การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์


CTA

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
(Intracranial CT Angiography)

วีระชาติ ชูรอด*         วท.บ (รังสีเทคนิค)
วิธวัช หมอหวัง*        วท.บ (รังสีเทคนิค)
จิรวรรธ สุดหล้า*       วท.บ (รังสีเทคนิค)
วรารัตน์ แสงสร้อย**  พย.บ.
*ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
**งานการพยาบาลรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล



วีระชาติ ชูรอด, วิธวัช หมอหวัง, จิรวรรธ สุดหล้าและวรารัตน์ แสงสร้อย. การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ .วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(1) : 40-44



บทคัดย่อ
การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจทางรังสีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เทคนิค วิธีการ การบริหารจัดการสารทึบรังสีและภาพทางรังสีที่ต้องการเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจตรงกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการตรวจที่มีประสิทธิภาพและได้ภาพทางรังสีที่มีคุณภาพ สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแท้จริง


คำนำ
การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomograpic Angiography) เป็นการสร้างภาพ 2 มิติ แล้วนำข้อมูลมาทำการประมวลเป็นภาพ 3 มิติ (3D Reconstruction) โดยใช้เครื่อง CT ที่มีประสิทธิภาพในการ Scan สูง เช่น เครื่อง CT 64 slices ซึ่งสามารถสร้างภาพหลอดเลือดใกล้เคียงกับการทำ Angiogram

โดยฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำแล้ว Scan ภาพ เป็นวิธีการที่ non invasive technique เพื่อศึกษา Cerebral Vascular Anatomy

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ

1. เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจดู Cerebral Vascular Anatomy
2. สงสัยว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดสมอง (Atery stenosis)
3. สงสัยการอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Atery Occlusion)
4. สงสัยหลอดเลือดแดงแข็ง (Atereosclerosis)
5. สงสัยความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง (AVM)
6. สงสัยหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm)
7. สงสัยการลัดวงจรของระบบไหลเวียนของหลอดเลือดสมอง (A-V Fistula)
8. แยกความผิดปกติระหว่างก้อนเนื้องอกชนิดร้ายแรงและไม่ร้ายแรงได้
9. สงสัย Dissection


การเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการตรวจ

1. ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิดก่อนการตรวจ 4-6 ชั่วโมง
2. ประเมินสภาพผู้ป่วย ความพร้อมทางร่างกาย ตรวจดูผล BUN,Creatinine
3. ซักประวัติการแพ้อาหารทะเล สารไอโอดีน โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้และประวัติการตั้งครรภ์ โรคประจำตัว โรคไต ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
4. ผู้ป่วยจะได้รับข้อมูลการตรวจ การฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ การปฏิบัติตัวขณะตรวจและหลังตรวจพร้อมลงนามยินยอมรับการตรวจ
5. ผู้ป่วยต้องถอดเครื่องประดับ แว่นตา ต่างหู ฟันปลอม สร้อยคอ
6. พยาบาลเปิดเส้นให้ผู้ป่วยพร้อมทั้งทดสอบปลายเข็มให้อยู่ในหลอดเลือดดำ


การดูแลผู้ป่วยขณะตรวจ

1. ดูแลให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆไม่ขยับศรีษะ
2. ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำผ่านทางเครื่องฉีดยาอัตโนมัติ โดยพยาบาลจะคอยสังเกตการรั่วซึมของสารทึบรังสีออกนอกหลอดเลือดดำรวมทั้งอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยขณะรับการตรวจ
3. ขณะที่ฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำผู้ป่วยจะมีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกายซึ่งเป็นอาการปกติของการได้รับสารทึบรังสี


การดูแลผู้ป่วยหลังการตรวจ

1. ผู้ป่วยจะได้รับการสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก จุกแน่นหน้าอก เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติพยาบาลจะประสานงานกับรังสีแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
2. แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้สารทึบรังสีถูกขับออกจากร่างกายโดยเร็ว
3. แนะนำการมารับผลตรวจและอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ เช่น ผื่นคัน หายใจลำบาก การบวมบริเวณที่ฉีดสารทึบรังสี เป็นต้น และการมาตรวจตามแพทย์นัด
4. เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านสามารถทำกิจวัตรประจำวัน การรับประทานอาหารได้ตามปกติ


วิธีการตรวจ

จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ศีรษะเข้าทางทิศหลอดเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แขนทั้งสองข้างวางแนบลำตัว จัดศีรษะให้ตรง โดยใช้ coordination laser ระบุตำแหน่งให้ตรงกับ orbitomeatal line (OM line) และระดับของเตียงนั้น coordination laser อยู่หน้าใบหู ผู้ป่วยหายใจได้ตามปกติเบาๆ เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวส่วนศีรษะมากเกินไป ซึ่งสำคัญที่สุดหากผู้ป่วยขยับศีรษะขณะทำการตรวจ ภาพที่ได้จะไม่สามารถนำมา Reconstruction ได้

เทคนิคการตรวจ
ขอบเขต : ตัดแบบ Helical ให้ครอบคลุมตั้งแต่ vertex จนถึง base of skull
ความหนา : 0.5– 1.25 มม.
เวลาสแกน : ไม่เกิน 5 วินาที
kVp : 120 – 140
mA : 250 – 300
Pitch : 0.984/1 (mm/rotation)

การฉีดสารทึบรังสี ควรใช้สารทึบรังสีชนิด non ionic ความเข้มข้น 300 mgI/ml โดยใช้อัตราการฉีด 4 ml/s ที่ 300 PSI ใช้ Scan Delay ประมาณ 19 sec. ปริมาณสารทึบรังสี 60 - 70 ml

การสร้างภาพสามมิติ ( 3D reconstruction)
ภาพที่ได้จากการ Scan จะเป็นข้อมูลดิบซึ่งตัดที่ความละเอียดมากๆ จากนั้นนำมาใช้สร้างภาพ 3 มิติ โดยนำมาทำที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เฉพาะของการสร้างภาพ (Work station) ผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Volume Viewer

ภาพแถวที่ 1 (ซ้ายมือ) แสดงภาพ 3 มิติโดย reconstruction แบบนำหลอดเลือดแดงสมองมาซ้อนทับกับกะโหลกศีรษะ

ภาพแถวที่ 2 (กลาง) เป็นภาพ 3 มิติที่แสดงก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นในสมอง ซึ่งนำมา reconstruction รวมกับหลอดเลือดแดงสมอง

ภาพแถวที่ 3 (ขวามือ) เป็นภาพ 3 มิติแสดงหลอดเลือดแดงในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดปกติ

สรุป
การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นับเป็นหนึ่งทางเลือกที่สามารถใช้วินิจฉัยโรคได้ ประหยัดและใช้เวลาไม่มากในการตรวจ ผู้ป่วยไม่ต้องนอนค้างแรมที่โรงพยาบาล เพียงดูอาการหลังการฉีดสารทึบรังสี แล้วกลับบ้านได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถตรวจได้ เช่น ผู้ป่วยแพ้สารทึบรังสี หรือผู้ป่วยไม่สามารถนอนอยู่นิ่งๆ ได้ เป็นต้น


บรรณานุกรม
1.มนัส มงคลสุข, เอกซเรย์คอมพิวเต็ด โทโมกราฟฟี, พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2546
2.SILVERMAN P.M. Multislice Computed Tomography : a practical approach to clinical protocols : 2002

 

 

คำสำคัญ (Tags): #brain#vessel
หมายเลขบันทึก: 183505เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท