หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

บทเรียนจากป่าโกงกาง


การมองเห็นอะไร แม้จะมีอะไรบอกให้เห็นๆ อย่าเพิ่งตัดสิน ให้สนใจฟังต่อ ฟังมันให้รู้ทั้งหมดที่มันมีทั้งที่เคยรู้แล้วและไม่เคยรู้ ทั้งที่ได้ยินและที่เงียบอยู่ ฟังจนจบกระบวนความแล้ว จะพบว่าความรู้ในตัวจะยิ่งเพิ่มพูน

วันที่ 26 เมษายน 2551   ฉันได้ไปเที่ยวชมป่าชายเลนร่วมกับชาวแซ่เฮ    วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของชีวิตวันหนึ่ง   ก็มันเป็นวันแรกที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน  แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกัน   เรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกันมากขึ้นอีกวันหนึ่ง   

 

การไปเยี่ยมชมป่าชายเลน นอกจากไปเพื่อสัมผัสธรรมชาติแล้ว   ยังไปเพื่อรับรู้ว่า  สิ่งมีค่าของคนไทยยังคงเหลืออยู่เท่าไรในจังหวัดท่องเที่ยวแห่งนี้     เพราะเท่ากับที่นี้คือ ตัวอย่างที่สุ่มได้ว่า   แหล่งอาหารที่มีคุณค่าของคนไทย จะมีเหลือไว้สำหรับเป็นทุนของอนาคต  เพื่อลูกหลานไทยรุ่นหลังได้ใช้กินอยู่มากน้อยแค่ไหน    โชคดีที่กลุ่มชาวเฮมีเยาวชนร่วมขบวนอยู่หลายรุ่น   ด้วยความเป็นวัยดรุณการได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวเพื่อจดจำไว้ในใจอันจะส่งผลให้ช่วยกันรักษาผืนแผ่นดินที่มีค่าไว้สำหรับส่งต่อรุ่นต่อรุ่น    คงไม่ยากเกินไป    หากได้ปลูกฝังโดยผู้ใหญ่ที่รู้คุณ   การทำเรื่องยากจะง่ายได้ในพริบตาเดียวถ้าให้วัยดรุณได้เรียนรู้ด้วยความสุขและสนุก 

เมื่อหวนถึงวัยเยาว์ที่ผันผ่านแล้ว การเติบโตด้วยความสุขผนวกกับความสนุกของการได้สัมผัสสิ่งแปลกใหม่ที่ชวนฉงนทำให้ฉันจดจำหลายสิ่งที่คลิก ปิ๊ง  มาได้จนบัดนี้    เดินไปตามป่าโกงกางร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่คอยให้ข้อมูล   ก็รู้สึกว่ามุมการให้ข้อมูลจะเป็นแบบราชการ คือ อยากให้ทำอะไรสิ่งนั้นๆจะบอกออกมา แล้วก็บอกว่านี่คือความรู้     เหมือนกับครูสอนนักเรียน  ที่คาดหวังว่า นักเรียนจะจำสิ่งที่บอกนั้นดังใจ ครูจึงต้องสอบ   สอบความจำว่าผ่านไหม   เด็กก็เลยท่องจำ แล้วลืมเมื่อการสอบผ่านไป   การสร้างสำนึกในรูปแบบนี้ไม่มีทางยั่งยืน เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มาจากใจที่อยากรู้

 

ในบันทึกก่อนหน้าที่ฉันตั้งคำถามภาพจากป่าโกงกางในหลายๆเรื่อง  มีที่มาจากความรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เห็น   อย่างเรื่องรากต้นไม้    ใครจะคิดบ้างไหม   ว่ารากกับต้นมันจะเหมือนกันได้ขนาดนี้    สำหรับเด็กที่มีจินตนาการฉันว่า  เขาคงรู้สึกว่ามันน่าอัศจรรย์มากนะ ที่รากโกงกางมันใหญ่ได้ถึงขนาดนี้  

 

ในมุมมองของปรัชญาการใช้ชีวิต  ภาพของรากที่โชว์ มันสอนฉันว่า  ชีวิตมีความหลากหลายนัก  ในความหลากหลายมีทั้งมุมดีและไม่ดี  สิ่งที่ไม่ดีหากไม่ไปสัมผัส ก็ไม่ก่อโทษ  สิ่งที่ดีๆนั้นถ้าไม่เรียนรู้จักมัน ดีมันก็ช่วยอะไรไม่ได้    ภาพที่เห็นบอกว่า  การมองเห็นอะไร แม้จะมีอะไรบอกให้เห็นๆ  อย่าเพิ่งตัดสิน  ให้สนใจฟังต่อ    ฟังมันให้รู้ทั้งหมดที่มันมี  ทั้งที่เคยรู้แล้วและไม่เคยรู้  ทั้งที่ได้ยินและที่เงียบอยู่ ฟังจนจบกระบวนความแล้วจะพบว่าความรู้ในตัวจะยิ่งเพิ่มพูน

root

 ระหว่างเดินชมป่า จะได้ยินเสียงตลอดเวลา มันดังเสียงเป๊าะแป๊ะๆๆ   ตอนแรกฉันก็คิดเหมือนอาจารย์เอื้องแซะว่าเป็นเสียงแตกของเมล็ดพืช    เมื่อคนเฉลยเขาบอก กลับเป็นว่าไม่ใช่ค่ะ   มันเป็นเสียงของเจ้าตัวนี้ค่ะ    ชื่อมันคือ กุ้งดีด    มันชอบอยู่ในซอกของหินริมฝั่งน้ำ  ตอนได้ยินคำบอก ฉันวาดภาพว่ามันคงตัวโตนะ   ตามประสาคนตะกละ ฟังเสียงแล้วเลยนึกไปโน่นว่า ตัวมันน่าจะโต เนื้อของมันน่าจะมีเยอะ ให้กินได้อิ่ม  

ในความทรงจำของเด็กเกาะคนหนึ่ง   ฉันว่าฉันไม่เคยได้ยินว่า กุ้งนี้เป็นอาหาร และไม่คุ้นหูเลย จึงไปค้นดูว่า หน้าตามันเป็นอย่างไร  เลยได้ภาพมาให้ดูอย่างที่โชว์นี่แหละค่ะ   ขอเอามาฝากเด็กๆให้ได้เห็นหน้าตา   เพราะของจริง    ถ้าไม่ลงไปลุยเล่นในป่าโกงกางเพื่อหาดูตัวมัน    ก็คงยากที่จะได้เห็น

 

และที่ทึ่งอีกอย่างจนเอามาตั้งคำถามก็เป็นเรื่องความช่างสร้างสรรค์ของธรรมชาติ   ในเรื่องของรากที่บอกกล่าวกันแล้วจะเป็นเรื่องราวของรากตามหลักรักษาสิ่งแวดล้อมที่อยากให้รู้  รู้กันละว่ามันให้อะไร  อย่างที่เขียนบอกไว้นี้   

ป่าชายเลน  ( ถ่ายภาพโดยอ.เอื้องแซะ)

แต่ที่อยากขยายให้ได้รู้เพิ่ม ก็ในแง่ปัจจัย4   ที่จำเป็นของคน   มันเป็นความรู้ที่น่าสน   สำหรับคนไม่รู้    ในเรื่องของรากแต่ละประเภท   ที่บอกได้ว่า  ต้นไหนกินได้ ต้นไหนกินไม่ได้ นั่นแหละนะค่ะ    ยกตัวอย่างเช่นตัวอย่างรากนี้  หากหาเจอแล้ว คลำหาต้นเจอ  ก็จะเจอแหล่งอาหาร ให้คลายหิวได้   ไม่มีเงินซื้อหา   รู้จักมันละก้อไม่อดตายค่ะ

root

หมายเลขบันทึก: 182096เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2008 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

น้องหมอเจ๊ครับ

  • ผมก็คิดจะเขียนเรื่องนี้อยู่เพราะประทับใจอุทยานแห่งนี้และที่อื่นๆที่ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องป่าชายเลน
  • ผมเคยไปดูที่คุ้งกะเบนที่จันทบุรี ก็คล้ายๆเช่นนี้ ที่อยากจะช่วยย้ำประโยชน์ และคุณค่าของป่าชายเลนซึ่งมีมากมาย  เยาวชนควรมาศึกษา ผู้ที่มีอาชีพสอนคนควรจะหาโอกาสมาศึกษา และคนทำงานพัฒนาทั่วไปก็สมควรจะมาศึกษา
  • ต้องช่วยกันย้ำถึงประโยชน์มหาศาลของป่าชายเลนเหล่านี้ครับ
  • ขอบคุณที่ช่วยบันทึกเรื่องนี้ครับ

สวัสดีครับ

เห็นว่าป่าชายเลนหลายที่กำลังถูกทำลาย

น่าเสียดายจริงๆ นะครับ

วิถีทาง   กลางป่า    ชายเลน 

วิถีเป็น   อย่างไร  ไม่หยั่งรู้

แต่วิถี   ที่คน  ต้องหมั่นดู 

อนุรักษ์   ควบคู่   สร้างลู่ทาง

     เพื่อส่งต่อ   เยาวชน   คนรุ่นหลัง

     เฝ้าระวัง    อย่างถูกทิศ   ถูกหยินหยาง

     มัชฌิมา   ปรับสูงต่ำ   ให้เป็นกลาง

     ปูหนทาง    ข้างชายเลน   ให้เป็นทาน

                           มาร่วมอนุรักษ์ด้วยคนครับ

                                      รพี

 

ป่าชายเลน แห่งนี้ ดียิ่งนัก

ควรอนุรักษ์ พัฒนา รักษาไว้

เพื่อปลุกจิตสำนึก และใส่ใจ

วิถีไทย คงอยู่ยั้ง ยิ่งยืนนาน

   มาร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทยเรา..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท