การพัฒนาทักษะการคิด


การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการคิด

             การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการคิด 

                         ช่วงชั้นที่ 1( ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 )

        ประเภทการคิดที่จำเป็น

        การสอนภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการคิด  วัตถุประสงค์หลัก คือ

        เพื่อให้นักเรียนรู้ภาษาไทยอย่างมีความหมาย  และรู้หลักเกณฑ์ทางภาษาไทยไปพร้อมๆกับ  การพัฒนาทักษะการคิด  การคิดที่ควรสอนนักเรียนในช่วงวัยนี้  ได้แก่

        1.  การคิดเชิงมโนภาพ

             นักเรียนสามารถฝึกทักษะการใช้มโนภาพ  หรือจินตนาการ  เพื่อประโยชน์ในการคิดสร้างสรรค์  แก้ปัญหา  พร้อมๆกับการเรียนรู้ภาษาไทยไปพร้อมๆกัน  โดยใช้กิจกรรมต่างๆ  เช่น

           -  นำรูปภาพภาพหนึ่งมาให้ดู  แล้วลองจินตนาการว่า  "ถ้านักเรียนอยู่ในภาพนั้นด้วยจะเป็นอย่างไร"  แล้วให้นักเรียนออกมาเล่าเรื่องตามจินตนาการของตน  เช่นเมื่อดูภาพสวนสนุก  นักเรียนอาจบรรยายถึง  ความสนุกในการเล่นเครื่องเล่นต่างๆได้ไปเที่ยวกับใคร ทำอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งก็จะได้ฝึกฝนในเรื่องของการใช้ภาษาในการพูด  การลำดับใจความสำคัญ  การใช้ศัพท์และรูปประโยคต่างๆด้วย

           -  เล่นเกม  "ถ้า....หายไป  อะไรจะเกิดขึ้น? "  (อาจเป็นพยัญชนะตัวใดตัวหนึ่ง  หรือสระตัวใดตัวหนึ่ง) ซึ่งเมื่อ....หายไปจะทำให้ความหมายของคำนั้นเปลี่ยนไป  อาจจะให้เด็กออกมาทำท่าทาง หรืออธิบายตามมโนภาพของตนเอง  อันจะช่วยให้นักเรียนรู้ในการเขียนสะกดคำให้ถูกต้อง เช่น

ประโยค  "แม่ฉันชอบกินข่าอ่อนๆ" ถ้า "ไม้เอก"  หายไปเป็น  "แม่ฉันชอบกินขาอ่อนๆ" อะไรจะเกิดขึ้น?

            คำว่า  "หมางเมิน"  ถ้า  "ง"  หายไป  อะไรจะเกิดขึ้น?

       2.  การคิดเชิงวิเคราะห์

            นักเรียนสามารถจำแนกแยกแยะองค์ประกอบของสิ่งต่างๆได้  โดยกิจกรรม  เช่น

            - ให้นักเรียนอ่านนิทานสั้นๆ แล้วให้ตอบคำถาม  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อใด  อย่างไร  เพราะเหตุใด

           -  เลือกสิ่งของที่เป็นธรรมดาๆ  มาเป็นเริ่อง  เช่น  หมวก  ร่ม  รองเท้า  กระเป๋าหนังสือ  แล้วให้ลองเขียนรายการเรื่องราวของสิ่งที่ดูธรรมดาๆนั้น  ครูอาจช่วยโดยตั้งคำถาม  เช่น  ชนิดของหมวก  หรือร่ม  หรือรองเท้า  ใครเป็นผู้ใช้  ทำไมจึงใช้  และสิ่งของนั้นทำจากอะไร

           - ตัดข่าวหรือเหตุการณ์สั้นๆ  มาให้อ่าน  แล้วให้นักเรียนพูดคุยหรือเขียนรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ  แล้วเขียนคำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านนั้นมากที่สุด  ตัวอย่างคำ  เช่น  ตื่นเต้น  สงสัย  ตกใจ  เศร้าใจ  เห็นใจ  ประทับใจ  อยากลอง  คับแค้นใจ ฯลฯ

        3.  การคิดสร้างสรรค์

           ให้นักเรียนมีจิตนาการอย่างอิสระในการใช้ภาษา  มีจินตนาการในการแสดงออก  มีจินตนาการในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ครูต้องไม่เคร่งครัดเรื่องความผิดความถูกมากกว่า  การให้นักเรียนได้แสดงออกอย่างอิสระ  ตามความคิดของตน  โดยจัดกิจกรรม เช่น

          - การเขียนนิทานสั้นๆ และการวาดภาพประกอบ

         - การแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-3 คน  ให้ค้นหาคำที่ครูกำหนด  เช่น

           คำที่ลงท้ายด้วย....ในหนังสือหน้าใดหน้าหนึ่งออกมาให้ได้มากที่สุด  เมื่อได้แล้วให้ลองแต่งเรื่องราวจากคำเหล่านั้น

         - ให้นักเรียนฝึกอ่านหนังสือจากกระจก  หรืออ่านแข่งกันโดยมองจากด้านบน  ซึ่งเป็นการฝึกให้ทำในสิ่งที่นอกกรอบ  แปลกใหม่และไม่เคยทำมอาก่อน  นักเรียนจะสนใจและเพลิดเพลินในการเรียนรู้

         - เขียนคำ ธรรมดาๆ 1 คำบนกระดานดำ ให้นักเรียนคิดคำอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคำบนกระดานนั้นออกมาให้ได้มากที่สุด ในเวลา 2  นาที เช่น คำว่า  น้ำ  บ้าน  ถนน  มีคำอะไรบ้างที่เกี่ยงโยงถึงคำนั้นๆ ได้ เป็นต้น

       4.  การคิดเชิงเปรียบเทียบ

           นักเรียนสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสิ่งต่างๆได้  โดยกิจกรรม  เช่น

         - ค้นหาความแตกต่างระหว่างชุดคำ  2  ชุด  ที่ดูคล้ายๆ  เช่น

           ชุดคำที่สะกดด้วยแม่  กก  ซึ่งแต่ละชุดมีตัวสะกดแม่อื่นๆแทรกมาด้วย  แล้วให้นักเรียนดึงคำที่แตกต่างออกมา

         - ให้นักเรียนคิดเปรียบเทียบเรื่องราว  เหตุการณ์  ตัวละคร  คำพูด  เป็นต้น

         - นำเก้าอี้สามขาและเก้าอี้สี่ขามาตั้งหน้าห้อง  ให้สังเกตดู  แล้วจดทุกสิ่งที่เกี่ยวกับเก้าอี้ 2 ตัวนั้น เปรียบเทียบกัน  ทั้งความเหมือนและความต่าง

       5.  การคิดเชิงวิพากษ์

           การคิดเชิงวิพากษ์จะเป็นประโยชน์ในการใช้วิจารณญาณ  ใคร่ครวญสิ่งที่เห็น  ประเมินได้ว่าสิ่งนั้นๆ ผิดหรือถูกอย่างไร เช่น

        - ให้คำ  ข้อความ  หรือประโยคสั้นๆ  มาชุดหนึ่ง  ซึ่งคละกันทั้งที่ผิดหือถูก  ให้นักเรียนอ่าน  และพิจารณาว่า  ถูกหรือผิด  ถ้าผิด  ผิดเพราะอะไร และจะแก้ไขอย่างไร

        - อ่านข่าว หรือการ์ตูนสั้นๆให้นักเรียนฟัง  และแบ่งกลุ่มให้แสดงความคิดเห็น

      6.  การคิดเชิงมโนทัศน์

          นักเรียนสามารถคิดรวบยอดได้  พร้อมๆกับมีความรู้ทางภาษาไทยด้วย  โดยอาจใช้กิจกรรม เช่น

         - ให้ภาพภาพหนึ่ง  ให้นักเรียนตั้งชื่อภาพนั้น  แล้วเขียนบรรยายหรือแต่งเป็นเรื่องราวอย่างสั้นๆ

         - ให้อ่านข้อความสั้นๆ  แล้วให้บอกว่า  เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร  หรือหาใจความสำคัญของเรื่อง

         - ฝึกให้จัดหมวดหมู่  โดยให้ชุดคำที่มีตัวสะกดในมาตราต่างๆมาชุดหนึ่ง  แล้วให้นักเรียนแยกคำเป็นหมวดหมู่ตามตัวสะกดแต่ละมาตรา

                            ฯลฯ

        7.  การคิดเชิงสังเคราะห์

            การฝึกคิดสังเคราะห์ในเชิงภาษา  อาจนำมาใช้ในเรื่องของการรวมคำ  และการสะกดคำ  เช่น

          - ให้อักษรหรือพยัญชนะและสระที่กระจัดกระจายมาชุดหนึ่ง  แล้วให้นักเรียนสร้างคำใหม่จากตัวอักษรที่กระจัดกระจายเหล่านั้น

          -จัดเรียงลำดับคำ  หรือภาพที่วางสลับกันเป็นปริศนาให้เป็นเรื่องราวต่อเนื่อง

 

        นักเรียนในวัยนี้ควรเรียนรู้ภาษาไทยและพัฒนาทักษะการคิดไปพร้อมๆด้วยกันอย่างสนุกสนาน

ตัวอย่างการคิดและกิจกรรมเหล่านี้ สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิดหรือจัดทำแบบฝึกเพิ่มเติมได้

       นอกจากพัฒนานักเรียนด้านการคิดแล้ว  สิ่งที่ควรทำตามไปด้วยกัน  คือการฝึกทักษะอื่นๆ  เช่น

      การพัฒนาการทำงานกลุ่ม  การพัฒนาระเบียบวินัย  การทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ  และการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม  ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงบูรณาการที่จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาทั้ง  ด้านร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์  และสังคมไปพร้อมๆกัน

 

 


 

            ศึกษาธิการ, กระทรวง.  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  การจัดการเรียน

                    การสอนภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการคิด. (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การค้า

                    ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค., 2550), หน้า 32-38

 

           

     

 

หมายเลขบันทึก: 189598เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท