“ความเท่าเทียมทางการศึกษา” : อย่าแค่ “พูดพล่อย ๆ” และ “ทำชุ่ย ๆ”


การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา : การสร้างวาทะกรรมและความชอบธรรมทางการเมือง

วาทะเรื่องการศึกษากลายเป็นเครื่องมือหาเสียงที่พ่นออกมาทางปากหรือเปล่าไม่แน่ใจของบรรดาเหล่านักเลือกตั้งทั้งหลาย แต่กระนั้นลูกหลานคนยากคนจนยังฝากความหวังไว้ระยะเวลาผ่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการจัดตั้งกระทรวง ธรรมการ มาจบถึงยุคกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่รับรองสิทธิปวงชนชาวไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจนนำมาสู่พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มีองค์กรการประเมินคุณภาพที่เป็นองค์กรมหาชน (จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) มีการกระจายอำนาจจากที่เคยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมารวมศูนย์อำนาจอยู่ที่เขตพื้นที่การศึกษา และอยู่ที่ผู้อำนวยการในแต่ละโรงเรียนแทน ครูเลยชาชินกับเรื่องการถูกใช้อำนาจเลยปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ ชี้ชะตาและอนาคต เด็กนักเรียนทั้งหลายแทน วันนี้แต่ละโรงเรียนมีการสอนเรื่อง ศีล 5 อันเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานของพุทธศาสนิกชน จำได้ลาง ๆว่า ศีลข้อ 4 นี่ท่านว่าห้ามพูดเท็จ พูดโกหก ส่อเสียด ที่ครูสอนเด็กเป็นประจำ แต่ทำไมผู้บริหารหรือครูหลาย ๆโรงเรียนยังพูดโกหกทั้งต่อตนเองและสังคมว่าโรงเรียนของตนเองมีคุณภาพและมาตรฐานตามเกณฑ์ ทั้งที่ในความเป็นจริงมีไม่เกณฑ์การประเมินใด ๆในโลก ที่มีความเที่ยง ความตรงจริง เช่นกรณี การมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินภายนอกตามเจตนารมณ์ของระบบนั้นจัดทำขึ้นเพื่อต้องการวางแผนพัฒนานักเรียนอย่างเป็นระบบครบวงจร เสริมสร้างนักเรียนตามศักยภาพ แต่ภาพที่ปรากฏในแต่ละโรงเรียนก็ยังยึดติดกรอบของแผนภูมิระบบดูแลที่คัดลอกกันมาเป็นพิมพ์เดียว ในรูปของการจำแนกนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มปกติ มีการส่งต่อตามสภาพปัญหา แต่กลับยิ่งทำให้ไม่แน่ใจเมื่อแต่ละโรงเรียนมุ่งเน้นการทำโรงเรียนสีขาว (ดีที่หลายโรงเรียนไม่ได้เอาสีขาวมาทาทั้งโรงเรียน) ใช้เครื่องมือสารพัดมาทำการคัดกรอง ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาที่ดี แต่กลับพบว่า เด็กเลวในสายตาครูแทนที่จะได้รับการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กลับถูกเบียดขับสู่นอกรั้วการศึกษาของโรงเรียนที่อ้างว่ามีคุณภาพ เช่น นักเรียนที่ถูกจำแนกเป็น กลุ่มดำ มักจะถูกจับตาดูแลจากครูเป็นพิเศษ ต้องใช้มาตรการควบคุมและลงโทษ กลุ่มขาว หรือ เด็กใส ของครูจะได้รับทัศนคติจากครูคนเดียวกันในทิศทางตรงข้าม ดังจะเห็นได้จากการนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมภายนอก การเป็นตัวแทนเข้ารับการอบรม การแข่งขันทักษะทางวิชาการ ต่าง ๆ นักเรียนที่เก่งหรือ เด็กกลุ่มใส จะมีโอกาสเข้าร่วมมากกว่า ซ้ำร้ายกว่านั้นครูยังแย่งเด็กเก่งกันเองเพื่อเอาไปฝึกฝน มีครูเป็นผู้คอยลุ้นคอยเชียร์ บางครั้งมีการล๊อบบี้คณะกรรมการเพื่อให้ฝ่ายตนชนะ เมื่อเด็กชนะ ครูก็ได้หน้า โรงเรียนก็มีชื่อเสียง ผู้อำนวยการก็ได้หน้า เลยกลายเป็นว่าเด็กที่มีโอกาสเข้าแข่งขันกลายเป็นเครื่องมือหรือตัวแทนของครูและโรงเรียนในการสร้างความชาชินกับการเหยียบคนอื่นขึ้นเพื่อช่วงชิงรางวัลและเกียรติยศชื่อเสียงหลายโรงเรียนละเลยที่จะสั่งสอนให้เด็กเห็นความสำคัญของการแข่งขันกับตัวเอง ซ้ำร้ายกว่านั้น มีเด็กที่ไปแข่งทักษะเพียง คนหรือสองคน มีครูไปให้กำลังใจกันมากกว่า 1 คน ภาพที่ตามมาทำให้เห็นเด็กที่เหลือซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่เหมือนฐานสามเหลี่ยมจะถูกฝากให้ครูคนอื่นสอน(สอนบ้างไม่สอนบ้าง) ถูกให้งานทำ ถูกเปิดทีวีทางไกลผ่านดาวเทียมให้ดูและทำงานส่ง (จะลอกกันส่งก็คงไม่เป็นไร) จะทำอย่างไรได้เมื่อเด็กเหล่านี้ไม่เก่งเอง! ดังนั้นในการคัดกรองนักเรียนในโรงเรียน ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น แบบประเมิน SDQ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์ต่าง ๆ มีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูงที่จะมีความคลาดเคลื่อนเพราะครูได้ผสมความรู้สึกและทัศนคติของตนเองลงในผลการประเมินของเด็กที่มีความแตกต่างกัน หรือแม้แต่การประเมินตนเองของนักเรียน และประเมินโดยผู้ปกครองยิ่งมีความคลาดเคลื่อน เช่น กรณีโรงเรียนในชนบทห่างไกล แค่การสอนให้นักเรียนสื่อสารภาษาไทยได้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ผู้ปกครองก็ไม่รู้หนังสือ แต่แปลกที่กลับใช้แบบประเมิน SDQ ที่ลอกแบบจากส่วนกลางโดยขาดการประยุต์ให้เข้ากับบริบท

 

ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอันเป็นเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาคุณภาพนั้น หลาย ๆ โรงเรียน มีอยู่จริง ๆ ในรูปของแผนภูมิที่ติดอยู่ข้างฝาแต่ขาดรายละเอียดการปฏิบัติจริงตามนั้น เมื่อมีการประเมินคุณภาพภายนอก ผู้ประเมินภายนอก (สมศ.) บางคน บางท่านเห็นว่ามี(ติดข้างฝาอยู่) ก็ให้คะแนนไปโดยขาดการพิจารณาว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลหรือไม่ แสดงให้เห็นว่าผู้ประเมินภายนอกเองก็มี กึ๋น ที่ต่างกันจึงไม่แปลกใจที่แต่ละโรงเรียนในเครือข่ายเดียวกันจะนำผลการประเมิน โดยเฉพาะค่าคะแนนและระดับคุณภาพมาเปรียบเทียบกัน...โรงเรียนนั้นดีกว่าโรงเรียนนี้!  ทั้งที่ไม่รู้ว่าจริงตามนั้นหรือเปล่า

การทำความเข้าใจกับปรากฏการ ความเท่าเทียมทางการศึกษา ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่หรือทำเลที่ตั้ง เป็นหนึ่งในตัวกำหนดความเท่าเทียม มากกว่าการจะมองว่า เงินค่าสนับสนุนรายหัวที่ได้เท่ากัน ซึ่งพื้นที่แรกเป็นพื้นที่ที่เป็นสังคมเมือง การคมนาคมสะดวก มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า ได้สนทนากับผู้บริหารโรงเรียนประจำอำเภอแงหนึ่งในพื้นที่เมือง พบว่า โรงเรียนจะยึดมาตรฐานตาม สพฐ.(สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน)มากกว่า สมศ. ที่เป็นหน่วยประเมินคุณภาพเนื่องจาก สพฐ. เป็นหน่วยงานการบังคับบัญชาโดยตรง มีการให้คนในท้องถิ่นเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(ตามกฎหมาย) แต่ก็ไม่มีบทบาทเท่าที่ควรเนื่องจาก พื้นฐานความรู้และประสบการณ์ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมีน้อย โรงเรียนไม่ยอมถ่ายโอนไปสังกัด อปท. เนื่องจาก อปท.ยังไม่มีความพร้อมด้านงบประมาณและประสบการณ์ แต่ก็ได้ขอรับการสนับสนุนจากอปท.ในการส่งเสริมการจัดการศึกษา เช่นการซื้อโปรเจคเตอร์และแอลซีดี เพื่อใช้เป็นสื่อการสอน  ด้านการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนมีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น(ตามกฎหมาย)แบบไม่เน้นจริงจัง แต่จะจัดเฉพาะบางวิชา การเรียนการสอนแบบโครงงานจะมีบ้างในกลุ่มสังคมศึกษา ไม่วัดผลในแนวทางที่หลากหลาย(ตามกฎหมาย) เนื่องจากทำได้ยากและครูเองยังต้องสอนแบบบรรยาย จะเน้นการสอน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เพราะเนื่องจากว่าต้องการเน้นให้นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชื่อดัง หากนักเรียนเข้าได้ครูก็ภูมิใจและถือว่าเป็นชื่อเสียงของครูและโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารคนดังกล่าวยอมรับว่าระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่ทำให้คนมุ่งที่จะเป็นคนเก่งและเป็นตัวแปลกแยกเด็กออกจากสังคม และมองว่าการรวมข้าราชการครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไว้ในสังกัดเดียวกันไม่เป็นการแก้ปัญหา และยอมรับว่า ข้าราชการครูทั้ง 2 ระดับมีความขัดแย้งกันอยู่ลึก ๆ ในเรื่องของศักดิ์ศรีและความสามารถ โดยมองว่าครูระดับมัธยม จะมีศักดิ์ศรีและความสามารถมากกว่าอีกทั้งโรงเรียนมัธยมต้องเป็นผู้รับภาระการขัดเกลานักเรียนที่มาจากระบบที่ไม่มีคุณภาพ (ระดับประถมศึกษา) และเมื่อทบทวนบทสนทนา พบว่า มีนัยยะของการแปลกแยกโรงเรียนออกจากชุมชน ไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเท่าที่ควร ปรากฏภาพของความขัดแย้งกับ อปท.ในเรื่องการถ่ายโอนภารกิจการศึกษาสู่ท้องถิ่น มุ่งเน้นสอนให้นักเรียนเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข มากกว่า ให้เป็นคนดีก่อนที่จะเป็นคนเก่ง และมีความสุข ยึดถือแนวคิดว่าโรงเรียนรู้จักนักเรียนได้ดีและสามารถแก้ปัญหานักเรียนได้ดีกว่าหน่วยอื่นในสังคม  เช่น ประเด็นการมองโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง การมองว่าผู้ปกครองที่ต้องการเข้ามาร่วมแก้ปัญหานักเรียนเป็นเรื่องหยุมหยิม และเป็นปัญหาสำหรับโรงเรียนเป็นต้น ยึดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกน มากกว่าหลักสูตรท้องถิ่น ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากความรู้ไกลตัวสู่ใกล้ตัว โดยไม่เชื่อมั่นพลังของท้องถิ่น แต่มุ่งเน้นให้นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา แต่ละเลยที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นนัยยะของการดูถูกพลังชุมชน มองการวัดประเมินผลที่หลากหลายเป็นเรื่องของการศึกษาในฝันที่ไม่สามารถทำได้จริงและไม่เกิดผลจริง แต่ใช้ระบบเกรดและคะแนนที่ให้โดยครู จึงทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจการให้คุณให้โทษระหว่างครูกับนักเรียน มีการให้คุณค่ากับเพื่อนร่วมวิชาชีพครูแตกต่างกัน เช่น การมองศักดิ์ศรี คุณภาพและความสามารถของครูระดับประถม มัธยมที่ต่างกัน มีการจัดกระบวนการเรียนการสอนยังเน้นครูเป็นศูนย์กลาง มากกว่าเป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

อีกพื้นที่หนึ่งที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ไกลทั้งความเจริญทางวิทยาศาสตร์ และการคมนาคม ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ฝึกงานให้กับข้าราชการและบุคลากรรุ่นใหม่ในฐานะ ครูดอย เช่นพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย อ.แม่แจ่ม ของ จ.เชียงใหม่ คนที่บรรจุใหม่คือคนที่สอบได้และ เส้น มีน้อยรายที่ข้าราชการจะเป็นคนในพื้นที่ จึงทำงานเพื่อรอวันย้ายกลับภูมิลำเนา และหลายคนได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่ในการขัดเกลา จิตวิญญาณ ความเป็นครู ภายใต้สภาวะและข้อจำกัดที่หลากหลาย เราได้งบประมาณรายหัวเท่ากับนักเรียนที่อยู่ในเมืองหรือโรงเรียนที่มีความเจริญ ในขณะที่มีรายจ่ายที่สูงกว่าทั้งเรื่องของการเดินทาง และการขนส่งรัฐอุดหนุนงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้จนถึงชั้น ป.6 แต่เรามีเด็กถึง ม.3 ต้องให้เด็กกินทุกคนต้องนำเงินที่มีอยู่จำกัดมาเฉลี่ยซื้อกับข้าวที่ถูกลงเพื่อเพิ่มปริมาณก็ยังไม่วายถูกครหานินทาว่าไม่มีความโปร่งใสในการบริหาร เป็นคำกล่าวของพี่ชายท่านหนึ่งในฐานะผู้บริหารโรงเรียน ในขณะเดียวกัน เพื่อนในวงสนทนาก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการประเมินรอบสองที่ผ่านมาหลายโรงเรียนไม่ได้รับการรับรอง เราก็ไม่ได้รับการรับรองเพราะติดด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ต่ำ แต่น่าแปลกใจที่มาตรฐานด้านครูผลออกมาดี ด้านผู้บริหารออกมาดีมาก แต่ผู้เรียนแย่ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน เราเลยไม่รับรองรายงานของ สมศ.บ้าง เป็นการเอาคืน แต่จริงๆ แล้วมันถึงเวลาที่คนในพื้นที่จะต้องรวมตัวเพื่อต่อสู่กับอะไรบางอย่างที่มันสะสมมานาน พอเราไม่ผ่านการประเมินเขตพื้นที่การศึกษาก็จะกดดันโรงเรียนให้ทำหนังสือชี้แจงว่าเพราะอะไรถึงไม่ผ่าน ผู้บริหารเลยต้องมีการกดดันครูต่อเป็นทอด ๆ  ผมมองว่ามาตรฐานหรือเกณฑ์การประเมินถูกออกแบบมาจากนักวิชาการที่ไม่เคยสัมผัสกับพื้นที่ เช่น เกณฑ์เรื่องการแต่งกายเรียบร้อยนั้น โรงเรียนในเมืองจะมีเสื้อผ้ารองเท้าครบ แต่บนดอยไม่มีแม้แต่รองเท้าแตะจะใส่ เสื้อผ้าก็เป็นของบริจาค หรือแม้แต่ด้านวิชาเรียน 8 กลุ่มสาระนั้นลำพังแค่การสอนให้นักเรียนหัดพูด เขียน อ่าน ภาษาไทย ยังเป็นเรื่องที่ยาก หนังสือเราก็ต้องหาให้ อุปกรณ์การเรียนสื่อต่างๆ ก็ต้องมีการจัดหาเองทั้งหมด ห้องเรียนก็ไม่พอ อาคารไม้เก่าๆ ผุ ๆที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างก็เริ่มที่จะชำรุด นักเรียนก็มีเพิ่มขึ้น ครูต้องทำงานหนักขึ้น แต่เงินเดือนครูก็ยังเท่ากับครูที่อยู่ในเมืองและโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่นอกจากผู้ปกครองจะเอารถส่วนตัวมาส่งลูกหลานถึงประตูโรงเรียนแถมกับการบริจาคเงินขวัญถุงให้โรงเรียนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอีกจิปาถะ ทั้งค่าคอมพิวเตอร์ ค่าสระว่ายน้ำ ค่าครูสอนพิเศษ ฯลฯ โรงเรียนบนดอยถ้าขอเก็บเงินแค่คนละ 5 บาท ก็เป็นเรื่องเป็นราวหลายคนก็ไม่ให้ก็มี…”

 

นอกจากที่ข้อมูลที่ผู้บริหารคนดังกล่าวได้ร่วมสนทนาแล้วจะสังเกตเห็นว่าเกณฑ์การประเมินตัวบ่งชี้หนึ่งที่บอกว่า นักเรียนสามารถบอกประโยชน์และโทษจากการใช้อินเตอร์เน็ต เป็นเกณฑ์ประเมินตามมาตรฐาน แต่ไม่ได้คำนึงเลยว่า หลายโรงเรียนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เครื่องคอมเด็กยังไม่เคยได้เห็นได้สัมผัส จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กไม่สามารถบอกประโยชน์และโทษของอินเตอร์เน็ตได้แต่ปรากฏว่า โรงเรียนไม่ผ่านในตัวบ่งชี้ดังกล่าว

หรือด้านการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยนั้น ครูท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า สังคมบนดอยต่างจากพื้นราบ ครอบครัวของเด็กก็ยังไม่ได้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ อาหารก็ทานแต่น้ำพริก มีผักจิ้ม ที่บ้านพ่อแม่เด็กก็ยังไม่ได้อาบน้ำ แล้วลูกจะอาบได้อย่างไร ครูบนดอยต้องทำงานหนักเป็น 3 เท่าของครูข้างล่าง ตั้งแต่การไปหาซื้อผ้าอนามัย การสอนใส่ผ้าอนามัย การทิ้งหลังการใช้ ฯลฯ ต้องสอนทุกเรื่อง เพราะเด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มาเรียนตามเกณฑ์ บางคนอายุ 14 แต่อยู่ป.3 ก็มี....  หลายโรงเรียนเห็นคุณค่าของการให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจึงให้นักเรียนสร้างกระบวนการเรียนรู้จากโครงงานที่ครบวงจร ทั้ง ความเป็นประชาธิปไตย การทำงานเป็นทีม เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานระดับพื้นที่ จนอยากจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โลกภายนอกที่กว้างขึ้น มีแนวคิดที่จะส่งโครงงานดังกล่าวเข้าร่วมประกวดระดับจังหวัดผลคือผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ แต่พ่ายแพ้ต่อโรงเรียนมัธยมชื่อดังเพียง 0.5 คะแนน ซึ่ง หล้า เด็กนักเรียนชั้น ม.3โรงเรียนแห่งนั้น ได้บอกว่า ผมและเพื่อน ๆ มีความสุขที่ได้ทำงาน เรามีการวางแผนและดำเนินงานทุกอย่างด้วยตัวเอง มีครูเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น เช่น เราเห็นปัญหาขยะในโรงเรียน จึงหาวิธีแก้โดยการให้คนที่ทิ้งขยะสานตะกร้าไม้ไผ่มาเป็นการลงโทษ ปัญหาขยะก็ลดน้อยลง ทำบ่อยๆ จนเกิดความเคยชิน จากการที่เราไม่กล้าพูดเพราะพูดภาษาไทยไม่ชัด ก็มีความกล้ามากขึ้น ที่เราส่งโครงงานไปแข่งกรรมการบอกว่าเราทำได้ดีมากแต่ที่แพ้พียง0.5 คะแนน เพราะว่าเราพูดไม่ชัด……”  ปรากฏการณ์ดังกล่าวอธิบายได้ในรูปของคำนิยาม กฎหมาย ที่ดูเหมือนกัน แต่ถูกใช้ไม่เหมือนกัน จนมีนักรัฐศาสตร์หลายท่านให้คำนิยามว่า กฎหมาย คือเครื่องมือของผู้ที่รู้กฎหมายให้ทำผิดกฎหมาย โดยถูกต้องตามกฎหมาย โรงเรียน ขยายโอกาส ถูกจัดลำดับให้เป็นการ สงเคราะห์โอกาส มีการขยายชั้นเรียนให้สูงขึ้น แต่โอกาสทาง คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังถูกกลบอยู่ภายใต้การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ระดับเขตและที่สำคัญอยู่ภายใต้ วาทะกรรมเน่า ๆ ของนักการเมืองที่รอหาเสียงจากเศษเงินที่โยนลงชุมชนในโครงการ กยศ.: กองทุนเพื่อการกู้ยืมทางการศึกษา

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท