ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน


อ่านวรรณกรรม อ่านชีวิต อ่านโลก

 ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์ นักฝัน

ผู้แต่ง มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดฺร้า

ผู้แปล สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์

ISBN 974-14-0312-7 ผีเสื้อ 600 หน้า ฉบับเล่มใหญ่ราคา 969 บาทเล่มเล็กราคา 696 บาท

 

คงยังไม่สายเกินไปที่จะพูดถึงหนังสือที่ได้รับยกย่องว่า เป็นนิยายที่ดีที่สุดที่โลกเคยมีมา นั่นคือ "ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน"

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนในปี ค.ศ. 1605  นับถึงปีนี้ หนังสือเล่มนี้ก็มีอายุถึง 403 ปีแล้วค่ะ แต่ผู้คนอ่านก็ยังนิยมอ่านจวบจนทุกวันนี้   และยกย่องว่าเป็นนิยายดีที่สุดที่โลกนี้เคยมีมา บ้างกล่าวว่าดอนกิโฆเต้ คือนิยายเรื่องแรกของโลก 

ถึงแม้นิยายเรื่องนี้จะเกิดขึ้นมาในบรรณพิภพถึง 403 ปี แต่เพิ่งจะได้รับการพิมพ์เป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี่เอง  คือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ  ธันวาคม  2548  แต่ยังไม่เผยแพร่ทั่วไป   พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม  2549 และครั้งที่ เมื่อเมษายน  2549  เป็นเวลากว่า 2 ปี แล้วที่เผยแพร่ในวงการวรรณกรรมไทย  แต่ผู้เขียนเพิ่งได้มีโอกาสได้ครอบครองเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ ก็เมื่อวานนี้เอง  (1 กรกฎาคม  2551)  เพิ่งอ่านได้ถึงตอนที่ 3 เองค่ะ  

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝันได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก 84 ภาษา  ภาษาที่ 84 เป็นภาษาเวียดนาม ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 1976    ภาษาไทยเป็นภาษาที่ 85  คนไทยได้อ่านนิยายเรื่องนี้หลังเวียดนาม 30 ปี !!! 

ตัวละครเอกของเรื่อง  กิโฆเต้เป็นชายวัยห้าสิบเจ็ดปี อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในลามันช่า วันทั้งวันเขาเอาแต่อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับอัศวิน ไม่ว่าจะเรื่องแต่งหรือเรื่องจริง ขอให้เป็นอัศวิน กิโฆเต้ยอมทุกอย่าง บทบรรยายของเซร์บันเตสเรียกความขบขันได้ตั้งแต่หน้าแรกๆ เซร์บันเตสเล่าว่าหากกิโฆเต้ทำได้ก็จะยอมขายแม่บ้านและหลานสาวของเขาเสีย แค่ขอให้มีโอกาสเงื้อมดาบฟันทรราชอย่างกาเนอล็องสักครั้ง

ความมัวเมาลุ่มหลงในหนังสืออัศวินสร้างความบกพร่องทางสมองแก่พระเอกของเรา เป็นการบ้าอ่านอันงดงามที่สุดเมื่อกิโฆเต้ตัดสินใจออกเดินทางรอนแรม เพื่อดำเนินชีวิตอัศวิน เขาปรารถนาจะกำจัดสิ่งชั่ว พิทักษ์สิ่งดี สร้างความยุติธรรมให้แก่ผืนแผ่นดินด้วยจริยธรรมอันสูงส่ง ศรัทธาและความเชื่อที่คนอื่นมองเป็นเพียงความฝัน ในใจของกิโฆเต้นั้น มันเป็นความจริงเสียยิ่งกว่าจริง กิโฆเต้จึงแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยหมวกเกราะกระดาษ ออกเดินทางกับม้าผอม ๆ นาม โรสินันเต้ และขาดไม่ได้คือนางในฝันผู้เป็นแรงใจให้อัศวิน กิโฆเต้กล่าวว่าหากอัศวินใดขาดแรงใจจากนางผู้เป็นที่รัก ก็เหมือนต้นไม้ขาดใบไร้พืชผล มีเพียงร่างกายอันไร้วิญญาณ ว่าแล้วเขาก็สถาปนาหญิงชนบทจากหมู่บ้านใกล้ๆ ที่แอบเห็นในระยะห่าง เป็นเจ้าหญิงดุลสิเนอา และอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเธอ โดยที่เธอมิเคยล่วงรู้

ดอนกิโฆเต้ผจญภัยกับความเพ้อฝันครั้งแล้วครั้งเล่า เขาเห็นโรงแรมเล็กๆ เป็นปราสาท เห็นกังหันลมเป็นยักษ์ เขามีเพื่อนร่วมเดินทางน่ารักมากอย่างซานโช่ ผู้ที่รู้ว่าเจ้านายบ้าแต่ตัวเองก็ยอมบ้าตามด้วยความจงรักภักดี ทุกครั้งที่ซานโช่ท้วงดอนกิโฆเต้ว่าภาพแห่งความจริงเป็นเช่นไร ดอนกิโฆเต้ก็ตอบด้วยความเอ็นดูซานโช่ผู้เบาปัญญาว่า เจ้าโดนเวทมนตร์ของความชั่วร้ายลวงตาเป็นแน่แท้ คนอ่านประทับใจความเป็นเพื่อนของทั้งสอง และเข้าใจในความรักที่ผูกพันคนคู่นี้เข้าด้วยกัน ประโยคของซานโช่ที่เล่าแก่คนผ่านทาง บ่งบอกความเป็นมนุษย์ของดอนกิโฆเต้ได้น่ารักยิ่ง

          

 “สังคมไม่ว่าจะอีกกี่สิบกี่ร้อยปีข้างหน้าจะต้องมีคนอย่างนี้อยู่ คุณหาเถอะ คุณมองดู ในสังคมปัจจุบันจะต้องมีคนอย่างนี้อยู่ ไม่อย่างนั้นบรรยากาศคงจะแย่ถ้าหากทุกคนเห็นแก่ตัว ทุกคนเห็นแก่ได้ ทุกคนหวังประโยชน์ ทุกคนโกง  อุดมคติของดอนกิโฆเต้ไม่มีวันล้าสมัยเลย


ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ฟิลิปเป้ที่ 3 แห่งเสปน ทอดพระเนตรชายผู้หนึ่งกำลังอ่านหนังสือที่ข้างถนน ชายผู้นั้นหัวเราะเสียน้ำตาไหล กษัตริย์ตรัสว่าชายผู้นี้หากไม่บ้าก็คงกำลังอ่านดอนกิโฆเต้อยู่

พระราชดำรัสของพระราชาธิบดี ฆวน การ์ลอส ที่  เนื่องในโอกาสเปิดตัว ดอนกิโฆเต้ ฉบับแปลไทย -- จาก เนชั่น 

      "สเปนไม่มีทูตวัฒนธรรมคนใดจะดีไปกว่า มิเกล เด เซรบันเตส และไม่มีสาส์นแนะนำใดที่ยอดเยี่ยมไปกว่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า งานอมตะของเขา" 


มีคำกล่าวไว้ว่า   ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้!  

       

          ขอเชิญชวนให้เพื่อนนักอ่าน หนอนหนังสือ ตัวอ้วนทั้งหลายมาอ่าน นิยายดีที่สุดที่โลกเคยมีมา กันค่ะ  หรือว่าใครอ่านแล้วก็นำมาบอกเล่า แลกเปลี่ยนกันบ้างนะคะ  สำหรับผู้เขียนเองเพิ่งอ่านได้ตอนที่ 3 อย่างที่บอกไว้ข้างต้นค่ะ  คืนนี้อ่านต่อ นะคะ

สวัสดีค่ะ .

 ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากอินเทอร์เน็ต

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 191802เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2008 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ

โอ้โห เล่าได้สนุก จนชวนอยากให้ไปหาอ่านเลยค่ะ เห็นว่าเค๊ามาทำละครเวทีอีกครั้งใช่มั้ยคะ อยากไปดูเหมือนกัน...ฝัน..ตาม

สวัสดีค่ะ

ก็ทราบข่าวว่าอย่างนั้นแหละค่ะ อยากไปดูเหมือนกัน ...ภาค 2 ไม่ทราบว่าแปลเสร็จยังนะคะ ก็รออ่านต่อไป  

ปล.มือใหม่หัดโพสต์น่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้างนะ ผู้รู้โปรดชี้แนะค่ะ

สวัสดีครับ

ยังไม่ได้ซื้อเลยครับ แต่ทำรูปเล่มน่าเก็บ น่าอ่านดีครับ ;)

ไว้รออ่านบันทึกตอนต่อไปครับ..

สำหรับการบันทึก หากคัดข้อความจากเว็บอื่น ควรมีแหล่งอ้างอิงด้วยครับ (ทั้งภาพ และข้อความ) เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์

สังคมไม่ว่าจะอีกกี่สิบกี่ร้อยปีข้างหน้าจะต้องมีคนอย่างนี้อยู่ คุณหาเถอะ คุณมอง

ดู ในสังคมปัจจุบันจะต้องมีคนอย่างนี้อยู่ ไม่อย่างนั้นบรรยากาศคงจะแย่ถ้าหากทุก

คนเห็นแก่ตัว ทุกคนเห็นแก่ได้ ทุกคนหวังประโยชน์ ทุกคนโกง  อุดมคติของดอนกิ

โฆเต้ไม่มีวันล้าสมัยเลย

.............................................

   ยังไม่ได้อ่านเลยคะ เคยแต่อ่านวิจารณ์ในหนังสือ แต่ก็ชอบ พระเอกมากคะ

ประโยค ข้างต้น นี่ อมตะ จริงๆนะ เขาพูดเผื่อมาเป็น สี่ร้อยกว่าปี เลยนะคะ


ขอบคุณที่แนะนำหนังสือดีๆ สังสัยจะต้องหาอ่านแล้วล่ะ ...ขอยืมอ่านบ้างได้ไหมค่ะ

ผมได้มาไว้ในครอบครอง3ปีแล้ว แต่ไม่เห็นค่าของมันเลย

ได้มาจากคนขายของเก่า รูปเล่มยังใหม่มากๆ ไม่มีตำหนิเลย

พึ่งจะหยิบมาอ่านเมื่อสักครู่นี้เอง อ่านไปสองบท

รู้สึกสนุกมากๆเลย ยิ่งได้อ่านในหน้าคำนำ,ประวัติผู้เขียน ยิ่งตะลึงเข้าไปใหญ่

..ว่าเรามีหนังสือดีๆอยู่ที่บ้าน แต่ไม่เคยแม้แต่จะหยิบมาอ่าน..

แต่ของผมเป็นเล่มปกสีแดงครับ

มันแตกต่างจากเล่มปกสีเหลืองของคุณหรือเปล่าครับ?

ไม่ทราบว่าตอนนี้มีกี่เล่มจบคะ

กำลังหาซื้ออ่านอยู่ค่ะ

เล่าได้สนุกมากครับ อ่านหนังสือเล่มนี้ ดีมาก ตอนแรกผมรู้สึกแปลกใจตรงที่ตอนอารัมภบทของเรื่อง ผู้เขียนหยิบเอาอัศวินในหนังสือเล่มอื่นมาชื่นชมดอนกิโฆเต้หนักหนา แต่พออ่านที่บทแรกกลับกลายเป็นว่าน้าแก่เป็นบ้าเสียอีก อ่านแล้วก็ขำกับความบ้าของแกน่ะครับ แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ชักไม่ขำแล้ว นอกจากไม่ขำแล้วยังรู้สึกอีกว่าตัวละครตัวอื่นนี้แหละที่เป็นบ้า หรือตัวเราในฐานะคนอ่านก็บ้าด้วย อ่านเล่มนี้แล้วนอกจากจะสนุกแล้วยังได้อะไรไปคิดเล่นๆอีกต่างหาก ช่วยๆอ่านกันหน่อยครับ จะได้ช่วยให้คนทำหนังสือมีกำลังใจแปลหนังสือดีๆให้พวกเราได้อ่านกันอีก

นับเป็นเวลายาวนานถึง ๔๐๐ ปีที่วรรณกรรมคลาสสิกของโลก ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน เป็นที่แพร่หลายจากภาษาสเปนไปสู่ภาษาต่างๆ ส่วนฉบับภาษาไทยนั้น รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสเปนจัดพิมพ์ขึ้นพิเศษเป็นครั้งแรกจำนวนสองเล่ม เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แห่งราชอาณาจักรไทย และทูลเกล้าฯ ถวายเป็นที่ระลึกแด่สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน การ์ลอส ที่ ๑ และสมเด็จพระราชินี โซเฟีย แห่งราชอาณาจักรสเปน ในวโรกาสเสด็จฯเยือนราชอาณาจักรไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะ

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน เขียนโดย มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดฺร้า รูปประกอบโดย กุสตาฟ ดอเร่ แปลจากภาษาสเปนโดย สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ และบรรณาธิการต้นฉบับแปลโดย รศ.ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร และมกุฏ อรดี

ในวาระครบรอบหนึ่งปีของฉบับภาษาไทย สถานเอกอัครราชทูตสเปนในประเทศไทย หอสมุดแห่งชาติ และสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ได้ร่วมกันจัดงานนิทรรศการหนังสือ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน 'นวนิยายที่กษัตริย์ทรงมอบแก่กษัตริย์' ขึ้นระหว่างวันที่ ๓-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

ก่อนงานนิทรรศการจะเริ่มขึ้น 'จุดประกายวรรณกรรม' ถือโอกาสนี้ไปพูดคุยกับ มกุฏ อรดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ถึงเนื้อหาสำคัญของงานและย้อนกลับไปถึงความยากลำบากกว่าจะเป็นหนังสือเล่มประวัติศาสตร์ รวมทั้งแง่มุมอื่นๆ ต่อการพัฒนาวงการหนังสือ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการสถาบันหนังสือแห่งชาติ หรือการเป็นผู้คิดค้นกระดาษถนอมสายตา และยังบุกเบิกสอนวิชาบรรณาธิการต้นฉบับขึ้นในมหาวิทยาลัยด้วย

นิทรรศการหนังสือ'ดอนกิโฆเต้ฯ'เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้าจะเท้าความจริงๆ อยากจะบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' ฉบับภาษาไทย เพราะคิดว่าค่อนข้างแปลกกว่าหนังสือแปลเล่มอื่นๆ ตรงที่ว่าเป็นดำริของกษัตริย์สเปนที่ขอให้แปลเป็นภาษาไทยเพื่อพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี รัฐบาลสเปนเตรียมการมานานก่อนงานประมาณ ๓-๔ ปี ในชั้นต้นก็สอบถามมาว่าในเมืองไทยมีใครแปล 'ดอนกิโฆเต้ฯ' ฉบับภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาสเปนหรือยัง พอค้นหาดูก็ไม่มี เมื่อไม่มีก็เสาะหาคนที่จะมาแปล

ถ้าย้อนกลับไปอีกสักประมาณสิบปีตอนเปิดหลักสูตรวิชาบรรณาธิการต้นฉบับวรรณกรรมแปล เวลานั้น 'อ.สว่างวัน' เป็นนักเรียนเข้าอบรมรุ่นแรก และได้คุยกันเรื่องนี้ อาจารย์บอกว่าชอบ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' ผมก็บอกให้แปลสิ แต่มันหนาเหลือเกินนะ ผมบอกว่ามีหลายวิธีที่จะแปลได้ ถ้าหากต้องการแปลจริงๆ

วิธีแรกคือต้องใช้คนคนเดียวแปลและจะมีบรรณาธิการกี่คนก็ว่ากันไป และอีกวิธีหนึ่งคือช่วยกันแปล หมายความว่าหนังสือมีกี่ร้อยหน้าก็แบ่งกันไป แต่ว่าจะต้องมีบรรณาธิการที่แข็งและเก่งมาก เพื่อพยายามทำให้สำนวนของคนแปลที่กระจัดกระจายนี้มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือเป็นสำนวนของนักเขียนให้ได้ พูดทิ้งกันไว้แค่นั้นเมื่อสิบปีที่แล้ว ไม่ได้นึกหรอกว่าจะพัฒนาไปถึงไหน

นานถึงสิบปีกว่าจะได้เริ่มต้นทำกันจริงๆ?

วันหนึ่ง...สถานทูตสเปนโทรมาบอกว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่แปลเป็นต้นฉบับแล้ว อยากจะให้ช่วยพิมพ์เป็นหนังสือพิเศษจำนวนสองเล่ม ฟังดูก็แปลกดีนะ จำนวนสองเล่ม เวลาฟังเรื่องอะไรอย่างนี้ รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแล้ว เขาถามว่าจะรับได้ไหมในเวลาที่ค่อนข้างกระชั้น ผมก็ตอบไปโดยไม่ลังเลว่า..ได้ และก็มาคุยรายละเอียดกัน เมื่อมาคุยรายละเอียดกันเขาก็อธิบายให้ฟังว่ากษัตริย์สเปนอยากจะทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แด่ในหลวงในสิ้นปี ๒๕๔๘ เพราะตอนแรกจะเสด็จมาปีนั้น แต่สุดท้ายก็เสด็จมาเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๕๔๙

สถานทูตสเปนให้เวลาประมาณปีหนึ่งกับต้นฉบับ ผมดูต้นฉบับแล้วคงไม่ทัน แต่มีอยู่ทางเดียวคือต้องปิดสำนักพิมพ์อีกแล้ว ก่อนหน้านั้นตอนที่ผมไปวางโครงสร้างให้รัฐบาลเกี่ยวกับระบบหนังสือก็ปิดสำนักพิมพ์ไปสองปี คราวนี้คงต้องปิดสำนักพิมพ์อีกแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นไม่มีทางทัน ทุกคนช่วยกันเรื่องนี้อย่างเดียวประมาณหนึ่งปีในการตรวจต้นฉบับ เรียกว่าตลอด ๒๔ ชั่วโมงทีเดียว เพราะว่าเวลานอนก็ต้องคิด ต้นฉบับไปอยู่บนเตียงผม แก้สนุกสนาน ท้ายที่สุดก็เสร็จ หนังสือเล่มนี้ตลอดเวลาที่ทำมามีอุปสรรคเยอะมาก เยอะจนนึกไม่ออกว่าเสร็จได้อย่างไร

อุปสรรคเป็นต้นว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง?

ทุกอย่างทุกเรื่องเลย ตั้งแต่เรื่องต้นฉบับ มีปัญหาเรื่องภาษา คิดดูว่าดอนกิโฆเต้ฯ เป็นสมัยพระนเรศวรพอดีเลย ประมาณ ๔๐๐ ปี จะทำอย่างไรให้ภาษาซึ่งเขียนในสมัยเมื่อ ๔๐๐ ปีที่แล้วมาเป็นภาษาปัจจุบันที่ไม่เสียอรรถรส ไม่มีคำสมัยใหม่เข้าไปรบกวน ไม่มีทัศนคติสมัยใหม่เข้าไปรบกวนถ้อยคำ ไม่มีคำบัญญัติใหม่ เราค่อนข้างเสียเปรียบฝรั่งอยู่ตรงที่ว่าเราไม่มีพจนานุกรมแบ่งยุคสมัย ไม่รู้ว่าคำบางคำที่ใช้กันอยู่ทุกวันนั้นเป็นคำที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่เท่าไร หรือปี พ.ศ.เท่าไร ใครเป็นคนคิด คำที่ใช้อยู่ตอนนี้มีนัยอย่างไรถ้าเทียบกับเมื่อ ๕๐ หรือ ๑๐๐ ปีที่แล้ว

ฉะนั้นเลยคิดทฤษฎีนี้ขึ้นคือ 'ทฤษฎีการแบ่งยุคสมัยในการแปลหนังสือ' ที่ได้ข้อสรุปว่าถ้าเกิดจะแปลหนังสือใดก็ตาม จากภาษาใดก็ตามที่เป็นยุคโบราณที่หาภาษาของเราไม่ได้ ให้ตัดทอนแค่รัชกาลที่ ๕ กลับขึ้นไปหารัชกาลที่ ๔ ฉะนั้นถ้าภาษาเก่ามากให้ใช้ภาษาสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ถ้าภาษาเก่าน้อยลงมาหน่อยให้ใช้ภาษาสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือถ้าเป็นยุคเชื่อมต่อกันระหว่างภาษาเพราะว่าต้นฉบับภาษาฝรั่งมักเล่นช่วงต่อกันระหว่างการเปลี่ยนของภาษา อย่างไทยเองมีช่วงต่อของรัชกาลที่ ๕ กับปลายรัชกาลที่ ๖ เพราะท่านไปศึกษาเมืองนอก ท่านได้คำใหม่จากฝรั่งมังค่ามาเยอะ เรียกว่าเป็นยุคที่ภาษาเริ่มทันสมัยขึ้น

ทฤษฎีนี้ทำให้การทำงานง่ายขึ้น?

เมื่อได้ทฤษฎีอย่างนี้ปัญหาหมดไป ทีนี้จะทำอย่างไรกับคำบางคำที่เกิดขึ้นใหม่ในภาษาไทยอย่างคำว่า 'จินตนาการ' เป็นคำใหม่ ที่บัญญัติใหม่ จะบอกว่าดอนกิโฆเต้ฯ จินตนาการถึงนางอันเป็นที่รักก็ไม่ใช่อีกแล้ว ต้องมีวิธีคิดคำใหม่ให้เป็นคำเก่า แต่บังเอิญคำเก่าไม่มีในภาษาไทย คำว่า 'จินตนาการ' โบราณนี้ไม่มี ต้องสร้างคำใหม่ ฉะนั้นขบวนการมีทั้งการไปหาคำเก่ามาใช้และการสร้างคำใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะให้มันฟังดูเก่าอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องสนุกตลอดเวลา

ช่วงหนึ่งปีนั้นคนอ่านสะท้อนกลับมาอย่างไรบ้าง?

บางคนอ่านแล้วบอกว่าภาษาเก่าไปหน่อย แสดงว่าตกลงเขาอ่านเข้าใจ คำว่า 'เก่าไปหน่อย' นั่นคือความพอใจของเรา ถ้าเกิดว่าใครอ่านแล้วบอกว่าภาษาใหม่จังเลย แสดงว่าใช้ไม่ได้ ล้มเหลว อุปสรรคเหล่านี้มีเยอะ แม้กระทั่งการจะใช้ตัวอักษรหรือการทำปกก็ต้องทำใหม่เปลี่ยนปกหลายครั้ง แม้กระทั่งช่วงแรกที่พิมพ์สองเล่มให้สถานทูตนั้น จะต้องพิมพ์จริงๆ ๒๐ เล่ม แต่เวลาขึ้นเล่มได้ ๑๑ เล่ม

ตอนแรกคิดแบบโบราณว่าผลิตอะไรถวายกษัตริย์แล้วต้องทำลายอุปกรณ์ ทำลายวัสดุที่เหลือให้หมด ไม่ให้มีชิ้นที่สองอีก พอมานั่งคิดดูอีกทีว่าคนอื่นๆ จะได้มีโอกาสเห็นรูปร่างหน้าตาที่ได้ถวายกษัตริย์ไหม เพราะว่ากษัตริย์สเปนท่านก็นำกลับไปประเทศสเปนเล่มหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บไว้ที่ไหน ไม่อาจทราบได้ เพราะฉะนั้นลงความเห็นตรงกันว่า ๙ เล่มที่เหลือจะมอบให้สถานที่สำคัญๆ เพื่อที่ใครก็ตามอยากจะศึกษาประวัติศาสตร์ของหนังสือนี้ก็จะได้เห็น คือ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุ สถานทูตสเปนประจำประเทศไทย สถานทูตไทย ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้ไปถึงกันได้ คนสเปนก็จะได้เห็น และคนไทยก็จะได้เห็น ที่เหลือมอบให้กับผู้แปล บรรณาธิการต้นฉบับ สำนักพิมพ์ และผู้จัดทำรูปเล่ม

เป้าหมายสำคัญของการจัดงานครั้งนี้คืออะไร?

การจัดงานครั้งนี้มีเหตุผลหลายอย่าง ประการแรก เพื่อที่จะแสดงความขอบคุณกษัตริย์สเปนที่เป็นจุดเริ่มต้น กษัตริย์สองพระองค์มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แลกเปลี่ยนของขวัญกัน ถ้าเผื่อไม่มีโอกาสนี้ก็คงจะยาก คงลืมไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ประวัติศาสตร์คงต้องจารึกไว้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งถามว่าทำไมถึงไปจัดที่หอสมุดแห่งชาติ เพราะว่าหอสมุดแห่งชาตินั้นควรจะเป็นศูนย์กลางของเรื่องหนังสือ หรือ 'ระบบหนังสือ' เมื่อพูดถึงหอสมุดแห่งชาติในชาติอื่นๆ ประเทศอื่นๆ หอสมุดแห่งชาติจะเป็นสถานที่สำคัญที่เป็นศูนย์รวมของหนังสือ เป็นที่พบปะ และเป็นที่ศึกษาเรื่องสรรพวิชาทั้งปวงที่ว่าด้วยหนังสือ เพราะฉะนั้นเราอยากจะให้บรรยากาศความสำคัญของหอสมุดแห่งชาติกลับมาอีก

ฉบับภาษาไทยพิมพ์ไปแล้วกี่เล่ม?

ตอนนี้จำไม่ค่อยได้เพราะมั่วไปหมด ตัวเลขการพิมพ์ยังไม่แน่ชัด เพราะบางทีต้องพิมพ์แทรกพิมพ์ซ้อนหลายหน แต่ว่าตัวเลขที่พอจะจำได้คือว่าทำลายไปสองพันเล่ม เพราะว่าคุณภาพการพิมพ์ออกมาไม่ดี จริงๆ สถานทูตขอให้พิมพ์ครั้งแรก ๒,๐๐๐ เล่ม ตรงนี้อยู่ในเงื่อนไขขั้นต้นที่เจรจากันไว้ ทูลเกล้าฯ ถวายจำนวน ๒ เล่ม และขอให้พิมพ์เผยแพร่อีก ๒,๐๐๐ เล่ม ในการพิมพ์ครั้งแรกนั้นยังอนุญาตให้ใช้ตราแผ่นดินสเปน เล่มที่พิมพ์หลังจากนั้นก็จะไม่มีแล้ว การขายก็ไปของมันเรื่อยๆ ช้าๆ และค่อนข้างช้ามาก ฝันๆ ว่าน่าจะขายได้ปีหนึ่งสักหมื่นเล่ม แต่ขณะนี้เพิ่งเริ่มฝัน แต่ไม่รู้ว่าความฝันนี้จะเป็นยังไง เพราะเพิ่งผ่านมาปีหนึ่งก็ยังไม่รู้ และหนึ่งปีที่ผ่านมายังไม่เคยได้แนะนำไม่เคยได้ทำอะไร

ฝันว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือคนในวงการวรรณกรรมหรือวงการศึกษาจะเรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจว่าเป็นหนังสือที่น่าชื่นชมจริงๆ ผมดีใจที่มีนักเขียนหลายท่านชื่นชมอย่างคุณชาติ กอบจิตติ หรือคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผมหวังว่าในปีหน้าจะจัดอีก เพราะว่าตั้งใจจะทำเป็นดอนกิโฆเต้ฯ ภาคเด็ก ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดทั่วโลกเขามีตั้งแต่สำหรับเด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม เอามาย่อมาเขียนใหม่ ถ้าเกิดให้เด็กเริ่มอ่านวรรณกรรมดีๆ ให้เขารู้จักวรรณกรรมดีๆ ตั้งแต่ต้น พอเขาโตขึ้นเขาอยากอ่านฉบับเต็ม กระบวนการเหล่านี้บังเอิญมันไม่เกิด

เนื้อหาของนิทรรศการมีอะไรสำคัญๆ?

เริ่มจากทางฝั่งฝรั่ง เราพยายามหาหนังสือต่างๆ ที่แปล ไม่ว่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาต่างๆ ที่พอจะหาได้ หนังสือที่พิมพ์ในยุคต่างๆ หัวใจของงานในส่วนนี้คือหนังสือแปลจากภาษาสเปนเป็นภาษาฝรั่งเศสที่พิมพ์ในปี ๑๘๖๓ เป็นการพิมพ์ครั้งแรกที่ใช้รูปของดอเร่ เหมือนรูปที่ใช้ในเล่มของผีเสื้อ เล่มนี้มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าอัศจรรย์ใจ คือว่าคนที่ขนหนังสือเล่มนี้มาให้ผมเป็นคนฝรั่งเศสอายุ ๘๑ ปี หนังสือหนักเกือบเล่มละ ๑๐ กิโลฯ ผมคิดว่าเล่มนี้คงมีไม่กี่เล่มในโลก รวมทั้งนำเอาจำนวน ๙ เล่มที่เหลือไปแสดงด้วย รูปเล่มทำด้วยมือ ระเบียบการทำหนังสือใช้วิธีโบราณทั้งหมด

ช่วงนี้สำนักพิมพ์ผีเสื้อมีโครงการแปลงานอะไรอยู่บ้าง?

ตอนนี้หนังสือใหม่ๆ ไม่มี จะมีแต่หนังสือที่ทำค้างกันมา บางเล่มใช้เวลาตั้ง ๕-๖ ปี จริงๆ กำหนดไม่ได้ว่าปีหนึ่งๆ จะต้องออกหนังสือเท่าไร ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขากำหนดได้ แต่ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อมีต้นฉบับเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยดีเมื่อไร พิมพ์เมื่อนั้น ไม่ดีก็อย่าเพิ่งไปออก พิมพ์เสร็จถ้าออกมาไม่ดีก็ทิ้งเสียบ้าง (หัวเราะ)

ผมอยากใช้คำว่าสอนให้เด็กๆ เห็นความประณีตของทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นหนังสือ ถามว่าทำไมหนังสือบางเล่มอยู่มาจนกระทั่งร้อยปีสองร้อยปีได้ เพราะว่าคนทำหนังสือในยุคนั้นทำด้วยหัวใจจริงๆ ทำด้วยความคิด วิริยอุตสาหะ แต่ว่าสมัยนี้ใช้วิธีมักง่ายและหนังสืออยู่ได้ไม่นาน รูปเล่มหนังสืออาจอยู่ได้ไม่นานไม่เป็นไร แต่ว่าข้อความจะต้องให้อยู่นาน ฉะนั้นขั้นตอนที่ประณีตละเอียดทุกขั้นตอน การแปลเอย การเขียนเอย การตรวจแก้ต้นฉบับเอย การพิจารณาถ้อยคำเอย การจัดทำรูปเล่มเอย การใช้วัสดุเอย หรือศึกษาแม้กระทั่งการใช้กระดาษว่าเป็นกระดาษที่ช่วยให้ตาดีขึ้นหรือเปล่า

สำนักพิมพ์ผีเสื้อส่วนใหญ่พิมพ์วรรณกรรมแปลดีๆ ขณะที่หลายแห่งบ่นว่างานเหล่านี้ขายยาก?

ขายไม่ได้..ถูกต้อง แต่ทีนี้เราจะหวังเรื่องขายได้อย่างเดียวหรือ สมัยที่ผมอายุน้อยๆ ก็หวังว่าอยากจะมีสตางค์ สมมติว่าจะพิมพ์หนังสือเดือนหนึ่งสัก ๔๐-๕๐ เล่ม และไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะแปลถูกแปลผิดยังไง ไม่ต้องวิตกกังวล แต่ถามว่าผมได้เงินมาร้อยล้านพันล้าน ผมเอาไปไหน ผมเอาไปทำอะไร สมมติเอาเองว่าหนังสือดี คุณจะบอกว่าดีหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ถ้ามีหลายๆ คนบอกว่าหนังสือดี และมันอยู่ไปอีกสักประมาณร้อยปีข้างหน้า หลังจากนั้นในอีกร้อยปีข้างหน้าก็มีคนมาบอกว่าเราทำหนังสือดี เหมือนกับที่เราพยายามเสาะหาหนังสือดีๆ เมื่อสักประมาณร้อยปีสองร้อยปีที่แล้ว นั่นต่างหากคือกำไรของเรา

สำนักพิมพ์มีแนวทางอย่างไรทำให้คนหันมาอ่านวรรณกรรมดีๆ มากขึ้น?

ตัวสำนักพิมพ์ทำยาก ต้องขึ้นอยู่กับสำนึกของส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาลลงไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ถ้าเผื่อว่ารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้สำนึกถึงเรื่องหนังสือ อย่าพูดถึงเรื่องรักการอ่านเลย คุณต้องสร้างความสำนึกเรื่องหนังสือให้กับผู้ปกครองประเทศก่อน ผมพูดเสมอว่า 'ระบบหนังสือ' ประกอบด้วยอะไรบ้าง ประกอบด้วยคนทุกคน ถ้าระบบบกพร่องโดยส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น นักแปลมักง่ายแปลผิดๆ ถูกๆ สำนักพิมพ์มักง่ายเอาแต่ขายอย่างเดียว

ถ้าเกิดรัฐบาลเข้าใจระบบหนังสือ รัฐบาลมีหน่วยงานที่สำรวจดูว่าสำนักพิมพ์ไหนพิมพ์หนังสือที่ดี มีการตรวจสอบ อย่าลืมว่าห้องสมุดในเมืองไทยมีถึง ๔๐,๐๐๐ แห่ง ทั้งห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดอะไรต่างๆ มีทั้งสิ้นกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง ถ้าเผื่อรัฐบาลสนับสนุนโดยการซื้อหนังสือที่ผลิตดี เนื้อหาดี แจกจ่ายให้แก่ห้องสมุด สำนักพิมพ์ดีๆ อยู่ได้ ผมเคยทำวิจัยเรื่องนี้มาตลอดเวลา ๔๐-๕๐ ปี ในห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศมีหนังสือที่ไม่ได้คุณภาพทั้งนั้น ไปสุ่มดูที่ไหนก็ได้ ลำบากถ้าครูก็ไม่อ่านหนังสือ ผู้ปกครองก็ไม่อ่านหนังสือ

ถ้าผู้ปกครองไม่เข้าใจวิธีจัดการกับระบบหนังสือ..ทุกอย่างจบ ยิ่งได้รัฐบาลที่อ่านหนังสือแบบโกหกอีกยิ่งไปกันใหญ่

---------------------------------------------

นิทรรศการหนังสือ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน 'นวนิยายที่กษัตริย์ทรงมอบแก่กษัตริย์' ระหว่างวันที่ ๓-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ กำหนดการดังนี้...

วันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย, ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ, บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เปิดงาน

๑๓.๑๕ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน' เล่มพิมพ์พร้อมสองเล่มแรก แก่หอสมุดแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด, ผู้แปล, บรรณาธิการต้นฉบับแปล, ผู้จัดทำรูปเล่ม และสำนักพิมพ์

๑๓.๓๐ น.เสวนา 'ก่อนเป็นนวนิยายที่กษัตริย์ทรงมอบแก่กษัตริย์' : สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์, วัลยา วิวัฒน์ศร

๑๗.๐๐ น.ผู้ฟังร่วมสนทนา

๑๘.๐๐ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แก่ผู้ได้รับรางวัลจากบัตรร่วมงาน

วันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.สิงห์สนามหลวงพูดถึง 'ดอนกิโฆเต้ฯ' : สุชาติ สวัสดิ์ศรี, อรรคภาค เล้าจินตนาศรี ร่วมเสวนา

๑๕.๐๐ น.'แฟนพันธุ์แท้ภาคพิเศษ' แฟนพันธุ์แท้ดอนกิโฆเต้ฯ : คมสัน นันทจิต พิธีกร

๑๘.๓๐ น.มอบรางวัลแก่ผู้ชนะแฟนพันธุ์แท้และผู้ร่วมแข่งขัน

วันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.เสวนา 'ปอเปี๊ยะดอนฯ กับแผ่นดินหนังนาบไฟ' : คณะทำงานรูปเล่มหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ร่วมเสวนา

๑๕.๐๐ น.สนทนา 'ความใฝ่ฝันของดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ล้าสมัยแล้วหรือยัง' : ยุทธนา มุกดาสนิท, เวียง-วชิระ บัวสนธ์, สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ, อธิคม คุณาวุฒิ และเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์

๑๘.๓๐ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แก่ผู้ได้รับรางวัลจากบัตรร่วมงาน

วันอังคารที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.เสวนา 'ในฐานะคนอ่านดอนกิโฆเต้ฯ' : ปณิธิ หุ่นแสวง, สุวัฒน์ หลีเหม

๑๕.๔๕ น.มอบหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับภาษาไทยแก่ห้องสมุดเรือนจำทั่วประเทศ จำนวน ๑๓๐ เล่ม

๑๖.๐๐ น.ผู้ฟังร่วมสนทนา

๑๗.๐๐ น.ชมภาพยนตร์ ดอนกิโฆเต้ฯ

๑๘.๓๐ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แก่ผู้ได้รับรางวัลจากบัตรร่วมงาน

วันพุธที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.เสวนา 'บรรณาธิการต้นฉบับแปลกับการตรวจแก้วรรณกรรมสำคัญ' : วัลยา วิวัฒน์ศร, มกุฏ อรดี ผู้เคยอบรมวิชาบรรณาธิการต้นฉบับแปลและผู้สนใจร่วมเสวนา

๑๗.๐๐ น.ชมภาพยนตร์ ดอนกิโฆเต้ฯ

๑๘.๓๐ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แก่ผู้ได้รับรางวัลจากบัตรร่วมงาน

วันพฤหัสบดีที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.เสวนา 'ความประทับใจหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ' : คารินา โชติระวี, สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์, สุวัฒน์ หลีเหม ร่วมเสวนา

๑๖.๐๐ น.ผู้ฟังร่วมเสวนา

๑๗.๐๐ น.ชมภาพยนตร์ ดอนกิโฆเต้ฯ

๑๘.๓๐ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แก่ผู้ได้รับรางวัลจากบัตรร่วมงาน

วันศุกร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.'วาดรูปตามดอนฯ' : เทพศิริ สุขโสภา, คมสัน นันทจิต พิธีกร

๑๖.๐๐ น.ผู้ฟังร่วมเสวนา

๑๗.๐๐ น.ประมูลภาพวาดของศิลปิน นำเงินสนับสนุนกิจกรรมหอสมุดแห่งชาติ

๑๘.๓๐ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แก่ผู้ได้รับรางวัลจากบัตรร่วมงาน

วันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๐

๑๓.๐๐ น.เสวนา 'ก่อนจะถึงดอนกิโฆเต้ฯ เล่มสองตอนจบ' : สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์, วัลยา วิวัฒน์ศร

๑๕.๓๐ น.ประมูลหนังสือ เหรียญกษาปณ์ แสตมป์ โปสเตอร์หายาก ของที่ระลึก ฯลฯ

๑๖.๓๐ น.มอบเงินรายได้แก่ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ

๑๘.๐๐ น.มอบหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ฯ' แก่ผู้ได้รับรางวัลจากบัตรร่วมงาน

๑๘.๓๐ น.ปิดงาน

หมายเหตุ : ผู้สนใจร่วมแข่งขัน 'แฟนพันธุ์แท้ภาคพิเศษ' แฟนพันธุ์แท้ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับภาษาไทย สามารถสมัครได้ที่ บริษัท ดวงกมลสมัย จำกัด โทร.๐-๒๕๔๑-๗๓๗๕ และสำนักพิมพ์ผีเสื้อ โทร.๐-๒๒๖๑-๖๓๓๐

ที่มา จุดประกาย วรรณกรรม วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

สู่ฝัน...อันยิ่งใหญ่ที่ไกลแสน

ถึงสุดแดนแคว้นใดจะไปหา

แม้ทุกข์ตรมขมขื่น...กลืนน้ำตา

แล้วตามล่าหาฝันทุกวันไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท