ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

เวที “คืนความรู้ สู่ชุมชน” หมอพื้นบ้านบ้านดุง


ความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม

  เวที คืนความรู้  สู่ชุมชน               ในวันที่ 24  ก.พ.  2549 มีการชวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเข้าร่วมประชุมได้แก่ หมอพื้นบ้าน  50  คน และกลุ่มเครือข่ายใบชะโนดที่จะดำเนินการเก็บข้อมูล 10 คน  และประชาชนที่สนใจในพื้นที่ มีการจัดจุดสาธิตเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้าน  และมีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของหมอพื้นบ้านโดยจัดตามความชำนาญในการรักษา  และขึ้นเวทีตามลำดับเป็นกลุ่มๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น

- กิจกรรมเริ่มต้นที่พิธีสู่ขวัญ  และจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยน  โดยมีจุดสาธิตรอบๆที่ประชุม  สามารถเดินไปชมจุดต่างๆได้ตามความสนใจ  มีชาวบ้านหมุนเวียนมาเข้ารับฟังการประชุม  มีบางกลุ่มก็ไปทดลองนวด  บางกลุ่มก็เข้าเต้นท์อบสมุนไพร (ส่วนของหลังคาเต้นท์ขนาด 4x6 เมตร ครอบบนพื้น  นำไอน้ำจากการต้มยาผ่านทางกระบอกไม้ไผ่)  ในขณะเดียวกันหมอพื้นบ้านหลายๆคนก็จับกลุ่มคุยกัน  เพื่อเตรียมขึ้นเวทีแลกเปลี่ยน

- ทีมพี่เลี้ยงได้จัดเตรียมสรุปผลการสำรวจ,  ตำรับยาพื้นบ้านอีสานบางส่วนจากหนังสือหมอดีอีสาน  ในรูปแบบการนำเสนอแบบโปสเตอร์นำไปติดไว้ตามต้นไม้รอบๆที่ประชุม  ซึ่งเป็นลานโล่งภายในวัด

- จุดสาธิตการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านที่หมอพื้นบ้านนำมาแสดง  ได้แก่ 

- การเป่ากำเริดเด็ก

- ยาซุมสมุนไพร  เช่น  ยาแก้ริดสีดวงทวาร, ยาบำรุงร่างกาย, ยาแก้โรคตับ, ยาแก้โรคกระเพาะ, ยาแก้พิษแมงมุม

- อบสมุนไพร

- นวดจับเส้นแบบพื้นบ้าน

- ต้มยาบำรุงร่างกายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ดื่มฟรี

- ดูดวง

- เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน

1.  โรคกระเพาะอาหาร  และลำไส้

2.  ท้องผูก  ท้องร่วง

3.  กินผิด              

4.  นิ่ว

5.  ริดสีดวงทวาร  ลำไส้  และจมูก                   

6.  ไข้หมากไม้

7.  ทราง

8.  ดีซ่าน

9.  ทำมะลา

10. ประดง

โดยให้หมอพื้นบ้านที่ชำนาญโรคนั้นๆขึ้นเวทีตามลำดับ  ซึ่งผลจากการสำรวจข้อมูลทราบอย่างคราวๆว่าใครชำนาญเรื่องไหน  โดยเวทีแรกนั้น ภก.สมชาย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประชุมได้เชิญให้หมอพื้นบ้านขึ้นเวทีและเป็นการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ  ซึ่งทำให้การพูดคุยไม่เป็นธรรมชาติ  จึงเปลี่ยนผู้ดำเนินการซึ่งเป็นคนในพื้นที่  คือ  พ่อชัยพฤกษ์  เป็นผู้สัมภาษณ์หมอพื้นบ้าน  ทำให้การพูดคุยผ่อนคลายเป็นธรรมชาติมากขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามประเด็นที่ผู้แลกเปลี่ยนพูดถึง  คือ  ความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม  และความเชี่ยวชาญที่ตนใช้ในการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน  โดยมีการพูดถึงอาการของโรคนั้นเป็นอย่างไรค่อนข้างน้อย  ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการประชุม

แต่มีบทเรียนคือ ทีมพี่เลี้ยงขาดการวางแผนร่วมกันในการจัดการประชุม และบรรยากาศในการสัมภาษณ์ช่วงแรกเป็นการสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ จึงทำให้การพูดคุยไม่เป็นธรรมชาติและหมอพื้นบ้านไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

คำสำคัญ (Tags): #หมอพื้นบ้าน
หมายเลขบันทึก: 187702เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท