Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ขอกรมการปกครองอย่าออกระเบียบมาเอื้อต่อการจับนักเรียนนักศึกษาในระหว่างเดินทางไปเรียนเลย เพราะจะเป็นอมนุษย์นิยมเกินไป


ในเมื่อรัฐไทยบอกว่ารับรองสิทธิเข้าสู่การศึกษาของเด็กทุกคน แล้วทำไมระเบียบของกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้จึงมีบทบัญญัติเพียงที่เกี่ยวกับเด็กที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร แปลว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยจะปฏิเสธสิทธิเข้าสู่การศึกษาของเด็กไร้รัฐเพราะยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกใช่ไหม ? ไม่ควรจะลืมนะว่า การเลือกปฏิบัติในระเบียบนี้ย่อมสร้างความขัดแย้งกับกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยอื่ีนๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิเข้าสู่การศึกษา และขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย

          ขอขอบคุณอาจารย์ รจนา สินที เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการที่ส่ง ร่างกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตออกนอกเขตควบคุมเป็นการชั่วคราวเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นบุคคลไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ..... มาถามความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย การกระทำอย่างนี้จะทำให้กระบวนการทำกฎหมายปกครองของรัฐไทยไม่ซุ่มซ่ามไปละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย

ระเบียบนี้มีที่มาจากการที่รัฐไทยประกาศก้องว่าจะรับรองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ โดยมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล  และัในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเข้าสู่การศึกษาของมนุษย์ทุกคนตามหลัก Education for all ก็ได้ถูกยืนยันในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ อย่างชัดเจน อันนำไปสู่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘

ในวันนี้ ยังขาดแค่การกำหนดวิธีปฏิบัติต่อนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งระเบียบนี้ต้องทำโดยกระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตามาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และ มาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

บทบัญญัติแห่งระเบียบดังกล่าวที่เห็นกันสร้างความหนักใจให้แก่คนทำงานเพื่อเด็กไร้รัฐเด็กไร้สัญชาติอย่างมาก ในโอกาสที่กำลังยกร่างกฎหมายปกครองฉบับนี้ น่าจะต้องถือโอกาสแก้ปัญหาที่เกิดแก่เด็กไร้รัฐเด็กไร้สัญชาติ ๒ ประการที่สำคัญ กล่าวคือ (๑) อย่าให้อำนาจดุลยพินิจอย่างคลุมเครือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐจนเป็นการเปิดช่องให้มีการเรียกเก็บเงินจากเด็ดเมื่อเข้าต้องการเดินทางเพื่อไปศึกษา (๒) ควรกำหนดวิธีการสำหรับเด็กไร้สัญชาติทุกคน ทั้งที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้ว และยังไม่มี ควรจะร่างระเบียบจากข้อเท็จจริงในสังคม อย่าเอามือปิดตาแล้วร่างกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดทุกครั้งที่กฎหมายมีช่องว่าง

ก็ในเมื่อรัฐไทยบอกว่ารับรองสิทธิเข้าสู่การศึกษาของเด็กทุกคน แล้วทำไมระเบียบของกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้จึงมีบทบัญญัติเพียงที่เกี่ยวกับเด็กที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร แปลว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยจะปฏิเสธสิทธิเข้าสู่การศึกษาของเด็กไร้รัฐเพราะยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกใช่ไหม ? ไม่ควรจะลืมนะว่า การเลือกปฏิบัติในระเบียบนี้ย่อมสร้างความขัดแย้งกับกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยอื่ีนๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิเข้าสู่การศึกษา และขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย

 

แล้วอย่าลืมยกร่างระเบียบการเดินไปโรงพยาบาลของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

 

------------------------------------------------------

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑

บางส่วนถูกนำไปเผยแพร่ในมติชนรายวันเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑

------------------------------------------------------



ความเห็น (1)

มาเก็บข้อมูล และเอาใจช่วย ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท