BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หัวครก ๔ (จบ)


หัวครก

มาถึงประเด็นสุดท้ายที่ต้องการจะเล่า คือการรับประทานหัวครก ซึ่งส่วนที่รับประทานได้มี ๓ ส่วนได้แก่ ใบอ่อน (ปักษ์ใต้เรียกว่า ยอด) ผล และเมล็ด...

ยอดหัวครก นี้ มีรสชาดฝาดๆ มันๆ นิยมกินสดๆ กับน้ำพริก แกงไตปลา หรือแกงส้ม เป็นต้น... ส่วนการนำยอดหัวครกไปลวกจิ้มน้ำพริกหรือใช้เป็นผักใส่ในแกงอื่นๆ ผู้เขียนไม่เคยเห็นหรือใครเคยพูดถึง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ยอดหัวครกใช้กินสดๆ เป็นผักเหนาะอย่างเดียว...

อนึ่ง เคยเล่าไปบ้างแล้วว่า ยอดหัวครกจัดเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ตั้งแต่อดีตมา... และแม้ในปัจจุบัน ยอดหัวครกก็ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย...  บางคนบอกว่า ยอดหัวครกจัดเป็นผักตามธรรมชาติที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง ไม่เหมือนถั่วฝักยาว ผักกาด หรือกระหล่ำปลี เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย...

..........

ต่อมาก็คือผลของมัน ที่เรียกกันว่า ลูกหัวครก...  ซึ่งตามที่ผู้เขียนเคยเห็นมา ลูกหัวครกก็มีหลายขนาด  คงจะขึ้นอยู่กับสายพันธ์ของมันเหมือนกัน  ขนาดใหญ่สุดก็ไม่เกินกำหมัด ส่วนที่เล็กสุดๆ ก็ขนาดนิ้วหัวแม่เท้า...  ลูกหัวครกนี้ เมื่อแรกเป็นนั้น  จะมีสีเขียวเข้มเหมือนกับเมล็ดของมันที่โผล่ออกมาด้านนอก โดยเมล็ดจะโตกว่านิ้วหัวแม่มือเล็กน้อย เมื่อค่อยๆ โตขึ้น เมล็ดจะค่อยๆ เล็กลงเท่ากับขนาดหัวแม่มือหรือเล็กกว่าเล็กน้อย และก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวเข้มมาเป็นสีคล้ำๆ จนเกือบดำ... ขณะที่ลูกหัวครก เมื่อแก่เต็มที่ สีจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีเขียวอ่อน หรือบางลูกก็แปรเป็นสีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู เป็นต้น และแม้ต้นเดียวกัน แต่ลูกของมันก็จะมีหลากสี ซึ่งคราวใดที่ลูกเต็มต้น ก็จะมองดูสวยงาม...

ลูกหัวครก เมื่อสุกเต็มที่ (ปักษ์ใต้เรียกว่า พอง) ก็อาจเก็บกินได้เลยเหมือนผลไม้ทั่วๆไป...  พวกเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ก็ตาม ที่เดินเที่ยวหรือเดินผ่าน รู้สึกหิวน้ำ คอแห้ง ก็อาจปลิดลูกหัวครกที่พองจัด โดยเอามือจับที่เมล็ดของมัน กัดกินแก้หิวน้ำ พอคลายคอแห้งได้... การกินลูกพองๆ สดๆ ทำนองนี้ อาจรู้สึกคันคอนิดหน่อย บางคนจึงไม่ค่อยชอบกิน (รวมทั้งผู้เขียนด้วย)

อีกวิธีการหนึ่งเรียกว่า ยำลูกหัวครก นั่นคือ เก็บลูกพองๆ สดๆ มา ปลิดเมล็ดของมันออกไป แล้วก็ใช้มีดบางปาดเปลือกบางๆ ของมันออก (ส่วนบางคนชอบกินทั้งเปลือก็ไม่ต้องปอก) แล้วก็หั่นเป็นชิ้นโตๆ พอคำ ซึ่งลูกหนึ่งก็แบ่งได้ราว ๔-๘ ชิ้นตามขนาดของมัน จัดใส่จานหรือถ้วยไว้... ต่อจากนั้นก็โรยเกลือผงอีกนิดและน้ำตาลทรายอีกหน่อย ก็จะสำเร็จการยำหัวครก... หัวครกยำทำนองนี้ กินเป็นของหวานก็ได้ หรือขึ้นโต๊ะกินกับข้าวก็ได้

ส่วนลูกหัวครกที่แก่ แต่ยังไม่สุกหรือพองนั้น อาจใช้เป็นผักได้เช่นเดียวกัน โดยนำมาเป็นผักใส่ในแกงส้ม แกงเผ็ด หรือแกงไตปลา เป็นต้น...  การนำลูกหัวครกแก่มาแกงทำนองนี้ ไม่ค่อยมีคนรู้จักทำมากนัก ใครสนใจและมีต้นหัวครกอยู่ใกล้บ้านลองทำดู เพียงแต่น้ำแกงส้มที่ใส่ลูกหัวครกจะมีสีคล้ำๆ จากลูกหัวครก ทำให้มองดูไม่น่ากิน แต่รับรองได้ว่าอร่อยดีเหมือนกัน...

..........

สิ่งสุดท้ายก็คือ โม้งหัวครก หรือเม็ตมะม่วงหิมพานต์ กล่าวได้ว่าเป็นที่นิยมของคนทั่วไป และเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง...

ดังเคยเล่าไว้บ้างแล้วว่าโม้งหัวครก เป็นของทำกินเล่นของพวกเด็กๆ ในท้องถิ่น วิธีการก็คือเอาโม้งหัวครกนี้มาเผาไฟ ซึ่งวิธีการเผาก็มีหลายแบบ ง่ายที่สุดก็คือ เวลามีการก่อกองไฟ ก็โยนโม้งหัวครกเข้าไปในกองไฟ มองดูว่า โม้งหัวครกน่าจะสุกแล้ว ก็ใช้กิ่งไม้หรือไม้ฟืนเขี่ยออกมา พอหายร้อนก็เอามาทุบหรือต่อยกับก้อนหินก้อนอิฐ พอเปลือกแตกก็กินเหยื่อภายใน...

ถ้าต้องการเผาโดยตรงและให้ได้ที่ละมากๆ ก็หากะละมัง ปี๊ป หรือหม้อเก่าๆ เจะรูที่ก้นเล็กๆ หลายๆ รู เพื่อให้ไฟลอดเข้าไปได้ แล้วก็ก่อไฟเอากะละมัง... ที่เจาะรูใส่โม้งหัวครกไว้แล้วขึ้นตั้งบนเตา ใช้ไม้กวนไปกวนมาให้ไฟติดทั่วกัน พอเปลือกข้างนอกไหม้เต็มที่แล้วก็ยกลง ใช้ก้อนหินต่อย แล้วแกะเหยื่อข้างในกินได้...

ถ้าไม่เผา (ปักษ์ใต้เรียกหมก คือ หมกโม้งหัวครก) ดังข้างต้น ก็อาจใช้กรรไกลิดหมาก ผ่าโม้งหัวครกตากแห้งออกเป็น ๒ ซีก แกะเนื้อข้างในออกมา แล้วก็นำไปต้มเกลือ ก็อร่อยดีเหมือนกัน.... ถ้าไม่นำไปต้มเกลือ ก็อาจนำมาเชื่อมกับน้ำตาลตโหนดหรือน้ำตาลทรายก็ได้ (ทำนองนี้ปักษ์ใต้เรียกว่า หลาน้ำผึ้ง คือ เม็ดหัวครกหลาน้ำผึ้ง)...

เม็ดหัวครกต้มเกลือ หรือหลาน้ำผึ้งทำนองนี้ มีขายอยู่ในท้องถิ่นตั้งแต่ผู้เขียนเล็กๆ... ซึ่งนอกจากกินเล่นเป็นของหวานแล้ว เม็ดหัวครกต้มเกลืออาจนำไปใส่ในแกงเลียง ส่วนที่หลาน้ำผึ้งก็อาจนำไปเป็นส่วนหนึ่งของน้ำพริกบางประเภทได้เหมือนกัน (น้ำพริก ปักษ์ใต้เรียก น้ำชุบ ซึ่งบางประเภทต้องใส่ถั่วลิสงคั่วหรือถั่วตัด ซึ่งเม็ดหัวครกหลาน้ำผึ้งทำนองนี้ สามารถใช้แทนถั่วลิสงคั่วหรือถั่วตัดได้...)

ส่วนที่เค้าทำเป็นอุตสาหกรรมจริงๆ จะมีมีดปลอกโม้งหัวครกโดยเฉพาะ ซึ่งจะได้เม็ดหัวครกทั้งเม็ดดูสวยงาม แล้วนำไปอบเกลือ อบน้ำผึ้ง หรืออื่นๆ... ซึ่งผลิตภัณฑ์จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทำนองนี้ ก็มีขายทั่วไป

..........

ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ เป็นบ้านเดิมโยมพ่อของผู้เขียน จัดเป็นโสดเนิน (คูขุดบ้านเดิมโยมแม่จัดเป็นโสดล่าง) ซึ่งผู้เขียนมักขึ้นไปอยู่บ้างตามโอกาส... เกือบทุกบ้านจะมีต้นหัวครกอยู่ ๒-๓ ต้น ทำให้ผู้เขียนคุ้นเคยกับต้นหัวครกมาตั้งแต่เล็กๆ...  และเมื่อแรกบวชสองพรรษาแรกนั้น ผู้เขียนกลับไปจำพรรษาอยู่วัดกระดังงา (นอกพรรษาก็เที่ยวเรื่อยไป)

ในเวลาวันพระ บรรดาญาติโยมจะพาปิ่นโตมาถวายสังฆทาน ซึ่งภายในปิ่นโตนั้น เปิดออกดู ของหวานก็คือ ยำลูกหัวครก เม็ดหัวครกหลาน้ำผึ้ง เม็ดหัวครกต้มเกลือ.... ส่วนกับข้าวก็เช่น แกงส้มกุ้งกับลูกหัวครก ผัดเผ็ดปลาดุกกับลูกหัวครก แกงไตปลาใส่ลูกหัวครก... ซึ่งสิ่งเหล่านี้  เจออยู่เกือบทุกวันพระ ขณะที่ในสถานที่อื่นๆ จะไม่ค่อยเจอ

อนึ่ง ต้นหัวครก จะมียางทำนองเดียวกับต้นมะม่วงอื่นๆ ซึ่งญาติรุ่นพี่ของผู้เขียน สามารถนำมาเคี่ยวทำเป็นยางเหนี่ยวใช้แทนกาวหรือแป้งเปียกได้... ผู้เขียนเคยได้ใช้ทากระดาษติดว่าวตอนเล็กๆ แต่ไม่เคยเห็นวิธีการทำ...

เล่ามาหลายตอนแล้ว รู้สึกเหนื่อย จึงขอจบเพียงแค่นี้ก่อน วันใดนึกสิ่งแปลกๆ เกี่ยวกับหัวครก อาจค่อยนำมาเล่าอีกครั้ง...

 

หมายเลขบันทึก: 181248เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2008 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นมัสการขอรับ

หัวครกชื่อแปลก แต่กินได้ พึ่งจะรู้ว่า ใบก็กินได้ และปลอดสารพิษ

เม็ดก็กินได้ ชอบมากครับ

แต่เอ... เม็ด กับ เมล็ด นี่ แตกต่างกันยังงัยครับ หลวงพ่อ

ขอนมัสการถาม

นมัสการท่าน BM.chaiwut 
             กี่ปีกี่ปี...หัวครก...ก็ยังหรอยเหมือนเดิมครับ...

                                                   นมัสการ

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

    ยอดยาหร่วง ถ้าได้เก็บแล้วปล่อยไว้ให้เหี่ยวๆ หน่อยนะครับ อร่อยไม่เบาเหมือนกันครับ ยอดสดๆ ต้องล้างเอายางออกก่อนก็ดีครัีบ แล้วแต่ชอบครับ

    เอาบทความเก่ามาฝากครับ แหลงใต้วันละคำ (15) : แหลงจากภาพ แหลงว่าพรือ....

    หลวงพี่สบายดีนะครับ

กราบนมัสการครับ

P

สิ้นศึก

 

เม็ด เมล็ต และ เล็ด ขยายความไว้แล้วในบันทึกก่อน ลองเข้าไปดูที่ หัวครก ๑ และ หัวครก ๒

.......

P

นายช่างใหญ่

 

เห็นด้วย... วันก่อนผ่านไปสนามชัย เห็นเค้าขายเม็ดหัวครกอบเกลือ ถุง ๒๐ และยังไม่เลยเพล จึงให้โยมซื้อถวายฉันมาในรถ ๑ ถุง ... รู้สึกเลยว่า ถูกมาก แต่อร่อยเหมือนเดิม...

..........

P

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

 

โยมบอกว่า เดียวนี้ ยอดหัวครก ยอดหมุ้ย ยอดเลียบ เห็ดเหม็ด ยอดขาม ลูกเหรียง ฯลฯ ... ซึ่งยังคงเป็นผักธรรมชาติ มีราคาค่อนข้างแพง และหากินยาก สำหรับคนอยู่เมือง

.........

เจริญพรทุกท่าน

 

นมัสการครับ หัวครก ยาร่วง เหล็ดล่อ(เม็ด) ที่สำคัญคือ มะม่วงหิมพานต์ สุวรรณภูมิเรา มีสิ่งแปลกหลายอย่าง สมัยเด็กพระธุดงค์เคยเอาต้นมามาให้ยายปลูก ต้นหนึ่ง พอต้นโตแก่ใบจะกลายเป็นแมลง บินได้ตอนหลังมันตายไป แต่ต่อมา ผมรู้จักหลวงปู่อิฐ ที่นครพนมท่านบอกว่าเคยเห็นในป่าภูพานต์ ร่วมสิบปีแล้ว และ4-5

ปีที่แล้วอ.คณะเกษตรขอนแก่นพบที่ถนนตัดใหม่ผ่านภูพานต์ เก็บมาลงนสพ.

ส่วนต้นมักลีผล ก็อยู่บนเทือกเขาเดียวกัน ต้นไม้พวกนี้ออกดอกผลเป็นฤดู อาจจะถูกชาวบ้านบุกรุกโค่นทิ้งไปแล้ว ป่าหิมพานต์น่าจะอยู่เมืองไทยน่ะ เพราะสมัยโบราณ มันน่าจะเป็นหิมะเหมือนกันหมด พญานาค อื่นๆ

ไม่มีรูปนภพ สุทธิวรา

 

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท