องค์ประกอบของคณะกรรมการเขตพื้นที่...เหมาะสมหรือไม่


ในเร็ววันนี้ จะมีการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาชุดใหม่ ทั่วประเทศ เรามาร่วมพิจารณาทางเลือกเพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่ กันอย่างจริงจัง ดีไหม

       หากพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็น่าจะเรียกได้ว่า ประกอบด้วยคณะบุคคลที่มาจากหลายองค์กร หลายประเภท  แต่ปัญหาที่พบ คือ  เมื่อตรวจสอบเชิงลึก จะพบว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากที่สมัครใจ หรือได้รับคัดเลือกเข้ามาในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในเขตพื้นที่ เป็นผู้บริหารที่ยังประจำการอยู่ในปัจจุบัน( ซึ่งน่าจำเป็นระดับหนึ่ง ที่จะต้องมีอยู่บ้าง)  อีกทั้ง “ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา” ซึ่งจะต้องเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมา 1 คน ก็มักจะปรากฏว่า “ถูกเลือกมาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีตำแหน่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารสถานศึกษา”  โดยนัยนี้  “ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาจึงเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมานั่งทำหน้าที่ในฐานะ คณะกรรมการและเลขานุการของกรรมการชุดนี้”  หรือ  “ประธานคณะกรรมการ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ เลขานุการ”

        จุดที่ควรปรับปรุงอีกประการหนึ่ง คือ  จากประสบการณ์ที่กระผมได้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 มาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี แล้ว(เกือบครบวาระแล้ว) การมานั่งทำหน้าที่ประธานหรือเป็นกรรมการในครั้งนี้ จากการที่ตนเองเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ช่วยให้เรามองเห็นปัญหาสำคัญ ๆ ของเขตพื้นที่การศึกษา  สามารถนำเสนอปัญหาเหล่านี้ต่อคณะศึกษาศาสตร์ อันจะนำไปสู่การร่วมมือแก้ปัญหา รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษาของคณะ ทั้งในแง่ของการปรับปรุงหลักสูตรอุดมศึกษาให้สนองความต้องการของท้องถิ่น หรือนำประเด็นปัญหาไปเป็นข้อความรู้สำหรับนักศึกษา เพื่อร่วมกันคิดแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป  จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตครูหรือผู้บริหารการศึกษา ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต  ในจุดนี้ เห็นว่า ในอนาคต  “หากมีการระบุเงื่อนไข ให้มีคณบดีหรือผู้แทนคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ อยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการเขตพื้นที่โดยตำแหน่ง น่าจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษาได้เป็นอย่างดี”  หรือ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ  “ต้องเชิญชวน คณาจารย์ บุคลากร ของคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ หรือคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ได้สนใจสมัครเข้าเป็นคณะกรรมการในสายของผู้ทรงคุณวุฒิให้มากขึ้น ทั่วประเทศ” เพื่อให้มีตัวแทนของอาจารย์ระดับอุดมศึกษา นั่งอยู่ในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ(ปัญหา คือ ในปัจจุบัน เท่าที่สังเกต มีอาจารย์ระดับอุดมศึกษา หรืออาจารย์คณะครุศาสตร์ /หรือ ศึกษาศาสตร์ จำนวนไม่มากนัก ที่สนใจจะไปช่วยดูแล สนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา)

        ในเร็ววันนี้ จะมีการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาชุดใหม่ ทั่วประเทศ เรามาร่วมพิจารณาทางเลือกเพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่ กันอย่างจริงจัง ดีไหม

หมายเลขบันทึก: 181373เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยกับประเด็นค่ะ...ผู้นำมีวิสัยทัศน์องค์กรก็จะก้าวหน้า และทำงานได้ราบรื่นค่ะ

สวัสดีครับ ท่าน ดร.สุพักตร์

  • เห็นด้วยตามแนวคิดนี้
  • ประธานฯมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาของเลขาฯ ควรแก้ไขอย่างยิ่ง
  • คณบดี/ผู้แทนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ อยู่ในองค์ประกอบคณะกรรมการโดยตำแหน่งหรือโดยการเชิญมา ผู้เกี่ยวข้องควรรีบดำเนินการ
  • ขอให้อาจารย์โชคดีและขอเป็นกำลังใจให้อีกแรงครับ
  • คุณ Noktalay และ อ.ทนัน  ขอบคุณมากครับ ที่ช่วยเสริมแรง  เรื่องนี้  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทันในการเลือกกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาในรอบต่อไปหรือไม่ ซึ่งคาดว่า น่าจะเริ่มกระบวนการสรรหากันประมาณเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2551 ครับ  ถ้าทันก็คงจะเกิดประโยชน์แน่ ๆ  แต่ถ้าเปลี่ยนระเบียบหรือแนวปฏิบัติใด ๆ ไม่ทัน  ก็ต้องช่วยกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ สนใจและส่งบุคลากรของตนเองไปร่วมเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กันมากขึ้น  ไม่ใช่เพิกเฉยต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท