อาลัยใต้ต้นมะขาม


ผมเลือกศาลาแปดเหลี่ยมสีขาวเป็นสัญญลักษณ์ของสถานสงเคราะห์ครับ ผมว่ามันสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์นะครับว่าเป็นที่พักผ่อน พักพิง ที่ตั้งสติ ที่ปลดปล่อย ที่ระบาย และด่าทอ เป็นการชั่วคราว พอตั้งตัว ตั้งใจ ได้สติแล้วก็ค่อยคิดอ่านวางแผนกันว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับชีวิต ทั้งการออกแบบที่เปิดโล่ง เห็นหน้ากันได้อย่างถ้วนทั่ว ไม่มีตำแหน่งไหนเด่นหรือด้อยไปกว่ากัน เป็นการออกแบบที่สอดรับกับการใช้งานสวัสดิการสงเคราะห์ได้อย่างลงตัวเชียวครับ

 

ชีวิตใต้ต้นมะขาม

หนึ่งในบรรดางานด่วนระยะแรก ที่ผมคิดทำในไตรมาสแรกที่มาประจำอยู่ที่นี่คือการเลือกพิจารณาว่าทำอะไรบ้างในลักษณะของการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์องค์กร
แน่นอนครับ เว็บไซต์ บล็อก และแผ่นพับ เกิดจากฐานคิดตัวนี้

คำถามต่อมาคือ เมื่อนึกถึงสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ผมจะนึกถึงอะไร ภาพอะไรที่ปรากฏในใจผม ?
แน่นอนว่าคงมิใช่ภาพว่าเจ้าหน้าที่ขี้เมา ขี้เกียจ แห้งแล้ง และคงไม่ใช่ภาพที่ผู้รับบริการเสื้อผ้าสกปรก มีกลิ่น เจ็บป่วยเรื้อรัง อาหารไม่น่ากิน อาคารเรือนนอนไม่น่านอน ห้องน้ำไม่น่าเข้า (ต้องไปใช้บริการส้วมกลางป่าแทน) ฯลฯ  เปล่าหรอกครับ ผมไม่กล้าคิดจะเลือกมาเป็นสัญลักษณ์ และคำตอบจะเป็นจริงอย่างไรก็สุดแท้แต่ว่าใครจะตอบ - - และตอบใคร

ในที่สุดกำหนดกรอบการพิจารณาได้ ๓ อย่าง
เปล่าผมไม่ได้ถามใครหรอกครับ คิดเอง ทำเองโดยพลการ
ในที่สุดสะดุดตาผมอยู่ ๓ อย่าง คือ หอสูงจ่ายน้ำบาดาล ต้นมะขาม และศาลาแปดเหลี่ยม

๑. หอสูงจ่ายน้ำบาดาล เขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่มองเห็นได้จากภายนอกสถานสงเคราะห์ข้อความ “ศูนย์ฝึกอาชีพขุขันธ์”  ผมว่าหอนี้เป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์ ความยิ่งใหญ่ในอดีตของพื้นที่แถบนี้นะครับ เข้าใจว่าถ้าผู้บริหารสมัยนั้นไม่เจ๋งจริง หรือไม่เอาใจใส่ผลักดันคงไม่ได้หอน้ำบาดาลสูงใหญ่แข็งแกร่งขนาดนี้ - - ผมว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นเชียวนะครับ

๒. ต้นมะขาม โดดเด่นกลางสนามหญ้าด้านหน้าสถานสงเคราะห์ มองลอดลั้วลวดหนามจากภายนอกสถานสถานสงเคราะห์เข้ามาจะเห็นชีวิตผู้คนต่างใช้พื้นที่ดังกล่าวตามแต่ความพึงพอใจ

ผู้รับบริการใช้พื้นที่ดังกล่าวกิน นั่ง นอน พักผ่อน และสานแห ขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วน บางครั้ง ปรากฏภาพการใช้พื้นที่ใต้ต้นมะขามสร้างบรรยากาศด้วยการจุดเทียนดื่มเบียร์มอมเมาชีวิตหลังเลิกงาน และสักพักก็อาจได้เห็นภาพและเสียงการด่าทอ ต่อว่าของคู่สามีภรรยาและมิใช่ภรรยา และจบลงตรงที่ผู้รับบริการเข้ามาปลุกปลอบ “แม่จ๋า อย่าร้องไห้” และ

๓. ศาลาแปดเหลี่ยม เป็นสิ่งปลูกสร้างสีขาวที่เราอาจคุ้นตาในละครหลังข่าวแนวพีเรียดทางช่อง ๓ ตั้งอยู่หน้าอาคารสำนักงาน ผมเลือกใช้เป็นที่รับแขก รับเคส รับคน และเยี่ยมญาติ  เพราะมันโปร่ง โล่ง สบาย ด่าทอ ต่อว่ากันได้ตามสมควรแก่อารมณ์ และความเป็นสถานที่ราชการ

งานสวัสดิการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์เป็นพวกตัวเหม็นครับ เพราะการขลุกและคลุกอยู่กับผู้รับบริการแบบนี้ ทั้งเป็นการรบกวนสมาธิของบรรดาเหล่าเจ้าแม่ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ (ที่ทำยังกับว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละกว่า ๑,๒๕๐ ล้าน เพราะทำเป็นยุ่งเสียเหลือเกิน) สถานสงเคราะห์ทุกแห่งจะหาที่หาทาง (ไล่) ให้ฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์ซึ่งเป็นงานหลักของนี่แหละครับไปอยู่เสียต่างหาก ด้วยคำพูดลับหลังว่า “พวกข้างล่าง” ในความหมายว่าพวกชั้นต่ำ - - หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ (ฮา)

ผมเลือกศาลาแปดเหลี่ยมสีขาวเป็นสัญญลักษณ์ของสถานสงเคราะห์ครับ ผมว่ามันสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์นะครับว่าเป็นที่พักผ่อน พักพิง ที่ตั้งสติ ที่ปลดปล่อย ที่ระบาย และด่าทอ เป็นการชั่วคราว พอตั้งตัว ตั้งใจ ได้สติแล้วก็ค่อยคิดอ่านวางแผนกันว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับชีวิต ทั้งการออกแบบที่เปิดโล่ง เห็นหน้ากันได้อย่างถ้วนทั่ว ไม่มีตำแหน่งไหนเด่นหรือด้อยไปกว่ากัน เป็นการออกแบบที่สอดรับกับการใช้งานสวัสดิการสงเคราะห์ได้อย่างลงตัวเชียวครับ

จากศาลาสู่ใต้ต้นมะขาม

อย่างไรก็ดี ผมยังชื่นชอบการทำกิจกรรม ทั้งในวิชาชีพของผมและกิจกรรมทั่วไปภายใต้ร่มเงาของ “ต้นมะขาม” แม้ระยะหลังๆ ผมจะห่างจากโคนต้นมะขามไปบ้างก็ตาม

ผมว่าตำแหน่งของต้นมะขามมันได้ด้วยแหละครับ เพราะอยู่ท้ายสนามทั้ง ๒ ต้น เพราะเหตุนั้นจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นไม้ที่มีขอบปูนล้อมรอบ - - ไว้เป็นที่นั่ง ที่นอน ที่ร้อง ที่เต้น และเวทีประกวดกลายๆ ของกิจกรรมตามแนวคิด “Open The Doors”

ใครจะว่าอย่างไรก็เถอะ ตกเย็นหลังเลิกงานถ้าไม่ติดอะไร ชอบไปนั่งสอบประวัติ ซักถามความเป็นไปเป็นมา รับฟังการรำพึงชีวิตของคนในบ้านที่โคนมะขามนะแหละครับ ผมว่ามันเป็นการแสดงออกว่าเราเป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นลูกเป็นหลาน เป็นพี่เป็นน้อง มิใช่ด้วยฐานะ “พ่อนักสังคมฯ” หรือด้วยความเป็นข้าราชการผู้ให้บริการ - - ลดความเป็นทางการลงว่าอย่างนั้นเถอะ

นั่งคุยกัน หันหลังให้โคนต้นมะขาม มองผ่านทะลุรั้วลวดหนามดูรถและคนที่ผ่านไป คันแเล้วคันเล่า คนแล้วคนเล่า - - ฟัง ฟัง และฟัง เป็นช่วงที่ผมฟังครับ ฟังมากกว่าพูด เมื่อผมไปนั่งอยู่ตรงนั้น นานๆ จะได้ตั้งคำถาม (หรือจะเรียกว่าสัมภาษณ์) พูดคุยไปเรื่อยอย่างไม่มีโครงสร้าง

ลักษณะเฉพาะอย่างนี้ ไปเล่าในที่ประชุมกรมฯ ที่ประชุมนักสังคมสงเคราะห์ ค่อนข้างฮือฮาครับ ฮือฮาเพราะไม่ถูกต้องตามตำราและ (เหมือนว่าจะ) ไร้ระเบียบ อย่างน้อยที่สุดผมลองเล่าและถูกวิพากย์ในที่ประชุม ๒ กรณี
- สอบประวัติ สัมภาษณ์เคส ใต้ต้นมะขาม ที่โล่งโจ้งแบบนี้ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะได้ชื่อว่าไม่รักษาความลับของผู้รับบริการ
- ตกเย็น ไม่เกิน ๕ โมงเย็น ผู้รับบริการต้องเข้าเขต ขึ้นเรือนนอนกันแล้ว มีอย่างที่ไหนมานั่งผิงไฟ นั่งหมกมันแกว หมกเม็ดมะขามเคี้ยวกันอยู่อย่างนี้

ผมว่าไอ้เพราะความคิดเหมาโหลอย่างนี้แหละ ที่เป็นฐานรองรับการปฏิบัติที่เรียกว่า De-valued ในแนวคิดเรื่อง Social Role Valorization : SRV   ผมว่าเอาไว้สักพัก เรามาคุยเรื่อง (การจัดบริการภายใต้แนวคิด) เอกลักษณ์เฉพาะของหน่วยงาน (Uniqueness Services) ยาวๆ กันดีไหมครับ

ภายใต้แนวคิด “Open The Doors” ที่แอบไปศึกษาแบบครูพักลักจำที่ The global WPA anti-stigma programme :  www.openthedoors.com และในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต ทำให้เกิดความคิดพร้อมๆ กับชักชวนพี่ๆ น้องๆ ในบ้านใหญ่ดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งที่หลากหลาย ซึ่งก็ได้ผลตามสมควรครับ ใครขับรถเดินผ่านไปมาชะโงกหน้ามองบ้าง จอดรถมองบ้าง เป็นการประชาสัมพันธ์แบบไม่ต้องเสียตังค์ - - ถ้าจะเสียบ้างก็ตรงที่คนในบ้านจะติดนิสัยกลายเป็นคนชอบโชว์ไปเสีย (ฮา)

เล่นกีฬา ร้อง รำ ทำเพลง ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง เผาข้าวหลาม ประกวดสาวงามสถานสงเคราะห์ ก็ใช้ก้นตรงนี้แหละครับ
ผมว่าส่วนหนึ่งเพราะว่ามันง่ายทั้งการใช้และการรักษานี่ละครับถึงได้รับความนิยม เพราะเหตุนี้มังครับอาหารรถเข็นข้างถนนจึงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

แต่ในที่สุดใดๆ ในโลกล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้หลักของไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นสามัญลักษณะของสรรพสิ่ง
พระเดชพระคุณท่านเทศนาในงานศพ ที่ผมฟังครั้งล่าสุดได้เปรียบชีวิตไว้กับตะเกียงที่ส่องแสง ว่าอาจดับได้ทั้งกับการที่น้ำมันหมด ไส้หมด ลมแรง หรือโดนคนเตะล้ม (สาธุ) สรุปคือ

ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก - - เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป : ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความมิใช่ตัวตน

เชิญทัศนา…..

 


ภาพสานแหของลุง เหมือนว่าผมจะใช้เป็นภาพสัญลักษณ์ของกิจกรรมอาชีวบำบัดและการฝึกอาชีพที่เลือกนำเสนอในหลายเวทีต่างกรรม ต่างวาระไปแล้วครับ

 


กิจกรรมปีใหม่ สงกรานต์ เริ่มเล่น และเริ่มร้อง ที่สนามรอบๆ ใต้ต้นมะขามนี่แหละครับ ใครผ่านไปผ่านมาเป็นต้องหันมามอง

 


Role Play หัวเรื่อง “Who Am I ?”  “การสนทนาภาษาประกิต ในชีวิตประจำวัน” และ “เรื่องเล่า เรื่องหลัง” เป็นกิจกรรมที่นำมาใช้ในช่วงที่เหมาะสม (ตามแต่ที่นักสังคมฯจะนึกได้) - - ลึกๆ กิจกรรมเหล่านี้ผมมุ่งสืบให้รู้ว่าคุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา เป็นใคร มาจากไหนกันแน่ครับ

 


ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต้นมะขามถูกบั่นด้วยเจตนาดีก่อนเวลาราชการว่า “ตกแต่งกิ่งครับหัวหน้า เดี๋ยวมันก็งอกใหม่ สดใสกว่าเดิมแน่ๆ” แน่นอนว่าอานิสงส์ของการตกแต่งกิ่งคราวนั้น เจ้าหน้าที่และชุมชนโดยรอบได้เขียงไม้มะขามกันกันถ้วนทั่ว

 


เที่ยงวันนี้กับภาพกิจกรรมใต้โคนต้นมะขามภายหลังการตกแต่ง ถึงวันนี้จะเพราะความผิดพลาด จะเพราะความพลั้งเผลอ หรือเพราะ “มือที่มองไม่เห็น” ก็ตามทีความหลังฝังใจของผมและคนในบ้านได้ถูกทำลายไปแล้วสิ้น แน่นอนว่าผลดีก็มีอยู่บ้าง เจ้าหน้าที่และชุมชนโดยรอบได้เขียงที่ใหญ่กว่าเดิมไปกันอีกครั้ง (อย่างถ้วนทั่ว)

 

บันทึกนี้ไม่มีอะไรครับ
เป็นบันทึกเพื่อความทรงจำและไว้อาลัย
กับความเก่า ความหลัง ความทรงจำ และความเป็นไป

หมายเลขบันทึก: 189014เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2008 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2020 07:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ใด ใด ในโลกล้วนอนิจจัง

ขอไว้อาลัยกับความทรงจำและไว้อาลัย

กับความเก่า ความหลัง

โลกสอนมนุษย์ว่า “ทุกสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

แต่โลกก็ดันสอนให้มนุษย์รู้สึก ผูกพัน...แล้วจะไม่ให้เศร้าได้อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความรัก หรือเรื่องครอบครัว

เปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่คุณก็จะเริ่มเศร้า

แล้วพอเวลาผ่านไป คุณก็เริ่มผูกพันกับสิ่งใหม่ที่เปลี่ยนไป

คุณก็จะรู้สึกดีขึ้น ที่เราเรียกกันว่า”ทำใจได้แล้ว”

จะช้าหรือเร็วอยู่ที่ว่า คุณผูกพันกับสิ่งใหม่ได้เร็วขนาดไหน?

ขอบคุณครับ คุณหมูน้อย

เพราะเหตุนั้น ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ จึงควรอย่างยิ่งที่ต้องเจริญอภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ประการ อยู่เนืองๆ ว่า

เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๑

เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑

เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑

เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑

เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑

บทอภิณหปัจเวกขณ์นี้ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มักเจริญในช่วงท้ายบทไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น เพื่อความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความสมดุลในการดำเนินชีวิตในโลกสมมติ

 

ถ้าจะไม่ให้เกาะไม่ให้เกี่ยวกิ่งไม้ใดๆ เลย ก็ตกต้นไม้ตายกันหมดสิครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท