ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน (ท่านชุติปัญโญ)


"เมื่อวันหนึ่งได้มีการฝึกฝน และหลอมรวมความรู้สึกให้เติบโตจากแม่แบบที่เราประทับใจแล้ว เมื่อนั้นย่อมทำให้เกิดความพร้อมที่จะแสดงความเป็นต้นแบบแห่งชีวิตที่เข้มแข็งและงดงามแก่ผู้อื่นในโอกาสข้างหน้าด้วยความภาคภูมิ"

เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.51) อาจารย์ กมลวัลย์ ได้เขียนบันทึก ชื่อ ตัวอย่างที่เห็นจริง 

และผมได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น พร้อมกับรับปากอาจารย์ว่า มีข้อเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "ตัวอย่าง" พอดี เป็นของท่านชุติปัญโญ ในข้อเขียนที่ชื่อว่า "ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน"

 

ท่านชุติปัญโญได้นำเสนอไว้ดังต่อไปนี้ ครับ

 

หลักการพัฒนาที่จัดว่าไม่ต้องลงทุนมากมายแต่ได้ผลดีที่สุดก็คือ "การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง" เพราะไม่ต้องอาศัยคำพูดที่แสดงถึงเจตนาที่หวังดี หรือกระทบกระทั่งเพื่อให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกให้อยากทำตามแต่ประการใด แต่เป็นการแสดงถึงภาวะที่ไม่มีปัญหากับตัวเอง หรือแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปฏิบัติให้ดูนั้นก่อให้เกิดคุณค่าอย่างไร

ในเบื้องต้นสิ่งที่ได้รับก็คือ การทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ส่วนสิ่งที่ได้รองลงมาก็คือ ไม่ต้องมีปัญหาเพราะการขัดแย้ง อันเกิดจากความคิดที่ไม่ลงรอยกันระหว่างตัวเราและผู้อื่น เพราะเราเป็นแต่เพียงผู้ทำให้ดู ส่วนหน้าที่ในการเลือกที่จะทำตามนั้น เป็นอีกเหตุผลของคนที่พบเห็น

แต่การที่จะชื่อว่าเป็นตัวอย่างที่ดีนั้น ก็ต้องอาศัยวิธีคิดและการกระทำที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของความดีงามเป็นที่ตั้งเช่นกัน มิใช่เป็นการกระทำด้วยการประชดประชัน หรือเป็นการเสแสร้งแกล้งทำแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ตัวอย่างที่ได้พบเห็น จึงส่งผลต่อความนิยมชมชอบที่จะให้ลงมือทำตาม ด้วยความยินดีและงดงามทางความรู้สึกของผู้เดินตาม

ในกรณีกาารทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างนั้น มีเรื่องที่ช่วยชี้ชัดถึงคุณค่าที่แฝงอยู่ในการกระทำนั้น โดยไม่ต้องอาศัยการพูดคุยแต่ก่อให้เกิดผลที่คุ้มค่าได้อย่างมหัศจรรย์ เช่น กรณีพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ของพระอัครสาวกเบื้องขวานามว่า พระสารีบุตร ท่านแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างได้อย่างน่าประทับใจ

เพราะเพียงแค่ชายหนุ่มนามว่า สารีบุตร เห็นอากัปกิริยาที่สำรวมระวังจากการเดินบิณฑบาตของพระอัสสชิ กระทั่งการก้าวย่างอย่างมีสติในทุกอิริยาบถล้วนทำให้เกิดคำถามว่า เหตุไฉนท่านจึงดูงดงามถึงเพียงนี้ จึงเป็นที่มาของการถามหาพระบรมครูของพระอัสสชิ จนเกิดการแสวงหาคำตอบของชีวิตตามรอยบาทของพระพุทธองค์ในเวลาต่อมา กระทั่งได้รับการยอมรับในความเป็นผู้เลิศทางด้านปัญญามากนามว่า "พระสารีบุตร" ในที่สุด

การปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง จึงชื่อว่า เป็นการชักนำผู้ที่เห็นให้เกิดความประทับใจในเบื้องต้น และเป็นการเชื่อมโยงทั้งความคิดและการกระทำไปสู่สิ่งที่ดีงามในวันข้างหน้าได้อย่างลงตัว เปรียบเช่นกับการรู้จักหาพันธุ์ไม้ที่มีความเข้มแข็งมาเป็นต้นกล้า เพื่อที่จะให้เป็นต้นกล้าแห่งความหวังท่จะเติบโตด้วยความมั่นคงในโอกาสต่อไป

ท่านผู้รู้จึงเปรียบชีวิตที่มีแม่แบบว่า เป็นเสมือนต้นไม้ที่เราเพาะกล้าไว้ในกระถาง ในเบื้องต้นต้องคอยดูแลเอาใจใส่ด้วยความเอื้ออารี ที่จะเห็นต้นไม้นั้นเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบ พอวันเวลาผ่านไป ไม้ในกระถางต้นเดิมก็พร้อมที่จะลงสู่แผ่นดินโดยธรรมชาติ และพร้อมที่จะชอนไชรากแห่งตัวตนลงสู่แผ่นดินอย่างทรนงด้วยตนเอง เมื่อนั้นสิ่งที่เราคอยเฝ้าทะนุถนอม ย่อมให้ผลการตอบแทนที่คุ้มค่าและประทับรอยแห่งความรู้สึกดี ๆ มิรู้คลาย

เฉกเช่นชีวิตของคนเรา เมื่อแรกเริ่มของการเรียนรู้ชีวิต เรามีแบบแผนในการหลอมรวมความคิด และการกระทำให้เป็นไปในทางที่ดีงาม กระทั่งได้ปฏิบัติตามแบบแผนนั้นด้วยความรัก เมื่อวันหนึ่งได้ฝึกฝนและหลอมรวมความรู้สึกให้เติบโตจากแม่แบบที่เราประทับใจได้แล้ว ย่อมทำให้เกิดความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบแห่งชีวิตที่เข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างที่งดงามแก่ผู้อื่นในโอกาสข้างหน้าด้วยความภาคภูมิ


มีอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งชอบนอนกลางวันเป็นประจำ ทว่าเมื่อถูกลูกศิษย์ถามก็มักจะตอบว่าไม่ได้นอนหลับ แต่เป็นการเข้าฌาณเพื่อไปพบพระอรหันต์เช่นเดียวกับท่านขงจื้อในอดีต ที่เคยไปพบพระอรหันต์ในฝันเป็นประจำ ด้วยเหตุที่อาจารย์ใหญ่กล่าวถึง การนอนหลับเพื่อไปพบพระอรหันต์เป็นประจำ ทำให้บรรดาลูกศิษย์ผิดหวังในตัวท่าน

วันหนึ่งอากาศแสนจะเป็นใจให้พักผ่อน หลังจากกินข้าวอิ่มเรียบร้อยแล้ว เหล่าลูกศิษย์ก็ถือโอกาสงีบหลับเอาแรงหน่อย แต่พออาจารย์ใหญ่ผ่านมาก็ตวาดเข้าให้

"นี่พวกเธอมาแอบนอนหลับได้ยังไง เป็นนักศึกษาต้องกระตือรือร้นหน่อย ทำอย่างนี้ดูไม่เข้าท่าเอาเสียเลย"

"พวกผมไม่ได้นอนอย่างเดียวนะท่านอาจารย์ แต่พวกผมไปพบพระอรหันต์แต่ปางก่อนมา เช่นเดียวกับขงจื้อไงครับ"  ลูกศิษย์อธิบายให้รับทราบ

"แล้วที่ว่าไปพบพระอรหันต์มาน่ะ พวกเธอได้ข่าวอะไรมาบ้าง ?"  อาจารย์ใหญ่ซัก

ลูกศิษย์คนหนึ่งจึงกล่าวแถลงไขว่า

"พวกผมไปพบพระอรหันต์แต่ปางก่อนในแดนฝันมา และได้เรียนถามท่านว่า เห็นอาจารย์ใหญ่ของพวกผมไปที่นั่นทุกบ่ายหรือเปล่า แต่พระอรหันต์ท่านหลายตอบว่า ไม่เคยเห็นหน้าคนที่พวกผมถามเลยแม้แต่ครั้งเดียว"

อาจารย์ใหญ่จึงได้แต่ทำหน้าตาละห้อย เพราะไม่รู้จะแก้คืนอย่างไร :)

 

=======================================================

 

การใช้ "ตัวอย่าง" เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนประเภทหนึ่งที่ครูทุกระดับควรใช้เป็นเครื่องมือช่วยสอนอยู่เสมอ เพื่อเด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเรียนรู้จากตัวอย่างนี้

ถ้าตัวอย่างที่นำมาใช้เป็นตัวอย่างดี ... เด็กก็จะได้ต้นแบบที่ดี

ถ้าตัวอย่างที่ไม่ดี ... เด็กก็จะได้ตัวอย่างที่ไม่ดี

 

ดั่งเช่นกับตัวของครูเอง ... ถ้าครูปฏิบัติตัวด้วยความงดงามในครรลองของชีวิตให้เด็กได้เห็น ไยเด็กจะไม่ซึบซับสิ่งเหล่านี้ไปตลอดช่วงเวลาการเรียนการสอนของครูท่านนี้ใช่ไหมครับ

 

เนื่องจากผมสอนในวิชาชีพครู สอนพวกนักศึกษาวุฒิครู ... การเป็นต้นแบบครูที่ดีสำคัญมาก เพราะเด็กเขาจะเรียนรู้วิธีการต่าง ๆ เพื่อเขาจะได้นำไปใช้จริงตอนเขาฝึกสอน และเป็นครูในอนาคต

 

อาจารย์ กมลวัลย์  ครับ ไม่ทราบว่า เนื้อหาพอได้เรื่องได้ราว ตรง และสอดคล้องกับบันทึก  ตัวอย่างที่เห็นจริง ของอาจารย์บ้างหรือเปล่าครับเนี่ย

 

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

บุญรักษา ครับ :)

 


แหล่งอ้างอิง

 

 

ชุติปัญโญ (นามแฝง).  วิถีทางแห่งการสร้างสุข.  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพฯ: ใยไหม, 2549.

หมายเลขบันทึก: 186708เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2008 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

 เห็นด้วย กับคำว่า  ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน

โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ และครูคนแรก  แม่แบบ แม่พิมพ์ ของเด็กๆ คือ คุณพ่อคุณแม่  ผู้อยู่ใกล้ชิด  และคุณครู 

ขอบคุณค่ะ

สุขสันต์...วันฝนตกค่ะ 

สวัสดีค่ะอ.วสวัตฯ

มารายงานตัวแล้วค่ะ ^ ^

ใจตรงกันจริงๆ เขียนเรื่องเดียวกันเลย แต่ถูกกระตุ้นให้เขียนด้วยเรื่องที่ต่างกัน ^ ^ ตัวเองฟังโฆษณาที่มีแต่คำพูดแล้วฉุกคิดย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเป็นครูได้เรื่องไหม..มีแต่คำพูดหรือเปล่า อิอิ แต่ของอาจารย์ได้จากการอ่าน..ดีจัง ^ ^

บอกตามตรงว่าไม่ได้ตั้งใจเป็นแม่แบบหรือแบบอย่าง เพราะชีวิตแต่ละคนคงมีทางเลือกและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนต่างกัน..แต่ตั้งใจอยากให้นักเรียนได้สิ่งที่ควรจะได้คือความรู้และปัญญา ที่นำไปใช้จริงได้ ไม่ใช่เกรด

แต่พอเขียนบันทึีกที่อาจารย์อ้างถึง ก็ทำให้เห็นข้อเสียของตัวเองมาก..ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะต้องรู้ก่อนถึงจะแก้ได้ ก็ต้องปรับปรุงกัน ช่วยกันต่อไปค่ะ ^ ^

สวัสดีครับ คุณ ครูเอ :)

เป็นครูด้วยหัวใจ ก็งี้แหละครับ ... ขยับตัวอย่างไร เด็กเขาก็มองเราอยู่ เขาจะทำตามเรา

ขอบคุณวันฝนตกทำให้เปียก ครับ  555

สวัสดีครับ อาจารย์ กมลวัลย์ :)

อาจารย์มาแล้ว ...

ครูต้นแบบมักจะใช้กับครูเด็กน้อย ครับ ... เพราะเด็กน้อยเขาจะเห็นครูเหมือนแม่พิมพ์ที่เขาจะทำตามแบบ ถึงเรียกครูว่า แม่พิมพ์ของชาติ ไงครับ

แต่ครูเด็กโต ก็คงเป็นต้นแบบเหมือนกันในกรณีที่อาจารย์คือคนที่นักเรียนเขาศรัทธาและเคารพรักครับ ... อาจารย์พูดอะไร อาจารย์ทำอะไร อาจารย์ให้ความคิดอย่างไร ถ้าเด็กเขาประทับใจ เขาจะจำไว้ตลอดชีวิตของเขา ครับ

อาจารย์สอนคนที่จะเป็นวิศวกรในอนาคต อาจารย์ก็คงถ่ายทอดความเป็นวิศวกรที่ดี มีจรรยาบรรณ มีคุณธรรมให้กับเขาด้วยไงครับ

จึงเรียกว่า ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน

หากแต่ว่า "ตัวอย่าง" นั้น หมายถึง การใช้สื่อเป็นตัวอย่าง ก็ถือเป็นเป็นวิธีการสอนที่ทำให้เด็กเขาจินตนาการออกได้ง่ายดายมากขึ้น อาจารย์ก็จะสอนได้ง่าย ไม่เหนื่อยมาก

แหม ไม่เอาแล้วครับ ... ผมอาวุโสน้อยกว่าอาจารย์หลายสิบปี มิควร ๆ ครับ 5555

ขอบคุณครับที่อาจารย์ให้เกียรติ :)

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ สำหรับบรรดาครู หรือต้นแบบของเยาวชนไทย ภาพหนึ่งภาพแทนคำได้เป็นหมื่นๆคำ ก็เปรียบกับคำที่อาจารย์นำเสนอ ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน

สวัสดีครับ แวะมาเรียนรู้ครับ

ดีนะครับที่อาจารย์ไม่ตอบกลับไปว่า อาจารย์ไปเจอพระอรหันต์ในอีกปางหนึ่ง ไม่ใช่ปางที่พวกนักเรียนไปเจอกัน

สวัสดีครับ คุณครู noktalay :)

เปรียบเทียบสมกับอยู่ในวงการการศึกษาครับ ครู :)

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อาจารย์  จารุวัจน์  ... ฮาต่อกันเลยครับ 555

จริง ๆ เรื่องที่เล่านี่ ผมว่า ตลก แต่แฝงธรรมะดีน่ะครับ

ขอบคุณครับ อาจารย์ :)

มายกมือสนับสนุน อีก 1 เสียงครับ

ขอบคุณครับ  ^_^

ขอบคุณ คุณครูข้างถนน ครับ ... :) แหม แวะมายกมือให้

สวัสดีค่ะ ท่าน  Wasawat Deemarn

  • ครูปูต้องขอประทานโทษอย่างแรงเลยค่ะ ที่ไม่ได้ไปเรียนเชิญก่อนที่จะ โพสต์ชื่อ บุคคลที่ครูปูต้องการ tag นะคะ
  • ครูปูได้ติดตามบันทึกของ คุณ  Wasawat Deemarn อย่างต่อเนื่องด้วยความประหลาดใจในความลุ่มลึก และช่างคิด เต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้จากที่ต่าง ๆ
  • เข้าไปอ่านแล้ว ได้บทสรุปของเรื่องนั้น ๆ โดยย่นระยะเวลาการอ่านไปอย่างดียิ่งเลยค่ะ
  • ทำให้ครูปู ต้องพยายามกลับมาบังคับตัวเองให้เป็นนักอ่านใหม่อีกครั้ง หลังจากภารกิจ ต่าง ๆ พาให้เราต้องหันหลังให้หนังสือ มานานพอสมควร
  • จึงสนใจใคร่รู้ความเป็นตัวตน ของ คุณ  Wasawat Deemarn หน่ะค่ะ  จะต้องน่าสนใจอย่างที่สุด เหมือนขนเอากองหนังสือเหล่านั้นมาปั่นรวมกันแล้ว คั้นออกมาเป็นตัวตนของ คุณ  Wasawat Deemarn กระมังคะ
  • หากติดปัญหาใด ก็ไม่เป็นไรนะคะ โอกาสหน้ายังมีค่ะ
  • นานแค่ไหน ครูปูก็จะรอค่ะ อิอิ
  • และยังติดตามบันทึกดี ๆ เช่นเดิมนะคะ
  • ขอบพระคุณล่วงหน้า ในไมตรีจิตที่มอบให้นะคะ
  • สวัสดี่ค่ะอาจารย์
  • เข้ามาศึกษาบล็อกอาจารย์แต่ไม่เคยทักทาย

ถ้าตัวอย่างที่นำมาใช้เป็นตัวอย่างดี ... เด็กก็จะได้ต้นแบบที่ดี

ถ้าตัวอย่างที่ไม่ดี ... เด็กก็จะได้ตัวอย่างที่ไม่ดี

  • เห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่งค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ คุณครูปู .. ที่ให้เกียรติและให้ความสนใจในความเป็นตัวตนของผม :)

และขอบคุณที่ให้ทางเลือกในการรอคอยว่า ผมจะบันทึกหรือไม่ก็ตาม

ขอบคุณมากครับ :)

ขอบคุณ คุณ danthai ที่เริ่มต้นเข้ามาทักทายแล้วนะครับ

ขอบคุณมาก

สวัสดีครับอาจารย์ ผมชอบอ่านหนังสือแนวๆนี้เหมือนกันครับ ของท่านชุติปัญโญ ผมมีอยู่สองสามเล่น อ่านแล้วมีความสุขดีครับ ได้แง่มุมอีกหลายอย่างเลยครับ แต่เล่มนี้ผมไม่มีครับ...ต้องไปหาอ่านแล้ว

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ เสฎฐวุฒิ :)

ยินดีที่ท่านเข้ามาเยี่ยมบันทึกครับ

ชอบแนวเดียวกันครับ ธรรมะเย็น ๆ ของท่านชุติปัญโญ

เล่มนี้ ... เป็นเล่มต้น ๆ ที่ท่านชุติปัญโญเขียนครับ

อาจจะหายากสักหน่อย แต่พอมีนะครับ

ซีเอ็ด ยูเคชั่น อาจจะพอหาได้ครับ

เรียนเชิญท่านอาจารย์เข้าเยี่ยมที่สมุดบันทึก ชื่อ หอมกลิ่นหนังสือ

http://gotoknow.org/blog/scented-book/toc

ผมนำมาใช้หลายเล่มเหมือนกันครับ

ขอบคุณครับ :)

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ ว่าแต่เราจะมีแม่พิมพ์ที่ไหนให้คุณครูดูและทำตามอย่างบ้างครับ ก่อนจะไปเป็นแม่พิมพ์ให้เด็กต่อไป

แม่พิมพ์ที่เป็นด้วยหัวใจสิครับ คุณครู พุ้งพิ้ง ;)...

ขอบคุณมากครับที่แวะมาช่วยพรวนบันทึกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท