ผมสมหวังเป็นที่ยิ่ง เมื่อมาเยือนภูเก็ตกับ เฮฮาศาสตร์ 4
ผมเห็นด้วยกับท่านครูบาว่า เสียดาย สำหรับท่านที่ไม่สามารถไปร่วมได้
ผมชื่นชมท่านอัยการ มาดามและทีมงานภูเก็ต ที่จัดงานอย่างที่เราคุยกันว่า หากไม่ใช่ท่านอัยการแล้วใครจะจัดแบบนี้ได้.. ยากสส...
ท่านอัยการจัดรายการที่มีคุณค่ายิ่งนัก ท่านเชิญนายแพทย์ประสิทธิ์ โกยศิริพงศ์
อดีตนายก อบจ. เมืองภูเก็ต (ประธานชมรมศิษย์เก่าลูกช้าง) ที่มีความรู้พัฒนาการประวัติศาสตร์ชนชาวจีนในภูเก็ตมาบรรยายให้ฟังพร้อมภาพ อย่างที่หาฟังได้ยากยิ่ง ทำให้ผมเข้าใจความเป็นมาของเมืองภูเก็ตในบริบทของคนจีน วัฒนธรรมจีน วิถีชีวิต และสภาพท้องถิ่นไทยภูเก็ต ฯลฯ วันนี้กล่าวได้ว่า ราษฎรไทยเชื้อสายจีนคือผู้พัฒนาเมืองภูเก็ตตัวจริง
เมืองภูเก็ตรุ่งเรืองหลายยุค กล่าวกว้างๆอาจแบ่งเป็นสองยุค คือ เริ่มจากคนจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาบุกเบิกรวมไปถึงยุคการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งทำรายได้มหาศาลแก่ประเทศ โดยชาวต่างชาติคือ ดัตช์ ฝรั่งเศส ยุคนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากๆถึงเรื่องการบริหารจัดการ เช่น ท่าน คอซิมบี้ ณ ระนอง หรือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ผู้ชักชวนธนาคารชาร์ตเตอร์เข้ามาตั้งที่ภูเก็ตเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และการเก็บอากรก็จัดทำโดยบริษัทฝรั่งเศส และยุคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน
ผู้บรรยายได้พาเราชมภาพวิถีชีวิตคนจีนที่ก่อสร้างภูเก็ต รายละเอียดความเป็นอยู่อาศัย ภายในเวลา 1 ชั่วโมงนั้นท่านได้ให้ความรู้ตลอดระยะเวลานับร้อยปีของพัฒนาการเมืองถลางแห่งนี้ เรื่องราวเหล่านี้ชาวภูเก็ตได้รวบรวมหลักฐานไว้ที่พิพิธภัณฑ์
ในฐานะที่ผมทำงานพัฒนา เราทราบกันดีว่าหากเราจะเข้าใจใครอย่างถ่องแท้นั้น เราต้องเข้าใจในวิถีชีวิตเขาทั้งหมดรวมถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ด้วย ถ้าใครสักคนต้องศึกษาจากหนังสือละก็ ผมว่าใช้เวลาแรมสัปดาห์แรมเดือนทีเดียว ต้องขอบคุณท่านนายแพทย์ประสิทธิ์ โกยศิริพงศ์ อดีตนายก อบจ.เมืองภูเก็ตเป็นอย่างสูง
นอกจากจะฟังเรื่องราวที่น่าทึ่งของพัฒนาการเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะยุคโบราณแล้ว ท่านอัยการยังจัดศิลปินถ่ายภาพท้องถิ่น พาเราไปเดินชมกลุ่มอาคารโบราณที่หาโอกาสเช่นนี้ได้ยากมาก ผมเคยเห็นอาคารแบบนี้ที่ ฮอยอัน ในเวียตนาม และที่ปีนังมาบ้างแล้ว คราวนี้ได้สัมผัสของไทยเราบ้าง ต้องกล่าวว่า มีคุณค่ามหาศาล ในอนาคตอาจจะปิดถนนเพื่อจัดเป็นพื้นที่สำหรับเดินชมอาคารอย่างเดียว เหมือนในเวียตนามก็ได้
แม้ว่าช่วงการเดินถ่ายภาพอาคารเก่าจะอยู่ช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของวัน แต่ผมอิ่มเอมกับการซึมซับบรรยากาศและวิถีแห่งอารยะชนที่นี่
ระหว่างเดินชมอาคารนั้นมีหนุ่มท้องถิ่นคนหนึ่งเปิดประตูร้านค้ามาถามว่า เป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร ทำไมใส่เสื้อเหมือนกันและทุกคนถือกล้องถ่ายรูป... เขายิ้มแย้มและจริงใจ เมื่อได้รับคำตอบเขาก็เข้าใจและแนะนำให้เดินไปทางโน้นทางนี้ ที่เป็นกลุ่มอาคารเก่า... ระหว่างการเดินชมไปถ่ายรูปอาคารเก่าไปอย่างไม่ยั้งนั้น ผมพบฝรั่งนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเดินเข้าไปในร้านแห่งหนึ่ง แล้วขออนุญาตเจ้าของร้านถ่ายรูปที่ผนังบ้าน ผมเดินเข้าไปดูว่าเขาถ่ายรูปอะไร พบว่าที่ผนังร้านค้านั้นเป็นรูปเก่าๆของในหลวงและสมเด็จฯของเราครับ.. ผมรู้สึกปิติขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องอธิบายใดๆ...
อาคารเก่าศิลปะจีนนั้น ทุกสิ่งก่อสร้าง ลายต่างๆ มีความหมายไปหมดที่คนจีนพัฒนาวัฒนธรรมความเชื่อและคติมานับพันปี เมื่ออพยพมาอุษาคเนย์ประเทศก็นำคติความเชื่อนั้นติดตัวมาด้วย แล้วก็สร้างสรรค์ออกมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมความงดงามและความหมายต่างๆเหล่านั้น... เหลือแต่เราเท่านั้นที่จะไฝ่เรียนรู้สิ่งเหล่านี้แค่ไหน..
ภูเก็ตอนุรักษ์อาคารเก่าไว้อย่างดียิ่ง พร้อมกับการบูรณะให้คงรูปเดิมๆ ท่านนายแพทย์กล่าวว่า มีอาคารเก่าในภูเก็ตมากกว่า 2-3 พันหลังที่เหลืออยู่ ซึ่งถูกทุบทิ้งไปก่อนหน้านี้มากพอสมควร แต่ที่ปีนัง มีมากถึง 2 หมื่นหลัง ??
ผมชื่นชมกลุ่มราษฎรไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตที่แม้จะมีหลายแซ่ หลายตระกูล แต่ก็สามารถเกาะกลุ่ม รวมตัวกันจรรโลงสิ่งดีดีที่บรรพบุรุษสร้างไว้เป็นที่ยิ่งนัก
ทั้งหมดนี้ก็คือคนไทย เชื้อสายจีน ที่เคารพในความเป็นชาติไทย
นี่คืออัตลักษณ์ของไทย ที่ผมสัมผัสมา
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย บางทราย ใน เรื่องเล่าจากดงหลวง
คำสำคัญ (Tags)#ภูเก็ต#บางทราย#อัยการชาวเกาะ#คนแซ่เฮ#เฮฮาศาสตร์4
หมายเลขบันทึก: 179686, เขียน: 30 Apr 2008 @ 10:54 (), แก้ไข: 06 Sep 2013 @ 19:00 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 22, อ่าน: คลิก
ต้องขออภัย เพื่อนๆ g2k ที่ผมรายงานช้าไป เพราะ กลับมาที่ทำงานก็มีเรื่องด่วนต้องทำทันทีครับ
รายงานจะมีต่อเนื่องไปนะครับ หลายตอนจบ อิอิ