มอดยาสูบศัตรูหมายเลข ๑ ชาใบหม่อน


มอดยาสูบ

มอดยาสูบ 

แมลงศัตรูหม่อนหมายเลข ๑   ชาใบหม่อน 

สุทธิสันต์  พิมพะสาลี 1/

วิโรจน์  แก้วเรือง 2/

 

                ผู้ผลิตชาใบหม่อน และผู้ดื่มชาใบหม่อนเป็นประจำ หลายท่านคงจะรู้จักแมลงตัวจิ๋ว ที่มักจะเข้ามาอาศัยอยู่กิน และแพร่พันธุ์ออกลูกออกหลานอย่างเงียบๆ ในถุงหรือกล่องชาใบหม่อนของเรา ที่เก็บไว้จำหน่ายหรือบริโภคเมื่อเปิดถุงเพื่อนำชาใบหม่อนมาชงดื่ม อาจจะต้องตกใจที่ชาใบหม่อนกลายเป็นผงร่วนละเอียด แถมมีแมลงดังกล่าวที่เรียกกันว่า มอดยาสูบปรากฏกาย สร้างความเสียหายกับผลิตภัณฑ์ทั้งๆที่เมื่อเก็บไว้ใหม่ๆ ยังมีลักษณะเป็นใบม้วนตัวสวยงามเหมือนใบชาทั่วไป ผู้ผลิตบางรายต้องทำลายผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้ในโรงเก็บที่มีมูลค่ามากถึงหลายแสนบาท  มอดยาสูบร้ายกาจอย่างไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร   เข้าไปอยู่ในถุง หรือห่อชาใบหม่อนที่ปิดมิดชิดได้อย่างไร  เราจะมีวิธีป้องกันกำจัดได้อย่างไร  อย่าพึ่งวางหนังสือ กสิกร  ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้  โปรดติดตามมอดยาสูบจนพบตัวตนของมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาทำลายชาใบหม่อนของเราได้อีก

มอดยาสูบ (Cigarette beetle) เป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lasioderma serricorne (Fabricius) จัดอยู่ในวงศ์ Anobiidae อันดับ Coleoptera โดยแมลงชนิดนี้เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของใบยาสูบ บุหรี่ ซิการ์ เครื่องเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชและสัตว์อบแห้ง เช่น ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ปลาแห้ง ดอกไม้แห้ง โกโก้ แป้งมันสำปะหลัง กระเทียม พริก และพริกไทย นอกจากนั้นยังทำลายซากพืชและสัตว์ในเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย  จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  มอดผลิตภัณฑ์อบแห้ง    (Herbarium beetle) 

ลักษณะรูปร่าง 

                มอดยาสูบเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ถ้าเราสายตาไม่ดีมีโอกาสดื่มไปพร้อมกับน้ำชาหม่อน  ตัวเต็มวัยรูปร่างกลมรี  สีน้ำตาลแดง ลำตัวลักษณะโค้งนูน  ส่วนหัวและอกปล้องแรกงองุ้มลงด้านล่าง หนวดยาวลักษณะแบบฟันเลื่อยมีจำนวน 11 ปล้อง ปีกสีน้ำตาลคลุมท้องมิด ด้านบนปีกมีขนขนาดเล็กปกคลุมอยู่ ปล้องท้องด้านล่างมีทั้งหมด 5 ปล้อง ขาสีน้ำตาล

 

 

1/  2/    นักวิชาการเกษตร สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ  จตุจักร กรุงเทพฯ 10900

          โทร  0-2579-3118

วงจรชีวิต  

                เพศเมียมอดยาสูบ  วางไข่แบบฟองเดี่ยว รูปร่างกลมรีสีขาวครีม โดยวางตามช่องหรือรอยแตกของผลิตภัณฑ์  เพศเมียสามารถวางไข่ได้ถึง 100 ฟอง ไข่ฟักออกเป็นตัวหนอนภายใน 6-10 วัน ตัวหนอนมีสีเหลืองปนขาว โค้งเป็นรูปตัวซี  “C”  หนอนแรกฟักจะเคลื่อนที่หาช่องหรือรอยแตก เพื่อเข้าไปกัดกินอาหารที่อยู่ภายบรรจุภัณฑ์ ระยะตัวหนอนใช้เวลานาน 21-28 วัน หลังจากนั้นจึงเข้าดักแด้ในปลอกที่ตัวหนอนสร้างขึ้นมา โดยระยะดักแด้ใช้เวลานาน 5-8 วัน จึงออกมาเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 25 วัน ตัวเต็มวัยไม่กินอาหารหรือกินอาหารน้อยมาก มีความสามารถในการบินสูงและเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว ตัวเต็มวัยแกล้งทำเป็นตาย  เมื่อถูกรบกวนโดยงอตัวนิ่งและไม่เคลื่อนไหว เมื่อรู้สึกว่าปลอดภัยแล้วจะเดินและบินหนีไปอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตจากไข่จนกระทั่งออกเป็นตัวเต็มวัยใช้ระยะเวลา 30-43 วัน

 ลักษณะการทำลาย  

                ตัวเต็มวัย  เข้าทำลายโดยการกัดเจาะเข้าไปหรือมุดเข้าไปตามช่องหรือรอยแตกของภาชนะบรรจุ   เช่น  พลาสติก  กระดาษ  อลูมิเนียมฟอยล์  และกล่องที่ทำด้วยไม้ เพื่อเข้าไปวางไข่ เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่ แล้วจึงเข้าไปกัดกินอาหารที่อยู่ภายในบรรจุภัณฑ์  ทำให้อาหารที่บรรจุอยู่ภายในถูกกัดกินเป็นรูพรุน     ไปทั่ว โดยเราจะพบซากของปลอกดักแด้และซากของตัวเต็มวัยที่ตายแล้วอยู่ภายในถุงหรือบรรจุภัณฑ์  ถ้าเราเผลอกิน มอดยาสูบเข้าไป ท่านผู้รู้บอกว่าไม่ถึงตายแต่อาจเกิดอาการแพ้ได้

 

เขตการแพร่กระจาย

                พบมอดยาสูบ แพร่กระจายอยู่ทั่วโลก นับว่าเป็นแมลงที่ปรับตัวอยู่ได้ทุกสภาพแวดล้อม กินได้ทั้งพืชและสัตว์  โดยมากมักแพร่กระจายโดยการขนส่งสินค้า เห็นหรือยังว่ามันสามารถปรับตัวได้ไม่แพ้แมลงสาบเลยทีเดียว

ความสำคัญทางเศรษฐกิจ

                มอดยาสูบ เป็นแมลงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากตัวหนึ่งทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นศัตรูสำคัญหมายเลข 1 ของชาใบหม่อนและของสินค้าที่ผลิตจากพืชและสัตว์ รวมทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรอบแห้งด้วย เมื่อประเทศคู่ค้าตรวจพบมอดยาสูบปนเปื้อนอยู่ในสินค้าจะทำลายทันที โดยการเผาทำลาย ทำให้ผู้ส่งต้องสูญเสียสินค้าและค่าใช้จ่ายในการทำลายอีกด้วย ส่งผลให้ประเทศสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศ  เห็นยังครับว่ามันร้ายกาจขนาดไหน

การติดตามตรวจสอบ

                ในการตรวจสอบว่ามีมอดยาสูบเข้าทำลายหรือมีอยู่ในสถานที่เก็บสินค้าหรือไม่ เราสามารถตรวจสอบได้โดยการใช้

1.       กับดักแสงไฟ (light traps) ล่อให้ตัวเต็มวัยมาเล่นไฟ

2.       กับดักสารล่อแมลง (pheromone traps) ซึ่งในโรงงานส่วนใหญ่ใช้กับดักสารล่อแมลงสะดวกและรวดเร็วในการตรวจสอบ

3.       การฟังเสียงภายในบรรจุภัณฑ์ เพื่อฟังเสียงการกัดกิน

4.       รังสีเอ็กซ์เรย์ถ่ายภาพดูตัวหนอนที่เจริญเติบโตอยู่ภายในอาหาร

การป้องกันกำจัด

1.     ชาใบหม่อนหรือสินค้าที่ถูกมอดยาสูบเข้าทำลายต้องรีบเคลื่อนย้ายออกไปและเผาทำลาย        เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ต่อไป

2.     วางกับดักกาวเหนียวตามมุมห้องเก็บชาใบหม่อนหรือสินค้า และกับดักแสงไฟ เพื่อดักทำลายตัวเต็มวัยมอดยาสูบที่อาศัยอยู่ภายในโรงเก็บชาใบหม่อน

3.       ตรวจสอบชาใบหม่อนหรือสินค้า รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ว่ามีรอยเจาะหรือซากตัวเต็มวัยและดักแด้ปะปนอยู่หรือไม่

4.       เก็บชาใบหม่อนหรือสินค้าในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทป้องกันมอดยาสูบเข้าทำลาย

5.     รักษาความสะอาดภายในโรงงานและโรงเก็บอาหารและสินค้าให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเศษอาหารและสินค้าที่หล่นอยู่บนพื้นหรือตามซอกมุมต่างๆของโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้มอดยาสูบกลับเข้ามาระบาดซ้ำอีกครั้ง

6.     สำรวจและติดตามปริมาณประชากรของมอดยาสูบโดยการใช้กับดักสารล่อแมลงเป็นประจำ ทำให้เราสามารถป้องกันกำจัดได้ทันเวลาก่อนที่มอดยาสูบจะระบาดทำความเสียหายให้กับอาหารและสินค้า

7.     การป้องกันแบบไม่ใช้สารเคมีโดยการความร้อนและความเย็น ชาใบหม่อนหรือสินค้า        ขนาดใหญ่ใช้ความร้อน  ที่อุณหภูมิ 60-63 องศาเซลเซียส นาน 6 ชั่วโมง สำหรับสินค้า ส่วนสินค้าที่มีขนาดเล็กอบ  ที่อุณหภูมิ 54  องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือแช่เย็นที่อุณหภูมิ          2 องศาเซลเซียส นาน 16 วัน และที่อุณหภูมิ -4 องศาเซลเซียส นาน 7 วัน

สำหรับการผลิตชาใบหม่อน ทั้งแบบครัวเรือนและอุตสาหกรรมต้องผ่านขั้นตอนการอบ          ที่อุณหภูมิ 80-100  องศาเซลเซียส  นานประมาณ 1 ชั่วโมง เพียงพอต่อการกำจัดไข่และตัวเต็มวัยมอดยาสูบ  จึงสบายใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้ไร้มอดยาสูบ แต่ต้องดูแลระมัดระวังอย่างใกล้ชิดในขั้นตอนหลังการผลิต ถึงขั้นตอนการบรรจุ  ที่มอดยาสูบมักแอบเข้ามาซ่อนตัวได้  ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด  นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังได้ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย  ถึงตอนนี้ท่านก็วางหนังสือกสิกรได้แล้ว  และจิบน้ำชาใบหม่อนอย่างสุขใจ

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

ชูวิทย์   ศุขปราการ  พินิจ  นิลพานิชย์   กุสุมา  นวลวัฒน์   บุษรา  พรหมสถิต   พรทิพย์  วิสารทานนท์   โสภา

วรรณ มงคลธรรมากุล. 2535. แมลงศัตรูผลิตผลเกษตรหน้า 353-370.ใน แมลงและสัตว์ศัตรูในพืช      ที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจและการบริหาร. เอกสารวิชาการครบรอบ 20 ปี กรมวิชาการเกษตร.       กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอเดีย สแควร์, กรุงเทพฯ.

Mound, L. 1989.  Common   Insect  Pest  of  Stored  Food   Products.   7th end.   Economic   Series No.  15.

British  Museum  (Natural History):  London,  UK.

Rees,D. 2004. Insects of Stored products. CSIRO Publishing, Australia. P. 181.

 

คำสำคัญ (Tags): #มอดยาสูบ
หมายเลขบันทึก: 176049เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนปรึกษา เรื่องการแยกเพศของมอดยาสูบค่ะ ว่าแยกเพศได้อย่างไร

มอดยาสูบมีขนาดเล็กมาก การแยกเพศต้องดูใต้กล้องสเตอริโอ เพื่อขยายดูส่วนปลายท้อง โดยส่วนใหญ่ดูด้วยตาเปล่าลักษณะเพศผู้ลักษณะรูปร่างเล็กกว่าเพศเมีย ค่อนยาวรี ส่วนเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ รูปร่างอ้วนป้อม ส่วนรายละเอียดลักษณะปลายท้องผมขอไปดูตัวอย่างอีกครั้ง ต้องลองผ่าดูอวัยวะ เพื่อเปรียบเทียบลักษณะภายนอกอีกครั้งหนึ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท