ทำดีย่อมได้ดี ไม่มีคำว่า “อาจ”


 

ชีวิตในโลกทางวิชาการเรานั้นต่างต้องพบพาลกับคำว่า “อาจ” จนเป็นปกติและธรรมดา แต่ชีวิตในโลกของพุทธศาสนานี้ไม่มีคำว่า “อาจ”

ทุกอย่างที่เกิด และไม่เกิดมีเหตุปัจจัยน้อมนำมาซึ่งสิ่งที่เกิดและไม่เกิดขึ้นนั้น
ทางวิชาเขาว่ากันว่า ทำอย่างโน้นแล้ว “อาจ” จะเป็นอย่างโน้น กินอย่างนั้นแล้ว “อาจ” จะเป็นอย่างนี้
ทางพุทธศาสนาท่านว่าไว้ว่า มนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น ๆ สืบไป

สิ่งที่เกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้นตามหลักการของชีวิตในพระพุทธศาสนานั้นล้วนแล้วก็เกิดแต่เหตุ
เหตุเหล่านั้นมีปัจจัยมาจากการกรรม “กรรมคือการกระทำ”

ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
ทำดีได้รับความดี ความสุข หนีไม่พ้น
ทำชั่วย่อมได้รับความชั่ว ความทุกข์ หนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน

แต่กรรมใดจะให้ผลก่อนหลังกันนั้น ก็แล้วแต่ว่ากรรมตัวใดในวันนี้ให้ผลอยู่
บางคนวันนี้ทำกรรมชั่วใด ๆ ก็รู้สึกว่าไม่เห็นเป็นอะไร เพราะวันนี้กรรมดีให้ผลอยู่ วันใดถึงวันที่กรรมชั่วให้ผลวันนั้นก็คงต้องเรียกว่าวันที่ต้องหลั่งน้ำตาเพราะเห็น “โลงศพ”
บางคนวันนี้ประกอบคุณงามความดี ทำดีแล้ว ทำดีเล่า เจอแต่ก็ทุกข์ เจอแต่ความล้มเหลว นั่นก็ด้วยเพราะกรรมที่ตนเคยทำไว้นั้นยังให้ผลอยู่


กรรมนั้นมิได้มีเพียงแค่ในชาตินี้ เพราะเรานั้นมีกรรมเป็นแดนเกิด จะเกิดที่ได้ก็มีกรรมเป็นเหตุปัจจัยหนุนเนื่องด้วยมา
ดังนั้นในวันนี้ เราจึงมีกรรมของอัตภาพเมื่อชาติก่อนเป็นที่พึ่งอาศัย เราจึงชดใช้ผลแห่งกรรมนั้น
บางคนถึงกับเสื่อมศรัทธาในการทำความดี “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” พุทธศาสนิกชนที่แท้จะล่วงพ้นแห่งความคิดนี้ไปได้ เนื่องด้วยเพราะทราบว่า กรรมชั่วที่ให้ผลในวันนี้เพราะฉันเคยทำมา ฉันเคยทำไว้ ฉันก็ต้องรับ
ในขณะที่ฉันรับกรรมจากความชั่วที่ฉันเคยกระทำ ฉันก็ไม่ทิ้งโอกาสที่จะสร้างความดี “กรรมดี” เพื่อที่จะตัดทอน ลบล้างกรรมชั่วที่ให้ผลอยู่ดีเบาบาง ตัดคืน ตัดวัน ตัดภพ ตัดชาติ กรรมชั่วนี้ให้หมดไปในเร็วที่สุด
พร้อมทั้งมีศรัทธาที่จะเดินสู่วันที่กรรมดีนั้นให้ผล
วันที่กรรมดีให้ผลนั้นมีจริง ไม่มีคำว่า “อาจ” แต่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับว่า วันนี้เราตั้งมั่นทำกรรมดีมากน้อยขนาดไหน


ทำความดีน้อย วันชั่วก็อยู่นาน วันดีก็นานถึง
ทำความดีมาก วันชั่วอยู่น้อย วันดีมีมาถึง

คนที่ได้ดี ในชีวิตวันนี้ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ค” เขาผู้นั้นได้สั่งสมบุญบารมี ความดี เป็นเสบียงสัมภาระธรรมไว้ตั้งแต่กาลก่อน
ในทางกลับกัน ไม่มีคำว่า “อาจ” จะได้ดีสำหรับคนที่ทำความชั่ว เบียดเบียนซึ่งชีวิต โกงกิน ทุจริต ประพฤติผิดในกาม พูดมุสา กล่าวคำเพ้อเจ้อ และตกเป็นทาสของสุราและการพนัน คนเหล่านี้ที่ว่าถึงก็ไม่มีคำว่า “อาจ” ได้ดีเช่นเดียวกัน
คนเหล่านี้ “ต้อง” ได้รับผลชั่วจากกรรมที่ทำนั้นอย่างแน่นอนไม่มีคำว่า “อาจ”

คนที่ทำบุญให้ทาน ซึ่งประกอบด้วย บุญกิริยาวัตถุ 10 (Base of meritorious action) ซึ่งมี “ทานมัย” อย่างเดียวเท่านั้นที่ต้องใช้เงิน ใช้ทรัพย์
บุญอีก 9 ประการนั้นขอเพียงมีแรงใจ แรงกาย แรงศรัทธา กอบด้วยคุณงามความดี คนเหล่านี้ก็ไม่มีคำว่า “อาจ” ที่จะได้รับผลชั่ว
เพราะเขาได้สร้างทุนความดีไว้
ทุนดี ๆ ย่อมนำสิ่งดีมาสู่ชีวิต
ทุนชั่ว ๆ ย่อมนำความชั่วมาสู่ชีวิตเช่นเดียวกันไม่มีคำว่า “อาจ”

วันนี้ขอให้เราตั้งมั่นในการทำกรรมดี มีใจมั่น มีความมั่นคงด้วยศรัทธา ทำดี ย่อมได้ดี ไม่มีคำว่า “อาจ”

 

 

คำสำคัญ (Tags): #กรรมชั่ว#กรรมดี
หมายเลขบันทึก: 181386เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ทำดีกันเยอะๆนะครับ ไม่ช้าไม่เร็วผลดีก็เกิดกับเราเอง

ใช่ค่ะ.... ชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดี

...ผู้เดินตามรอยกรรม....

เมื่อเกวียนย่อมเดินตามรอยเท้าโคฉันใด

สัตว์ทั้งหลายย่อมเดินรอยตามกรรม ฉันใดก็ฉันนั้น

เราทั้งหลายจักเร่งสร้างกรรมดีเพื่อที่รอยเท้าที่เราเดินตามนี้ จักเป็นรอยเท้าบนถนนแห่งความดี มีบัณฑิตทั้งผองร่วมเดินทาง

อะเสวะนา จะ พาลานัง "การไม่คบคนพาล"

ปัณฑิตานัญ จะ เสวนา "การคบบัณฑิต

ปูชา จะ ปูชะนียานัง "การบูชาต่อบุคคลที่ควรบูชา"

เอตัมมังคะละมุตตะมัง "กิจสามอย่างนี้เป็นมงคลอันสูงสุด"

(มงคลสูตร ๓๘ ประการ)

นมัสการครับ

ทำดี ถึงไม่มีใครเห็น แต่ใจเราเห็น

         กระผมผู้น้อยขออนุญาตเสวนาธรรมกับท่านพระอาจารย์ สุญฺญตา ผู้นับได้ว่าเป็นมหาบัณฑิต ขอรับ

กรรมคือภพ ภพคือกรรม ทำด้วยอุปาทาน กรรม 12 อย่าง

1.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลในภพนี้ (กรรมแรงให้ผลทันตา เมื่อผู้ทำตายไปย่อมเป็นอโหสิกรรม)

2.อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า (เพลาลงมา พ้นจากนั้นแล้วเป็นอโหสิกรรม)

3.อปราปริยเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลในภพสืบไป (เพลาที่สุด ให้ผลเมื่อพ้นภพหน้าไปแล้ว ได้ช่องเมื่อใดย่อมให้ผลเมื่อนั้น)

4.อโหสิกรรม คือ กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว (เป็นกรรมล่วงคราวแล้วเลิกให้ผล)

5.ชนกกรรม คือ คือกรรมที่แต่งให้เกิด (สามารถยังผู้ทำให้เคลื่อนจากภพหนึ่งแล้วไปถือปฏิสนธิในภพอื่น เปรียบด้วยบิดายังบุตรให้เกิดต่อนั้นไปสิ้นหน้าที่)

6.อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน (เปรียบเหมือนแม่นมผู้เลี้ยงทารกอันคนอื่นให้เกิดแล้ว)

7.อุปปีฬกกรรม คือกรรมบีบคั้น (เป็นกรรมเบียดเบียนที่ตรงกันข้ามกับกรรมที่กำลังให้ผลทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว ไม่ให้ส่งผลอีกต่อไป)

8.อุปฆาตกกรรม คือกรรมตัดรอน (เหมือนอุปปีฬกกรรม แต่ให้ผลรุนแรงกว่า)

ครุกกรรม คือ กรรมหนัก (ให้ผลก่อนกรรมอื่น)

10.พหุลกรรม คือ กรรมชิน (กรรมอันเคยทำมามากจนเคยชิน ถ้าไม่มีครุกรรมแล้วก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่น)

11.อาสันนกรรม คือกรรมเมื่อจวนเจียน (กรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย ถ้าไม่มีพหุลกรรมย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น)

12.กตัตตากรรม คือ กรรมสักว่าทำ (กรรทที่ทำโดยไม่ตั้งใจ เมื่อกรรมอื่นไม่มีกรรมนี้ก็ให้ผล)

ผมก็เชื่อในการกระทำเหมือนกันครับ

ใครทำไรไว้ก็ย่อมได้รับสิ่งนั้นตอบ

ขึ้นชื่อว่าบัณฑิตแล้วย่อมไม่ทำกรรมชั่วทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง

อย่างที่วาทะแห่งบัณฑิตบัณฑิตที่ว่าไว้

ทำดี ถึงไม่มีใครเห็น แต่ใจเราเห็น ฉันใด การทำกรรมชั่วนั้น ถึงไม่มีใครเห็น แต่ใจเราก็เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น

เราจึงควรสร้างและประกอบ "กรรมดี" เพื่อให้มีและสั่งสมไว้ในใจของเราตลอดทุกลมหายใจ

ส่วนเราจะประกอบการใน "กรรม" ใดนั้น ขอได้โปรดพิจารณา วาทะแห่งความเมตตาในเรื่อง "กรรมคือภพ ภพคือกรรม ทำด้วยอุปาทาน กรรม 12 อย่าง" ของคุณโยมร่มไม้ใหญ่ใกล้ทาง เป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อเป็นคติในการดำเนินชีวิต

การทำดีนั้นไม่ยาก แต่คนส่วนใหญ่นั้นติดอยู่ตรงที่ความ "อยาก" จะทำความดี

ความอยาก อยากเฉย ๆ แต่ไม่ได้ลงมือทำ

หรือไม่ก็ติดอยู่ตรงที่ความคิด โดยเฉพาะสังคมแบบประชาธิปไตยในทุกวันนี้

เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมทำชั่ว ทำชั่วกันจนเป็นประชาธิปไตย ไหนเลยเราจะแหกมติสังคมไปทำความดีนั้น ถ้าตบะเราไม่แข็งพอ เราก็จะทำชั่ว "ตามน้ำ" ไปกับเขา

ทำดีได้ดีตอบ ทำชั่วได้ชั่วตอบ สิ่งนี้เป็น "สัจธรรม"

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์

ติดตามข้อคิดดีดี จากพระอาจารย์เสมอ

ทำดี ย่อมได้ดี เป็นคติที่ดิฉันใช้มาตลอด นานมากกว่าจะรู้ว่าทำดีย่อมได้ดี

ตอนนี้ทำดี เริ่มรู้ว่าได้ดีจริงๆค่ะ

  • นมัสการ พระคุณท่านสุญฺญตา
  • พุทธศาสน์ไม่มีอาจมีแต่ต้องหรือย่อมเท่านั้นจริง ๆ
  • ฝากโคลงไว้ประกอบบล็อกด้วยนะขอรับ
    ทำดีย่อมจักได้    ผลดี
    ทำชั่วย่อมจักมี    ชั่วได้
    ทำดีชั่วชีวี          ดีทั่ว
    ทำชั่วชั่วชีพไซร้   ย่อมได้ ชั่วสถาน
  • กราบ 3 หนขอรับ
  • กราบขออภัยครับพระคุณท่าน
  • ว่าจะถามท้ายข้อความ แต่ก็ลืมถาม นี่แหละหนอปุถุชน
  • ภาพประกอบข้างต้น เป็นสถานที่ใดและกำลังทำอะไรกันขอรับ
  • กว้างขวาง ร่มเย็น และดูเรียบง่ายดีจัง
  • กราบ 3 หนครับ
  • กราบขอบพระคุณขอรับพระคุณท่าน
  • หากมีรูปศาลาปฏิบัติธรรมที่สร้างเสร็จแล้ว ได้โปรดกรุณานำลงให้ดูด้วยขอรับ
  • กราบ 3 หนขอรับ
  • กราบขอบพระคุณมากขอรับ
  • ไกลถึงนครราชสีมา ถ้าใกล้เชียงใหม่เข้ามาอีกสักนิด น่าจะมีโอกาสไปถึง
  • ได้แต่หวังเท่านั้นขอรับ
  • กราบ 3 หนขอรับ

ณ ปัจจุบันท่านสร้างกรรมดีอยู่เป็นนิจแล้ว

ความหวังของท่านมิสูญเปล่า เพราะการสร้างกรรมดีของท่านจะเปลี่ยนความหวังเป็นคำ "อธิษฐาน"

คำอธิษฐานผนวกด้วยการสร้างเหตุให้ตรง "ความสงบ" นั้นจะเกิดและมีจริง

  • นมัสการพระคุณท่านสุญฺญตา
  • ความหวัง+กรรมดี=อธิษฐาน
  • อธิษฐาน+เหตุที่ตรง=ฝั่งฝัน
  • ขอบพระคุณขอรับ
  • กราบ 3 หนขอรับ

การสร้างความดี ประการหนึ่งที่สำคัญ คือการเป็นคนต้นแบบ สังคมไทยเรามีต้นแบบที่ดีมากมาย

แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ยอมทำตาม เรา (บางคน บางพวก) มักจะโทษคนอื่นอยู่เสมอ แต่ตนเองนั้น

กลับเป็นแบบอย่างให้คนอื่นไม่ได้ ดังนั้น สังคมไทยจะดีได้อยู่ที่ต้นแบบ หากสังคมไทยมีแต่

ต้นแบบที่บูดเบี้ยว ถึงจะทำดี ต้นแบบ (ที่เลวๆ) ที่มีอยู่ ก็จะบดบัง ต้นแบบที่ดีจนหมดสิ้น

ด้วยความปรารถนาดีในธรรม

นายรักษ์ ปริกทอง

การทำความดีเป็นความดีประการหนึ่ง แต่การทำความดีใด ๆ ที่ไม่หวังผลตอบแทนจากความดีนั้นเป็นสุดยอดของความดี

ดังนั้น อุปสรรคที่ขัดขวางการกระทำความดีคือ ความอยากที่จะให้การกระทำนั้นออกมาดี

ไม่ว่าเราจะกระทำสิ่งใด ๆ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เมื่อเราได้ทำนั้นถือว่าดีแล้ว ถูกต้องแล้ว

บางคนเข้าใจผิดว่าความสำเร็จคือความดี ความไม่สำเร็จคือความไม่ดี

ดีที่ทำถือว่าเป็นการกระทำที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท