ต๋ำนานผีล้านนาตอนผีบ่เอาของกิ๋นวันปุ๊ด


วันปุ๊ด(พุธ)ผีไม่รับของกินของทานจากเมืองมนุษย์

เล่าเรื่องตำนานปี๋ใหม่เมืองล้านนาคั่นรายการเรื่องผีๆ...มาอยู่หลายตอนที่จริงยังมีเรื่องปลีกย่อยเกี่ยวกับปี๋ใหม่อีกมากแต่ดูๆแล้วก็เหมือนๆกับประเพณีทั่วไปเช่นการปล่อยนก ปล่อยปลา ฯ.

วันนี้..จะกลับมาเล่าเรื่องผีบ่เอาของกิ๋นวันปุ๊ดของผู้คนล้านนาบางถิ่น บางหมู่บ้านมาเล่าจากการไปศึกษาเรื่องไม่เผาผีวันเก้าก๋องแล้ว  ยังมีวันพุธอีกหนึ่งวันที่ผู้คนล้านนาบางแห่งไม่เผาศพเพราะมีความเชื่อจากคำบอกเล่าของผีผ่านร่างม้าขี่(ร่างทรง)บอกว่า " ในวันพุธผีจะไม่ลงหรือเข้าทรงร่างใคร และจะไม่รับของกินของอุทิศทานจากเมืองมนุษย์"

เรื่องห้ามเกี่ยวกับวันพุธนี้ยังสอดคล้องกับความเชื่อผู้คนทั่วไปคือพุธไม่ตัด  พฤหัสไม่ถอน  เพราะเชื่อว่าวันพุธเป็นวันเจริญวัฒนาหากตัดอะไรในวันนี้ก็จะตัดความเจริญออกไป  ส่วนวันพฤหัสเป็นวันครูที่ทรงปัญญาหากถอดถอนอะไรในวันนี้ก็จะถอนความรู้ปัญญาออกไปด้วย

 หรือบางแห่งบอกว่า "วันพุธบ่ดีตัด  วันผัด(พฤหัส)บ่ดีดำ" หมายความว่าวันพุธไม่ตัดเล็บตัดผม และวันพฤหัสไม่สระผม  เป็นต้น

เมื่อทราบจากคำพูดของผีๆว่าในวันพุธผีไม่รับของกิน ไม่รับสิ่งของที่อุทิศไปให้ผี ญาติพี่น้องจึงหยุดการทำบุญเผาศพในวันพุธ เกรงไปว่า  ผีผู้ตายจะไม่รับของใช้ที่อุทิศไปให้ โดยเฉพาะของใช้ที่พกห่อไปเผากับศพผู้ตายไม่ว่าเสื้อผ้า ของใช้ที่ผู้ตายเคยใช้เมื่อยังชีวิตเป็นคน  ก็พากันหยุดการเผาศพในวันพุธอีกสาเหตุหนึ่งบอกว่าวันพุธเป็นวันสองเวลาคือมีพุธกลางวัน พุธกลางคืนหรือราหู วันนี้เองบรรดาผีๆทั้งหลายเกลียด..เกลี๊ยดเกลียดพระราหูที่ตัวใหญ่ผิวดำ..ด๊ำดำน่าเกลียดน่ากลัวจึงไม่ยอมออกมารับของกินของอุทิศทานจากญาติพี่น้อง

ด้วยความเชื่อดังกล่าวหลายๆท้องที่ในล้านนาจะไม่เผาศพในวันพุธ  แต่อย่างไรก็ตามบางหมู่บ้านก็ไม่ถือเคล็ดนี้ ยังเผาศพกันทุกวันที่มีเวลาเอื้ออำนวย ก็แล้วแต่ความเชื่อแต่ละแห่งเรื่องอย่างนี้อย่าไปว่ากันจะเถียงกันไปโดยไร้ประโยชน์  เพราะเป็นเรื่องจัดการเวลา  จัดการวิถีชีวิตให้อยู่ร่วมกันเป็นสุขในสังคมแต่ละแห่ง  เพียงแต่เมื่อศึกษาแล้วก็ถือว่าเป็นความรู้ที่เรามีไว้เพื่อจัดการกับตนเองว่าหากเข้าไปอยู่ในสังคมใด  เขามีความเชื่อ  วิถีชีวิตอย่างไร  เราก็ต้องปฏิบัติให้เข้ากับสังคมได้ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข       เพียงเท่านี้  ก็เพียงพอแล้วในการใช้ความรู้ผะหญาภูมิปัญญาเพื่อดำรงความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม



ความเห็น (13)

สวัสดีปี๋ใหม่เมืองเจ้า..ป้อหนาน

น้องขอพรหื้อป้อหนานอายุมั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร หื้อกับลูกหลานและจาวล้านนาคนเมืองของเฮาตลอดไปเน้อเจ้า..

คลิ๊ก..สร้าง Glitter ด้วยตัวคุณเอง

  • สวัสดี...ลุงหนานพรหมมา
    วันปุ๊ด-วันเมื่อนั้น  วัฒนา
    วันปุ๊ด-คืนเป็นรา   หูเจ้า
    วันปุ๊ด-สิ่งตานา    ผีบ่ ฮับแล
    วันปุ๊ด-มีแถมเล้า   เก่าห้าม ตัดผม
  • โจคดีปี๋ใหม่เมืองครับลุงหนาน

ไหว้สาท่านทนันและหลานดอกไม้ปล๋ายดอยเจ้า

 *ขอบคุณที่มาหื้อปอนและเตื่อมแถ้งในเทศก๋าลปี๋ใหม่เมือง

 *ขอความสุขจุ่งมีจุ๊คนๆเตี้ยงแต๊ดีหลี..ครับหมู่เฮา

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

กราบคารวะป้อหนานอาจ๋าน สวัสดีเนื่องในปี๋ใหม่เมืองครับ

พ่ออาจารย์ช่วยผมถอดระหัสได้อีกแล้ว 1 รายการ ความเชื่อที่คนเมืองไม่เผาผีวันพุธ คาใจมานมนานเหลือเกินครับเพิ่งหูตาสว่างในวันนี้ จึงไม่มีสิ่งใดตอบแทนนอกจากความขอบคุณจากใจครับ (ที่ผมเคยเรียนพ่ออาจารย์มาก่อนหน้านั้นแล้ว คนเมืองไม่เผาผีวันพุธ แต่คนไตไม่ถือวันพุธ นอกเสียจากในวันนั้นไปตรงกับวันห้ามต่างๆที่กำหนดไว้ เช่น เป็นวันม้วย วันม้วยเก้าก๋อง วันเก้าคำ ฯลฯ

ของแถมครับ คนไตเชื่อว่าคนที่เกิดวันพุธตอนเช้าเป็นคนจิตใจเยือกเย็น แต่หากเกิดวันพุธตอนบ่ายเป็นคนใจร้อน (ใจ๋หิ้น)จริงหรือเปล่าไม่ทราบครับ ผมฟังเขาเล่ามาอีกทีหนึ่ง

อาจารย์เก

ไหว้สาอาจารย์เกที่เคารพครับ...

*ขอบคุณที่มาเยี่ยมอวยพร

*ขอหมู่เฮาแข็งแรง ก้านกุ่งฮุ่งเฮืองไปไจ้ๆครับ

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน...พรหมมา

ลุงหนานครับ

ขออนุญาตฮ้องลูงหนานเนาะ ผมเป๋นคนเมือง มาอยู่อีสานมาสามสิบกว่าปี แต่ก็ยังอู้เมือง ชอบกิ๋นของเมืองอยู่ เห็นผลงานของลุงหนานหลายเรื่อง สนใจครับ ติดตาม อย่าหื้อฮีตฮอยเมืองสูญหาย ปิ๊กบ้านเมื่อใด คนในเมือง บ่หันไผอู้เมืองเลย อู้แต่คำไทยกลาง บางอย่างเช่นตำนานที่ลุงหนานเล่า มีประโยชน์ ทำให้คิดถึงพ่อ ที่ท่านก็เป็นหนาน ดูแลสิ่งเหล่านี้ คอยบอกให้เพื่อนบ้าน วันดี วันร้อย อะไรขึด ไม่ขึด แต่ท่านก็จากผมไปแล้ว ลุงหนานหาอะไรมาสอนคนรุ่นหลังให้มากๆอีกนะครับ

สวัสดีคุณตู้ คำตื้อครับ...

*ยินดีที่ได้มาแว่อ่าน ..ลุงหนานก๋ำลังเล่าเรื่องเกี่ยวกับล้านนาเฮาหื้อลูกหลานคนที่สนใจ๋ได้อ่านเพื่อสืบสานกั๋นต่อๆไป

*คนปัจจุบันอู้ลูกหลานในบ้านเป๋นคำไทย...คำอู้เมืองก็หดหายไปจากครอบครัวและสังคมในที่สุดก็บ่มีคนอู้เมืองต่อไปในอนาคตหากจะหื้อดีต้องอู้เมืองในครอบครัว ลูกหลานก็จะสืบเมืองได้ต่อไป

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

ลุงหนานครับ

สังคมไทยภูมิภาคบ๋าเดี่ยวนี้ มันเป๋นจาใดหา ละอ่อนกู๊ภาค บ่ยอมอู้ภาษาถิ่น ที่อีสานก๋อเหมือนกัน ละอ่อน บักหำอีนางทั้งหลาย พอเข้าเมืองพูดไทยหมด บ่ยอมเว้าลาว ทั้งๆที่คำลาวแซบเป๋นต๋าหน่าย เหมือนคำเมือง มีบางคำฟังแล้วบ่สามารถแปลเป็นไทยที่สละสลวย เช่นอาหารนี่นัวเนาะ โอ๊ยมันยิ่งกว่าแซบที่แปลว่าอร่อย อย่างนี่เป็นต้น คนใต้ก๋อเหมือนกั๋น สองอาติตย์ก่อน ผมไปกับครอบครัวไปเยี่ยมญาติที่ภาคใต้ แวะกิ๋นอาหารทะเลที่บ้านพุมเรียง ( ถิ่นกำเนิดมหาบุรุษโลก พุทธทาสภิกขุ) แม่บ้านผมแหลงใต้กับเด็กน้อยไข่นุ้ยเสริฟอาหาร เพราะนานๆเธอถึงมีโอกาสแหลงที ที่บ้านผมมันสหภาษาครับ พ่อเมือง แม่ใต้ ลูกสองคนมันยืนยันว่ามันเป็นลาวขอนแก่น ( กลับบ้านทางเหนือเล่นกับน้องๆพี่ โมโหมา อุทานเป็นภาษาลาวทุกที แทนที่เพื่อนๆที่เล่นจะโกรธ หัวเราะกันลั่นทุกที )ไอ้ไข่นุ้ย ที่หน้าตามันก็คนใต้ ก็ยังดันพูดภาษากรุงเทพด้วยสำเนียงทองแดง ชัดถ้อยชัดคำ นี่ อีก สองชั่วคน ภาษาถิ่นมันบ่อหายหมดกา คนเมืองเฮาก็เตอะ ตี่อู้ทุกวันมันเป็นศัพท์ภาคกลางแต่มาใส่วรรณยุกต์ตรีเอา ใช่ใหมครับ มีละอ่อนรุ่นใหม่กี่คนที่ฮู้ความหมาย หัวเหลนกัน ต้าวเปียะขี้เปอะหมด ฯลฯ นี่ผมก็กำลังยุคนอีสานหื้อช่วยกันเปลี่ยนชื่อเดิมที่คนภาคกลางตั้งไว้ เช่นแม่น้ำชี มันไม่ใช่มันเป๋นแม่น้ำซี ซีที่แปลว่าแทง ทะลุ ดั้น ด้น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น มันก๋อบ่อแม่น บ่อแม่นอำเภอบ้านนอก แต่มันอำเภอชลบท ที่แปลว่าเดินไปทางน้ำ คือเขามีน้ำหลายนะครับ ผมไม่ได้แอนตี้ไทยกรุงเทพ ฮู้อยู่ว่าเป็นราชอาณาจักรเดียวกันที่ใครแบ่งแยกไม่ได้ แต่ผมว่าภาษาคือรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมแห่งความเป็นชาติไทยครับ แม่นก่อลุงหนาน

ขอบคุณแต๊ๆ...คนชื่อตื้อก็บอกว่าเป๋นคนเมืองแน่นอน. *วัฒนธรรมใหม่มันกลบวัฒนธรรมเก่าเพราะคนรุ่นพ่อ แม่ ปัจจุบันถูกสั่งสมในการเรียนการสอนในโรงเรียนล่วงมาราวสามสี่สิบปี คนรุ่นนี้(ส่วนมากหรือบางคน)เห็นว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านมันไม่ทันสมัย เมื่อมีลูกหลานจึงสอนลูกหลานพูดไทยกลาง ไม่ว่าจะเป็นคนเหนือ ใต้ ออกหรือตก เพราะหลักสูตรการศึกษาเก่าก่อนฝังหัวคนรุ่นพ่อแม่ไว้แล้วผลจึลออกมาอย่างนี้

*นอกจากพ่อแม่บางคนที่รักถิ่น สำนึกในถิ่นเกิดจึงสอนลูกหลานพูดภาษาพื้นเมืองของตนเอง อย่างเช่นคุณ เป็นต้นครับ

*ข้อแก้ไข ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ต้องพูดภาษาพื้นเมืองของตนเองให้ลูกหลานฟังและพูดได้หากเขียนได้ยิ่งดี โดยเฉพาะอักษรพื้นเมืองล้านนาลุงหนานและเพื่อน ปราชญ์บางท่านได้จัดสอนการเขียนอักษรล้านนาไว้ในโรงเรียนบางโรง

*ปัจจุบันมีนักเรียนในหลายโรงเรียนอ่านอักษรล้านนาได้สบายๆ นี่คือการฟื้นฟูปลูกฝังวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมของล้านนาเรา

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน.....พรหมมา

เรียน ลุงหนานพรหมา

ผมอ่านเรื่องผี บ่ กิ๋นของวันปุ๊ดของท่านแล้ว ก็ขอแสดงความเห็นในแหมมุมมองหนึ่งตี้ได้ยินมาจากคนเฒ่าคนแกที่เป็นม้าขี่ คือว่าวันพุธเป็นวันเกิดของพระพุทธเจ้า ผีตังหลายเลยถือเป็นวันสำคัญบ่ฮับของเซ่นไหว้ บอฮับของบนบาล อยู่บำเพ็ญตนเหียวันหนึ่ง

ขอบคุณท่านสามารถครับ...ได้ความฮู้แถมอย่างหนึ้งครับ..

จ้วยกั๋นเติมแต้มแต่งจะได้ความฮู้นักขึ้นครับ...ชอบคุณหมู่เฮาครับ..

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน...พรหมมา

ยังไงฐานะคนรุ่นใหม่ แยกแยะเหตุและผลอยากทราบว่า พระไตรปิฏก ให้ความหมายยังไง เกี่ยวกับความเชื่อนี้คับ ไม่ได้ลบหลู่นะ เกี่ยวกับประเพณีตามบรรพบุรุษหรอ งั้นแสดงว่า ยุคก่อนนี้ ศาสนาอื่นเข้ามาก่อนศาสนาพุทธหรอคับ เพราะงงในข้อความนี้คับ ..เพราะมีความเชื่อจากคำบอกเล่าของผีผ่านร่างม้าขี่(ร่างทรง)บอกว่า " ในวันพุธผีจะไม่ลงหรือเข้าทรงร่างใคร และจะไม่รับของกินของอุทิศทานจากเมืองมนุษย์"

ตกลงข้อความนี้แยกแยะได้ป่าวว่าเป็นความเชื่อลัทธิหรือศาสนาคับช่วยแก้ไขให้คนรุ่นใหม่ฟังโตยเด้อลุงหนาน

สวัสดีครับ.หลานคนรุ่นใหม่...

ขอชมว่าหลานช่างเป็นคนมีความสังเกต  มีความสงสัยเพื่อหาเหตุผลนี่ไงคือคนเก่งแท้...

ตามที่ลุงเล่านั้นมีข้อความบางท่อนบอกว่า "คนล้านนาบางแห่ง"เท่านั้นที่ไม่ทานหรือถวายข้าวของอุทิศไปให้บรรดาผีๆทั้งหลาย โดยมีความเชื่อว่า  ผีไม่รับของวันพุธ..

ในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกอะไรหรอกครับ  ผู้คนบางแห่งเขาก็ยังอุทิศข้าวของให้แก่บรรพบุรุษหรือผีๆทั้งหลายอยู่

แต่บางท้องถิ่นเชื่อในคำบอกเล่าของเจ้าทรงว่าผีไม่เอาของกิ๋นวันพุธเพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าบังเกิดในโลก  บรรดาผีๆทั้งหลายจึงของดการรับอาหาร ขอบำเพ็ญบุญสักวันจะได้มีบุญบารมีหลุดพ้นจากการเป็นผี

แต่หากวิเคราะห์ทางสังคมวิทยาฯ.สรุปได้ว่า มันเป็นการบริหารเวลาของผู้คนสมัยก่อน เพื่อจะให้มีวันหยุดในการทำงานกันบ้าง จะพักให้ร่างกายจิตใจสงบ เตรียมรับงานวันใหม่...เพราะคนสมัยก่อนไม่ไมวันหยุดราชการ ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์อย่างเช่นปัจจุบัน

มันเป็นเรื่องการกำหนดของผู้คนแต่ละท้องถิ่น จะว่าเขางมงายก็ไม่ได้เพราะบริบท  สิ่งแวดล้อมของสังคมไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการนำเอาวัฒนธรรมจากแห่งหนึ่งไปครอบงำวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่ง  อย่างนี้จะทำให้สังคมยุ่งเหยิงวุ่นวาย   แต่เราต้องศึกษา  เปรียบเทียบตามหลักวิชาการ  ถอดองค์ความรู้ออกมาแล้วจะได้เห็นสิ่งที่ดีงามของวัฒนธรรมนั้นๆ ตามสังคมที่เขามีวิถีชีวิตอยู่  ทุกสังคมย่อมมีเหตุผล พิธีกรรมของแต่ละชนเผ่า แต่ละท้องถิ่น  แต่ละความเชื่อ..

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน...พรหมมา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท