ว่าด้วยเรื่อง "การให้ความรู้"


หมอคิดว่าผมไม่รู้เหรอ?

เมื่อครั้งที่คุณครู เคย์ โรเบิร์ตส์ทอมสัน อาจารย์ของผมมาเยี่ยมดูการรวบรวมข้อมูลวิจัยที่ประเทศไทย และได้มีโอกาสฟังการนำเสนอโครงการของนักศึกษาทันตแพทย์ มธ ฝึกงาน คุณครูเคย์โยนคำถามให้กับนักศึกษาหลังได้ฟังการนำเสนอว่า "ถ้าเราบังคับพวกไม่ให้พวกท่านสอนแปรงฟัน...ท่านจะเหลืออะไรให้ทำ"

โครงการของนักศึกษาทันตแพทย์...ไม่ว่าชั้นปีไหนก็ตาม ยากยิ่งนักที่จะหากิจกรรมที่หลุดพ้นไปจาก "การให้ความรู้"

บันทึกนี้เราจะมามองลึกๆ ลงไปในเรื่อง "การให้ความรู้" นี้กัน

ประเด็นแรก เมื่อนักศึกษาเอ่ยคำว่า "จะไปให้ความรู้" ผมมักจะเกิดคำถามขึ้น (ทั้งในใจ และบางครั้งก็ออกปากถาม) ว่า "ท่านคิดว่าเขายังไม่รู้อะไร" สิ่งที่ท่านต้องการให้เขารู้ จำเป็นแค่ไหนสำหรับชีวิตของพวกเขา

ผมเชื่อว่า คนเราเมื่อเติบโตมาถึงวัยที่ช่วยตัวเองได้แล้ว เขามีความรู้เรื่องสุขภาพในระดับที่พอจะประทังให้ชีวิตรอดแล้วล่ะ...หลักฐานก็คือ เขามีชีวิตรอดมาถึงป่านนี้แล้วอย่างไรเล่า

มีใครไม่รู้บ้างว่า บุหรี่ ทำลายสุขภาพ, มีใครไม่รู้บ้างว่า เมื่อเมาแล้วไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ, มีใครไม่รู้บ้างว่าควรจะต้องแปรงฟันทุกวัน, มีใครไม่รู้บ้างว่าใกล้ๆบ้านเขามียาสีฟันขายที่ไหน

ข้อพิจารณาในประเด็นแรกนี้ก็คือ ท่านจะให้ความรู้ เรื่องอะไร และทำไมท่านถึงคิดว่าเขาจำเป็นต้องรู้ เขาจะรู้ไปเพื่ออะไร

ส่วนใหญ่เมื่อผมถามก็มักจะได้รับคำตอบว่า "เมื่อมีความรู้แล้วจะได้ทำตัวได้ถูกต้อง หรือเรียกอีกอย่างว่าเกิดพฤติกรรมสุขภาพไงครับ"...คำตอบในลักษณะนี้ทำให้ผมมีโอกาสได้พูดหัวข้อที่ผมพูดบ่อยที่สุดในชีวิตความเป็นครูของผม คือประเด็นเรื่องกับดัก KAP ดังจะตามอ่านได้ในประเด็นที่สองครับ

ประเด็นที่สอง ความรู้ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสมอไป

เวลาเรียนเรื่อง KAP มันเป็นตัวย่อที่ท่องจำง่ายเสียจนเราไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดของมัน เหมาๆ เอาย่อๆ เอา พอจำติดหัวมาได้ว่า K-A-P เลยมักจะคิดไปเองว่า K=>A=>P (สัญลักษณะลูกศร => หมายถึงเป็นเหตุให้เกิด) คือเมื่อคนเรามีความรู้ว่าอะไรดี หรือไม่ดีต่อสุขภาพแล้ว (Knowledge) แล้วเราจะเกิดทัศนคติ (Attitude) ที่ดี แล้วส่งผลให้เรามีพฤติกรรมหรือปฏิบัติ (Practice) กิจกรรมสุขภาพนั้นๆ

ปัญหาคือ เรื่องราวมันไม่ง่ายขนาดนั้นน่ะสิครับ เพราะเรามองไปใกล้ๆตัว เราก็เห็นตัวอย่างที่ไม่ตรงกับ K=>A=>P อยู่มหาศาล...ใครไม่รู้บ้างว่า ดื่มน้ำอัดลมแล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพ, ใครไม่รู้บ้างว่าควรจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ควรกินผักผลไม้เป็นประจำ ฯลฯ เรามีหมอ (คนที่น่าจะ "รู้" เรื่องสุขภาพดีที่สุด) ที่สูบบุหรี่อยู่มากแค่ไหน เทียบเป็นสัดส่วนกับวิชาชีพอื่นๆ แล้วเราดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดหรือเปล่า ฯลฯ

(เพิ่มเติมเรื่อง KAP ตามอ่านได้ที่นี่ครับ http://gotoknow.org/file/siam_ohp/KAP.DOC)

ประเด็นที่สามคือ การให้ความรู้โดยไม่ให้ความสำคัญกับวิธีการเรียนรู้

เราเชื่อว่าการศึกษาคือกระบวนการที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์

แต่การศึกษาไม่ใช่เพียงการถ่ายทอดข้อมูลโดดๆ แต่การศึกษาคือ การจัดกระบวนการเรียนรู้อันหลากหลายให้ตรงกับจริตของผู้เรียน...เพราะมนุษย์มีลีลาในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป บางคนเรียนรู้จากตำรา, จากการคิดไตร่ตรองใคร่ครวญ บางคนต้องลงมือปฏิบัติ ลองผิดลองถูก มีบ้างที่ได้เรียนจากการอภิปรายถกเถียง สำหรับบางบางคน เรื่องที่ได้เรียนรู้เกิดการผุดบังเกิด หรือปิ๊งแวบ ขึ้นมาเอง

กลุ่มอายุที่แตกต่างกันก็มีวิธีการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน เด็กก็เรียนรู้ด้วยวิธีหนึ่ง, ผู้ใหญ่วิธีหนึ่ง, ผู้สูงอายุก็อีกวิธีหนึ่ง

คนชนบท กับคนเมืองก็อาจจะเรียนด้วยวิธีต่างกัน, ชนบทอิสาน กับชนบทใต้ก็อาจจะเรียนรู้ด้วยธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน

เมื่อข้อมูลเข้ากันกับกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม มันจะแปรไปเป็น ความรู้แจ้งแทงตลอดและมันจะหาที่ทางที่จะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้เรียน...นี่คือกระบวนการสร้างปัญญา

กิจกรรม ให้ความรู้...อันที่จริงส่วนใหญ่นั้นลดรูปเหลือเพียง "การบอกข้อมูลให้ทราบ" ที่ไม่สนใจลีลาการเรียนรู้ จึงไม่นำไปสู่ความรู้

พวกเราที่ชอบเผลอเรียกตัวเองว่าปัญญาชน น่าจะคุ้นเคยกับการอัดข้อมูลในลักษณะนี้ เราถึงขนาดบัญญัติศัพท์เฉพาะ ว่า "ขวิด" เพื่อเอาไว้เรียก การย้ายข้อมูลจากตำรามาสู่สมองในระยะสั้นๆ (โดยเฉพาะในคืนก่อนสอบ) เพื่อที่จะลืมในกาลต่อมา ข้อมูลเหล่านั้นไม่เคยเปลี่ยนเป็นความรู้และปัญญา

เขียนยืดยาว ไม่ได้อยากตั้งตนเป็นผู้ต่อต้านการให้ความรู้นะครับ

เพียงแต่อยากจะให้นักศึกษาได้คิดให้ลึกซึ้งก่อนที่จะทำกิจกรรมประเภทนี้

คิดถึงความสำคัญ คุณค่า และรูปแบบของสาร ที่ต้องการสื่อ ทำความเข้าใจเรื่องวิธีการเรียนรู้ของผู้คนที่อยู่ในบริบทและช่วงวัยที่แตกต่างกัน รวมทั้งไม่เล็งผลเลิศว่ากิจกรรมการให้ความรู้นั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ถ้าจะให้ดีและเกาะกระแสที่สุดนั้น ต้องพยายามเปลี่ยนจากเวที "การถ่ายทอดข้อมูล" ให้กลายเป็นเวทีแห่งการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" เปลี่ยนท่าทีการจากการสั่งสอนแบบ "หมอรู้ดีที่สุด...เชื่อหมอเถอะ" เป็นท่าทีแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน, ท่าทีแห่งการเกื้อกูล เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ มองหาหนทางในการเดินทางต่อร่วมกัน และที่สุดแล้วเวทีแห่งการเรียนรู้นี้นำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เกิดการสถาปนาความสัมพันธ์ระยะยาว ซึ่งเป็นผลอันเป็นที่น่าปรารถนาไปเสียกว่า"การรู้" เสียอีก

 "ถ้าเราบังคับพวกไม่ให้พวกท่านสอนแปรงฟัน...ท่านจะเหลืออะไรให้ทำ"

 เราพอจะตอบคุณครูเคย์ ได้บ้างหรือยังครับ

 

หมายเลขบันทึก: 176270เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2008 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออนุญาตเอาไปให้นทพ.ปี5 อ่านในการฝึกงานทันตกรรมป้องกันนะจ๊ะ

ยินดีครับ อ.พี่ตู่

ดีใจที่ข้อเขียนมีประโยชน์ครับ

ชอบบทความนี้จัง เหมือนจะตอบข้อสงสัยมานาน

อยากรู้จังว่า แล้วตัวอาจารย์เองจะตอบว่ายังไง

และ "การเปลี่ยนท่าที การจากการสั่งสอนแบบ "หมอรู้ดีที่สุด...เชื่อหมอเถอะ" เป็นท่าทีแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน, ท่าทีแห่งการเกื้อกูล เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ มองหาหนทางในการเดินทางต่อร่วมกัน" ทำยังไง อาจารย์เคยทำแล้วได้ผลหรือป่าว

ถ้าทำได้ดีจริงบอกวิธีการชัดเจนได้มั้ยคะ

ขอบคุณ "สงสัยมานาน" ที่เขียนมาถามนะครับ

จะลองตอบทีละข้อนะครับ

"อยากรู้จังว่า แล้วตัวอาจารย์เองจะตอบว่าอย่างไร"

สำหรับคำถามว่า ถ้าไม่สอนแปรงฟัน เหลืออะไรให้ทำ

ตามแนวคิดนี้ ถ้าผมเป็นนักเรียนทันตแพทย์ (แล้วอาจารย์ไม่บังคับให้สอนแปรงฟัน แต่ให้ทำอะไรก็ได้)

สิ่งที่ผมจะทำคือ ผมจะ"ถาม"ครับ

ผมจะถามประสบการณ์ของคนในชุมชนที่ผมไปทำงาน, ผมจะศึกษาว่าเขาเป็นทุกข์ด้วยเรื่องอะไรบ้าง ผมจะลองเชื่อมโยงสุขภาพช่องปากว่ามันเกี่ยวพันกับความทุกข์ในชีวิตของเขาอย่างไร ผมอยากรู้ว่าเมื่อผมจบเป็นทันตแพทย์แล้ว ทำอย่างไรถึงจะไม่เอาความทุกข์ไปทับถมให้พวกเขาอีก

"การเปลี่ยนท่าที...ทำยังไง อาจารย์เคยทำแล้วได้ผลหรือป่าว ถ้าทำได้ดีจริง บอกวิธีการชัดเจนได้มั้ยคะ"

ุถ้ามันมีสูตรสำเร็จ วิธีการที่ชัดเจน หรือเทคนิกพิเศษ ที่ทำให้นักศึกษาเป็นอย่างนั้นได้ ก็คงจะบรรจุไว้ในหลักสูตรทันตกรรมชุมชนแล้วล่ะครับ แต่การเปลี่ยนท่าที และวิธีการมองโลกเนี่ยมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สิ่งที่เราทำได้ก็คือ จัดให้นักศึกษาได้ไปสัมผัสกับชีวิตคนที่จะมาเป็นคนไข้ของเราหรือสัมผัสกับชุมชนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับชุมชนที่เขาต้องรับผิดชอบในอนาคต ในกรณีที่ต้องไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ให้เขาได้สัมผัสชีวิตคนชนบทที่ไม่ใช่คนเมือง ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าคนไทยอีกกลุ่มใหญ่ๆ มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากที่เขาคุ้นเคย ที่เหลือก็ได้แต่ภาวนาครับ ว่าพวกเขาจะเข้าใจและรู้สึกว่า คนเหล่านั้นเป็น "เพื่อนร่วมทุกข์" ไม่ใช่ "ลูกค้า"

ส่วนคำถามว่าได้ผลหรือเปล่าผมตอบไม่ได้ครับ เพราะเรายังไม่มีวิธีประเมิน "ท่าที และมุมมองในการมองโลก" เลย แม้กระทั่งการประเมินพฤติกรรมสุขภาพที่เปลี่ยนไป ก็ไม่มีการวัดผลอย่างจริงๆ จังๆ และเป็นวิชาการ ตอบยากครับ แต่การทำแบบนี้ ผมว่าผลที่ได้คือ ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นครับ (ต่อให้เพื่อนคนนั้นจะแปรงฟันไม่สะอาดก็เถอะ)

ไม่รู้ว่าที่ตอบไปจะให้ความกระจ่าง หรือจะเพิ่มความสงสัยให้อีก

อ่านแล้วคิดยังไงก็บอกมาได้นะครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท