสียงดังใสว่า
“ ครับ ..ผมจะไม่ยอมแพ้...ผมจะสู้กับมัน ”

หมายเลขบันทึก: 192335เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2008 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท