ศุกร์สนทนาที่มหาวิทยาลัยอายุร้อยห้าสิบปี


ปัจจัยความสำเร็จ งานใหญ่ต้องให้อาจารย์สหสาขาทำงานด้วยกัน

ศุกร์สนทนาครั้งนี้ไปไกลถึงมหาวิทยาลัยอายุร้อยห้าสิบปี

นำมาเล่าสู่กันฟังด้วยเห็นว่าอายุคณะแพทยศาสตร์เพิ่งจะสิบห้าปี แต่มหาวิทยาลัยมิเนโซตา (อันดับห้าของอเมริกา) ยืนยาวมากว่าสิบเท่าแล้ว

ผมไปอเมริกาครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลวิจัยกลุ่มโรคร่วมผู้ป่วยนอก เครือข่ายการวิจัยของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ก่อนการประชุมแวะไปศุกร์สนทนาที่มิเนโซตา มีโอกาสสนทนาเดี่ยวกับศาสตราจารย์สองคน และได้สนทนาเป็นกลุ่มนักเรียนไทยอีกประมาณสิบสองคน ใช้เวลารวมกันไม่ตำกว่าสามชั่วโมง การสนทนาได้สาระ ไม่รู้สึกง่วงเพราะได้หลับตลอดบนเครื่องบินนานสิบหก บวกสามชั่วโมง

กิจกรรมนี้นายแพทย์บุญชัย กิจสนาโยธิน ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตด้านสนเทศศาสตร์สุขภาพ (Health Informatics) หมาดๆ เป็นผู้จัดการ ต้วยต้องการให้เกิดการพัฒนากลุ่มคนด้านสนเทศศาสตร์สุขภาพ อย่างเป็นกลุ่มก้อนในประเทศไทย

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สรุปได้ว่า องค์ความรู้สนเทศศาสตร์สุขภาพในมหาวิทยาลัยร้อยห้าสิบปีนี้ มีจุดตั้งอยู่ในโรงเรียนแพทย (Medical School) โปรแกรมนี้มีชื่อเสียงกว่าสามสิบปี ปัจจุบันมีอาจารย์ประจำห้าคน (นับว่าน้อยเมื่อเทียบกับหน่วยงานที่มีอายุยาวนาน อย่างไรก็ยังมากกว่าม.นเรศวร) แต่มีความหวังว่ามหาวิทยาลัยจะลงทุนเพิ่มให้อีกสามสิบล้านเหรียญ ตั้งเป็นสถาบัน (Institute) ที่มีความร่วมมือจากอาจารย์หลายๆ โรงเรียนภายในมหาวิทยาลัย

ฟังดูวัฒนธรรมการทำงานก็คล้ายๆ บ้านเรา ทำอย่างไรจะให้อาจารย์สหสาขาทำงานอันเป็นเลิศด้วยกันได้ ระบบบริหารเป็นกุญแจสำคัญที่สนับสนุนให้ประสบผลสำเร็จ

ที่เขียนมาเหมือนเป็นการสอนตนเอง เราจะเดินอย่างไร คณะแพทยศาสตร์เพิ่งจะย่างเข้าสิบห้าปี คิดเทียบกับมหาวิทยาลัยร้อยห้าสิบปีแล้วหรือ นั่นคือ การเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่นเพื่อปรับใช้กับเราเอง

ดังนั้น จึงเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่าน ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะแพทยศาสตร์ ในหัวข้อเดิม คือ สิบห้าปีในคณะแพทยศาสตร์ สิบห้าปีข้างหน้า และเมื่อฉันอายุห้าสิบปี (ตามกระทู้เดิม)

 

หมายเลขบันทึก: 180447เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2008 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 02:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สืบเนื่องจากท่านคณบดีเชิญชวนบุคลากร คณะแพทย์ มน. ให้มีส่วนร่วมเขียน 15ปีที่ผ่านมา 15ปีข้างหน้า และ เมื่ออายุ 50ปีนั้น

ก่อนอื่นขอคาราวะและชื่นชมต่อความมุ่งมั่นของอาจารย์ ในการพัฒนา คณะแพทย์ มน. ของเราครับ!

แม้บางครั้งที่ผ่านมา อาจมีอาจารย์แพทย์บางคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์ (อ้างอิงจากการแสดงความเห็นในที่ประชุมในบางครั้ง)

หากแต่ในความคิดของผม ผมถือเป็นความหลากหลายของความคิด เป็นความงดงามบนความแตกต่าง ย่อมดีต่อองค์กร เพราะนอกจากเป็นภาพสะท้อนแล้ว ยังช่วยขับเน้นให้ภาพจริงชัดขึ้น ทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนภัย และเป็น Disk Brake ที่ฉุดรั้ง ชะลอความเร็วเมื่อจำเป็น ในบางสถาณการณ์ด้วย

"สิบห้าปีที่ผ่านมาของคณะแพทย์ มน." ผมมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของระบบใหญ่ ได้ ½ ของระยะเวลา ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแบบDynamic(active and changing: characterized by vigorous activity and producing or undergoing change and development)

หากเรามองความสำเร็จเป็นของ คณะฯและโรงพยาบาลร่วมผลิต(ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลพิจิตร โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์)จะพบความจริงที่ว่า เรามีบัณฑิตแพทย์ออกไปรับใช้ประเทศไปแล้ว 8 รุ่น(530 คน)และสำหรับคณะฯเอง หากจะกล่าวให้เห็นภาพชัด คงต้องย้อนเวลาไปที่ ปี พ.ศ. 2544-45 เมื่อเริ่มจัดตั้งเป็นหน่วยอนามัย ตรวจบุคลากรภายในกันเองที่ฝั่งคณะแพทย์ (ขณะนั้นอาจารย์แพทย์ที่จบวุฒิบัติเฉพาะทางกลับมา จะไปประจำตาม รพ.ร่วมผลิต)จนก้าวเป็นโรงพยาบาลทั่วไป เกิน 100เตียงแบบปัจุบัน(ทั้งนี้ศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือตอนล่างและศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย ถือเป็นภารกิจ เฉพาะด้าน) รวมถึงก่อเกิด 11 ภาควิชา จนปัจจุบันสามารถจัดการเรียนการสอนนิสิตชั้นคลินิกได้เอง และยังเป็นแหล่งฝึกของแพทย์เพิ่มพูนทักษะได้ด้วย น่าภูมิใจครับ(แม้จะล้มลุก คลุกคลานมาหลายครั้ง) ซึ่งหากเราเชื่อว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นความบังเอิญนั่นหมายความว่าฟันเฟืองทุกๆตัว มาบรรจบกันและก่อเกิดพลังสร้างสรรค์นี้ขึ้น อย่างจงใจและเต็มใจให้เกิด โดยเฉพาะ มีผู้มีคุณูปการกับคณะฯมากมายนับตั้งแต่อดีต จน ถึงปัจจุบัน(ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์สุจินต์ อึ้งถาวร คณบดีท่านแรก รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ชุมนุม พรหมขัติแก้ว คณบดีท่านถัดมา และศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย คณบดีท่านปัจจุบัน)

"สิบห้าปีข้างหน้า" แม้ว่าวิสัยทัศน์ คณะแพทย์ มน. ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว(เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล มีเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง และสร้างเสริมสุขภาพคนไทยและเอเชีย)และมีผู้ให้คำวิพากษ์วิจารณ์ ในหลายมุมมองและที่มักพูดไว้ตรงกันคือ “ไม่ชัดเจนต่อเป้าหมาย/ไกลเกินฝัน” แต่ถ้ามองย้อนไปในอดีต อย่างที่กล่าวแล้วใน 15ปีที่ผ่านมา(มีผลบังเกิดเป็นความสำเร็จ ให้น่าชื่นใจอยู่พอควร) ประกอบกับมองความเป็นจริงในปัจจุบันที่ทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดขององค์กรคือคน(ซึ่งจะพบว่ารพ.ร่วมผลิตมีบุคลากรที่เปี่ยมคุณภาพเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว) และสำหรับคณะฯเองปัจจุบันได้มีคนที่มีคุณภาพมารอกันอยู่พร้อมแล้ว(738คน:ข้อมูล ณ มีค. 51) หากไม่ใยดีต่อเงินมากจนเกินไป(หมายถึงมองให้เป็นปัจจัยด้านรอง) สิ่งดีๆย่อมต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ขอเพียง คนของเรายังรักองค์กร และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ละทิ้งภารกิจอันยิ่งใหญ่ตามวิสัยทัศน์ที่ร่วมกันสร้างมาเสียก่อน หากแม้น15ปีข้างหน้า โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยนเรศวร จะไม่ใช่โรงพยาบาล ใหญ่โต หรูหรา เทคโนโลยีสุดยอด นับจำนวนเตียงได้ไม่ถ้วนก็ตามเถอะ แต่หากเราอบอุ่น อุดมไปด้วยน้ำใจ ต่อเพื่อนมนุษย์ สร้างคนให้มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง แค่นั้นก็ที่สุดแล้ว(แล้วเงินทอง ชื่อเสียง คงรีบวิ่งตามเรามาเอง ถ้าเราไม่ละทิ้งอุดมการณ์) โดยที่งานด้านการเรียนการสอน(ทั้งที่จัดเอง และร่วมกับพันธมิตรของเรา)คงเจริญรุดหน้าไปตามศักยภาพและประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้น อีกทั้งงานวิจัยของเราที่มีสภาพแวดล้อมของวงวิชาการ มหาวิทยาลัยและเครือข่าย ก็คงไม่น้อยหน้าที่ใด หาก ความเร็วและความเร่ง เป็นดังเช่นปัจจุบัน

"เมื่อฉันอายุห้าสิบ" สำหรับผม หากเมื่อเวลานั้นมาถึงจริง ก็ยังอยู่ในช่วงที่ภารกิจ 15ปีที่สอง ดำเนินไปได้แค่ ½ ของระยะเวลา เท่านั้นเอง และคิดว่าน่าจะยังพอมีแรง มีพลังสมอง และสามารถตกผลึกกับประสบการณ์ พร้อมจะยืนหยัดร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของระบบใหญ่ ต่อไป (หวังและคิดเช่นนั้น) หากแต่อนาคตย่อมยากที่จะคาดเดา!?!

การทบทวนอดีตย่อมได้แง่มุม จากการถอดบทเรียน(15ปีที่ผ่านมา)

การใคร่ครวญไตร่ตรองปัจจุบัน ย่อมทำให้การตัดสินใจ สุขุมและเฉียบคม(มองปัจจุบัน)

การจินตนาการถึงอนาคต ย่อมนับได้เป็นศาสตร์หนึ่ง ของขบวนการซักซ้อมในจินตนาการ(Mental Rehearsal) (Rehearsal : practice performance: a session or series of sessions in which something that is to be done later, especially a public performance, is practiced)ซึ่งใกล้เคียงกับ ศาสตร์แขนงหนึ่งที่เรียกว่า Neuro-Linguistic Programming หรือ NLP ที่กล่าวถึง การโปรแกรมเป้าหมายด้วยจินตนาการ(15ปีข้างหน้า และ เมื่ออายุ 50ปี)

ซึ่งการจินตนาการถึงอนาคต จะก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และก่อพลังในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างเต็มศักยภาพ

หากทุกท่านจะมีส่วนเขียนตามที่ท่านคณบดีเชิญชวน หรือหากจะมีความเห็นเพื่อสะท้อนภาพองค์กร ก็ต้องถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความขอบคุณครับ!

Sirikasem Sirilak,MD

May 4, 2008

"สิบห้าปี ผ่านมา คุณค่ามาก

ร้อยรอยจำ รอยลำบาก พันความหวัง

ผลิตแพทย์ เพื่อคนไทย ได้อยู่ยัง

สานต่อดัง ปณิธานพระบิดา

สิบห้าปี ต่อไป ใจต้องหนึ่ง

ไปให้ถึง มาตรฐาน อย่างที่ฝัน

นำความรัก ความศรัทธา เป็นพลัง

แพทย์ มน. งามสมดัง หวังแผ่นดิน"

ร่วมยินดี 15 ปี แพทย์ มน.

จามรี

น่าสนใจมากครับ

ผมว่าน่าจะต้องเริ่มจากคนที่มีใจรักในองค์กร ทำงานเพื่อองค์การ แล้วจะนำไปสู่จุดใหญ่ๆจุดอื่น

และไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราก็ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท