“ปฏิรูปการศึกษา” วิบากกรรม “ปีชวด” ถึงวันนี้เสนาบดีวังจันทรเกษม คนที่ 73 ยังหนีไม่พ้น “วิบากกรรม” จากสารพัดปัญหาที่ต้องสะสางในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ


คัดลอกมาให้ครู อ่าน คิด วิเคราะห์ และ.....?.......สุดท้าย ก็พายเรือวนไปไม้พ้นขอบอ่าง " เมื่อการขับเคลื่อนงานการศึกษาชาติ เจ้ากระทรวงศึกษาธิการ เน้นการทำงานตามความถนัดของตนเอง การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจึงกลายเป็นการทำงานที่เป็น “เสี้ยวๆ” ไม่ได้ขับเคลื่อนงานไปพร้อมกันทั้งองคาพยพ ...การปฏิรูปการศึกษาจึงเหมือนเป็นยุคๆ มีทั้ง “ยุคทองของแม่พิมพ์” ที่มุ่งเอาใจครูทั้งการช่วยปลดเปลื้องหนี้สิน การเปิดเส้นทางวิทยฐานะให้ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ...บางขณะเจ้ากระทรวงคุณครูก็ให้ความสนใจแก้ปัญหาหลักสูตรสถานศึกษา ...รัฐมนตรีที่มาจากนักการเมือง ย่อมมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจงานการศึกษาที่มากน้อยแตกต่างกันไป ....".

 

ปฏิรูปการศึกษาวิบากกรรม ปีชวด

10 ปีเต็มพอดิบพอดี ที่ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติให้ดีขึ้น แต่การปฏิรูปการศึกษาก็ไปไม่ถึงไหน ซ้ำร้ายยังประสบปัญหาล้มลุกคลุกคลานมาตลอด

และยิ่งนับวัน เราก็ยิ่งปวดหัวกับปัญหาคุณภาพเด็กไทย คุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพครู ที่ยังคงย่ำอยู่กับที่เช่นเดิม ถึงขนาดนักวิชาการบางคนระบุว่า การศึกษาของไทยถอยหลังลงคลองยิ่งกว่าก่อนการปฏิรูปเสียอีก

ก่อนปีหมูไฟ 2550 ผ่านพ้นไป ก้าวสู่ ปีชวด นับเป็นการเริ่มต้นปีที่รอ ลุ้นรัฐมนตรีใหม่เข้ามาได้แล้ว   ย้อนกลับไปฉายภาพเส้นทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 10 ปีที่ผ่านมาเสนาบดีวังจันทรเกษมคนที่ 73 กำลังใช้ศักยภาพ และพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาชาติให้เป็นรูปร่าง ครบวงจร

                      หนึ่งในสาเหตุที่เชื่อกันว่า ทำให้การ ปฏิรูปการศึกษาชะงักงัน เนื่องจากเจ้ากระทรวงแต่ละคน มีความเข้าใจ หรือมุมมองต่อการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงการมีรูปแบบ จุดเด่น ในการทำงานของตนเองที่แตกต่างกันไป แม้จะอ้างว่า ทำเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

นับตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ระบุให้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ และปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนำมาสู่การปฏิรูปการศึกษา โดยมีกฎหมายคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายแม่บท

ช่วงเวลา ๑๑ ปี กระทรวงศึกษาธิการมีการสับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการถึง ๑๒ คน เฉลี่ยแล้วแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี ก็ตกเก้าอี้เสียแล้ว และบางคนก็ถึงขั้นหลุดจากวงโคจรของงานการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่

นายชิงชัย มงคลธรรม

นายชุมพล ศิลปอาชา

นายปัญจะ เกสรทอง

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายสุวิทย์ คุณกิตติ

นายปองพล อดิเรกสาร

นายอดิศัย โพธารามิก

นายจาตุรนต์ ฉายแสง

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

การขับเคลื่อนงานการศึกษาชาติ เจ้ากระทรวงศึกษาธิการ เน้นการทำงานตามความถนัดของตนเอง การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจึงกลายเป็นการทำงานที่เป็น เสี้ยวๆไม่ได้ขับเคลื่อนงานไปพร้อมกันทั้งองคาพยพ

การปฏิรูปการศึกษาจึงเหมือนเป็นยุคๆ มีทั้งยุคทองของแม่พิมพ์ที่มุ่งเอาใจครูทั้งการช่วยปลดเปลื้องหนี้สิน การเปิดเส้นทางวิทยฐานะให้ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ บางช่วงเจ้ากระทรวงก็มุ่งเน้นงานอาชีวศึกษา

บางขณะเจ้ากระทรวงคุณครูก็ให้ความสนใจแก้ปัญหาหลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรการเรียนของเด็ก ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่า เด็กเรียนในสิ่งที่ไม่จำเป็น และเรียนเนื้อหามากเกินไป รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจเรื่องการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ที่เคยโดนเด็กเปรียบเปรยว่ากลายเป็น ควายเซ็นเตอร์

หรือกระทั่งบางครั้งก็ต้องทุ่มเทเวลาแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมวลชน ไม่ว่าจะเป็นม็อบครูต่อต้านการถ่ายโอนอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ม็อบเด็กนักเรียนเรียกร้องให้แก้ไขการสอบโอเน็ต และต่อต้านการใช้ระบบแอดมิชชั่น ซึ่งเป็นระบบใหม่ในการคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของครูและนักเรียนโดยตรง

การมุ่งเน้นหรือให้น้ำหนักเรื่องใดเรื่องหนึ่งของเจ้ากระทรวง ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะยิ่งเป็นรัฐมนตรีที่มาจากนักการเมือง ย่อมมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจงานการศึกษาที่มากน้อยแตกต่างกันไป     ชื่อว่านักการเมืองแล้ว ก็ย่อมต้องการสร้างผลงานที่เห็นผลทันตา ทันใจ เพื่อผูกมัดใจฐานเสียง ภายในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งยาวนานที่สุดก็ไม่เกิน 4 ปี

แต่การศึกษาเป็นงานที่ออกดอกผลช้า กว่าจะเห็นผลงาน ส่วนใหญ่รัฐมนตรีเจ้าของโครงการก็มักจะหมดเวลาเสียก่อนแล้ว หรือเปลี่ยนรัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว

งานการศึกษาชาติหรืองานปฏิรูปการศึกษา ที่เจ้ากระทรวงแต่ละคน จึงมักจะพุ่งเป้าไปกับงานที่ โดนใจคนกลุ่มมาก และใช้เวลาน้อยที่สุด

สำหรับช่วงเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านมา ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ และ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ นับได้ว่าอยู่ในช่วงการปฏิรูปที่มีเงื่อนไขพิเศษ คือ เป็นรัฐบาลและรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร จึงเป็นการทำงานที่ปลอดจากปัจจัยการกดดันทางการเมือง หรือการทำงานเพื่อหาเสียงเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจะได้กลับคืนสู่อำนาจรัฐอีกครั้ง

กฎหมายหลายฉบับคลอดออกมาในยุคที่ ศ.ดร.วิจิตรเป็นเสนาบดีวังจันทรเกษม อาทิ การผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และฉบับสุดท้ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาคมจุฬาฯ นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับแก้ไข), พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา, พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เป็นต้น

การออกระเบียบการรับนักเรียน ม.1 ซึ่งล้อมคอกการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ การสางปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจัดตั้งคลินิกการเงิน เพื่อให้ความรู้เรื่องการเงินให้กับครู ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาให้ ขณะที่ครูก็ยังไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงินให้พอเหมาะพอดีกับรายรับ

นอกจากนี้ ก็ยังมีการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้การศึกษาเป็นปัจจัยสร้างเสริมสันติสุขในแผ่นดินใต้

ในโอกาสที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2551 หรือปีชวด

ทีมการศึกษา ขอทำหน้าที่ประมวลงานที่เจ้ากระทรวงคนใหม่ไม่ควรมองข้าม และถึงเวลาที่จะต้องลงมือสะสางด้วยความจริงใจและจริงจัง

ภารกิจแรก คือ การยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งระบบ สานต่อการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดคุณธรรมนำความรู้ การพัฒนาคุณภาพครูประจำการ ครูรุ่นใหม่ การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน การเข้าสู่วิทยฐานะของครู รวมไปถึงระบบการศึกษาต่อทั้งการเข้าเรียนต่อ ม.1 และการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยด้วยระบบแอดมิชชั่น

ถัดมาคือ หนี้สินครู ที่ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้คลินิกการเงินมาสร้างวินัยการเงินของครูน่าจะได้รับการสานต่อ เพราะตราบใดที่ครูยังต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว เงินแต่ละเดือนชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอนอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน แม่พิมพ์ที่มีหนี้สินอยู่ ก็ต้องปรับปรุงตนเองสร้างวินัยในการใช้จ่าย ไม่ใช้เงินเกินฐานะ ที่สำคัญควรยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่พิมพ์ควรปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่าง

และที่ต้องให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ คือ การแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเยียวยาเหยื่อ ญาติ ครอบครัว เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง การสร้างขวัญ และกำลังใจ ต่อครู ผู้บริหาร นักเรียน และรักษาความปลอดภัยโรงเรียน

งานหลักหลายเรื่อง ล้วนแล้วแต่มีการวางยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว และบางงานเสนาบดีวังจันทรเกษมก่อนหน้านี้ก็เริ่มลงมือไว้บ้างแล้ว

ถึงวันนี้เสนาบดีวังจันทรเกษม คนที่ 73  ยังหนีไม่พ้น วิบากกรรมจากสารพัดปัญหาที่ต้องสะสางในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ

คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้จึงจะต้องมีความพร้อม และความจริงใจในการสร้างคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะต้องใจกว้างพอ ที่จะดูเนื้องานและประโยชน์ที่จะตกกับอนาคตชาติเป็นสำคัญในการ สานต่อ หรือ โละทิ้งงานของเจ้ากระทรวงคนก่อนๆ เพียงเพราะกลัวว่าจะไม่ได้เครดิต

เพราะหากมัวแต่คิดสร้างงานของตัวเองเท่านั้น งานปฏิรูปการศึกษาก็คงไม่ต่างจากการพายเรือในอ่างอย่าให้เด็กไทย ต้อง ชวดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา เพียงเพราะผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ

หมายเลขบันทึก: 186962เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2008 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ครูผุ้ปราถนาอันบริสุทธิ์ ครูคือผู้ชี้แนวทาง

สวัสดีครับ

       สะท้อนการศึกษาไทย  และ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดีครับ

       การพัฒนาการศึกษาก็คงต้อง "ช่วย ๆ " กันไปครับ

       คนละไม้ คนละมือ

       ก็น่าจะดีขึ้นครับ

                              ขอบคุณครับ

เมื่อรัฐมนตรี ยังไม่รู้เรื่องระบบการศึกษา และเรา(นักปฏิบัติ)ไม่เคยพูดความจริงกัน ท่านก็อ้างไม่เห็นปัญหา เราก็ว่าท่านจะรับไม่ได้ ไม่ไปไหนกันหรอก อยู่อย่างนี้กี่ยุค ก็คนก็เหมือนเดิม

เหมือนเด็กไทยถูกวางโปรแกรมโดยนักการเมือง บล๊อกสมองไว้ไม่ให้ฉลาด โดยใช้ความโลภของข้าราชการ และความทุกข์ของครูเป็นเงื่อนไข ต่อรองด้วยความก้าวหน้าทางวิชาการ ผลสุดท้ายการปฏิรูปครูก็เลยทิ้งเด็กไปทำผลงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท