สองแนวทางที่ควรค่าต่อความทรงจำ


สองแนวทางที่ควรค่าต่อความทรงจำ

 

ข้าพเจ้าอยากจะบันทึกเหตุการณ์สองอย่าง เป็นเรื่องภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี ที่รบกวนความคิดข้าพเจ้าอยู่ช่วงเวลาช่วงหนึ่ง

                   หนึ่งคือความทรงจำหนึ่งต่อชัยค์อะหฺมัด อัลชัรกอวีย์ อัลฮูรีนีย์ ที่ข้าพเจ้าพบท่านเพียงครั้งเดียว ขณะที่ท่านมาเยี่ยมเยียนลูกศิษย์ลูกหาและญาติมิตรที่ดะมันฮูร  โดยท่านไปเยี่ยมเยียนถึงบ้านและที่พัก และท่านมาพักที่บ้านเราหนึ่งคืน ซึ่งท่านได้ปฎิบัติศาสนกิจที่เป็นกิจวัตรประจำวันของท่านโดยไม่บกพร่อง  ยิ่งข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องราวของท่านก็ยิ่งยกย่องท่านมากยิ่งขึ้น  ท่านเป็นผู้นิยมชมชอบในวิชาความรู้  ส่งเสริมผู้คนในตำบลของท่านให้ศึกษาหาความรู้  โดยให้เงินส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีเงินจนกระทั่งเรียนจบ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อจบและทำงานแล้วให้ส่งเสียนักเรียนคนอื่นให้เรียนอีก ถือว่าให้ใช้หนี้โดยการให้ความรู้ไม่ใช่ตัวเงิน ด้วยวิธีนี้ทำให้ไม่มีใครในตำบลฮูรีนีย์ไม่ว่าจะยากจนข้นแค้นแค่ใหนก็มีโอกาสเรียนทุกๆคน ด้วยวิธีการสังคมสงเคราะห์ด้านการศึกษาเฉกนี้  นอกเหนือไปจากการเกิดความผูกพันทางใจระหว่างพวกเขาเหล่านี้ทั้งหมด  ความสุขของท่านประการเดียวคือการได้เห็นนักศึกษาอัซฮัรประมาณยี่สิบคนและนักศึกษาใส่สูท

(หมายถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยไคโร) ประมาณยี่สิบคน และนักศึกษาประกาศนียบัตรการศึกษาต้นประมาณห้าสิบคนบวกกับเรียนระดับมัธยมประเภทต่างๆ รายล้อมท่าน  ท่านพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุขดิบ  ถามปัญหาวิชาการ และข้อโต้แย้งต่างๆกับพวกเขา  ให้พวกเขาสอบถามปัญหาต่างๆ ให้กำลังใจให้พวกเขาได้ศึกษาเล่าเรียน  ซึ่งนักศึกษาประกาศนียบัตรการศึกษาต้นจากฮูรีนีย์ที่ดะมันฮูรมีจำนวนมากสุด ข้าพเจ้าเองก็ไม่รอดพ้นจากการถูกสอบถามปัญหาวิชาการและการให้ข้อสังเกตของท่าน  ขอให้อัลลอฮฺประทานสวรรค์อันกว้างใหญ่แก่ท่าน

                    ความทรงจำที่สองคือความทรงจำต่อชัยค์ศอวีย์  ดารฺรอซ  ชาวนาหนุ่ม  ขณะนั้นมีอายุได้ไม่เกิน 25  ปี และได้เสียชีวิตภายหลังจากนั้น เขาเป็นคนฉลาดเฉลียวเป็นพิเศษ  เล่าเรื่องราวต่างๆ ได้เก่ง เราเคยพูดกันถึงเรื่องราวของวะลียุลลอฮฺ เขาเล่าเรื่องของชัยค์อิบรอฮีม แห่งดุซูก  ให้เราฟัง ตามด้วยชัยค์อะหมัด  อัลบะดะวีย์ แห่งตอนตอ                                                                    

เขาถามว่า “เธอรู้จักชัยค์อะหมัด อัลบะดะวีย์หรือไม่  ? ”                                                 

“ ท่านเป็นวะลีย์ที่ประเสริฐ เคร่งครัด เป็นคนดี มีวิชาความรู้”  ข้าพเจ้าตอบ                    

“แค่นั้นหรือ? ” เขาถาม                                                                                       

“เรารู้แค่นั้น”  ข้าพเจ้าตอบ                                                                                   

เขาเลยกล่าวว่า “ จงฟัง ฉันจะเล่าให้ฟัง  ท่านบะดะวีย์ มาจากมักกะฮฺ อพยพมายังอียิปต์ เดิมครอบครัวท่านเป็นชาวมอร๊อคโค  ตอนนั้นอียิปต์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ทาส (มัมลูก) การปกครองของพวกเขาไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา เพราะผู้ปกครองไม่ได้เป็นไท  ในขณะที่ท่านเป็นผู้สืบสกุลมาจากท่านอลีย์ ที่สูงส่งทั้งชาติตระกูลและวิชาความรู้   โดยปกติแล้ว ผู้สืบกลุลอะหฺลุลบัยต์ มักจะเชื่อว่า ตำแหน่งคอลีฟะฮฺเป็นสิทธิของพวกเขาโดยชอบ และราชวงศ์อับบาสียะฮฺที่แบกแดดก็ล่มสลายไปแล้ว ประชาติอิสลามแตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยที่ผู้ปกครองรัฐได้อำนาจมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร  ส่วนหนึ่งคือราชวงศ์ทาส (มัมลูก)  ดังนั้น มีสองอย่างที่ท่านต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา  หนึ่งคือการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งคอลีฟะฮฺคืนมาและหนึ่งคือการแย่งชิงอำนาจมาจากราชวงศ์ทาส ที่การปกครองของพวกเขาไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา  แต่จะทำฉันใด ท่านจึงรวบรวมมวลมิตรบางส่วน  เช่น มุญาฮิด   อับดุลอาลีย์ และท่านอื่นๆ  พวกเขาจึงตกลงกันที่จะเผยแพร่แนวคิดดังกล่าว และเริ่มรวบรวมผู้คนมาทำการซิกรุลลอฮฺและอ่านอัลกุรอานร่วมกัน  โดยมีสัญญลักษณ์ของกลุ่มคือดาบไม้ หรือไม้เท้าใหญ่แทนดาบจริง และกลองที่ใช้เป็นสัญญาณ ธง และโล่ห์  ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเป็นสัญญลักษณ์ของกลุ่มตอรีเกาะฮฺอะหฺมะดียะฮฺในเวลาต่อมา  เมื่อผู้คนมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺและเรียนรู้บทลัญญัติของอัลลอฮฺแล้ว หลังจากนั้นก็จะตระหนักถึงความผิดพลาดทางการปกครองและความล่มสลายของคอลีฟะฮฺ แล้วความตระหนักทางศาสนา  และความเชื่อมั่นต่อหลักการส่งเสริมความดียับยั้งความชั่ว จะผลักดันให้พวกเขาแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้น  กลุ่มนี้จะรวมตัวกันปีละครั้ง โดยเลือกเมืองตอนตอซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่ๆ และห่างไกลจากเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหว    การรวมตัวกันประจำปีของผู้เลื่อมใสในลักษณะของงานเมาลิด ทำให้ท่านทราบถึงระดับอิทธิพลของกลุ่มต่อสังคม แต่ท่านจะไม่เปิดเผยตัวต่อพวกเขา แต่จะซ่อนตัวอยู่บนดาดฟ้า มีผ้าปิดหน้าตาหลายทบ   เพื่อให้ผู้คนบังเกิดความเกรงขาม ถึงขนาดที่สมาชิกกลุ่มกล่าวกันว่า จะเห็นท่านได้ก็ต่อเมื่อตายไปแล้วเท่านั้น ฉะนั้นใครจะเห็นก็ต้องตายไปก่อน ผู้คนมากมายได้เช้าเป็นสมาชิกกลุ่มนี้  แต่สถานการณ์กลับไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของกลุ่ม เพราะว่าผู้ปกครองราชวงศ์ทาสที่ปกครองอียิปต์ขณะนั้นคือ อัซซอฮิร บัยบัรส์ อัลบุนดุกดารีย์ ที่มีความรู้ความสามารถสูงยิ่ง สามารถเอาชนะสงครามกับกองทัพกางเขน(ครูเสด)ได้หลายต่อหลายครั้ง  และยังมีชัยต่อกองทัพตาตาร์(ของเชงกิสข่าน แห่งมองโกล) ด้วยความร่วมมือกับอัลมุซอฟฟัร กุตุซ ท่านจึงมีชื่อเสียงและเป็นที่รักของประชาชน อีกทั้งตระกูลอับบาสียะฮฺบางคนยังให้สัตยาบันยอมรับการเป็นคอลีฟะฮฺของท่านอีกด้วย ทำให้แผนการณ์ของกลุ่มถึงกับล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้นคอลีฟะฮฺยังยกย่องให้เกียรติต่อท่านบะดะวีย์อย่างมาก และให้ท่านทำหน้าที่แจกจ่ายทาสที่นำมาจากเชลยศึก  ดังนั้นอำนาจรัฐโดยพฤตินัยจึงยังคงอยู่ในมือของราชวงศ์ทาส แม้ว่าโดยนิตินัยแล้วจะยังคงมีคอลีฟะฮฺจากราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ที่เป็นคอลีฟะฮฺแต่เพียงในนามก็ตาม

                    ข้าพเจ้าเฝ้าฟังตำนานนี้อย่างใจจดใจจ่อ และรู้สึกทึ่งในสติปัญญาของชาวนาหนุ่มที่เรียนแค่ระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านนอกคนนี้ ที่จริงในหลืบแห่งอียิปต์ยังมีอัจฉริยะมากมายที่ซ่อนเร้นอยู่ รอคอยผู้ที่นำมันออกมาสู่การใช้ประโยชน์   ข้าพเจ้ายังคงจดจำเรื่องเล่า ข้อสังเกต และข้อคิดของชัยค์ศอวีย์ได้เหมือนกับเพิ่งได้ฟังในวันนี้เท่านั้น

                      จบตอน ตอนต่อไป "สู่กรุงไคโร "

หมายเลขบันทึก: 176047เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท