ตอนเรียนบาลีประโยค ๔ เมื่อแปลคัมภีร์มังคลัตถทีปนีถึงเรื่องพลีกรรม ๕ ประการ ผู้เขียนสงสัยศัพท์นี้อย่างยิ่ง แต่ก็เก็บความสงสัยประเด็นนี้แล้วคิดมาเกือบยี่สิบปี... คืนนี้ มีโอกาสไปแสดงธรรมงานศพ ตั้งใจว่าจะเทศน์เรื่องนี้ ก่อนไปเทศน์ก็คิดๆ อีกครั้ง บังเอิญคิดออก จึงนำไปเทศน์ แล้วก็ถือโอกาสนำมาเล่าที่นี้อีกครั้ง
เรื่องพลิกรรม ๕ ประการนี้ อยู่ในอาทิยสูตร และปัตตกรรมสูตร เป็นต้น... สำหรับผู้สนใจ ลองอ่านจากพระไตรปิฏกโดยตรงได้ที่...
คำว่า พลี และ พลิกรรม นี้ ภาษาไทยเรานิยมแปลทับศัพท์ โดยบาลีเดิมใช้ พลิ (สระอิ) แต่พอแปลงมาเป็นไทยนิยมใช้ พลี (สระอี) ขณะที่คำว่า พลิกรรม ซึ่งเป็นคำสมาส นิยมใช้ตามบาลีเดิม... แต่ถ้าไม่แปลทับศัพท์ ก็มักจะแปลรวบความเอาเลย ดังนี้ คือ
- ญาติพลิ (ญาติ+พลิ) = ญาติพลี = สงเคราะห์ญาติ, บำรุงญาติ. ช่วยเหลือญาติ
- อติถิพลิ (อติถิ+พลิ) = (ไม่นิยมแปลทับศัพท์) = ต้อนรับแขก
- ปุพพเปตพลิ (ปุพพเปต+พลิ) = บุพพเปตพลี = ทำบุญอุทิศใ้ห้ผู้ล่วงลับไปแล้ว
- ราชพลิ (ราช+พลิ) = ราชพลี = เสียภาษี,
-
เทวตาพลิ (เทวตา+พลิ) = เทวดาพลี = ทำบุญอุทิศให้เทวดา, บูชาเทวดา
จะเห็นได้ว่า คำว่า พลิ หรือ พลี เมื่อแปลออกมามีนัยหลากหลาย และเป็นการยากที่จะเข้าใจได้...
ส่วนคำว่า พลิกรรม แปลว่า กระทำซึ่งการพลี ซึ่งก็ได้แก่พลี ๕ ประการนี้เอง เพียงแต่บางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า พลี ๕ ประการ บางครั้งก็เรียกว่า พลิกรรม ๕ ประการ ส่วนเนื้อหาก็ไม่แตกต่างกัน...
..........
ปัญหาก็คือคำว่า พลิ หรือ พลี นี้เอง โดยผู้เขียนมามั่วอยู่กับคำว่า พล หรือ พละ ซึ่งแปลว่า กำลัง... และถ้ามองตามรูปศัพท์แล้ววิเคราะห์ตามตัทธิตก็จะได้ว่า
- พลํ ตสฺสา อตฺถีติ พลิ
- กำลัง ของกิริยานั้น มีอยู่ ดังนั้น กิริยานั้น ชื่อว่าพลี (มีกำลัง)
และเมื่อ พลิ แปลว่า มีกำลัง... แต่ทำไม ? ญาติพลิ จึงมาแปลว่า สงเคราะห์ญาติ ช่วยเหลือญาติ บำรุงญาติ... รู้สึกว่าจะไม่เกี่ยวกันเลย ! ! ! ! .... และนี้ คือปัญหาที่ผู้เขียนคิดมาเกือบยี่สิบปี จะอธิบายให้เกี่ยวกันอย่างไร ? .... แต่วันนี้ คิดออกแล้ว (รู้สึกปลื้มใจมาก 5 5 5...) และคืนนี้ นำไปขยายความบนธัมมาสน์ทำนองว่า...
ญาติพลี คือ กิริยาที่มีกำลังเพราะญาติ ขยายความว่า ถ้าเราช่วยเหลือสงเคราะห์ญาติพี่น้องแล้ว เราก็จะมีกำลังยิ่งขึ้น เช่น ได้รับการยกย่องสรรเสริญและเป็นที่รักของญาติ คนภายนอกก็อาจเกรงใจเมื่อรู้ว่าเรามีญาติพี่น้องเยอะ และการมีญาติพี่น้องเยอะก็ทำให้เราสะดวกยิ่งขึ้นในคราวที่ต้องการความช่วยเหลือบางอย่าง เป็นต้น
อติถิพลี คือ กิริยาที่มีกำลังเพราะแขก ขยายความว่า ถ้าเราต้อนรับผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิตร กล่าวคือ ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส กล่าวถ้อยคำอันไพเราะชวนฟัง ให้ข้าวให้น้า หรือที่พัก เป็นต้น ตามสมควรแล้ว ผู้มาเยือนก็จะซึ้งในน้ำใจของเรา ก็อาจช่วยเหลือเราบ้างในอนาคตตามโอกาส หรืออย่างน้อยก็จะนำคุณของเราไปสรรเสริญในที่ต่างๆ...
บุพพเปตพลี คือ กิริยามี่มีกำลังเพราะบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว ขยายความว่า ถ้าเราทำบุญอุทิศไปให้บุรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย... อย่างน้อยเราก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ได้ทำบุญ นั่นคือ ทำให้มีสุขภาพจิตรที่ดี ได้ชื่อว่าเป็นคนดีเพราะแสดงความกตัญญูกตเวที เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกหลาน หรือสิ่งที่มองไม่เห็นก็คือ บุรพชนเหล่านั้น อาจคอยปกป้องเราในมุมลึกลับที่มองไม่เห็นหรือไม่สามารถอธิบายได้...
ราชพลี คือ กิริยาที่มีกำลังเพราะราชการ ขยายความว่า ถ้าเราเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย และช่วยเหลือทางราชการตามโอกาส เราก็ย่อมไม่มีเวรภัยมาเบียดเบียนในภายหลังเพราะผิดกฎหมาย ได้รับความร่วมมือจากทางราชการ หรืออาจได้รับการยกย่องเป็นเกียรติบัตรหรือเหรียญตราบางอย่างจากทางราชการ เป็นต้น
เทวดาพลี คือ กิริยาที่มีกำลังเพราะเทวดา ขยายความว่า ถ้าเราบูชาเทวดา ทำบุญอุทิศให้ต่อเทวดา เช่น พระภูมิเจ้าที่ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นแล้ว เราก็อาจเป็นอยู่สบาย เพราะถือว่าทำตามประเพณี ซึ่งย่อมเป็นอยู่ง่ายกว่าการฝืนประเพณี และเทวดาเหล่านั้น อาจคอยปกป้อง คุ้มครอง ช่วยเหลือบางสิ่งบางอย่าง ในโลกลึกลับที่ไม่อาจใช้เหตุผลอธิบายได้...
สรุปว่า ถ้าเราทำพลีกรรมเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้เรามีกำลัง กล่าวคือ ก่อให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เพราะเมื่อมีปัญหาก็อาจมีญาติ มิตร เทวดา หรือบุญเก่าคอยช่วยเหลือ... ประมาณนี้
ย้ำอีกครั้งว่าอรรถาธิบายดังกล่าว ผู้เขียนเพิ่งคิดได้เองวันนี้ ไม่เคยพบจากคัมภีร์ใดๆ หรือได้ยินมาจากใครๆ ดังนั้น ผู้นำไปอ้างอิงต่อ ควรพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ (5 5 5...)
..........
อนึ่ง ลองเปิดคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฎีกาดู ท่านว่า พลิ มาจาก พละ รากศัพท์ ใช้ในความหมายว่า บูชาและป้องกัน... และท่านอธิบายว่า คำว่า พลิ นี้ใช้ในความหมาย ๓ ประการ กล่าวคือ
- เครื่องเซ่นสรวง
- บรรณาการ
- อสูรหรือยักษ์
เฉพาะความหมายว่าอสูรหรือยักษ์นี้ ในภาษาไทยเราก็เห็นอยู่บ้างในร้อยกรองว่า พาลี (ไม่มีเวลาค้นหา ตัวอย่าง ใครจำได้ช่วยบอกบ้าง) โดยแผลงจาก พลิ เป็น พาลี เพื่อง่ายในการออกเสียง... ส่วนความหมายก็ตรงตัวว่า มีกำลัง นั่นก็คือ อสูรหรือยักษ์ย่อมมีกำลังมากเพราะมีร่างกายที่ใหญ่โต...
อีกอย่างหนึ่ง พาลี เป็นชื่อของลิงตัวหนึ่งในรามเกียรติ์ คงมุ่งหมายตามชื่อว่า ลิงตัวมีกำลังแข็งแรงยิ่งกว่าลิงทั่วๆ ไป...