เสวนากับกรรมการสภาคณาจารย์


 

          ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย ผมเฝ้าถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า นายกสภาฯ มีหน้าที่ที่สำคัญอะไรบ้าง    หน้าที่ที่สำคัญไม่น่าจะใช่เป็นประธานการประชุมสภาฯ    ผมตีความว่าทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ “กลไกกำกับดูแล” องค์กร    หรืออาจเรียกว่า “ธรรมาภิบาล”    ซึ่งการกำกับดูแลการบริหารมหาวิทยาลัยมันมีลักษณะพิเศษมากตรงที่มีการกำกับจาก “ข้างล่าง” คือคณาจารย์ทั่วไปด้วย    โดยมีองค์กรคือสภาคณาจารย์เป็นกลไกทำหน้าที่นี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

   
          คล้ายๆ กับว่าการกำกับดูแลกิจการ หรือการบริหารมหาวิทยาลัย มีกลไก ๒ ทาง

กำกับจากข้างบน – สภามหาวิทยาลัย
 กำกับจากข้างล่าง – สภาคณาจารย์

 
          แต่ด้วยความโชคร้าย ที่มหาวิทยาลัยไทยมีลักษณะเป็น Low-Trust Organization หรือ Trust-Poor Organization  จึงชักจูงให้ในหลายมหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์กลายเป็น “สภาฝ่านค้าน”   หรือบางแห่งไปไกลถึงขนาด “สภาฝ่ายแค้น”    เล่นการเมืองจองล้างกันคล้ายการเมืองระดับประเทศไปเลย


          โชคดีที่ในมหาวิทยาลัยมหิดลไม่เป็นเช่นนั้น    แต่ผมก็ยังอยากให้สภาคณาจารย์เป็นกลไก Governance แบบ Generative Governance ดังที่ผมเคยเขียนไว้ ที่นี่  คือเป็นสภาที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์ เป็น Positive Governance ไม่ใช่ Negative Governance    ผมจึงเชิญกรรมการสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลมาคุยกันแบบไม่มีวาระ   คือเป็นการเสวนาหรือสุนทรียสนทนากัน   เพื่อชวนกันคิดสร้างคุณค่าของสภาคณาจารย์   คิดว่าคงจะว่างมาไม่กี่คน ปรากฎว่ามาถึง ๑๓ คน ดังนี้     

๑. รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล          ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล
๒. รศ.ดร. วารี ว่องโชติกุล            ค.เวชศาสตร์เขตร้อน
๓. ผศ.ปราโมทย์ ตระกูลเพียรกิจ    ค.เภสัชศาสตร์
๔. อ.ดุสิต เลาหสินณรงค์             ค.สัตวแพทยศาสตร์
๕. อ.นพดล ตั้งภักดี                    ค.เวชศาสตร์เขตร้อน
๖. ผศ.พัชรินทร์ นินทจันทร์           ค.แพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
๗. ผศ.ดร.วรากร เจริญสุข            ค.วิศวกรรมศาสตร์
๘. รศ.วิภาวรรณ ตั้งนิพนธ์            บัณฑิตวิทยาลัย
๙. รศ.ดวงพร  นะคาพันธุ์ชัย         ค.เทคนิคการแพทย์
๑๐. ผศ.เฉลิมพร องค์วรโสภณ      ส.อณูชีววิทยาและพันธุ์ศาสตร์
๑๑. รศ. ศิริพร ธิติเลิศเดชา          ค.แพทยศาสตร์ศิริราชฯ
๑๒. ผศ.ดร.ชาญคณิต ก.สุริยะมณี ค.สังคมศาสตร์ฯ
๑๓. ผศ.กุลณสรรค์ สายขุน          ส.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          เราคุยกันเรื่องการทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น High-Trust Organization เพื่อสร้าง synergy ในการทำงาน เกิดกำลังใจ ฮึกเหิมในการร่วมกันทำสิ่งยาก แต่คุณค่าสูง ให้สำเร็จ

    
          ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลานี้สภาพความสะอาด ปลอดภัย ในวิทยาเขตศาลายาดีขึ้นบ้างอย่างชัดเจนแล้ว    และหวังว่าจะมีการปรับปรุงเรื่องการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบัสบริการภายในวิทยาเขตให้ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาได้ดียิ่งขึ้น    มีประเด็นปลีกย่อยเชิงสวัสดิการมากมาย ที่ผมฝากท่านประธานและสมาชิกสภาคณาจารย์ไปแจ้งผู้บริหารอย่างไม่เป็นทางการ    เป้าหมายคือการทำให้ศาลายาเป็นวิทยาเขตที่น่าอยู่ และปลอดภัย


          เราคุยกันเรื่องการสร้างเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นรูปธรรมที่มองเห็นด้วยตา หรือเมื่อพูดถึงก็มีภาพในใจขึ้นทันที ที่ทุกคนภาคภูมิใจร่วมกัน   เราคุยกันเรื่องภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สังคมยกย่องด้านวิชาการ การวิจัย  

 
          มีคนถามผมว่าผมมีความเอาใจใส่คณะ/หน่วยงานใดเป็นพิเศษ    ผมตอบว่าคณะศิลปศาสตร์ ที่จะต้องพัฒนาขึ้นเป็นเสาหลักวิชาการ    เป็นคณะที่ไม่ทำเงิน    แต่เราก็มีประวัติศาสตร์ของการสร้างคณะที่ไม่ทำเงินอีกคณะหนึ่งคือคณะวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นคณะที่เลี้ยงตัวได้จากผลงาน/ความเข้มแข็งด้านการวิจัย

  
          นอกจากนั้นผมก็ยังสนใจคณะที่เป็น “non-health” ทั้งหลาย    ที่บางคนบ่นว่าทำไมคนทางสาขาที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สุขภาพจะต้องสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการบนฐานของวิทยาศาสตร์สุขภาพ    ทำไมคนทางสังคมศาสตร์ไม่สร้างบนฐานกว้างอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    ซึ่งผมก็จะอธิบายด้วยแนวความคิด excellence โดยมี differentiation
          ผศ.ดร.ชาญคณิต ก.สุริยะมณี    ค.สังคมศาสตร์ บอกว่า หลักสูตร criminology และ criminal justice ของคณะสังคมฯ เข้าหลักการสร้างวิชาการให้แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม   และได้ผลดีมาก   เป็นที่น่าภาคภูมิใจ

 
          มีการเสนอให้ดูแลวิทยาเขตใหม่ เช่นกาญจนบุรี เพราะอาจารย์ไปสอนแล้วสงสารเด็กนักศึกษาที่อยู่ภายใต้ความขาดแคลน

   
          มีการคุยกันเรื่องวิธีรับฟังความคิดเห็น ให้ผู้คนรู้สึกว่าเขาได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นจริงๆ    ซึ่งผมก็ได้ชี้ว่า การรับฟังความคิดเห็นไม่ใช่การไปให้โหวตลงคะแนน    และไม่ควรเพียงไปหาความเห็นหรือเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น    ต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วย   ฟังให้เข้าใจชัดที่เหตุผล (Why)    ไม่ใช่แค่ฟังว่าอยากได้อะไร (What) เท่านั้น

 

          เรานัดแนะกันว่า จะหาเวลาเสวนากันเช่นนี้สัก ๓ เดือนต่อครั้ง    คราวหน้าผมจะเลี้ยงข้าวเที่ยงด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๑๑ มิ.ย. ๕๑

   
                  

หมายเลขบันทึก: 189773เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2008 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท