พัดชา
สุภัสตรา เก้าประดิษฐ์ ทรัพย์ชุกุล

นักเรียน หรือนักเลง


ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งขัดแย้งในตนเอง หรือ กับผู้อื่น ซึ่งความขัดแย้งอาจทำให้เกิดผลด้านบวกหรือด้านลบ

                จากข่าวของเดลินิวส์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2551 ที่ว่า สาว ม.6 พร้อมพวก  7 คน ได้ด่าว่า สาวพาณิชย์ คนหนึ่ง ขณะยืนรอเพื่อนๆ อยู่ปากซอยช่วงเช้า จากนั้นได้ใช้กำลังบังคับ ฉุดกระชากเหยื่อขึ้นรถตู้ แล้วพาไป ไปกักขังในบ้านเช่า จิกหัวตบตีรุมทำร้าย ท่ามกลางพรรคพวกส่งเสียงเชียร์ ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ ขู่ห้ามแจ้งตร. เรื่องเปิดเผยทีหลังเพราะเพื่อนได้รับคลิปฉาวมาเล่าให้ฟังจนอับอาย แม่เห็นเซื่องซึม จึงเค้นจนได้ทราบความจริง และนำเรื่องไปแจ้งตำรวจ ซึ่งมีการเตรียมประสาน ผอ. โรงเรียน ส่งตัวมาสอบสวน แฉสาเหตุมาจากชอบผู้ชายคนเดียวกัน หลังจากอ่านข่าวแล้ว รู้สึกเศร้าใจกับพฤติกรรมความรุนแรงนี้  จึงใคร่ขอวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางการจัดการความขัดแย้งนี้                                                                                                                              

               ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งขัดแย้งในตนเอง หรือ กับผู้อื่น ซึ่งความขัดแย้งอาจทำให้เกิดผลด้านบวกหรือด้านลบ แต่ในกรณีนี้ความขัดแย้งนี้ถือเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล(Interpersonal conflict) ที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งร่วมกันกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นทั้งทางกายและใจ โดยทำร้ายร่างกายผู้อื่น กักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นสูญเสียอิสรภาพ การข่มขู่ และการถ่ายวีดีโอคลิป ซึ่งการทำความรุนแรงนี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะผู้กระทำนั้นเป็นเยาวชนซึ่งเป็นพลังของประเทศ                                                      

            หากวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความขัดแย้ง โดยใช้วงกลมแห่งความขัดแย้ง ของ คริสโตเฟอร์ มัวร์ (Christopher Moore, อ้างอิงใน วันชัย วัฒนศัพท์, 2547)  พบว่า อาจมีความขัดแย้งดังนี้  1. ความขัดแย้งทางข้อมูล (Data Conflict) หรือความขัดแย้งที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารมากหรือน้อยเกินไป การตีความผิดพลาด ซึ่งจากเนื้อหาข่าว อาจบอกได้ว่า ทั้งสองฝ่ายอาจไม่รู้มาก่อนว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นแฟนของชายคนนั้น หรือ ทั้งๆที่รู้แต่ด้วยรัก หรือ แม้กระทั่งได้รับการยุยงข้อมูลบางอย่างจากกลุ่มเพื่อน    2.ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Interest Conflict) คือ เกิดการแย่งชิงตัวผู้ชาย เพื่อตอบ สนองความต้องการทางอารมณ์     3. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship conflict) คือ คู่กรณีอาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีมาก่อนหน้านี้แล้วจนทำให้เกิดการทำความรุนแรงขึ้นมา           4. ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Value conflict) ความแตกต่างด้านความเชื่อ ค่านิยม ซึ่งในกรณีนี้ อาจเป็นไปได้ว่า สาวม.6 ที่ก่อเรื่องได้รับการหล่อหลอม/ คุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรง ขณะที่ สาวพาณิชย์อยู่ในกลุ่มของคนที่หลีกเลี่ยง ไม่กล้าต่อสู้     สำหรับแนวทางในการจัดการความขัดแย้งที่ให้เกิด win- win  อาจทำได้ดังนี้ 

                1. การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation) คือ การกำหนดให้มีผู้เจรจาไกล่เกลี่ยที่ทั้งสองฝ่ายไว้วางใจในการสร้างกระบวนการระงับข้อพิพาท  การแนะนำเช่นนี้ มิใช่ว่า จะให้ผู้กระทำผิดลอยนวล แต่เป็นการให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุยกันด้วยความสมัครใจเพื่อสร้างความเข้าใจ และให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกผิดจริง  เพื่อเป้าหมายของความสัมพันธ์ที่ยังคงอยู่ ด้วยบางครั้งเยาวชนก็ทำผิดเพราะเพียงอารมณ์ชั่ววูบ  หากเรื่องราวต้องถึงขั้นศาลก็อาจจะทำให้เสียเวลา เสียเงิน และเสียอนาคต  

                2. การประชุมกลุ่มครอบครัว (Family group conferences) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีลักษณะคล้ายการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง แต่วิธีนี้การเจรจาต้องประกอบด้วยคู่กรณี และสมาชิกครอบครัวผู้มีความสำคัญหรือเพื่อนของทั้งสองฝ่ายเพื่อจะได้มีการคุยให้เข้าใจพร้อมๆกัน(ในกรณีนี้ ควรต้องมีโรงเรียนของทั้งสองฝ่ายด้วย) และหากมีข้อตกลงกันแล้ว หากผู้กระทำผิดมิได้ปฏิบัติตามก็จะมีกระบวนการลงโทษทางสังคม(Social sanction)       

                อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะข้างต้นดังกล่าว ก็เป็นเพียงการแก้ไขในปลายเหตุ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า โรงเรียน สถาบันการศึกษาต่างๆ ควรจะให้ความสนใจในการสอนทักษะการจัดการปัญหาในชีวิตให้กับนักเรียน อันจะเป็นการส่งเสริมการสร้างสันติวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

อ้างอิง

www.dailynews.co.th วันที่ 8 มิถุนายน 2551 

คณะทำงานโครงการนำร่องพัฒนาระบบงานยุติธรรมชุมชน. (2550). กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์.

          กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

วันชัย วัฒนศัพท์. 2547. ความขัดแย้ง : หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า

หมายเลขบันทึก: 188437เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2008 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ

รู้สึกว่าเคยได้ยินข่าวทำนองนี้หลายครั้งเหมือนกัน

สงสัยว่าจะเลียนแบบกันนะครับ

  • เด็กมัธยมนะครับ วัยรุ่นแล้ว ความคิดความอ่านไม่ได้มีแค่โรงเรียน และเดี๋ยวนี้ความเจริญมันขนาดไหน
  • เห็นใจครูมัธยมนะ สอนก็ยาก เด็กก็กำลังหัวเลี้ยวหัวต่อ ปัญหานักเรียนก็เยอะแยะ
  • ขอบคุณครับ

เอาใจช่วยสังคมไทยให้ไปรอดค่ะ

สวัสดีค่ะ เขาใจร้ายกันจังเลยค่ะ อ่านแล้วไม่อยากเป็นนักเรียนเลย เพราะไม่รู้จักโต ไม่มีความคิด  คงนึกว่าแย่งตุ๊กตาเหมือนเมื่อตอนเด็ก ๆ มังค่ะ

สวัสดีค่ะ

* วัยรุ่นเขาก็เลียนแบบจากสื่อโฆษณาและละคร

* เมื่อก่อนมีโฆษณาพวกน้ำหอมผู้ชายใช้....แล้วผู้หญิงตบตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย....เด็ก ๆ ก็ตบตีกัน...ยังไม่ทันเป็นอะไรกันเลย...นักเรียนหญิงม. เขาก็ตีกันแล้ว...เวลาด่าทอกันก็กล่าวอ้างอย่ามาแย่งผั....ก....เฮ้อกลุ้มไปเหมือนกัน

* แก้ก็ค่อนข้างยาก...ผู้ปกครองบางคนก็เชื่อลูก...พอครูรายงานพฤติกรรม...ก็ด่าครู...แถมขู่จะฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาท...พูดจาให้ลูกเขาเสื่อมเสีย

* มีครั้งหนึ่งไปตามเด็กจากแหล่งมั่วสุมกลับมาได้...แล้วแจ้งให้ผู้ปกครองมารับ.....ปรากฏว่าผู้ปกครองต่อว่าครูว่าครูใส่ร้ายเด็ก....

* บางครั้งก็ต้อง....หานำพาไม่......เหมือนกันค่ะ

ต้องปลูกฝังเรื่องของคุณธรรมกันมาตั้งแต่เด็กค่ะ

เรื่องนี้แก้ไม่ยากเลย แต่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท