เพลงอีแซว จากลานดินสู่เวทีการแสดง (ภาค 2)


ไม่ว่าจะเป็นเวทีบนพื้นดินตามท้องทุ่ง จนถึงเวทีในโรงแรมขนาดใหญ่หรือห้องประชุมระดับประเทศ ก็ได้รับความกรุณาตลอดมาตรงนี้เองที่ทำให้วงเพลงอีแซวอยู่ได้

 

เพลงอีแซว

สื่อพื้นบ้าน  จากลานดิน

สู่เวทีการแสดง (ภาค 2)

 

         ในตอนแรกของบทความบทนี้ ผมได้กล่าวถึงเพลงอีแซวว่า เป็นเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคกลาง โดยเฉพาะในบริเวณ 8 จังหวัด (ฝั่งตะวันตกของภาคกลาง) ในอดีตที่ผ่านมา เราจะหาชมเพลงอีแซวได้ก็ต้องรอหน้าเทศกาล แต่มาในยุคปัจจุบัน เราสามารถชมการแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทนี้ได้ตามงานต่าง ๆ ของชุมชน (เทศบาล, อบต. วัด, โรงเรียน และงานของชุมชน ของชาวบ้านหลากหลาย)  

          รูปแบบของการนำเสนอ บางท่านอาจจะคิดว่า เพลงพื้นบ้าน ก็คงมายืนร้อง มายืนรำกันเป็นแถว ๆ ดูน่าเบื่อแต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพลงอีแซวในวันนี้ ได้มีการพัฒนาไปจากเดิม ที่มีต้นกำเนิดจากพื้นดิน ลานโพธิ์หน้าวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์  ได้ขึ้นมาเล่นบนเวทีโรงลิเก และมีผู้ออกแบบทำเวทีที่สวยงามให้แสดง อยู่ในสถานที่ ห้องประชุมระดับประเทศ ในโรงแรมขนาดใหญ่ ที่มีระดับ (น่าภูมิใจกับศิลปะท้องถิ่นที่ชื่อเพลงอีแซวมาก ครับ) ในฐานะ "สื่อพื้นบ้านจากลานดินสู่เวทีการแสดง" เพลงอีแซววงนี้  ในวันนี้ได้มีการจัดการแสดงที่ผสม ผสานโดยการนำเอาการแสดง ที่มีเนื้อหา อันเป็นสาระประโยชน์มาให้ท่านผู้ชมอย่างเต็มที่ 

            การแสดงเพลงพื้นบ้านในยุคปัจจุบัน จึงต้องปรับไปตามข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งตัวผู้แสดง คือ นักเรียนในสังกัด รวมทั้งครูผู้สอนที่มีระดับความสามารถต่างกันตามประสบการณ์ที่มาของความมานะ อุตสาหะ พยายาม แต่จะอย่างไรก็ตาม ผมขอนำท่านมองย้อนไปที่ชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนมหรสพพื้นบ้าน เพียงแต่ว่า ผู้แสดงเหล่านั้นมีความสามารถพอหรือไม่ที่จะทำให้ผู้ชมนั่งนิ่งด้วยความสุขใจ มีเสียงหัวเราะ เสียงเฮฮา เสียงปรบมือ จนถึงกับต้องเสียเงินให้รางวัลผู้แสดง ในเวลาที่นั่งชม 1- 4 ชั่วโมงติดต่อกันได้  ในทุกท้องถิ่นยังมีโอกาสนี้รออยู่

โดยเฉพาะศูนย์รวมใจของชาวบ้าน ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนั้น ๆ เมื่อพวกเขามีความเดือดร้อน ไม่ได้ในสิ่งที่ครอบครัวเขาอยากได้ ก็ไปบนบานที่ศาลเจ้าพ่อกลางทุ่ง หรือในหมู่บ้านเพื่อขอในสิ่งที่ตนอยากได้ และเมื่อถึงวาระอันสมควร เขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ขอ มีความสุขใจก็นำเครื่องสังเวยมาถวาย เรียกว่าการแก้บนจัดหามหรสพไปแสดงถวายเจ้าพ่อ ยังคงมีให้เห็นอีกเป็นจำนวนมาก

เวทีการแสดงเพลงพื้นบ้าน รวมทั้งเพลงอีแซวแต่เดิมแสดงกันตามพื้นดิน อาจมีเสื่อปูให้นักแสดง ป้องกันชุดการแสดงเปื้อน หรือบางทีก็ไม่มีเสื่อปูให้เสียด้วยซ้ำ เท่าที่เคยมองเห็น ป้าอ้น จันทร์สว่าง ครูเพลงของผม ท่านเล่นเพลงที่โคนต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่ลานวัด ที่ลานหน้าศาลเจ้า ที่ลานหน้าบ้านก็ยังเคยเห็นและเคยไปร่วมงานแสดงด้วย ต้องยอมรับว่า การแสดงเพลงพื้นบ้านแทบทุกชนิด ไม่พิถีพิถันเรื่องการแต่งตัว เรื่องของเวทีที่จะทำการแสดง เป็นความเรียบง่ายที่ลงตัวจริง ๆ กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน

 

 

 

 

 

 

 

 

พูดถึงการแต่งเนื้อแต่งตัว แบบดั้งเดิมชาวบ้านเขาแต่งตัวอยู่บ้าน ไปทำงาน ไปวัด ออกงานชุมชนกันอย่างไร ก็แต่งตัวไปเล่นเพลงกันอย่างนั้น แต่งแบบชาวบ้านชาวบ้าน เคยเห็นนักเพลงรุ่นน้า น้าถุง พลายละหาร นุ่งกางเกงจีน (กางเกงรัสเซีย) ใส่เสื้อคอกลมไปเล่นเพลง และไม่มีการแต่งหน้าทาปาก อย่างดีก็มีเอาแป้งเม็ผสมกับน้ำผัดหน้าบ้าง เพื่อให้ดูสีหน้านวลผ่องขึ้น แป้งน้ำ แป้งฝุ่น แป้งเม็ด มีมาคู่กับชาวบ้านอยู่แล้ว

เรื่องของเครื่องไฟฟ้า เครื่องขยายเสียงในยุคก่อนก็ไม่มี คนที่เสียงดี ก็มาจากเสียงแท้ ๆของเขาจริง ไม่สามารถใช้เครื่องปรุงแต่งเสียงได้อย่างในยุคปัจจุบัน เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป นักเพลงพื้นบ้านได้มีการประยุกต์ในเรื่องของการแสดง การแต่งตัว เวทีการแสดง ฉากไฟแสงสีเสียง ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น สถานที่แสดงมีทุกแห่งหน จากแสดงบนพื้นดินไปจนถึงเวทีที่โอ่อ่า ในศูนย์การประชุมแห่งชาติ ในโรงแรมขนาดใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง หรือในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหน จะแสดงบนพื้นดิน หรือยกระดับเวทีให้สูงส่งขึ้นไปลอยฟ้า มีฉากไฟ แสงสีที่สดใส  บุคคลที่สำคัญที่สุดในกานแสดงแต่ละครั้งก็คือท่านผู้ชมผู้ที่มาเฝ้าชมการแสดงเพลงพื้นบ้านหรือเพลงอีแซว ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการแสดง ซึ่งในสภาพความเป็นจริง ผู้ชมที่ชมการแสดงแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

 

1.     ผู้ชมประเภทแฟนคลับ ชอบเพลงพื้นบ้านจริงๆ มาเฝ้ารอชมการแสดงตั้งแต่เริ่มจนเลิก

2.     ผู้ชมประเภทที่ขาจร ชอบหรือไม่ไม่มีใครรู้ มายืนนั่งชมเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ไป

3.     ผู้ชมประเภทผ่านมาทางนั้นพอดี เป็นทางผ่าน หากเล่นดี ผู้ชมประเภทนี้จึงจะหยุดดู

 การที่จะแสดงความสามารถตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย สร้างความสนุกสุขใจตรึงผู้ชมให้หยุดนิ่ง ตั้งใจชมการแสดงของเราได้ เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งลงไปอีกมาก  การสืบสานงานเพลงที่แท้จริงนั้น มิใช่แค่เพียงฝึกหัดแสดงได้ในระยะสั่น ๆ แล้วก็เลิกราไป  หากจะเป็นผู้ที่สืบสานจริง ๆ จะต้องฝังลึกลงไปในรากที่ติดแน่นไม่คลอนแคลน แม้ว่าจะมีปัญหามีอุปสรรคขวางหน้าสักเพียงใดก็ไม่หวั่นไหว  จากความรู้ที่ได้รับทราบมา

พี่เกลียว เสร็จกิจ (ศิลปินแห่งชาติ) รักเพลงพื้นบ้าน อยากจะหัดเพลง แต่พ่อ แม่ไม่ชอบ ห้ามไม่ให้ไปฝึกหัด ต้องแอบไปฝึกหัดเพลงจนเก่ง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัดทั่วประเทศไทย

พี่โชติ  สุวรรณประทีป เริ่มต้นฝึกหัดเล่นลิเก แล้ววกเข้ามาหัดเพลงอีแซว คุณพ่อของท่าน คือพ่อไสว สุวรรณประทีป ไม่หัดให้ พี่โชติต้องไปหัดเพลงกับครูเพลงคนอื่นจนเก่งกล้ามีชื่อเสียง

พี่สุจินต์ ชาวบางงาม ชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ พ่อ แม่อยากให้เรียนหนังสือสูง ๆ แบบที่ชาย (พี่บรรจง) แต่เจ้าตัวไม่ชอบ ไปฝึกหัดเพลงกับพ่อไสว-แม่บัวผัน โดยปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูง ๆ แล้วก็ร้องด้วยเสียงดัง ๆ จนเป็นพ่อเพลงดีเด่น มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดของอาชีพการแสดงเพลงพื้นบ้าน หาใช่เรื่องของการแต่งตัว หาใช่เรื่องของความหล่อ ความสวย หาใช่เรื่องของเครื่องประดับที่แพรวพราว  หาใช่เรื่องของฉากไฟแสงสี เวทีที่โอ่อ่าอลังการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือ ท่านผู้ชมที่เสียสละเวลามาชมการแสดง ทำอย่างไรจึงจะมีผู้ชมมาดูเพลงพื้นบ้าน ทำอย่างไรจะตรึงหัวใจผู้ชม ให้ท่านนั่งยืนดูการแสดงได้นาน ๆ  เพราะถ้าขืนเล่นโดยไม่มีคนดู การสืบสานเพลงอีแซวที่มุ่งหวัง จะไปฝากไว้ที่ใคร ถ้าไม่ใช่ผู้ชม เรื่องนี้น่าเป็นห่วงว่า ขอบเขตของวงการที่เคยแพร่หลายก็จะตีวงแคบเข้ามา  จนในที่สุดอาจไม่มีใครรู้จักเพลงพื้นบ้านประเภทนี้ในอนาคตข้างหน้า

การพัฒนาไปในทางสร้างสรรค์ ให้ก้าวหน้าโดยแท้ จะทำให้เกิดจุดเด่นในภาพจริงฝังลึกอยู่ในความทรงจำของผู้ชมไปนานแสนนาน  ขอยกให้ท่านผู้ชมเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในงานสืบสานเพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซว  ทุกงานที่ผมนำคณะไปแสดง จึงต้องร้องบอกเรื่องราวของงานที่ไปเล่นให้ผู้ชมเข้าใจเสียก่อนและที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการด้นกลอนสด (ไม่มีในคณะอื่นระดับเยาวชน) นักแสดงเกือบทั้งวงมีความสามารถร้องด้นกลอนสด ๆ ได้อย่างฉับพลันที่หน้าเวทีการแสดง จนมีท่านผู้ใหญ่ที่ใจดี มีเมตตาให้การยอมรับในความสามารถว่า นี่คือ วงเพลงอีแซว ที่เป็นชุดบุกเบิก และอยู่ในแนวหน้าของความคิดสร้างสรรค์  กล้าแสดงออกอย่างแท้จริง

ผมนำเอาประสบการณ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525 วันที่ผมขึ้นเวทีประกวดเพลงอีแซว เพลงฉ่อยที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยกติกาบังคับ ให้ร้องด้นกลอนสด เมื่อผมได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศของจังหวัดสุพรรณบุรี ผมจึงนำเอาความสามารถมาถ่ายทอดยังลูกศิษย์ของผมทุกรุ่น ใครอยากได้ ก็เข้ามาฝึกเอาเอง ครูเป็นผู้แนะนำให้ จึงทำให้ท่านผู้ชมได้เห็นความสามารถของเยาวชนตัวน้อย ๆ ด้นกลอนสดได้อย่างคล่องแคล่ว น่าพิศวงยิ่งนัก

ที่หน้าเวทีการแสดงเป็นเพียงบทบาทสมมุติ เพื่อให้ความสุขความสำราญกับท่านผู้ชมในหลายสถานที่หลายจังหวัดแต่มีสิ่งหนึ่ง ที่ได้รับคือ ความมีเมตตาของท่านผู้ชมที่มอบให้วงเพลงวงหนึ่งมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยนับพันครั้ง ที่ได้ขึ้นเวทีทำการแสดง ไม่ว่าจะเป็นเวทีกับพื้นดินตามท้องทุ่ง จนถึงเวทีในโรงแรมขนาดใหญ่หรือห้องประชุมระดับประเทศ ก็ได้รับความกรุณาตลอดมา ตรงนี้เองที่ทำให้ วงเพลงอีแซวอยู่ได้อย่างยั่งยืน

 

ชำเลือง  มณีวงษ์ / ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญด้านเพลงพื้นบ้าน 2547  

โทรศัพท์ติดต่อ โทร. 035-591012 และโทรสาร 035-592040 (โรงเรียน)

                     โทร 035-591271 (บ้าน) 084-976-3799 (มือถือ)  

                     Email : [email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 182957เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

จากลานดินสู่ เวทีการแสดง

ช่วงนี้ห่างหายจาก  ชุมชนนักแลกเปลี่ยนเสียนาน  เนื่องจากไปทำหน้าที่ของลูกที่ดี แต่กลับมาอีกครั้งก็ไม่ผิดหวัง  เพราะคุณครูของผมยังสานต่อเรื่องเพลงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  เป็นกำลังใจให้น่ะครับคุณครู

สวัสดี ครูบรรเจิด

ก็ไม่ได้ห่างหายไปไหน ไปทำหน้าที่ลูกชายที่ดีของบิดา มารดา และก็กลับมาแล้ว ครูขอแสดงความชื่นชมอย่างมาก

เมื่อกลับมา ก็เข้าสูบรรยากาศ เวทีแห่งการเรียนรู้กันเลย ครูยังคงทำหน้าที่ ทำความดีเพื่อแผ่นดินถิ่นเกิดต่อไป และต่อ ๆ ไปอีกยาวนาน

ปลื้มใจ ที่ยังมีครูบรรเจิด ลูกศิษย์คนเก่งให้กำลังใจการทำงานเพลงพื้นบ้านของครูมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ยังมีเสียงเพลงอีแซว บนเวทีต่าง ๆ เพียงแต่ว่า ความดังของเสียงอาจจะค่อย ๆ ลดลงไปตามกาลเวลา (น่าเสียดาย)

สวัสดี ครับ อาจารย์

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบดูเพลงพื้นบ้าน แต่ว่าในยุคปัจจุบันนี้ กำลังจะหาดูได้ยาก มีให้ดูบ้างก็เป็นระยะเวลาในช่วงสั้น ๆ หรือเป็นกิจกรรมการแสดงที่ฝึกกันมาเฉพาะงาน ผมได้ติดตามอ่านเรื่องที่อาจารย์เขียนมาตลอด ลำบากมากนะครับ กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกเวที ทำต่อไปครับ

ถึงไม่แสดงตน แต่น้ำใจดี

  • ขอบคุณที่ติดตามผลงานเพลงอีแซว ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านที่ผมสืบสานมายาวนานมาก
  • จะลำบากสักแค่ไหน เนื่องจากระยะเวลาที่ต่อสู้ทำมานาน จึงทำให้อดกลั้น ทนได้เสียแล้วครับ จะขอทำต่อไปจนชั่วชีวิต
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท