ใคร ? นายกรัฐมนตรีคนต่อไป


คุณเอกราช  แก้วเขียว  บอกว่าชอบที่ผมวิเคราะห์สโลแกนของ บารัค  โอบามา (CHANGE : We can believe it) และขอให้ผมวิจารณ์ผู้นำไทยคนต่อไปล่วงหน้าว่าจักต้อง CHANGE อะไรบ้าง  เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ของเราทุกคน

ต้องขอโทษ คุณเอกราช  ที่เพิ่งมาตอบตอนนี้  เพราะสังคมไทยที่น่าอยู่ของคุณเอกราชและของผม  มีเรื่องวุ่นวายมากจนขาดสมาธิที่จะคิดอ่านเรื่องของสังคม  แต่ก็ขอตอบละครับ

ก่อนอื่น  อยากจะสรุปแนวคิดของ บารัค  โอบามา  ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของว่าที่ผู้นำสหรัฐ  จากพรรคเดโมแครต 2 ประการ  คือ

1.  สหรัฐอเมริกา  จะยังคงเป็นผู้นำของโลก (ตามเดิม)

2.  แนวคิด  ยุทธศาสตร์  และยุทธวิธีในการเป็นผู้นำของโลก  เกือบจะตรงกันข้ามกับ จอร์ช  ดับบลิว บุช  ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน  http://gotoknow.org/blog/sombatn-ednuqakm/187305

ก่อนวิจารณ์ผู้นำคนต่อไปของไทย  ผมขอวิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศ 2 ประการ คือ

1.  ประเทศไทยดีที่สุดในโลก (สำหรับผม)

2.  มีความแตกแยกในปัจจุบันจน (น่าจะ) หมดหนทางสมานฉันท์

ในสถานการณ์ข้างต้น  ผมจึงมองว่า  ผู้นำไทยคนต่อไปควรมีลักษณะดังนี้

1.  มีความกล้าหาญที่จะแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้ง  ไม่เอาตัวรอด  ไม่หน่อมแน้ม (Courage)

2.  มีความจริงใจที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ  ใจกว้าง  พร้อมจะรับฟังความเห็นโดยปราศจากอคติ (Heart)

3.  มีการครองตนอย่างมีคุณธรรม  จริยธรรม  สามารถตรวจสอบได้ทั้งอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต (Accountability)

4.  มีความเป็นกลางในการบริหารจัดการ  ในที่นี้หมายถึง  ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แม้จะเป็นพวก  หรือพรรคตน (Nonalignment)

5.  มีความสามารถแสวงหาความร่วมมือ  รวบรวมและประสานงานกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี (Gathering)  หมายเหตุ  ข้อนี้เดิมผมอยากใช้ Genius แต่เกรงว่า  ฉลาดมาก  จะโกงมาก

6.  มีเชาวน์อารมณ์  หรือมีวุฒิภาวะทางอารมณ์  หรือมีความฉลาดรู้ทางอารมณ์  ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น  สามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม (Emotional Quotient)

จากการพยายามตั้งสมมติฐานและลากเข้าความ  จึงสรุป CHANGE ได้ดังนี้

C  =  Courage  กล้าหาญ

H  =  Heart  จริงใจ

A  =  Accountability  ตรวจสอบได้

N  =  Nonalignment  วางตัวเป็นกลาง

G  =  Gathering  แสวงหาความร่วมมือ

E  =  Emotional Quotient (E.Q.)  มีเชาวน์อารมณ์

ลองค้นหาผู้นำไทยตามคุณลักษณะข้างต้น  จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปัจจุบัน  จำนวน 480 คน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  มาตรา 171  วรรคสอง นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...) ดูสิครับ  เริ่มต้นตั้งแต่หัวหน้าพรรคทุกพรรค  ไล่ไปจนถึงลูกพรรคทุกคน 

ถ้าหาในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้  ก็ต้องหานอกสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญ

เราคนไทยจะทำอย่างไรดีครับ ?

อัศวินขี่ม้าขาวจะมาจากไหน ?  และเป็นใครครับ ?

ใครคิดได้  บอกผมด้วยครับ  ส่งโทรจิตนะครับ  ดูซิว่าชื่อในใจเราจะตรงกันไหม ?

(ไม่อยากให้คำพูดที่ว่า ประเทศไทยดีทุกอย่าง  เสียอย่างเดียว  มีคนไทย เป็นจริง)

หมายเลขบันทึก: 188956เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2008 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน ท่านพี่ อย่างน้อยก็มีพระครับ แต่อย่า "พาย วน ไป วน มา"

เรียน ท่านอาจารย์สมบัติ ที่เคารพค่ะ

ดิฉันได้อ่านบทความวิพากษ์ปัญหาการเมืองจากนักวิชาการหลายบทความสรุปประมาณว่าปัญหาทางการเมืองปัจจุบันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นความสัมพันธ์ด้านอำนาจแบบแนวดิ่ง ขาดการมีส่วนร่วมของฐานล่าง การแบ่งแยกฝักฝ่ายด้วยคำว่า "เสรีนิยม" และ "ประชาธิปไตย" ซึ่งหักล้างกันด้วยแนวคิดทางการเมืองที่มันควรจะไปด้วยกันแต่อุดมการณ์ทางการเมืองของ 2 ฝ่ายขณะนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการการเคลื่อนฐานอำนาจทางการเมือง และที่แปลก ๆ คือ เสรีนิยมไปเชื่อมโยงกับการหวังอัศวินที่เป็นทหารและกองกำลัง เลยดูแปลก ๆ แล้วแบบนี้ภาวะผู้นำขี่ม้าขาว และ "CHANGE" จะมาจัดการกับระบบที่มันฝังรากมากับวัฒนธรรมทางการเมืองไทยอย่างไรคะ

ช่วงนี้ดูปรากฏการณ์ทางการเมืองแล้วรู้สึกถึงทางตันค่ะ พยายามหาข้อมูลด้านทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์ เพื่อสามารถเข้าใจปัญหาและทางออกมากกว่าที่เป็นอยู่ หากอาจารย์มีเวลารบกวนแนะนำหนังสือที่ควรศึกษาเพิ่มเติมด้วยค่ะ

สวัสดี JJ

     มีพระนำแบบภาพ คิดในเชิงปรัชญาแล้วตีความได้ว่า
     1. ถึงฝั่งได้ เพราะองค์แรกพายขวา องค์สองพายซ้าย สร้างสมดุลย์
     2. ถึงฝั่งยาก เพราะต่างคนต่างพายเรือคนละลำ
     3. ไม่ถึงฝั่ง เพราะน้ำมาก อุปสรรคเยอะ และคงจะพายวนไปวนมา

     ติดตามอ่านบล็อค JJ ตลอด ขอชมว่าขยันเขียนมากๆ

 

คุณมโน อัญญา

     ผมคิดว่าคงแนะนำหนังสือให้คุณมโน อ่านไม่ได้ สารภาพว่ามืดบอดทางปัญญา แต่ถ้าจะเสนอความคิดผนวกคำแนะนำคือ ไม่มีทฤษฎีไหนอธิบายการเมืองไทยได้ หรืออีกทางหนึ่งคือ การเมืองไทยไรทฤษฎี เพราะการเมืองแบบไทยๆ คือ อำนาจและเงินตรา ไม่ใช่การประสานผลประโยชน์เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ
     คงต้องกระตุ้นต่อมจริยธรรมของนักการเมือ และจิตสำนึกของคนไทย ว่าให้เลือกคนดี อย่าเลือกเพราะเงินตรา และอำนาจบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท