ตำนานเมืองล้านนาตอนพระอุปคุต


พระอุปคุตเถระผู้มีปาฏิหาริย์ปัจจุบันยังคงมีชีวิตและมีการใส่บาตรพระอุปคุตในวันเป็งปุ๊ด

ชาวล้านนารู้จักพระอุปคุตในนามผู้ปกป้องคุ้มครองภัยโดยเฉพาะการมีปอยหลวง  งานพิธีกรรมของส่วนรวมจะมีการอาราธนาพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำมาคุ้มครองการจัดงานเพื่อมิให้เกิดภัยและงานลุล่วงไปด้วยดี

ชาวล้านนามีพิธีกรรมการใส่บาตรพระอุปคุตในวันเป็งปุ๊ดหรือเพ็ญวันพุธมาจนปัจจุบัน ในขณะที่การเผยแพร่ข่าวนักข่าวบางท่านยังไม่เข้าใจกลับแพร่ข่าวทำนองว่าผิดวินัยสงฆ์เพราะเป็นเวลากลางคืนตั้งแต่เวลาย่ำตีหนึ่งของวันเป็งปุ๊ดจนถึงราวตีห้า คือประเพณีของชาวล้านนาปฏิบัติกันมา 

พระอุปคุตสำคัญอย่างไร

แต่ผู้คนขานนามท่านว่าพระอุปคุต เป็นภาษาบาลี หรือภาษาสันสกฤตว่าอุปคุปต์  ซึ่งตรงกับภาษาพี่น้องชาวไตยบางท้องถิ่นขานนามท่านว่า ส่างอุปคุป  โดยมีความหมายว่า  ผู้คุ้มครองมั่นคง

พระอุปคุตมีตำนานว่าท่านเป็นชาวปาตลีบุตรกำเนิดหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วราว 218 ปีเมื่อบวชสำเร็จอิญญาต่างๆสามารถแสดงอภินิหารจนเป็นที่เล่าลือถึง ท่านเนรมิตถ้ำแก้วอยู่ในทะเลลึก ครั้งหนึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงจัดพิธีฉลองพระวิหาร(งานปอยหลวง)พระองค์ทรงห่วงว่าจะเกิดเภทภัยต่างๆจึงหาพระสงฆ์ที่มีอิธิฤทธิ์มาคุ้มครองงาน  ไม่มีสงฆ์องค์ใดรับปฏิบัติ แต่มีสงฆ์สองรูปอาสาชำแรกมหาสมุทรลงไปนิมนต์พระอุปคุตขึ้นมาคุ้มครองงาน พระอุปคุตรับคำและได้ชำแรกมหาสมุทรขึ้นมาพบพระเจ้าอโศก  แต่พระองค์ทรงเห็นว่าพระสงฆ์รูปนี้ร่างบอบบางจะคุ้มครองพญามารได้อย่างไร?  เมื่อพระอุปคุตออกบิณฑบาต พระเจ้าอโศกสั่งให้เสนาปล่อยช้างตกมันเข้าทำร้าย  พระอุปคุตเห็นจึงสกดช้างหยุดนิ่งดั่งเป็นช้างหิน  พระเจ้าอโศกทรงเห็นดังนั้นจึงทรงเข้าไปกราบขอโทษและทรงวางพระทัยในการจัดงาน

เมื่อมีงานปอยหลวงฉลองพระวิหาร ขณะที่พระอุปคุตแสดงธรรมอยู่นั้นพญามารได้เนรมิตฝนไข่มุกตกลงมาทำให้ผู้คนแตกตื่นจากฟังธรรมออกมาแย่งเก็บไข่มุก  ต่อมาอีกวันพระอุปคุตแสดงธรรม  พญามารก็บันดาลฝนทองตกลงมาให้ผู้คนแตกตื่นไล่เก็บ ฯลฯ. โอย..พญามารมันแกล้งซะป๊ะอย่างหลากหลายรูปแบบ  จนครั้งสุดท้ายพระอุปคุตแสดงธรรมพญามารกลับเนรมิตรเสียงพิณมีนางเทพอัปสรร่ายรำนุ่งน้อยห่มน้อยให้คนสนใจ  ยัง...ยังไม่พอ  พญามารยังเนรมิตพวงมาลัยไปคล้องคอพระอุปคุต....ดู..ดูมัน  สมนามพญามารแท้....โดยเหตุนี้กระมังเมื่อมีงานอะไรจะไปด้วยดีแต่มีอะไรมาขัดขวางผู้คนจึงกล่าวว่า "มารแท้ๆ..."   ส่วนพระอุปคุตทราบโดยญาณว่าเป็นเรื่องของพญามาร จึงใช้วิธีเกลือจิ้มเกลือโดยการเนรมิตร่างงูตาย   สุนัขตายและร่างคนตายทำเป็นพวงมาลัยพญามารเห็นนึกดีใจจึงออกจากที่ซ่อนมา  พระอุปคุตจึงเอาพวงมาลัยร่างงูตายสวมศีรษะ  ร่างสุนัขตายสวมคอ และร่างคนตายสวมที่หูเมื่อสวมแล้วพวงมาลัยกลับเป็นร่างเดิมเหม็นคลุ้ง  พญามารร้องขอให้พระอุปคุตช่วยเอาออกแต่พระอุปคุตได้นำพญามารไปผูกไว้หลังภูเขารอจนสิ้นงานบุญจึงปล่อยพญามารส่วนพญามารได้สำนึกบาปได้กล่าวขอโทษพระอุปคุตและได้ลาจากไปด้วยความอ่อนน้อมพร้อมความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

เท่าที่เล่ามาโดยสังเขปจึงเป็นความเชื่อต่อกันมาว่าหากวัดใด หมู่บ้านใดจะมีงานบุญกุศล  ผู้คนล้านนาจึงอัญเชิญพระอุปคุตมาคุ้มครองงานโดยการร่วมกันไปที่ท่าน้ำหรือทางสามแพร่งเชื่อว่าพระอุปคุตสถิตอยู่ที่นั้นแล้วกล่าวอัญเชิญจนจบทำการเลือกก้อนหินที่อยู่บริเวณนั้นสมมุติเป็นพระอุปขึ้นมาแห่ไปที่วัดหรือที่จะมีพิธีงานเชื่อว่าพระอุปคุตจะคุ้มครองงานจนเสร็จ เมื่องานเสร็จต้องนำหินนั้นไปไว้ที่เดิม

ในบางท้องถิ่นล้านนาเชื่อว่าพระอุปคุตจะตะแหลง(แปลงร่าง)เป็นสามเณรน้อยขึ้นมาบิณฑบาตรในวันเป็งปุ๊ดหรือเพ็ญพุธ เริ่มตั้งแต่ตีหนึ่งของวันพุธ  ผู้คนจึงมักเห็นสามเณรน้อยเดินบิณฑบาตรไปตามถนน  ทางสี่แพร่งสามแพร่ง  ตลอดจนถนนหนทางตามริมน้ำท่าน้ำต่างๆ  จนกระทั่งตี๋นฟ้ายกหรือแสงเงินแสงทองออกมาจึงเนรมิตกายหายไป  หากผู้ใดมีบุญบารมีได้ใส่บาตรพระอุปคุตมักทำให้ร่ำรวยเงินทอง  ปราศจากภัยทั้งปวง  มีสมาธิจิตดีไม่หลงลืม ชีวิตเป็นสุข   ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้สร้างพระอุปคุตปางที่นิยมได้แก่ ปางล้วงบาตร  หมายถึงกิ๋นบ่เสี้ยงหรือกินไม่หมด ให้คุณทางทรัพย์สินเนืองมากมาย  ร่ำรวย  ปางห้ามมารให้คุณในทางคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ    ปางสมาธิหรือพระบัวเข็มให้คุณในด้านสติปัญญาดี จิตใจผ่องใส ดำเนินชีวิตเป็นสุขด้วยปัญญาปารมี  นอกจากสามปางนี้แล้วยังมีปางอื่นๆอีกแล้วแต่ผู้สร้าง อย่างเช่นบางแห่งอาจเห็นองค์พระอุปคุตกับช้างตกมัน  เป็นต้น ก็สร้างตามตำนานดังเล่ามาแล้วการบูชาพระอุปคุตมีหลากหลายวิธี มีพระคาถาอัญเชิญพระอุปคุต พระคาถาขอลาภ  พระคาถาผูกมารซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากชาวล้านนาแล้วที่นับถือมากคือพี่น้องชาวมอญ  ไทยใหญ่  พม่า  ส่วนมากท่านเหล่านี้จะสร้างพระอุปคุตจากผงว่าน กิ่งไม้โพธิ์ที่เรียกว่า  "ทักขิณสาขา"  หรือไม้เนื้อหอมต่างๆแล้วแต่จะศรัทธากันอย่างไร?.  ขออิทธิปาฏิหาริย์พระอุปคุตจงคุ้มครองท่านผู้อ่าน และจงสมจิตอธิษฐานด้วยประการละฉะนี้จิ่มเต๊อะ



ความเห็น (14)

สวัสดีครับ

ได้อ่านเรื่องพระอุปคุปต์ แล้ว

ขอบคุณลุงหนานมากๆ ก่อนนี้ได้ยินแต่เรื่องพระบัวเข็ม

และเรื่องงมกรวดมาทำพิธี ก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน

รักษาสุขภาพนะครับ

ป้อหนานอาจ๋านตี้เคารพครับ อยากจะเสริม เถิม เติม เรื่องพระอุปคุตในบริบทของชาวไต เพื่อหลอมรวมองค์ความรู้ ความเชื่อเข้าด้วยกัน ชาวไตเรียกพระอุปคุตเป็น 2 ชื่อ บ้างก็เรียกว่า พระอุปกุ้ก (พระ-อุ-ปะ-กุ้ก) ซึ่งแปลว่าผู้คุ้มครอง มั่นคง บ้างก็เรียกว่า             "ส่างอุ้กปุ้ก" ซึ่งแปลว่า คนอ้วนม้อต้อ คนเมืองน่าจะเรียกว่า "คนขี้ปุ๋มหลวง" ประวัติทางไต บอกว่าพระอุปคุตมีทั้งหมด 8 องค์ 4 องค์มีวัดอยู่บนเขาและได้มรณภาพไปแล้ว แต่ร่างที่มรณภาพนั้นเหมือนคนนอนหลับธรรมดา จะมีเหล่าเทวดาลงมาบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนอยู่เป็นประจำ องค์ที่หนึ่งชื่อ มหากัสปะ มรณภาพอยู่บนเขาโว่ยผ่าละ องค์ที่สองชื่อซูผ่าละ มรณภาพอยู่บนเขาอุกตะมะ องค์ที่สามชื่อ อูปิกข่าละ มรณภาพอยู่บนเขามะกุตะ องค์ที่สี่ชื่อธรรมะสาละ มรณภาพอยู่บนเขามากุตะ ยังเหลืออยู่อีก 4 องค์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ชราภาพแล้ว ปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานอยู่ในนำทะเลกว้าง องค์ที่หนึ่งชื่อว่าอนุเมละทะ อยู่ด้านทิศใต้ องค์ที่สองมีชื่อว่าเมทะละ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก องค์ที่สามชื่อว่าสาละตัดตะ อยู่ทางด้านทิศเหนือ องค์ที่สี่ชื่อว่าสักกอส่าละ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก หากปีไหนวันเพ็ญเดือน 4 ตรงกับวันพุธ ทั้ง 4องค์จะเวียนกันออกมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์ และวันเพ็ญเดือน 12 ที่ตรงกับวันพุธ พระองค์ท่านก็จะออกมาบิณฑบาตโปรดบนโลกมนุษย์ หากท่านใดมีบุญวาสนาดีได้พบพระองค์ท่านออกมาบิณฑบาต และได้ใส่บาตรท่านผู้นั้นจะพบแต่ความสุข ความเจริญ หากท่านใดมีธรรม (ปั๊บสา)ประวัติของพระองค์ท่านจะอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภัยอันตราย จะแคล้วคลาด ในสมัยบรรพบุรุษพอถึงวันเพ็ญเดือน 12 ก็จะมีพิธีทำบุญบูชาพระอุปคุตที่เรียกว่า "หลู่    ส่างอุ้กปุ้ก" ฝากมาร่วมแจมกับพ่อหนานอาจารย์ครับ อาจารย์เก

ไหว้สาท่านอาจารย์ธวัชชัยและอาจารย์เกที่เคารพยิ่ง

*ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมพวกเรา และช่วยกันเสริมแต่งให้เรื่องราวหลากหลายแนวทางจะเพิ่มเติมความรู้แก่ผู้อ่านมากยิ่งขึ้น

*ช่วยกันอย่างนี้แหละครับจะทำให้ความรู้เจริญก้าวหน้า  ความรู้หลากหลาย ความรู้ที่มีีความแตกต่างกันตามท้องถิ่นนั่นคือความรู้ที่แท้จริง  เราสามารถถอดองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีครับ

*ยิ่งปีนี้วันเป็งปุ๊ด(วันเพ็ญพุธ)จะเหลืออีกเพียง สองครั้ง  คือวันพุธที่ 18  มิถุนายน  2551   และเพ็ญเดือน ยี่เหนือ  หรือเดือนสิบสองใต้ตรงกับวันพุธที่ 12  พฤศจิกายน  2551  เราคงจะเห็นพิธีการใส่บาตรพระอุปคุตกันมากอยู่ทีเดียว

*ขอคุณพวกเราอีกครั้ง 

*ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน.....พรหมมา

สวัสดีครับอาจารย์ป้อหนาน

  • ได้ความฮู้ดีมากครับ บ่เกยฮู้จะอี้มาก่อน
  • ได้ฮู้เรื่องราวในอดีต ดีใจ๋นะครับ
  • ขอบคุณครับ แล้วจะมาอ่านแหมครับ

สวัสดีครับครูสุ..

*ยินดีครับที่หมู่เฮาสนใจ๋และอ่าน ขอหื้อช่วยกั๋นฮักษามรดกล้านนาต่อๆไปครับ

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน..พรหมมา

  • สรีสวัสดีเจ้าป้อลุงหนานพรหมมา
  • มาอ่านเรื่องล้านาเฮาแหมแล้ว
  • ขอบคุณสำหรับความรู้เจ้า  ขอหื้อป้อลุงหนานฮักษาสุขภาพเน้อเจ้า
  • ไหว้สาเจ้า

สวัสดีเจ้า..หลานคำแสนดอย...

มาแว่อ่านเต๊อะตึงบ่เป๋นหยัง

ก้อยอ่านก้อยฟัง ความฮู้เตื่อมแถ้ง

จ้วยกั๋นฮักษามรดกแจ่มแจ้งล้านนาเฮาเนอปี้น้อง

*ด้วยความผาถะนาดีจาก..ลุงหนาน...พรหมมา

  • สรีสวัสดีเจ้าป้อลุงหนาน พรหมมา
  • พอดี มีรูปการแห่พระอุปคุตรอบหมู่บ้านตี้เมืองภูกามยาว ที่ถ่ายเก็บไว้ เลยนำมาประกอบกับบันทึกของป้อลุงหนานเจ้า ยกสองมือไหว้สา สรีสวัสดีเจ้า

 

    

 

 

สวัสดีเจ้าหลานคำแสนดอย..

*ยินดีจ้าดนักเจ้าตี้เอาข้อมูลมาเสริม

*ป๋างนี้ฮ้องกั๋นว่า"ป๋างล้วงบาตร"

* บูชามีโชคลาภ กิ๋นบ่เสี้ยง (กินไม่หมด)

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

ไหว้สาป้อหนานเจ้า หว่างแล้วข้าเจ้าไค่ได้พระอุปคุตสักองค์ ไว้ปูจา

ก็มีแม่ชีเป๋นแม่บุญธรรมได้จากครูบาชุ่ม ตี้อยู่ตางพม่าเจียงฮาย เอามา

หื้อข้าเจ้า 1 องค์ เปิ้นมีกำไหว้สาปูจาก่อเจ้า

ไหว้สาครูตีครับ.....

คำไหว้สาพระอุปคุตมีหลายสำนวนครับแต่ที่ผมไจ๊ว่าดังนี้ครับ...

ตั้งนโมสามจแล้ว่า.."อุปคุตโต  จะมหาเถโร  สัพพะลาโภ  นิรันตรัง  สัพพะทุกขัง  ภยันตราย  วินาสสันต.."   แล้วอธิษฐานตามที่ใจต้องการในสิ่งที่ดี  ไม่ผิดกฏหมาย  ศีลธรรม  ไม่แหกม้างฮีตกองคนเมืองเฮา...ก็จะมีความสำเร็จครับ..

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน...    พรหมมา

ไม่มีเลย

..............?

(ข้อมูล)

จะเอาไปสอบ

ไม่ทราบว่าจะเอาข้อมูลอะไรบ้าง?...

ก็เลยไม่มีข้อมูลให้ครับ....

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน.....พรหมมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท