ผมได้อะไรจาก gotoknow


เรื่องมันเริ่มเมื่อเดือนก่อน ที่ทางคณะจะมีสัมมนาวิชาการ ผมตั้งท่าอยู่นานว่าจะเอาเรื่องอะไรไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ก็คิดอยู่แต่ว่าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมืองเรา เป็นการเปิดมุมมองของตัวเองและเพื่อนๆ ไปในเวลาเดียวกัน ก็คิดว่าจะเล่าเรื่อง ประสบการณ์ใน gotoknow และก็เสนอแนวทางตามความคิดของผมเอง ก็เลยส่งหัวข้อสัมมนาไปว่า “go to know Thai scholars" คือเอาแบบให้คนอ่านรู้ว่าเกี่ยวกับเมืองไทย แต่ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับอะไร อยากมาฟังก็มา ไม่อยากมาก็ไม่เป็นไร

ความพยายามแรกของผมคือการค้นหาข้อมูลใน gotoknow ว่าชุมชนนี้มีใครมองย้อนกลับไปแล้วเขียนเล่าประสบการณ์ว่าเออนะ เรามาร่วมชุมนุมที่ gotoknow แล้วมีความรู้สึกอย่างไร  แล้วก็พยายามสรุป เพื่อหวังจะวิเคราะห์ต่อไป แต่ล้มเหลวครับ คือหาไม่ค่อยได้ แล้วก็ไม่มีเวลาจะสรุปข้อมูลที่มีอยู่

ต้นเดือนที่ผ่านมา ปรากฎว่าทาง gotoknow มีการเชิญชวนให้เขียน AAR กัน แต่ผมก็ไม่มีเวลาไปตามอ่านแล้วสรุปความ แต่เท่าที่สัมผัส ก็รู้สึกว่าชุมชนจะมีความสนิทสนมกัน คือในด้านสังคมนั้นผ่านไปฉลุย การที่ปัจจัยด้านสังคมแข็งแกร่งนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากครับ เพราะมันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้ คือถ้าไม่เปิดใจกันก็ไม่สะดวกใจที่จะคุยอะไรที่มันลึกซึ้งลงไป

เรื่องที่ผมนำเสนอให้เพื่อนๆ ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ใน gotoknow นั้น ผมแบ่งการนำเสนอเป็นสองตอนครับ

ตอนที่หนึ่งผมเล่าถึงปัญหาก่อน คือผมเริ่มด้วยโฆษณาสามัคคี  ผมตั้งใจเริ่มด้วยโฆษณาเพื่อดึงคนฟังครับซึ่งก็ได้ผลดี ผมแปลงเป็น Flash Movie แล้วก็ใส่ subtitle ให้ฝรั่งเข้าใจ เป็นโฆษณาที่น่าสนใจนะครับ ดูจบแล้วผมสงสัยว่าการปลูกจิตสำนึกมันต้องทำกันมากแค่ไหน และต้องทำกันอย่างไร เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องนามธรรมมาก

พอจบโฆษณาก็กลับมาเข้าหัวข้อสัมมนา ผมก็โยงโฆษณาเข้ากับปัญหาการศึกษาบ้านเรา โดยยกเอาแนวคิดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มาเป็นบทนำ อาจารย์นิธิพูดถึงประเด็นของการศึกษาที่ขาดทางเลือกไว้น่าสนใจมากเลยครับ ท่านกล่าวถึง (1) ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ ทำให้วัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาหลอมรวม และเป็นวัฒนธรรมจากสื่อ คือความเชื่อต่างๆ เช่นไก่เคเอฟซี และพิซซ่าเป็นของอร่อย ส่วนหนึ่งความอร่อยนั้นมันเป็นความอร่อยจากสีสันของโฆษณาและคุณค่าทางสัญลักษณ์ที่ติดมากับอาหาร  (2) ผลกระทบต่อมาคือการหลอมรวมของทางเลือกในชีวิตที่น้อยลง ๆ ทุกที ผมว่าตรงนี้เห็นได้ชัดจากความต้องการปริญญาที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตอนนี้ใครๆ ก็บอกว่ามีปริญญาตรีไม่พอแล้ว ต้องมีปริญญาโท สถาบันการศึกษาก็ออกมาตอบรับ เอานโยบายด้านการตลาดมานำคุณภาพ เอาปริญญามานำความรู้ แล้วทางเลือกที่ตีบตันคืออะไรครับ? ก็คือการที่เรามุ่งหวังจะผลิตคนเพื่อตอบสนองภาคธุรกิจ มุ่งให้คนหาเงิน ให้คนใช้เงิน ซื้อผ่อนรถ ซื้อผ่อนเครื่องเสียง ซื้อผ่อนบ้าน

ถึงตรงนี้จบตอนที่หนึ่ง ผมก็ถามคนฟังว่าคิดเห็นอย่างไร ในห้องมีทั้งฝรั่ง จีน ฟิลิปปินส์ แต่ละคนก็มีมุมมองต่างกัน ก็น่าสนใจดีครับ แต่มันไม่ได้ข้อสรุป คือยิ่งคุยยิ่งมีแต่คำถามเพิ่มขึ้น

ผมก็ต้องพยายามให้เพื่อนๆ หยุดพูด ผมจะได้พูดตอนสองต่อได้ ซึ่งใช้เวลาอยู่นานพอสมควร เพราะแต่ละคนก็อยากพูด พอทุกคนอนุญาติให้ผมพูดต่อ ผมก็เล่าถึงประสบการณ์ที่เข้ามาร่วมในชุมชน gotoknow ซึ่งผมเล่าตั้งแต่วัตถุประสงค์การเข้าร่วม ความคาดหวัง แล้วก็โยงมาถึงการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลในช่วงปีที่ผ่านมา

ผมขอสรุปความสั้นๆ ดังนี้นะครับ

(1) ผมเริ่มต้นเขียนด้วยแรงบันดาลใจจากแนวคิดของคุณคริส เซสซัม คุณคริสเล่าถึงกลยุทธของเขาว่า เริ่มต้นด้วยการเข้ามาเขียนๆ ๆ แล้วก็ผิดหวังว่าทำไมไม่มีใครอ่านเลย ก็เลยเริ่มอีกครั้งด้วยการเข้าไปอ่าน ๆ ๆ แล้วก็แสดงความคิดเห็น จนคุ้นเคยกับคนในชุมชน แล้วก็เริ่มเขียนอีกครั้ง ได้ผลครับคราวนี้

ผมว่าเทคนิคแบบนี้ช่วยให้คนที่ไม่รู้จะเริ่มเขียนบล็อกอย่างไร พอจะเห็นแนวทางนะครับ พูดง่ายๆ คือต้องรู้จักวัฒนธรรมและคนในชุมชนนั้นๆ ก่อน อันนี้เหมือนกับการย้ายบ้านนั่นละครับ ย้ายไปแล้วจะจัดงานปาร์ตี้เลย ก็คงไม่ค่อยมีแขก ต้องเริ่มจากไปร่วมงานบ้านข้างเคียงก่อน ทำความรู้จักคนอื่นๆ แล้วถึงเชิญเขามาบ้านเราบ้าง

อีกแนวคิดที่คุณคริสกล่าวถึงคือการเขียนบล็อกเป็นการเขียนความคิดแบบสุกๆ ดิบๆ คือยังไม่ลงตัวก็เขียนได้ เขียนเพื่อโยนหินถามทาง เขียนเพื่อปรับความคิดของตัวเอง อะไรประมาณนั้น ซึ่งต่างกับการเขียนทางวิชาการที่ต้องมีการสรุปลงตัว

(2) ผมก็เริ่มเขียนบล็อกโดยใช้แนวทางของคุณคริส เริ่มจากที่ multiply แล้วมาที่ bloggang แล้วก็มาลงตัวที่ gotoknow ใช้เวลาร่วมปีครับ กว่าจะลงตัว แล้วก็พยายามจะเขียนให้สม่ำเสมอ (ซึ่งทำไม่ค่อยได้)

(3) ผมตั้งใจว่าจะเขียนประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอน เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอน แต่ไปๆ มาๆ มันขยายไปถึงเรื่องราวต่างๆ รอบๆ ตัว ซึ่งก็เป็นการมองเมืองไทยในฐานะคนอยู่นอกเมืองไทย หรือมองเมืองนอกแบบเป็นคนไทย ก็ปนๆ กันไป ก็เป็นความรู้สึกที่แปลกดี ไม่ว่าจะเป็นตอนรัฐประหาร หรือตอนที่บ้านเราปิด youtube รวมถึงแนวความคิดเรื่องการเรียนการสอนจากประสบการณ์ของตัวเองในเมืองไทย และประสบการณ์ที่นี่

(4) ผมก็สรุปไปว่า ผมได้มิตรสหายออนไลน์หลายท่านที่มีแนวความคิดน่าสนใจ และก็แสดงความคิดเห็นว่าการสนับสนุนหรือปลูกจิตสำนึกให้คนเขียนบล็อกนั้นมันคงทำได้ยาก ไม่ต่างจากปลูกจิตสำนึกให้สามัคคี เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเข้าใจและความต่อเนื่อง โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อมากๆ ว่าสิ่งที่จะทำให้สังคมมีบรรยากาศที่ดี คือต้องให้การศึกษา และการศึกษาที่สำคัญที่สุดต้องเกิดจากความเข้าใจในตัวเอง และเข้าใจคนอื่น คือยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งเห็นความต่าง ยิ่งเปิดมุมมองให้ตัวเอง

(5) ปกติผมรับ feeds หรือ RSS จากเว็บที่ให้บริการหลายแห่งครับ ทั้งข่าวสารต่างๆ และเว็บบล็อกของเพื่อนๆ หรือนักวิชาการที่ผมติดตามงาน บางทีไม่ได้ตามสักสองสามวันก็อ่านไม่ทันแล้ว บางทีขึ้นไปถึงหลายร้อยหัวข้อ ผมว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำใจว่าข้อมูลต่างๆ ที่ไหลเวียนอยู่ในอินเตอร์เว็บนี้มันมีเยอะมาก สุดท้ายก็ต้องสแกนอ่านแต่หัวข้อก่อนอย่างรวดเร็ว เจอคำที่น่าสนใจ เจอประโยคที่สะกิดใจแล้วถึงเข้าไปสแกนต่อในเนื้อความ และต้องพูดตรงๆ ว่านานๆ ถึงจะเจออะไรเจ๋งๆ คิดได้แบบนี้ก็ช่วยให้ปล่อยวางได้บ้าง คือไม่กังวลว่าฉันจะตกข่าวอะไรไหม แนวคิดนี้ผมปรับใช้กับการเข้าร่วมในชุมชน gotoknow เหมือนกัน อ่านเร็ว อ่านผ่านๆ ช่วงงานยุ่งก็ไม่ได้อ่านเลย รอแต่ว่าเมื่อไหร่ขาประจำจะเขียนบันทึก ถึงจะอ่าน ถึงจะแสดงความเห็น

ข้อแนะนำ

เรื่องหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นอยู่เรื่อยๆ ใน gotoknow และคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญคือการใส่ป้ายคำ ผมเองลองผิดลองถูก และสังเกตจากเว็บบล็อกอื่นๆ รวมทั้งอ่านคู่มือที่ทาง gotoknow จัดทำไว้ก็คิดว่าเป็นข้อมูลที่จัดเจนดี แต่ก็ยังเห็นว่ามีหลายๆ ท่านใส่ป้ายคำยาว หรือใส่ป้ายคำที่ไม่สื่อความหมายนัก ผมว่าตรงนี้จะทำให้เรากลับมาหาข้อมูลยากนะครับ

เห็นว่าหลายคนในชุมชน มีการให้ท้วงติงกันเรื่องการสะกดผิด เป็นการติเพื่อก่อ บางทีถ้าเราช่วยกันท้วงเรื่องการติดป้ายคำให้เหมาะสม ก็น่าจะช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลได้ในระยะยาวนะครับ

บทส่งท้าย

สองปรากฎการณ์ที่เกิดกับชุมชนออนไลน์ชื่อดังในเมืองไทย พันทิพย์ดอทคอม คือการปรับตัวเป็นชุมชนจริงๆ และการแยกกลุ่มย่อย ผมคิดว่าสองเรื่องนี้น่าสนใจนะครับ มีเพื่อนผมอยู่ห้องแมว เธอเล่าให้ฟังว่าคุยไปคุยมาในเว็บก็นัดเจอกัน นัดทำกิจกรรมร่วมกัน ในเครือข่ายออนไลน์ก็มีการตั้งชมรม คือพอโตแล้วก็แตกแยกย่อยออกไป ด้วยเหตุผลหลักคือปัจจัยด้านสังคม คือสนิทสนมกันก็อยากเจอกัน อยากแสดงความเป็นชุมชนที่ชัดเจน

ปรากฎการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นในgotoknow ครับ คือมีการนัดเจอกัน มีการแยกพื้นที่ออกไปเป็น share.psu.ac.th ซึ่งผมเชื่อว่าการแยกตัวออกไปในระดับองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีความใกล้ชิดมากกว่า แต่การรักษาระดับความกว้างไว้ใน gotoknow ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน

หมายเลขบันทึก: 191121เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2008 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • กำลัง งง งง ว่าทำไมไม่ได้อ่านบันทึกอาจารย์
  • ฮ่าๆๆ
  • ดีใจที่พบอาจารย์ใน gotoknowครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีคะ

           แวะมาอ่าน แล้วรู้สึกว่าได้แนวทางในการเริ่มต้นเขียนบล็อกจากแนวทางของคุณคริสที่อาจารย์นำเสนอ คิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เราได้รู้จักเครื่อข่าย และเครื่อข่ายก็รู้จักเราด้วย และจะคอยติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์นะคะ

                                     

ขอบคุณคะ

เข้ามาในโกทูโน ก็เพราะอยากจะเขียนอะไรบ้าง ต่อมาก็มาเจอกัลยาณมิตรที่นี่มาก กลายเป็นความคุ้นเคยกันไปในที่สุดค่ะ

อ่านแล้วได้มุมมองในการเริ่มเขียนบล๊อกมากขึ้นครับ

ผมสมัครเป็นสมาชิกไว้นานแล้ว

แต่ยังไม่มีโอกาสได้เขียนบล๊อก

และยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีการใช้Functions ต่างๆ ของเว็บครับ

ขอบคุณครับ

ภู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท