คำว่า "เข้าถึงธรรม" ในที่นี้ หมายถึงการเข้าถึง "ความเป็นจริง" เข้าถึงความเป็น "ธรรมดา" ที่เป็นไปตามกฎของ "ธรรมชาติ" ส่วนที่ว่าต้อง "เข้าใจทุกข์" นั้น ก็เป็นทุกข์ในสองความหมายด้วยกัน ผมเองจะคุ้นอยู่กับความหมายในทำนองที่ว่า ทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ แต่ยังไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายตามหลักไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ที่ใช้คำว่า ทุกข์หรือทุกขังในลักษณะที่แปลได้ว่าเป็นการ "ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้" โดยอธิบายว่า เนื่องจาก "เหตุปัจจัย" มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้สิ่งต่างๆ นั้นล้วนตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า "ไม่เที่ยง" หรือที่ท่านชยสาโร ภิกขุ ใช้คำว่า "ขาดเสถียรภาพ" ท่านชยสาโร ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "ทุกข์ทำไม" มีใจความตอนหนึ่งว่า....
".....ทุกข์ในอริยสัจเป็นความทุกข์ของมนุษย์โดยเฉพาะ ไม่เหมือนทุกข์ในไตรลักษณ์ แต่สืบต่อจากความทุกข์นั้น คือขันธ์ห้าของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ แต่มนุษย์เราแปลกตรงที่ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า อวิชชา ห่อหุ้มจิตไว้ ทำให้เกิดความผิดปกติที่พระพุทธเจ้าให้ชื่อว่า ทุกข์ เหมือนกัน แต่เป็น ทุกขะอริยสัจ ท่านแยกความทุกข์นี้ออกมาต่างหาก เพราะมีเหตุที่ระงับได้ และมีจุดจบซึ่งพระองค์ให้ชื่อว่า นิโรธ ทุกข์ในอริยสัจหมดแล้ว มีแต่ทุกข์ในไตรลักษณ์สำหรับชีวิตที่ยังเหลืออยู่ คือ ทุกขเวทนาทางกาย ความแก่ ความเจ็บ และความตาย สำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ แต่ไม่เป็นปัญหาเป็นแค่รสชาติของไตรลักษณ์ที่ทุกคนในโลกรวมทั้งพระอรหันต์ต้องเสวย
ทุกข์ที่เป็นอริยสัจเกิดเพราะจิตที่มี อวิชชา ย่อมกระสับกระส่ายด้วยความทะเยอทะยานอยาก คือ ตัณหา เราจะแปลอวิชชาว่า "ความไม่รู้" อย่างเดียวไม่ได้ เพราะอวิชชารวมถึงการ "รู้ผิด" ด้วย คนเราจะอยู่เฉยๆ โดยไม่รู้หรือไม่คิดอะไรเลยไม่ได้ เมื่อเราไม่รู้จริง เราก็รู้ไม่จริง อวิชชาจึงหมายถึงไม่รู้ความจริงและรู้ไม่จริง เมื่อความรู้สึกนึกคิด ค่านิยมที่มีต่อชีวิตของตน โลกทัศน์ ความเชื่อถือ หรือแนวความคิดไม่ลงรอยกับความจริง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นปรากฎในลักษณะของความอยากได้ อยากมี อยากเป็นต่างๆ มีผลคือความทุกข์
ความทุกข์ที่เกิดจากอวิชชา เกิดจากการไม่รู้จริง ความทุกข์จากการรู้ไม่จริงเป็นความทุกข์ที่แก้ได้ แต่ความทุกข์ที่เป็นไตรลักษณ์ซึ่งเป็นความทุกข์ของสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาคือผู้ที่รู้ว่าสิ่งไหนอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ สิ่งไหนไม่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ได้ เพราะถ้าเราแยกไม่ถูก เดี๋ยวเราจะเสียเวลาเหนื่อยกับการพยายามแก้สิ่งที่เราแก้ไม่ได้ ส่วนสิ่งที่แก้ได้กลับไม่มีเวลาแก้หรือไม่คิดที่จะแก้ อะไรคือสิ่งที่เราแก้ไม่ได้? ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อาจจะพอบรรเทาได้บ้าง ยืดอายุออกไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วจะต้องยอมรับ
พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เรายอมดู ยอมรับรู้ ให้เราคอยฝึกเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิตโดยเฉพาะกับสิ่งที่เราไม่ต้องการหรือไม่ชอบ ผู้ที่ไม่เข้าใจอาจจะกลัวว่าจะทำให้เรากลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า ไม่ใช่....เจตนาของเราคือต้องการมองโลกอย่างรอบคอบ แบบลืมหูลืมตา ดูทุกแง่ดูทุกมุม ไม่ใช่รับรู้เฉพาะแง่มุมที่ถูกใจ หรือที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ต้องกล้า ไม่อย่างนั้นจะเป็นเหยื่อของความคิดผิดและจะเป็นทุกข์ได้ง่าย...."