Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ทำไมจึงต้องทำร่างรายงานประเทศตามพันธกรณี ภายใต้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ฉบับ ที่ 2 ?


ที่มา : ขอบเขตโดยละเอียดของงานที่จะจ้างที่ปรึกษา (Terms of Reference)เพื่อจัดทำร่างรายงานประเทศตามพันธกรณี ภายใต้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ฉบับ ที่ 2 โดยกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ด้วย องค์การสหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.  1948  ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารรับรองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ และส่งผลให้สิทธิมนุษยชน ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิที่เป็นสากล (Universal Rights) ซึ่งรัฐที่เป็นภาคีแห่งข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอาจอ้างข้อตกลงนั้นๆเข้ามาตรวจสอบหรือมีมติให้ใช้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง  สิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ  หลายครั้งที่ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้กลายมาเป็นประเด็นต่อรองทางการเมือง และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาติดต่อสัมพันธ์ทางการทูต หรือทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้เมื่อเข้าเป็นภาคีตามพันธกรณีแล้วประเทศต้องมีความตั้งใจและจริงใจที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ  ดังกล่าว

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) เป็นหนึ่งในกฎหมายหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2509 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2519   โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกา ICCPRโดยการภาคยานุวัติ[1] เมื่อวันที่ 29  ตุลาคม  2539 และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29  มกราคม  2540  ในฐานะรัฐภาคีประเทศไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องดำเนินการตามพันธกิจหลักของกติกาICCPR   4 ประการ ได้แก่  1)  การประกันให้เกิดสิทธิต่าง ๆ ตามที่ระบุในกติกา ICCPR    2)  การปฏิบัติให้เกิดสิทธิตามที่รับรองไว้ในกติกา ICCPR ด้วยความก้าวหน้า 3)  การเผยแพร่หลักการของสิทธิตามกติกาICCPR นั้นอย่างกว้างขวาง  และ4) การจัดทำรายงานความก้าวหน้า  สถานการณ์และปัญหาอุปสรรคภายในประเทศเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นผลจากการอนุวัติกติกาICCPR เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee-HRC)  ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามกติกาฉบับดังกล่าว    โดยประเทศไทยได้ส่งรายงานประเทศ  ICCPR ฉบับแรก[2] (Initial Report) ต่อคณะกรรมการ HRC  ไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2547

 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7  มิถุนายน  2548   ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม    และสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานในการจัดทำรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้ กติกา ICCPR     โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2545  ในการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงเป็นหน่วยงานกลางในการประสานเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกติกา ICCPR ข้อ40

กองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมจึงจัดทำโครงการจัดทำร่างรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)  ขึ้น โดยตามกำหนดประเทศไทยมีกำหนดที่จะต้องส่งรายงานประเทศฉบับต่อไปในปี พ.ศ. 2552 (Periodic Report due on 01/08/2009) ทั้งนี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีจะได้ทบทวน ประเมิน ตรวจสอบ รวมทั้งพัฒนา มาตรการ กฎหมาย และนโยบายของประเทศตลอดจน การดำเนินการของภาครัฐต่อประชาชนภายใต้กติกาICCPR   รวมทั้งเพื่อให้การจัดทำรายงานประเทศดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย ได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน  และตรงตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการHRC  และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและจริงใจของประเทศไทยที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

----------------------------------------------------

 



[1] การภาคยานุวัติ (Accession) : ในกรณีที่รัฐหนี่งรับพันธกรณีที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญานั้น เมื่อสนธิสัญญานั้นมีผลบังคับใช้ไปแล้ว กรณีที่เป็นเทศไทยเพิ่งภาคยานุวัติ ICCPR เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 โดยที่ ICCPR ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2519 ซึ่ง เป็นเวลา 3 เดือนภายหลังที่มีรัฐ 35 รัฐให้สัตยาบันต่อ ICCPR อนึ่งการมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาแต่ละฉบับจะมีระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน แล้วแต่จะมีการระบุไว้ในสนธิสัญญานั้นๆ

[2] รายงานฉบับแรกเป็นข้อมูลระหว่างปี 2541-2545 รวมทั้งการตอบประเด็นเพิ่มเติม 26 ข้อเพื่อความทันเหตุการณ์ เมื่อผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปรายงาน ในสมัยประชุม HRC ที่ 84 ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ค. 48 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หมายเลขบันทึก: 182987เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท