การค้นพบโดยความบังเอิญ


          เช้าตรู่ วันที่ 16 มีนาคม  ผมและคณะออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเดินทางไปส่ง ท่านผอ.วุฒิชัย  ชมพู ซึ่งท่านได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็น ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองตราด การเดินทางครั้งนี้ใช้รถตู้ 2 คัน และรถปิคอัพ อีก 1 คัน ที่ต้องใช้รถมากเพราะผมต้องไปราชการเพื่อเข้าร่วมมหกรรมสองทศวรรษ คืนชีวิตให้แผ่นดิน ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 17 มีนาคม

         รถทุกคันตกลงกันว่าจะแวะทานข้าวเช้ากันที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นข้าวแกงรสชาติไม่ธรรมดา  ร้านข้าวแกงที่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอโป่งน้ำร้อน มีประมาณ 3-4 ร้าน ล้วนอร่อยทุกร้าน ผมเลือกร้านข้าวแกงดาบเอิบ ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่

         ผมเลือกว่าจะทานอะไรดี เหลือบเห็นผัดเผ็ดปลาดุก คิดในใจ น่าทานจัง แต่ที่ยังลังเลเพราะไม่มั่นใจว่า จะทานได้ใหมเพราะ ในผัดเผ็ดปลาดุกถาดนั้น เขาใส่มะระชิ้นขนาดกว้างยาวด้านละประมาณ 2 เซนต์ผสมอยู่ด้วย บอกตรง ๆ ว่าผมไม่เคยเห็นที่ใหนเลย ว่าผัดเผ็ดปลาดุกใส่มะระ คิดในใจ ไม่ลองไม่รู้วะ ตัดสินใจสั่งมาทาน เชื่อใหมว่าคำแรกที่ผมตักเข้าปาก มีความรู้สึกว่าไม่เคยทานผัดเผ็ดที่อร่อยมากอย่างนี้เลย ทานไปคิดไป จนหมดจาน ติดใจสั่งมาอีกจาน  เจ้าของมองหน้ายิ้ม ๆ คงคิดในใจว่าไอ้หมอนี่ ตายอดตายอยากมาจากใหน

         จ่ายตังเรียบร้อย ผมเข้าไปคุยกับเจ้าของร้านทันที คนขายเป็นรุ่นลูกของดาบเอิบ ถามเขาว่า คิดได้อย่างไร ถึงเอามะระมาผัดเผ็ดปลาดุก  เขาเลยเล่าให้ฟังว่า  คุณพ่อเขาเป็นตำรวจ มีฝีมือในการทำกับข้าวมาก วันหนึ่งพ่ออยากกินผัดเผ็ดปลาเรียวเซียว แต่บังเอิญไม่มีผักเหลือติดครัวเลย มะเขือก็ไม่มี หมุนไปหมุนมา ไปเห็นมะระอยู่ลูกหนึ่ง ก็เลยเอามาหั่นใส่กระทะที่ผัดเผ็ดปลาอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ กินได้ก็กิน กินไม่ได้ก็ทิ้งไป ที่ใหนได้ผลออกมาเหลือคาด เพราะผัดเผ็ดปลาจานนั้นอร่อยจนไม่พอกิน  ตั้งแต่นั้นมา ดาบเอิบก็จะผัดเผ็ดปลาเรียวเซียวกับมะระออกขายเสมอ จนกลายเป็นสัญญลักษณ์ของร้านไปในที่สุด แต่ต่อมาปลาเรียวเซียวแพงมาก ก็เลยหันไปใช้ปลาดุกแทน

         ขณะนั่งรถต่อไปตราด ผมนั่งคิดว่าสรรพวิชาที่เกิดขึ้นในโลก น่าจะเกิดจากการค้นพบในสถานการณ์ของความบังเอิญเสียมากกว่า  เพียงแต่ว่าความบังเอิญนั้น จะถูกทบทวนเป็นองค์ความรู้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะถ้าไม่คิดมันก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา และก็ผ่านเลยไป กลายเป็นเรื่องปกติ  การค้นพบโดยบังเอิญถ้าผู้ค้นพบนั้น ตอบโจทย์ในใจว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะอะไรถึงเป็น ถ้าเราคิดเป็นขั้นเป็นตอนเราจะพบคำตอบ และกลายเป็นองค์ความรู้ที่สามารถเผยแพร่ได้ในที่สุด

         เมื่อ 3 เดือนก่อน ผมขอให้เจ้าหน้าที่ไปหาต้นแก้วมังกรให้ผมสัก 2 - 3 ต้น เพื่อจะเอาไปปลูกที่บ้านสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่คนนั้นไปตัดแก้วมังกร ที่อยู่หลังศูนย์ให้ผมประมาณเกือบ 20 กิ่ง บอกว่าที่ตัดให้เยอะเพราะที่ศูนย์ฯมีมาก ผมเลยต้องใส่ท้ายรถไปทั้งหมด  ปลูกได้ 5 กิ่ง หมดพื้นที่ที่จะปลูก ไม่รู้ว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหน ก็เลยเอาไปกองไว้ที่โคนต้นกล้วย กะว่าให้เขาเน่าไปเอง มีอยู่กิ่งหนึ่งผมเสียบไปบนโคนของต้นกล้วยที่ตัดแล้ว และกำลังจะย่อยสลาย คุณเชื่อไหม ตอนนี้บริเวณนั้นกลายเป็นดงของแก้วมังกร และที่สำคัญกิ่งที่ผมเสียบไว้บนโคนต้นกล้วยกลับเจริญงอกงามมาก  ผมกลายเป็นคนที่ค้นพบการปลูกแก้วมังกร ด้วยความบังเอิญไปแล้วใช่ใหม แต่ถ้าจะตอบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะโคนต้นกล้วยที่เราตัดแล้ว กำลังย่อยสลาย แก้วมังกรได้รับสารอาหารที่สุดยอดนั่นเองจึงงามกว่าทุกกิ่ง

        อ่านเรื่องนี้แล้วจะนำไปปลูกต้นไม้ที่บ้าน ด้วยวิธีนี้บ้าง ก็เชิญตามสบายนะครับ

หมายเลขบันทึก: 171503เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นี่แหละครับพี่นึก ที่มีคำกล่าวว่าอัจฉริยะเรียนรุ้จากธรรมชาติ นักปราชญ์เรียนรู้จากหนังสือ  คือหากรู้จักสังเกตุไตร่ตรองมองปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างพินิจพิเคราะห์ ก็จะพบองค์ความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปให้ใช้ปัญญาค้นหาต่อไปครับ

 เรียนท่าน ผอ. ดร.ดิศกุล ที่นับถือ ผมคิดว่าท่านหยุดการเรียนในการพัฒนาตนเองของท่านได้แล้ว เพราะถ้าเรียนมากกว่านี้ ผมเรียกท่านไม่ถูกแน่นอน งงไปหมด ขอบคุณที่แสดงความคิดเห็นออกมา หลายวันก่อนคุยกับ ดร.กวี อาจารย์จาก มศว. ประสานมิตร ท่านพูดคล้าย ๆ กับท่านนี่แหละ  ท่านบอกผมว่าการมอง มันมีระดับของการมอง ถ้ามองด้วยตา เราจะเห็นสิ่งที่เรามองในเชิงลักษณะ ถ้ามองด้วยความรู้สึก เราจะเห็นบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เรามอง แต่ถ้ามองด้วยจิตวิญญาน เราจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของสิ่งที่เรามอง

         ผมมองดิศกุล ด้วยจิตวิญญานเสมอครับ

โลกของการเรียนรู้ ไม่มีขีดจำกัด .. เป็นความจริงที่ไม่มีวันตาย ดีใจด้วยครับ กับความรู้ใหม่ที่ท่าน ผอ.ได้รับ แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย ที่ท่านได้ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองตราด คนใหม่ งาน กศน.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่านทั้งจังหวัดคงจะเข้มข้นขึ้นตามลำดับ......

เรียนท่านรองรัฐเขต ที่เคารพ

ท่านกำหนดจัดการสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการความรู้ตามที่เคยบอกไว้หรือยังครับ ผมเป็นห่วงเกรงว่าจะลืมผม อย่าลืมส่งข่าวนะครับ

ขอแสดงความยินดีกับองค์ความรู้ใหม่ที่ ถูกค้นพบโดยคนไทย ทั้งๆที่ท่านมิใช่นักวิชาการเกษตร หรือผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตรเลย ควรแก่การเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องชาวเกษตรและผู้ที่สนใจต่อไปครับ

พูดถึงปลาเรียวเซียว หรือปลาริวกิว หรือปลาไอ้เซียว หรือปลาทูกัง (ชุมพรบ้านผมเรียกปลาไอ้เซียว) เป็นปลาที่มีเนื้อแน่น นุ่ม หนา เรียกได้ว่าประกอบการอาหารรสชาติใดก็หรอยทั้งเพ แต่เสียนิดเดียวว่า คาวจัด ใครทำไม่หายคาวแล้วประกอบอาหารทั้งเป็นกับข้าวและเป็นกับเหล้าจะเสียความรู้สึกนิดหน่อย วิธีการล้างคาว เห็นพ่อเอาใบตะไคร้มากวาดเมือกที่ตัวปลาออก แล้วแล่เนื้อหั่นเป็นชิ้นพอคำ ล้างให้สะอาด ให้แม่เอาไปลวกน้ำร้อนจัดๆ อีกครั้ง หายคาว (ทั้งนี้แล้วแต่เทคนิคของแม่หรือพ่อครัว)ส่วนมากแล้วจะแกงส้มใส่หน่อไม้ดอง หรือแกงคั่วส้ม (ใส่หัวกะทิ)ผมเพิ่งมารู้ว่าว่าเอามาผัดกับผักอย่างผลมะระนี้ได้ (จะลองทำกินดูครับ) ก็ขอขอบคุณในที่นี้ สำหรับกับข้าวใหม่ (ของผม)แต่ปลาเรียวเซียวราคาแพงเหลือเกินก็จะกิน ไม่แพงแน่ บางส่วนของปลาเรียวเซียวที่หรอยที่สุดคือไข่ครับ ไข่ปลาชนิดนี้เหมือนเม็ดมุกที่ได้จากหอยนั่นแหละครับ ก็นำใส่ในแกงส้มเช่นกัน หยุ่นๆ นุ่ม บรรยายไม่ถูกครับ ต้องหาซื้อมาทำกินเองดีกว่า จะเอาผัดฉ่าหรือผัดขี้เมาก็ไม่ปฏิเสธครับ หรือทุกส่วนของปลาเรียวเซียวนี้ กินได้ทุกส่วนครับ นอกจากเงี่ยง 3 อันที่ต้องทิ้งแน่ๆ กระเพาะก็กินได้ล้างน้ำให้สะอาดหน่อย...(ผมเขียนเรื่องปลาเรียวเซียวนี้ในนิตยสารท่องเที่ยว-ตกปลา ฉบับที่197ประจำเดือนธันวาคม ๕๑ หาอ่านดูครับ)

ปลาเรียวเซียว คนทางภาคใต้เรียกว่า ปลาหม้อหยอง ค่ะ ทำแดดเดียวก็อร่อยมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท