เขาคุยอะไรกันในการประชุมทางวิชาการ ๑


ผมขอชื่นชมผู้วิจัยที่ได้มองเห็นคุณค่าเรื่องนี้และสามารถค้นหาเทคนิค กลวิธีการประพันธ์มาแจกแจงให้ผู้อื่นได้มองเห็นเช่นเดียวกันด้วย

เขาคุยอะไรกันในการประชุมทางวิชาการ ๑

อยู่คู่กาลกับโลก    :   การศึกษาวรรณคดี วรรณกรรม และสื่อร่วมสมัย

 

                      การประชุมสัมมนา เป็นวิธีการยอดนิยมอย่างหนึ่งในการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน แต่จะเกิดมรรคเกิดผลอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการและวิธีการที่จะให้เกิดการมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน  และขึ้นอยู่กับคนร่วมประชุมจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อย แค่ไหน

 

                     เมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑  ได้มีการประชุมทางวิชาการของครูอาจารย์ในแวดวงทางภาษาและวรรณกรรมที่น่าสนใจเวทีหนึ่ง ที่ จัดโดย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ และสำนักพิมพ์ปาเจรา   ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะมีการบรรยายและนำเสนอบทความจากงานวิจัย ปริญญานิพนธ์ ของนักวิชาการรุ่นใหม่  ซึ่งเรียกความสนใจครูอาจารย์ภาษาไทยจำนวนหลายร้อยคนเลยทีเดียว ผมจึงขอสรุปสาระทั้งหมดตามที่ได้ฟัง  มาบอกเล่าไว้โดยไม่แสดงความคิดเห็นแทรกตอนนี้  เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นสาระ ความรู้ ความคิดของผู้บรรยาย  ซึ่งมีแง่มุมที่อาจนำไปใช้พัฒนาต่อยอดให้เป็นประโยชน์แก่ตนต่อไป

 

                    ผมขอสรุปสาระการบรรยายไว้เป็นเรื่องๆ และจะนำเสนอบันทึกละ ๑ เรื่อง จนกว่าจะจบการสัมมนา และตอนท้ายจะมีข้อคิดเห็นของผมประกอบให้เห็นแง่มุมต่างๆ ตามสมควรครับ

 

กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  อาหารกับอารมณ์สะเทือนใจ

บรรยายโดย รศ. สุจิตรา  จงสถิตย์วัฒนา  คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

                 การบรรยายเรื่องนี้มาจากงานวิจัยที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับอารมณ์สะเทือนใจที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ผลการวิจัยพบว่า กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานมีธรรมชาติที่แท้จริงเป็นบทกวีรัก โดยใช้กรอบของกาพย์เห่เรือและลีลาของนิราศมาประกอบกันอันเป็นแบบแผนที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ได้ทรงใช้มาแล้วในสมัยอยุธยา

              อาหารกับอารมณ์สะเทือนใจในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนในหลายมิติ ได้แก่ มิติสำคัญในฐานะบทกวีรัก  นั่นคือ อาหารไม่ว่าจะเป็นเครื่องคาว หวาน ผลไม้ ล้วนเป็นตัวแทนของนางอันเป็นที่รักในมิติต่างๆ ทั้งในรูป รส กลิ่น เสียง   เพราะอาหารเป็นที่มาของรสแห่ง ความปิติยินดี ความทุกข์อาลัยที่มิได้พบเห็นนาง  ความรำลึกถึงโฉมของนาง เครื่องแต่งกายของนาง ตลอดจนความสามารถในด้านศิลปะต่างๆ ของนาง

 

ตัวอย่าง

 

       ๐ ขนมผิงผิงผ่าวร้อน                เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน

      ร้อนนักรักแรมไกล                     เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง

 

      ๐ มัศมั่นแกงแก้วตา                    หอมยี่หร่ารสร้อนแรง

ชายใดได้กลืนแกง                           แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา

 

      ๐ ลำเจียกชื่อขนม                      นึกโฉมฉมหอมชวนโชย

ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย                           โหยไห้หาบุหงางาม

 

       ๐ ขนมจีบเจ้าจีบห่อ                   งามสมส่อประพิมพ์ประพาย

นึกน้องนุ่งจีบกราย                            ชายพกจีบกลีบแนบเนียน

       ๐ รสรักยักลำนำ                        ประดิษฐ์ทำขนมเทียน

คำนึงนิ้วนางเจียน                             เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม

       ๐ บัวลอยเล่ห์บัวงาม                  คิดบัวกามแก้วกับตน

ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล                           สถนนุชดุจประทุม

 

            มิติสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ อาหารในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานมีสถานภาพสำคัญเทียบเคียงได้กับขบวนเรือพยุหยาตราอันถือว่าเป็นศิลปกรรมชั้นสูงและเป็นสัญลักษณ์แทนความยิ่งใหญ่แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์   คือการสถาปนาอาหารให้เป็นตัวแทนของนางทำให้กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานเป็นหลักฐานสำคัญในการรังสรรค์บทกวีรักในรูปแบบอลังการที่สะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารและความยิ่งใหญ่ของความรักหรือกล่าวได้ชัดเจนว่า เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับอารมณ์สะเทือนใจในวรรณคดีไทย

 

           บทสรุปความคิดเห็นของเรื่องนี้ ผมคิดว่ามุมมองของกวีที่ต้องการแสดงฝีมือการประพันธ์ในแง่งามทางภาษาย่อมสามารถสะท้อนอารมณ์สะเทือนใจของตนได้อย่างดี ไม่ว่าจะแต่บทกวีที่ใช้คำประพันธ์ชนิดใดเป็นสื่อก็ตาม เพราะภาษาคือเครื่องถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ จินตนาการของมนุษย์ ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่จะถ่ายทอดผ่านภาษาแบบใดที่จะจับจิตจับใจคนอ่านได้มากน้อยทัดเทียมกับกวีหรือไม่ แต่เชื่อว่า การแต่งบทกวีนั้นเป็นการสื่อสารอารมณ์ให้เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างกวีกับผู้อ่าน จะเป็นคนรักหรือคนทั่วไปก็ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้แสดงออกอย่างดงามที่สุดสมเป็นมหากษัตริย์กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง ผมขอชื่นชมผู้วิจัยที่ได้มองเห็นคุณค่าเรื่องนี้และสามารถค้นหาเทคนิค กลวิธีการประพันธ์มาแจกแจงให้ผู้อื่นได้มองเห็นเช่นเดียวกันด้วย

หมายเลขบันทึก: 172866เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2008 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท