หมอบ้านนอกไปนอก(69): วัดไทยต่างแดน


วัดไทยธรรมารามนี้ถือเป็นจุดศูนย์กลางของชาวไทยและชาวพุทธในเบลเยียมที่ได้ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์กันนอกเหนือจากเป็นสถานที่หลักของการทำบุญ บำเพ็ญธรรมตามวัตรปฏิบัติทางพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจสำหรับคนไทยไกลบ้าน ไกลถิ่นกำเนิด รวมทั้งช่วยจรรโลงไว้ซึ่งการใช้ภาษาไทยในการพูดคุยกัน

 ด้วยอิทธิพลของฝนทำให้อากาศหนาวเย็นลงไปมากต้อนรับสัปดาห์ที่ 37 ฝนตกปรอยๆบ้าง หนาเม็ดบ้างเป็นระยะๆเกือบทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนต้องสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆเพื่อช่วยบรรเทาความหนาว น้องขิมชอบให้พ่อร้องเพลงไร่อ้อยคอยรักให้ฟังเวลาเดินไปเที่ยวด้วยกันพร้อมทั้งร้องคลอกันไปสองคนพ่อลูกหลายต่อหลายรอบอย่างไม่เบื่อหน่าย ดูมีความสุขมากที่พ่อตามใจร้องเพลงด้วย ถ้าไม่ตามใจขิมก็จะงอนให้พ่อคอยง้ออยู่บ่อยๆ ลูกสาวค่อนข้างติดพ่อมาก กลางคืนต้องนอนกอดกันทุกคืน เพื่อนๆหลายคนถามว่าทำไมไม่แยกห้องนอนของพ่อแม่กับลูกๆเพราะวัฒนธรรมฝรั่งเขาทำแบบนั้น รวมทั้งเจ้าของบ้านเช่าด้วย ถ้าจะแยกห้องนอนก็ได้เพราะมีห้องนอนสองห้อง แต่เราไม่ยอมแยก เราเคยชินกับการนอนรวมกันทั้งหมดครอบครัวเพราะรู้สึกอบอุ่นมากกว่า ชีวิตตั้งแต่หลังสงกรานต์มาจึงกลับสู่ความเป็นปกติเหมือนก่อนผมมาเรียนที่เบลเยียมเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เท่านั้น เมื่อมีคนในครอบครัวอยู่พร้อมหน้า บ้านเช่าก็เหมือนบ้าน

เวลาแห่งการส่งรายงานวิทยานิพนธ์งวดเข้ามาทุกขณะ เพื่อนๆต่างพากันเก็บตัวอยู่ในหอพักหรือในห้องสมุดเพราะคร่ำเคร่งอยู่กับการเขียนวิทยานิพนธ์ หลายคนโชคไม่ดีที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ค่อยมีเวลาให้มากนัก บางท่านก็ไปต่างประเทศเป็นสัปดาห์สองสัปดาห์ บางคนต้องไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์บรูโน มาร์แชลที่ถือว่าใจดีมากและรับช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษาแก่ทุกๆคนแม้ไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโดยตรงก็ตาม บางคนก็ทำตัวลึกลับหายไปเลยไม่สนใจที่จะขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาจนที่ปรึกษาอดรนทนไม่ได้ต้องเป็นฝ่ายตามนัดนักศึกษาให้มาพบแทน วิทยานิพนธ์ถือเป็นความรับผิดชอบระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาที่ต้องทำให้สำเร็จ โดยนักศึกษาเป็นผู้ทำภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ที่ปรึกษา

ในขณะเดียวกันนี้ป้อม เพื่อนที่โรงพยาบาลบ้านตากได้ส่งเอกสารแก้ไขงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ที่ได้รับจากคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า เพื่อให้ปรับแก้ไขจากการอ่านของทีมบรรณาธิการโดยให้แก้ไขและส่งกลับภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ผมกับทีมงาน (เอ้ ป้อม ปู) เขียนเกี่ยวกับการจัดการความรู้สู่องค์การแห่งการเรียนรู้ โดยผมส่งให้อาจารย์ดร. สมบัติ กุสุมาวลี ตั้งแต่ก่อนผมมาเบลเยียม ผมอ่านเอกสารของทีมบรรณาธิการทั้งสองท่านที่ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับแก้ไข เป็นคำเสนอแนะที่ดีและมีประโยชน์มากในการปรับปรุง ผมเองต้องจัดเวลาให้ได้เพื่อแก้ไขปรับปรุงงานวิจัยชิ้นนี้พร้อมๆไปกับการเขียนวิทยานิพนธ์ที่มีกำหนดส่งสิ้นเดือนนี้เช่นกัน

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม 2551 ไม่มีฝนตกแล้ว ผมยังคงแน่วแน่อยู่กับวิทยานิพนธ์ทั้งวันขณะที่ลูกๆก็อยากมาเล่น พูดคุยด้วย แต่เราก็ต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว วันรุ่งขึ้นมีนัดกับอาจารย์ที่ปรึกษาอีกเพื่อขอข้อชี้แนะเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่เขียนอย่างเดียว แต่ต้องอ่านต้องค้นเอกสารวิชาการเพิ่มเติมด้วย อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดที่สุดในการค้นคว้า ทำให้การค้นหางานวิจัยมาทบทวนวรรณกรรมสะดวกง่ายดายมากขึ้น ผมใช้เวลาเกือบทั้งวันขลุกอยู่กับการปรับแก้ไขวิทยานิพนธ์

จนเย็นภรรยาขอให้ช่วยประสานเรื่องไปฝึกงานในโรงพยาบาลให้หลังจากที่ใช้เวลาปรับตัวและศึกษาอบรมแนวคิดทฤษฎีอยู่เกือบเดือน อาจารย์ฌอง ปิแอร์ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการอบรมของภรรยาได้ให้เราประสานกับอาจารย์โกเวิร์ต (Govert Van Heusden) ที่เป็น ITM Academic coordinator เรื่องรายละเอียดการศึกษาดูงานด้วยตัวเอง หลังจากที่ติดต่อแบบทางการให้แล้ว และทีน่า (Tine De Groote) ภรรยาของอาจารย์โกเวิร์ท เป็นพยาบาลที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลที่เอ้ต้องไปฝึกงาน เราโทรไปขอนัดพบเพื่อทราบรายละเอียดก่อนวันฝึกงาน ผมโทรไปขอนัดพบโดยเขาว่างตอนสองทุ่มและให้เราไปพบที่บ้านพักที่อยู่ไม่ไกลไชน่าทาวน์นัก ที่ Pastorijstraat 33

หลังอาหารเย็นเรานั่งรถรางแล้วเดินอีกสัก 10 นาทีก็ถึง ทั้งสองคนให้การต้อนรับดีมาก พูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง น่ารักทั้งคู่ อาจารย์โกเวิร์ตเป็นหมอ คุณทีน่าเป็นพยาบาล มีลูกชายล้วนสามคน บ้านหลังค่อนข้างใหญ่มีลานหญ้าหลังบ้าน แคนขิมขลุ่ยสนุกกับการไปให้อาหารกระต่ายที่เลี้ยงไว้หลังบ้าน ผมกับภรรยานั่งสนทนากับเจ้าของบ้าน สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกงาน สถานที่ฝึกงาน การเตรียมตัวเพราะเอ้เขาตื่นเต้นและกังวลมาก ทีน่าบอกว่าไม่ต้องกังวลสบายๆ หลังจากคุยกันได้สักชั่วโมงหนึ่ง ทีน่าพาไปเดินดูด้านหน้าโรงพยาบาลที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านนักเพื่อเราจะได้รู้สถานที่ก่อนและนัดพบกันวันอังคารที่บ้านทีน่าแล้วเดินไปโรงพยาบาลด้วยกัน อาจารย์โกเวิร์ตเคยทำงานที่ละตินอเมริกาและอแฟริกา ลูกๆเกิดที่ต่างประเทศและใช้ชีวิตที่ต่างประเทศทำให้ได้ประสบการณ์และพูดได้หลายภาษา

อาจารย์โกเวิร์ตเรียนปริญญาโทด้านสาธารณสุขที่สถาบันที่ผมกำลังเรียนนี้มาก่อนเกือบยี่สิบปีแล้วเรียนรุ่นเดียวกับพี่คำรณ ไชยศิริกับพี่สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ซึ่งก่อนมาเรียนที่เบลเยียมผมได้ติดตามอาจารย์หมอมรกต (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ไปตรวจเยี่ยมที่ปัตตานีและร่วมงานศพเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่เสียชีวิตโดยร่วมไปกับพี่คำรณ ทำให้ได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการมาเบลเยียมจากพี่คำรณด้วย กลับถึงบ้านเกือบสี่ทุ่ม เด็กๆอาบน้ำแล้วเข้านอน ผมกลับมาขลุกอยู่กับวิทยานิพนธ์ต่อ ต้องรีบแก้ไขให้เสร็จและส่งให้อาจารย์บรูโนตอนเช้าก่อนนัดตอนเที่ยงวัน

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2551 ไปพบอาจารย์บรูโน มีการปรับแก้หัวข้อและรายละเอียดพอประมาณ พร้อมกับการเพิ่มในส่วนของวรรณกรรมสนับสนุน ตอนบ่ายผมรีบกลับมาดำเนินการแก้ไขเลยเพื่อจะได้เสร็จเร็วและให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยแนะนำติชมได้หลายครั้ง เพราะตระหนักดีว่าการเขียนภาษาอังกฤษของตัวเองไม่ดีนัก ตอนบ่ายไปรับลูกกลับจากโรงเรียน ตอนเย็นพาไปสนามเด็กเล่น ภรรยาเตรียมตัวเพื่อไปดูงานพรุ่งนี้พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ให้ลูกไปโรงเรียนพรุ่งนี้เช้า ที่ต้องออกตั้งแต่หกโมงเช้าไปทถึงบ้านทีน่าตอนเจ็ดโมงตรง

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2551 ตื่นตีห้าครึ่งออกไปส่งภรรยาไปฝึกงานโดยนั่งแทรมไปกันสองคน เด็กๆยังคงหลับกันอยู่ ฝากพี่ตู่ให้ช่วยมาปลุกเด็กๆอาบน้ำเตรียมตัวไปโรงเรียนตอนเจ็ดโมงเช้า ถึงบ้านทีน่าทันเวลา เดินไปที่โรงพยาบาลสตีเว่นเบิร์ก (ZNA Steivenberg hospital) เป็นโรงพยาบาลที่เก่าและใหญ่ที่สุดของแอนท์เวิป เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเปลี่ยนชุดที่ห้องเปลี่ยนชุด เอ้ก็ต้องเปลี่ยนเป็นชุดพยาบาลที่ทีน่าเตรียมไว้ให้ เสร็จแล้วไปเดินดูสถานที่ฝึกงานและรอพบฝ่ายบริหารเพื่อทำสัญญาการฝึกงาน ส่วนผมกลับบ้านพักเพื่อมาพาลูกๆไปโรงเรียน กลับมาถึงพี่ตู่จัดการให้เด็กๆเตรียมตัวพร้อมที่จะไปโรงเรียนแล้ว ผมกลับบ้านพักมาปรับแก้ไขวิทยานิพนธ์ต่อ บ่ายสามโมงครึ่งไปรับลูกกลับบ้าน ตอนเย็นพาไปเล่นที่สนามเด็กเล่น กลางคืนคร่ำเคร่งอยู่กับวิทยานิพนธ์ จนทำให้ไม่มีอารมณ์และเวลาในการเขียนบันทึกเลย

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม 2551 เช้าอยู่บ้านเขียนวิทยานิพน์ 11 โมง มีเรียนการใช้โปรแกรมเรฟแมนที่ใช้สำหรับค้นคว้าและอ้างอิงงานวิชาการ สอนโดยลินดี่ เลขานุการอาจารย์ฌอง ปิแอร์ เป็นโปรตแกรมที่มีประโยชน์อย่างมากในการเขียนงานวิจัยและงานวิชาการ แต่น่าเสียดายเราน่าจะได้เรียนตั้งแต่สามสีเดือนก่อนจึงจะได้มาใช้ทำวิทยานิพนธ์ได้ ตอนบ่ายปรับแก้วิทยานิพนธ์ต่อ เช็งเฟ็งกับริด ไปรับเอกสารวีซ่าที่บรัสเซลส์ โชคดีที่ผมกับพี่ตู่ขอใบมอบฉันทะให้บุคคลอื่นไปรับแทนให้มาด้วย จึงไม่ต้องไปรับเอง ฝากทั้งสองคนไปรับแทนได้ รวมทั้งแต่วันขอวีซ่าจนได้รับเท่ากับ 5 วันทำการจริงๆ

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2551 เช้าเขียนวิทยานิพนธ์ บ่ายมีเรียนเกี่ยวกับระบบสุขภาพสก๊อตแลนด์เพื่อปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจก่อนไปศึกษาดูงานจริงโดยอาจารย์ปิแอร์และเตรียมดูงานมีเอกสารให้อ่านก่อนเยอะมาก รวมทั้งมีการแบ่งกลุ่มให้รับผิดชอบหัวข้อสำคัญๆ 6 หัวข้อๆละ 6-7 คน ผมกับพี่ตู่ขอจัดกลุ่มเองแต่ทางวาลาเรียไม่ยอม บอกว่าต้องดูปัจจัยหลายด้าน ที่เราขอจัดกลุ่มเองเพื่อความสะดวกในการทำงานกลุ่ม การปรับความคิดและการวางแผนสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงอยู่สก๊อตแลนด์ เรามีประสบการณ์งานกลุ่มจากที่ผ่านๆมาที่ทำงานยากมาก ไม่ค่อยได้งานเท่าไหร่และเสียเวลามากด้วย ก่อนเลิกมีการประชุมแต่ละกลุ่มเพื่อเตรียมประเด็นและหัวข้อในการไปดูงานและสัมภาษณ์ ผมคาดการณ์ได้เลยว่าการทำงานกลุ่มที่คละแบบนี้ยุ่งยากและไม่สนุกนัก

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2551 ช่วงเช้าลินดี่นัดสอนโปรแกรมเรฟแมนต่อจากเมื่อวานก่อนที่เวลาไม่พอ หลังจากนั้นไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาตอนบ่ายสอง นับเป็นร่างวิทยานิพนธ์ร่างที่ 6 ของผมที่นำเสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์หน้าบรูโน ไม่อยู่ไปประชุมวิชาการขององค์การอนามัยโลกที่เจนาวา กลับวันพฤหัสบดี ก่อนกำหนดส่งวันเดียว แต่ผมต้องส่งภายในวันพฤหัสเพราะมีแผนที่จะไปเที่ยวปารีสกับครอบครัววันศุกร์ จึงต้องส่งก่อนหนึ่งวัน การปรับแก้ไขในรอบนี้ไม่มากแล้ว และบรูโนบอกว่าไม่ต้องส่งให้ดูอีกก็ได้ ถ้าอยากจะส่งก่อนหรือจะส่งให้เขาอ่านทางอีเมล์ก็ได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีเวลาเข้าอินเตอร์เน็ตหรือเปล่า ผมถามว่าผมแก้ไขแล้วส่งให้วันเสาร์พรุ่งนี้ได้ไหม เขาบอกว่าเสาร์อาทิตย์เขาอยากตกแต่งสวน เป็นเวลาพักผ่อนกับครอบครัว ไม่อยากนำงานไปทำต่อที่บ้าน ผมจึงไม่รีบร้อนนักและรอปรับแก้ไขส่งทางอีเมล์ไปให้วันจันทร์หน้าดีกว่า

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2551 เช้านั่งอ่านปรับแก้ไขวิทยานิพนธ์ ก่อนเที่ยงจ่ายตลาดสดวันเสาร์ซื้อผักผลไม้มาไว้ทำกับข้าว ไปกันทั้งครอบครัว บ่ายแก่ๆพาลูกๆไปชมโบสถ์คุณผู้หญิงของพวกเรา (Our Lady’s Cathedral) ที่ใกล้ๆศาลาว่าการเมืองแอนท์เวิปที่มีหอนาฬิกาสูงที่สุดในเบลเยียมโดยการรบเร้าของน้องขลุ่ย มหาวิหารนี้มีอายุหลายร้อยปี เป็นสถาปัตยกรรมที่ใหญ่โตและสวยงามที่สุดของเบลเยียม เป็นศิลปะแบบโกธิก ใช้เวลาก่อสร้างถึง 169 ปี การตกแต่งภายในเป็นแบบบารอก ภายในมีภาพวาดของรูเบนส์ที่จัดวางในตำแหน่งของแสงและเงาอย่างเหมาะสมลงตัวทำให้ภาพดูสวยงามและศักดิ์สิทธิ์ บรรยากาศภายในสลัว มีคนมาสวดมนต์ เสียงสะท้อนก้องทำให้น้องขลุ่ยกลัว จึงออกมาก่อน ส่วนภรรยากับขิมดูรูปและของที่ระลึกอยู่ข้างใน สักพักก็ไปนั่งรถไฟใต้ดินเล่นไปที่ริงเคอโรเวอร์ที่เป็นพื้นที่รอบนอกเมืองจนสุดสายแล้วนั่งกลับ

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 ออกเดินทางไปบรัสเซลส์เพื่อจะไปวัดไทยในเบลเยียม ลงรถไฟที่สถานีบัรสเซลส์ใต้แล้วต่อรถไฟสายเนวิลล์ไปลงที่สถานีวอเตอร์ลูที่เป็นสถานีเล็กๆห่างจากบรัสเซลส์ 18 กิโลเมตร ตอนนั่งรถไฟไปเจอกับพี่ดักแด้ (ศิริพร) กับสามีชาวเบลเยียมชื่อฟิลลิปป์ ได้พูดคุยกัน พี่ดักแด้เคยเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ลาออกแล้ว มีพี่ชายเป็นสาธารณสุขอำเภอกิ่งอำเภอพระทองคำที่จังหวัดขอนแก่น คุณฟิลลิปป์เป็นคนเบลเยียมที่หลงใหลเสน่ห์เมืองไทยมาก พี่ดักแด้บอกว่ากำลังจะไปทำบุญที่วัดเพราะทางวัดจัดงานวิสาขบูชา ผมเองก็อยากทำบุญเพราะไม่ได้ไปวัดนานแล้ว วันเกิดภรรยาตอนต้นเดือนก็ไม่ได้ไปทำบุญกัน พอลงรถไฟแล้วก็ต่อรถแท็กซี่ไปจนถึงวัดใช้เวลาประมาณ 10 นาที ถ้าเดินไปเองก็ไปไม่ถูกและไกลด้วย ถ้าไม่เจอพี่ดักแด้ก็คงไปไม่ถูกเหมือนกัน ค่าแท็กซี่คิด 20 ยูโร แพงเหมือนกัน ค่ารถไฟไปกลับแค่ 9 ยูโรเอง

วัดไทยแห่งนี้เป็นวัดไทยแห่งแรกในเบลเยียมชื่อว่าวัดไทยธรรมาราม (Wat Thai Dhammaram) สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อร่วมฉลอง 6 รอบเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลปัจจุบัน โดยการนำของพระคุณท่านสมเด็จเกี่ยวหรือสมเด็จพฤฒาจารย์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) มีท่านเจ้าคุณวิสุทธิ์หรือพระสุธีญาณวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นเจ้าอาวาส มีภิกษุ 3 รูป มีเว็บไซต์ www.watthaidhammaram.be  เบอร์โทร +32 2 385 28 55 หรือติดต่ออีเมล์ [email protected]  เป็นเหมือนกุฏิ 2 ชั้น ไม่ใหญ่นัก ด้านหลังมีสนามหญ้าและต้นไม้ร่มรื่น เข้าไปในอาคารมีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ ได้พบกับพระมหาวิเชียร ได้พูดคุยกับท่านพักหนึ่ง ท่านให้อีเมล์ไว้คือ [email protected]

พิธีทำบุญวิสาขบูชาจัดที่สนามหญ้าใต้ร่มไม้อันร่มรื่น มีคนไทยมาร่วมกว่าร้อยคนและคนต่างชาติที่นับถือศาสนาพุทธอีกจำนวนหนึ่ง มีร้านอาหารไทยมาขาย ด้านหนึ่งเป็นของวัดที่มีคนไทยมาช่วยกันทำขาย อีกด้านหนึ่งเป็นของคนไทยที่มาร่วมขายเป็นส่วนตัว พิธีเริ่มด้วยการทำบุญตักบาตรแล้วต่อด้วยพิธีสงฆ์ไหว้พระสวดมนต์ ฟังเทศน์ มีอุปทูตไทยและเอกอัครราชศรีลังกากับคณะมาร่วมพิธีด้วย จนเพลก็เสร็จพิธี ให้แยกย้ายกันทานอาหารภายในวัด ตามแต่จะซื้อทานตามความชอบน้องขิมกับขลุ่ยทานก๋วยเตี๋ยว น้องแคนทานไส้กรอก ข้าวเหนียม หมูทอดและข้าวเหนียวมะม่วงกันอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนผมกับภรรยาทานข้าวกับไก่ทอดที่เตรียมติดไปด้วย ได้เจอพี่อี๊ด ที่พาสามี ลูกสาว ลูกชายไปช่วยทางวัดทำอาหารขาย ทั้งข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง หมูทอด ได้ทักทายกันเพราะเคยเจอกันตั้งแต่เมื่อ 6-7 เดือนก่อนครั้งหนึ่งที่ไชน่าทาวน์ พี่อี๊ดทำงานอยู่โรงงานช็อคโกแลตและมีบ้านอยู่ที่เมืองลีร์ (Lier) เลยนัดกันว่าจะไปทานอาหารที่บ้านพี่อี๊ดสักวันก่อนกลับเมืองไทย

ท่านเจ้าคุณวิสุทธิ์ เป็นพระสงฆ์ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา จริยาวัตรงดงาม ใบหน้าแววตายิ้มแย้มแจ่มใสตลอด ได้กรุณาให้พวกเราทั้งครอบครัวถ่ายรูปกับท่านและให้หนังสือธรรมะมาสองเล่ม กับด้ายผูกข้อมือ 4 เส้น เด็กๆชอบมาก ท่านเทศนาเป็นภาษาไทยสลับกับภาษาอังกฤษ ทำให้ฝรั่งหรือคนต่างชาติฟังและเข้าใจคำสอนทางพุทธศาสนาได้ ผมเองรู้สึกเป็นสุขมากที่ได้มาทำบุญที่วัด ปกติแล้วตอนอยู่เมืองไทยเราไปทำบุญไหว้พระที่วัดพระบรมธาตุบ้านตากกันเกือบทุกสัปดาห์ เราออกจากวัดเกือบบ่ายสองโมง ที่วัดมีกิจกรรมนั่งสมาธิและปลูกต้นไม้

ออกจากวัดเราเดินเท้าออกมาทางอีกด้านหนึ่งมาจรดถนนใหญ่ แล้วนั่งรถเมล์สาย W365 ซื้อตั๋วแบบครอบครัวไปสัก 15 นาทีก็ถึงสถานี Le Lion หรือเนินสิงโตแห่งวอเตอร์ลู (The Lion of Waterloo) ที่ห่างเมืองไปอีก 5 กิโลเมตร ที่เคยเป็นสมรภูมิรบของนโปเลียนกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสกับดยุกแห่งเวลลิงตันของอังกฤษ ลงรถเมล์มองเห็นสิงโตยืนผงาดโดดเด่นอยู่บนเนินดินที่ปกคลุมด้วยหญ้าเขียวขจี เราเดินเท้าฝ่าเปลวแดดร้อนบนทางที่ขนาบด้วยทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เข้าไปเกือบสี่ร้อยเมตรถึงที่ตั้งของศูนย์นักท่องเที่ยว เราซื้อตั๋วเข้าชม โดยไม่ได้นั่งรถเข้าชมท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ในศูนย์มีภาพเขียนและนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์กับแผนที่เส้นทางรบในศึกวอเตอร์ลูไว้ให้ชม

เข้าไปยังห้องฉายภาพแผนที่เส้นทางการรบประกอบแผนที่จำลองที่นำเสนอด้วยภาพและเสียง ต่อด้วยเข้าห้องฉายภาพยนตร์จำลองสถานที่เหตุการณ์ให้ชมมีการฉายภาพด้วยวีดีโอเลเซอร์ จำลองภาพการรบได้อย่างน่าทึ่ง มีเสียงประกอบสมจริงเป็นการได้สัมผัสบรรยากาศการรบเมื่อมิถุนายน ปี ค.ศ. 1815 ได้ ต่อจากนั้นเดินออกมาไต่บันได 226 ขั้นขึ้นไปยังยอดเนินสิงโต ที่บริเวณยอดนี้เรามองเห็นพื้นที่แห่งท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ที่เคยเป็นสนามรบที่กองทหารราบและกองปืนใหญ่ของฝรั่งเศสปะทะกับกองทัพอังกฤษ มองเห็นทุ่งกว้างและเนินดินสูงๆต่ำๆที่แม่ทัพของทั้งสองฝ่ายใช้เป็นเครื่องมือในการวางกลศึกรบที่มีกำลังคนรวมกันถึงสามแสนคนจาก 7 ชาติมาห้ำหั่นกันกลายเป็นท้องทุ่งสังหารที่ช่วยสะกิดเตือนใจคนรุ่นใหม่ให้ครุ่นคิดถึงเภทภัยสงครามได้

อากาศบนยอดเนินท่ามกลางแสงแดดแผดจ้ายังคงเย็นสบายด้วยสายลม กว่าจะเดินไปถึงก็เล่นเอาเหนื่อยหอบ ชมวิวได้สักพักก็ลงมาด้านล่างชมห้องพาโนรามา ห้องทรงกลมที่มีภาพวาดจำลองการรบให้เห็นและเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของแม่ทัพและทหารในศึกครั้งนี้ไว้ให้ชมทั้งนโปเลียน เวลลิงตัน และบุชเชอร์ แม่ทัพของปรัสเซียที่ยกมาช่วยอังกฤษรบศึกนโปเลียน เป็นการรบครั้งสุดท้ายของกษัตริย์นโปเลียนผู้ยิ่งใหญ่และจบลงด้วยความปราชัย

เราเดินกลับจากเนินสิงโตจนถึงวงเวียนเกือบสองกิโลเมตร เด็กๆเดินด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง ไม่งอแงให้อุ้ม พาแวะพักเข้าห้องน้ำที่ร้านแมคโดนัลด์ก่อนแล้วนั่งรถเมล์มาลงที่ใกล้ๆพิพิธภัณฑ์เวลลิงตัน แต่ไม่ได้เข้าชม เดินอีกกว่ากิโลเมตรมานั่งรอรถไฟที่สถานีวอเตอร์ลู กว่าจะถึงบ้านเกือบสามทุ่ม

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbondstraat 52, 2000 Antwerp, Belgium

10 มิถุนายน 2551, 15.35 น. ( 20.35 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 187383เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 05:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ไปเบลเยี่ยมตั้งแต่เมื่อไหร่ ตกข่าวค่ะ

ดีจังนะคะ มีวัดไทยด้วย แล้วจะคอยติดตามต่อค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

มาเรียนได้ 9 เดือนแล้ว จบภายในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว ขอบคุรที่แวะมาทักทายกันครับ

สวัสดีครับคุณหมอ

 อยู่ที่เบลเยียม อย่าลืมไปชมพิพิธภัณฑ์ทหารแซงกองต์แนร์และพิพิธพัณฑ์การ์ตูนนะครับ

หรือหากสนใจเรื่องศิลปะบนปกหนังสือ ก็ขอแนะนำให้ไปชมพิพิธพัณฑ์ปกหนังสือ Vittokkania นะครับ

 

สวัสดีครับ

ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ทหารมาแล้วครับ แต่เสียดายไม่ได้สังเกตชุดทหารไทยอย่างที่ท่านทูตเล่าไว้ในเว็บของท่าน ส่วนพิพิธภัณฑ์การ์ตูนกำลังหาเวลาไปชมอยู่ ขอบคุณมากสำหรับคำแนะนำและรายละเอียดต่างๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท