หมอบ้านนอกไปนอก(58): ใกล้บ้านใกล้ใจ


การพัฒนาคุณภาพ หัวใจสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจในเรื่องคุณภาพมากกว่าการยึดติดกับระบบบริหารคุณภาพระบบใดระบบหนึ่ง ยิ่งถ้าสามารถผสมผสานเลือกหยิบจับเอาสิ่งดีๆที่มีอยู่ในทุกระบบมาประยุกต์ใช้ได้แล้ว จะเกิดประโยชน์มาก

 บรรยากาศในสัปดาห์ที่ 27 ต้นเดือนมีนาคม 2551 บ้านเราก็เข้าสู่ฤดูร้อน เด็กนักเรียนก็เริ่มทยอยสอบไล่ทุ้งเด็กเล็กและเด็กโต นักเรียนชั้นมอหกก็ต้องดิ้นรนหาสถานที่เรียนในระดับอุดมศึกษา มีทั้งผู้ผิดหวังและสมหวัง ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ยังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ส่วนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ไม่ได้หมายถึงการสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ยิ่งสมัยนี้มหาวิทยาลัยมีหลายแห่งรวมทั้งการเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างมากของมหาวิทยาลัยเปิดอย่างรามคำแหงและสุโขทัยธรรมาธิราช ยุคนี้สมัยนี้ความรู้ค้นหาได้ไม่ยากจากเอกสารตำรา รวมทั้งอินเตอร์เน็ตถ้าสนใจใส่ใจก็เก็บเกี่ยวความรู้ได้ไม่ยาก ส่วนบรรยากาศที่เบลเยียมก็หนาวลดน้อยลงไปอีก มีฝนพรำในบางวันเวลา ฟ้าสดใสมากขึ้น ชีวิตผมก็ยังคงเหมือนเดิมตื่นเช้าไปเรียนบ่ายมาคุยกับครอบครัวกลางคืนอ่านหนังสือ

วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2551 ตื่นเช้ามาอ่านหนังสือฝึกภาษาอังกฤษ ฝนตกพรำๆ ตกๆหยุดๆ ไม่หนาวมากแต่ก็เย็น ไม่ได้ออกไปไหน ช่วงบ่ายคุยกับครอบครัวทางสไกป์ที่คุณภาพของเสียงลดลงอย่างมากจนบ่ายครั้งที่ต้องเขียนคุยกันแทนเพราะฟังกันไม่รู้เรื่อง เสียงก้องบ้าง เสียงไปช้าบ้าง แล้วก็นั่งแปลสไลด์บรรยายการจัดการความรู้ (KM) เอาไปให้อาจารย์วาลาเรีย เนื่องจากผมต้องร่วมบรรยายKMให้เพื่อนๆในกลุ่มบริหารระบบสารธารณสุขฟังร่วมกับอาจารย์วาลาเรีย จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน ผมสังเกตว่าคืนไหนที่ใช้คอมพิวเตอร์จนใกล้เวลานอน จะนอนหลับยาก แต่ถ้าหยุดก่อนสักหนึ่งชั่วโมงแล้วอ่านหนังสือจะหลับง่าย

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2551 ช่วงเช้าเรียนบทบาทของรัฐกับอาจารย์เรนาร์ด คาบที่ 2 เรียนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือจากต่างชาติแก่ประเทศที่มีผลกระทบจากโรคเอดส์รุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ (ใต้จากทะเลทรายซาฮาร่าลงไป) เรียนกับอาจารย์วิม (Wim Van Damme; [email protected] ) ช่วงบ่ายเป็นการแนะนำงานกลุ่มที่ต้องทำสไลด์นำเสนอเกี่ยวกับการวิเคราะห์ระบบสุขภาพของประเทศตนเองและประเด็นที่แต่ละคนเลือกอีก 1 เรื่อง ผมเลือกทำเรื่องกำลังคนภาคสุขภาพ (Human resource for health) กลางคืนกลับมาปรับแก้สไลด์บรรยายKMใหม่ เนื่องจากตัวหนังสือไม่เข้ากับเครื่องของสถาบัน เป็นการทำสไลด์ให้อาจารย์วาลาเรียอ่านเพื่อให้เข้าใจภูมิหลังกันก่อนที่จะทำสไลด์บรรยายร่วมกันในต้นเดือนเมษายน

วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2551 ช่วงเช้าเรียนคาบเดียวกับอาจารย์บรูโน (Bruno Meessen; [email protected] ) เกี่ยวกับระบบการเงินสุขภาพ (Financing of Health sysytem) ช่วงบ่ายเรียนเกี่ยวกับผลกระทบของโรคเอดส์ (AIDS) ต่อกำลังคนภาคสุขภาพกับอาจารย์วิม มีอดีตนักศึกษาเก่าจากเอธิโอเปียมานำเสนอเรื่องการให้เจ้าหน้าที่อื่นๆมาช่วยดูแลคนไข้ในเรื่องการให้ยาต้านไวรัส (Task shifting) ช่วงเย็นออกไปขี่จักรยานออกกำลังกาย กลางคืนอ่านหนังสือ

วันพุธที่ 12 มีนาคม 2551 ช่วงเช้าทั้ง 2 คาบเรียนกับอาจารย์วิมเหมือนเดิม แต่มีวิทยากรจากองค์การอนามัยโลกมาช่วยบรรยายกับอาจารย์มาช่วยอีก 2 คนคืออาจารย์แมรี่แอนกับมาเรีย ช่วงหลังแบ่งกลุ่มเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทางบวกและทางลบจากโครงการเอดส์ มีการประทะคารมกันเล็กน้อยในกลุ่มผมระหว่างโนริ (Nori) กับรอย (Roy) ต่างคนต่างมีความมั่นใจสูง กลางวันสถาบันเลี้ยงอาหารเป็นซุปไก่ (ไม่ใช่แบบสกัดนะ) กับขนมปัง บ่ายโมงครึ่งเข้าฟังบรรยายสอนเสริมของอาจารย์ฌอง ปิแอร์(Jean-Pierre Unger; [email protected] ) เกี่ยวกับระบบสุขภาพท้องถิ่น/อำเภอ เจออาจารย์วาลาเรียๆบอกว่าสไลด์บรรยายที่ผมทำไปให้คงใช้เวลาบรรยายเป็นสัปดาห์เลย ช่วงเย็นไม่ได้ออกไปไหน อ่านหนังสืออยู่ที่ห้อง กลางคืนนั่งเขียนโครงรายงานวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของโรคอหิวาตกโรคจังหวัดตาก รอบที่ผ่านมาก่อนผมมาเรียนที่เบลเยียม เก็บสะสมข้อมูลไว้เพียงพอ แต่ยังไม่มีเวลาเขียน เป็นงานที่ทำตามปกติที่ทำแบบวิจัยปฏิบัติการ (Action research) เป็นการเขียนวิจัยจากงานประจำ หรือการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย(R2R)

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2551 ช่วงเช้าเรียนการเงินในระบบสุขภาพกับอาจารย์บรูโน ผมนั่งฟังอาจารย์โดยไม่หลับเลย ฟังทันและฟังรู้เรื่อง อาจารย์บรูโนดูหนุ่มมาก เกลนด้าแซวผมว่าสงสัยชอบคนหล่อเลยไม่หลับในเวลาเรียน (จริงๆแล้วน่าจะมาจากผมฟังรู้เรื่อง และอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องน่าสนใจ ทำให้ไม่หลับ) ช่วงบ่ายว่างกลับบ้านพัก คุยกับลูก อ่านหนังสือ ออกไปปั่นจักรยานออกกำลังกายริมน้ำ ฝึกฟังเทปภาษาอังกฤษ อ่านหนังสือแล้วก็นอน

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม2551 ช่วงเช้าคาบแรกเรียนการเงินในระบบสุขภาพกับอาจารย์บรูโน คาบที่ 2 เรียนระบบการช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศกับอาจารย์นิโคลัส (Nicholas de Borman; [email protected] ) ที่เชิญมาจากเอดีส (Aedes) ทำให้เข้าใจเรื่องรูปแบบการช่วยเหลือระหว่างประเทศ (Aid delivery) มากขึ้น ช่วงพักกลางวันกลับไปทานข้าวบ้าน ได้คุยกับภรรยาและลูกๆ น้องแคนขออนุญาตไปงานแต่งงานของน้องหมอที่เคยทำงานด้วยกัน ผมอนุญาตให้ไปโดยบอกลูกว่าที่พ่อกับแม่ให้ไปเพราะน้องแคนเริ่มโตแล้ว มีลุงคำ (พนักงานขับรถดีเด่น) ขับรถไป มีป้าน้อย (แม่เตเต้ เพื่อนรักของน้องแคน) กับป้าเป้าซึ่งสนิทกันไปด้วย และเชื่อว่าน้องแคนจะไม่ดื้อและดูแลตัวเองได้ รวมทั้งให้ไปเป็นตัวแทนพ่อกับแม่ด้วย

น้องหมอท่านนี้อยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาก 1 ปี ก่อนย้ายกลับบ้าน เป็นคนนิสัยดี มีความรับผิดชอบสูง ทำหน้าที่ผู้อำนวยการแทนผมได้ดีช่วงที่ผมรับ 3 หน้าที่ เป็นผู้อำนวยการตัวจริง ในขณะที่ผมเหมือนเป็นในนามเท่านั้น น้องสามารถสานงานต่างๆต่อจากผมได้ดี พอมีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไรก็จะปรึกษาผมเป็นระยะๆ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ดี ผมเคยแวะไปที่บ้านน้องครั้งหนึ่ง เป็นบ้านที่สร้างอย่างสวยงามลงตัว น่าอยู่มาก คุณพ่อกับคุณแม่ของน้องเป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี น่ารักมาก หลังจากคุยกับน้องแคนเสร็จก็กลับไปเรียนภาคบ่ายเป็นการสรุปบทเรียนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมากับอาจารย์วิมและวาลาเรีย เสร็จแล้วเข้ากลุ่มพบอาจารย์ที่ปรึกษาประเด็นกำลังคนด้านสุขภาพที่มีสมาชิกกลุ่ม 6 คน มีอาจารย์บรูโน มาร์แชล (Bruno Marchal; [email protected] ) เป็นที่ปรึกษา กลุ่มตัดสินใจเลือกวิเคราะห์กำลังคนด้านสุขภาพของแทนซาเนีย

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2551 ตื่นเช้ามาท้องฟ้าแจ่มใส อ่านหนังสือ ซักผ้า ออกไปจ่ายตลาด อ่านหนังสือและเขียนบันทึก

ช่วงนี้ถ้าอยู่เมืองไทยน่าจะเข้าบรรยากาศของHA Forum ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลที่ดีมาก เรื่องของคุณภาพในเมืองไทยมีการพูดคุยกันมากจนทั้งHA (Hospital accreditation), HNQA (Hospital network quality audit), ISO, TQA (Thailand quality award) รวมทั้งน้องใหม่อย่าง PMQA (มี 2 ค่าย คือPublic sector management quality award ของ กพร.ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติสำหรับหน่วยงานภาครัฐและPrimary care management quality award ของสถาบันพัฒนาระบบสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ) ยังมีระบบคุณภาพเฉพาะเรื่องอีกเช่นHPH (Health promoting hospital;) ของกรมอนามัย มาตรฐานสุขศึกษาของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มาตรฐานระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรค มาตรฐานชีวิตคนทำงาน (MS:QWL) ของสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอื่นๆอีกมากมาย ที่แต่ละค่ายต่างก็พยายามบอกว่าของตัวเองดีที่สุด ซึ่งในความคิดเห็นของผมทุกอันดีหมด เพียงแต่ต้องไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบ วิธีการหรือตัวบุคคลและต้องไม่มุ่งเป้าไปที่การได้รับใบรับรองแค่นั้น

พูดเรื่องคุณภาพแล้ว ที่กล่าวมานั้นเป็นระบบคุณภาพหรือวิธีการเชิงระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพ คุณภาพจริงๆไม่ได้แตกต่างกัน คุณภาพคือการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ภาษาISOใช้คำว่า Customer requirement จึงเน้นที่ลูกค้า (Customer focus) ส่วนของHA ใช้คำว่า Need เน้นหลักการสำคัญว่าผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทำงานเป็นทีมสหสขาวิชาชีพและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ของHNQA ใช้คำว่าService specification พยายามทำให้บริการที่ส่งมอบให้ลูกค้ามีความชัดเจนขึ้นและใช้คำว่ามุ่งเน้นลูกค้าเหมือนISO ส่วนของPMQA เป็นมาตรฐานเชิงระบบริหารจัดการ มองที่ระบบบริหาร 6 ระบบและผลลัพธ์ 1 ระบบ คุณภาพบริการ (Services) มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าคุณภาพสินค้า (Products) ในเรื่องบริการมีความเป็นนามธรรมสูง จับต้องได้ยาก เก็บกักตุนเตรียมไว้ให้เลยไม่ได้ ผลิตและส่งมอบในเวลาเดียวกันละคนตัดสินชี้ขาดว่าดีหรือไม่ดีคือลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ (Customer) 

เมื่อเราผลิตสินค้า เราต้องตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ผลิตได้ตามคุณลักษณะที่กำหนดหรือไม่ ถ้าได้ก็เอาไปขายได้ ถ้าไม่ได้เอาไปแก้ไขหรือคัดออก กระบวนการตรวจสอบนี้เรียกว่าการควบคุมคุณภาพ (Quality control: QC) แต่พอเป็นเรื่องบริการ เช่นในเรื่องบริการทางการแพทย์ เราเอ๊กซ์เรย์คนไข้ผิดไปแล้ว หรือฉีดยาคนไข้ผิดไปแล้ว จะไปหมุนย้อนกลับ ทำใหม่ เอาอันใหม่ไปใช้ไปเปลี่ยน มันก็ไม่สามารถแก้คืนให้ที่ผิดไปแล้วได้ ดังนั้นก่อนให้บริการจึงต้องมีการตรวจสอบระบบริการเพื่อประกันให้ได้ว่าสิ่งที่ให้ไปจะไม่ผิดพลาด บกพร่องหรือผิดพลาด นั่นคือไปเน้นที่กระบวนการส่งมอบหรือกระบวนการทำงานแทน อันนี้เขาเรียกว่า ประกันคุณภาพ (Quality assurance: QA) ดังนั้นเรื่องบริการจึงเน้นที่การประกันคุณภาพมากกว่าควบคุมคุณภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าบริการไม่มีการควบคุมคุณภาพ เช่นห้องตรวจปฏิบัติการ ก็ต้องมีการควบคุมคุณภาพด้วย หรือในเรื่องการศึกษา ถ้าสอนเด็กจนจบชั้นไปแล้ว 1 ปีประเมินแล้วเด็กไม่ผ่าน จะบอกว่าไม่เป็นไรเริ่มเรียนกันใหม่อีกปี ยังงี้ลำบาก เขาจึงให้มีการประกันคุณภาพ เพื่อประกันกระบวนการการเรียนการสอนให้มั่นใจได้ว่าเรียนจบแล้วมีความรู้มีคุณภาพจริง

ฟิลิป ครอสบี้ ให้นิยามของคุณภาพไว้ว่า การตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า (Need & expectation) ซึ่งเป็นนิยามที่ผมเข้าใจและคิดว่าง่ายในการเอาไปประยุคใช้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปสนใจว่าจะเอาHA, HNQA, ISO, PMQA หรือ TQA ถ้าเราเข้าใจและทำได้จริง มันเกิดคุณภาพได้แน่นอน จากนิยามนี้ก่อนอื่นเราต้องรู้จักลูกค้าของเราก่อน ใครคือลูกค้าของเรา ลูกค้าทางตรงหรือทางอ้อม ลูกค้าภายนอกและภายใน ถ้าเราแยกแยะลูกค้าได้ชัด เราก็สามารถระบุความต้องการและความคาดหวังซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดคุณภาพได้ชัด

พูดง่ายๆคือมองเห็นเป้าหมายที่เรากำลังเดินไปหาและที่ลูกค้าเขาอยากได้ เช่น ถ้าถามงานส่งเสริมสุขภาพว่าลูกค้าทางตรงของคุณคือใครในขณะที่คุณฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้เด็ก ถ้าคำตอบว่าเด็กที่มาฉีดวัคซีน ถามว่าเด็กอยากฉีด อยากได้วัคซีนไหม คำตอบคือไม่ เด็กร้องไห้และไม่อยากฉีดสักคนแต่ต้องฉีดเพราะเมื่อฉีดแล้วจะเกิดภูมิคุ้มกันโรคที่เป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนหรือสังคม นั่นคือสังคมชุมชนเป็นลูกค้าทางตรง ขณะที่เด็กเป็นลูกค้าทางอ้อม ที่มักไม่อยากได้แต่ต้องได้เพื่อผลดีโดยรวมต่อลูกค้าทางตรง หรือถ้าเป็นมหาวิทยาลัย ถ้ามองนักศึกษาเป็นลูกค้าทางตรง ก็ต้องถามความต้องการของลูกค้า อาจได้คำตอบว่าเรียนน้อยๆ ข้อสอบง่ายๆ ปิดเรียนบ่อยๆ หรือประเภทจ่ายเงินครบจบแน่ แต่ถ้ามองสังคมชุมชนที่จะรับนักศึกษาเป็นลูกค้าทางตรงก็ต้องทำให้นักศึกษาที่เป็นลูกค้าทางอ้อมให้เรียนจบไปแบบมีปัญญา (ความรู้คู่คุณธรรม) ตามที่สังคมต้องการ

เมื่อรู้จักลูกค้าที่แท้จริง ก็ศึกษาความต้องการและความคาดหวังของเขาเพื่อเอามากำหนดเป็นบริการที่เราต้องส่งมอบให้เขา เช่นห้องคลอด ลูกค้าคือหญิงตั้งครรภ์ ความต้องการคือได้รับบริการทำคลอด ความคาดหวังคือแม่ปลอดภัย ลูกปลอดภัย ถ้าเอามาเขียนเรียบเรียงใหม่ให้เป็นบริการที่มีคุณภาพของห้องคลอดก็คือห้องคลอดให้บริการทำคลอดแก่หญิงตั้งครรภ์อย่างลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย อันนี้คือสิ่งที่ห้องคลอดต้องทำไม่ทำไม่ได้ เป็นพันธกิจที่รวมเอาวิสัยทัศน์เข้าไปด้วย เรียกง่ายๆว่าเป้าประสงค์หรือเจตจำนง (Purpose) บอกงานที่เราต้องให้หรือลูกค้าต้องได้ (บริการทำคลอด) กับบอกความคาดหวังของลูกค้าหรือประเด็นดีๆ/ประเด็นคุณภาพที่เราต้องให้เขา (ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย) ส่วนแรกบอกตัวชี้วัดผลผลิต (Outputs) ของงาน ส่วนหลังบอกผลลัพธ์และผลกระทบ (Outcomes/Impacts) ของงาน โดยให้เรากำหนดตัววัดว่าวัดอะไรเท่าไหร่แล้วก็บ่งชี้ถึงประเด็นสำคัญอะไรที่เรียกว่าตัวชี้วัด (Indicators)

ถ้ามองในมุมผู้ให้บริการก็เขียนแบบเป้าประสงค์ ถ้ามองในมุมของลูกค้าก็เขียนสิ่งที่เขาจะได้รับคือได้รับบริการทำคลอดที่ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย อันนี้ก็คือคุณลักษณะบริการ (Service specification) ตามสไตล์ของ HNQA ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พอเราเขียนและเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็ไปกำหนดวิธีการทำงานให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร (Documentation) ชัดเจนให้เข้าใจตรงกันที่เรียกว่ามาตรฐานการทำงาน (Standard operation procedure: SOP) อาจเป็นคู่มือคุณภาพ (Quality manual) ระเบียบปฏิบัติ (procedure) และวิธีปฏิบัติ (Work instruction) แบบ ISO หรือกระบวนการบริการ (Service procedure) แบบ HNQA หรือเป็นClinical practice guideline (CPG), Care map, Clinical pathway แบบ HA

ใช้แบบไหนก็ได้ที่สำคัญขอให้เข้าใจว่าเอกสารเหล่านี้ใช้ทำอะไร ทำจริงตามที่เขียนกำหนดไว้หรือไม่ หรือง่ายๆคือเป็นStandardization ครบไหม มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentation) บอกให้คนทำตามรู้ (Training) จูงใจให้ทำตาม (Motivation) ติดตามดูว่าเขาทำตามได้ไหม (Monitoring) แล้วก็ทบทวนดูว่าใช้ได้ดีไหม ต้องปรับอะไรจึงจะดีขึ้นอีก (Review) ขั้นตอนเหล่านี้ก็เป็นไปตามที่อาจารย์อนุวัฒน์บอกไว้คือทำงานประจำให้ดี มีอะไรให้คุยกันและขยันทบทวน ในทุกขั้นตอนประยุกต์ใช้ 5 ส ได้จะดีมาก

โรงพยาบาลมีความซับซ้อนกว่าโรงงานเยอะ ไม่สามารถเขียนและกำหนดทุกอย่างได้ ด้วยความจำกัดของทรัพยากรในโลกของความเป็นจริง เราต้องเลือกทำในสิ่งที่สำคัญมากก่อนโดยการทบทวนความเสี่ยงสำคัญๆ (Risk management: RM) แล้วกำหนดวิธีการป้องกันหรือวิธีทำงานให้เหมาะสมเพื่อประกันให้ลูกค้า (Quality assurance: QA) แล้วก็พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆอย่าหยุดนิ่งรวมทั้งขยายไปยังความเสี่ยงหรือระบบงานอื่นๆไปเรื่อยๆ (Continuous quality improvement: CQI) ในขั้นการพัฒนาต่อเนื่องถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทีมในงานที่รับผิดชอบ (ต่อลูกค้า) อยู่ โดยใช้กิจกรรมเชิงบวกที่สร้างสัมพันธ์ที่ดีในทีม เข้าใจกัน รักกัน เรียนรู้จากความสำเร็จ (Success story) และความล้มเหลว (Lesson learned) ของกันและกัน เป็นเวทีพูดคุย (Knowledge sharing) การเปรียบเทียบมาตรฐานงาน (Benchmarking) หรือตามรอยไปดู (Tracing) สถานที่จริงเลย อันนี้ก็คือการจัดการความรู้หรือKM

จะเห็นว่าการทำงานให้มีคุณภาพเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (RBM) ต้องมีการนำที่ดี การวางกลยุทธ์ ระบบงาน ทีมงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเรียนรู้ร่วมกันและการวัดผลงานก็ระบบในTQA หรือ PMQA นั่งเองแต่คุณภาพบริการสุขภาพบ้านเรา ยังเน้นที่องค์การเป็นแห่งๆ ยังไม่ได้มองระบบสุขภาพทั้งระบบหรือทั้งอำเภอ (District/Local health system) ที่ต้องดูเรื่องของความจำเป็น (Need) ที่เป็นปัญหาสุขภาพทั้งหมดที่จำแนกตามพื้นฐานหลักเกณฑ์ทางเทคนิคที่เหมาะสมโดยบุคลากรทางสุขภาพและความต้องการ (Demand) ที่เป็นพฤติกรรมของคนและชุมชนในการค้นหาหรือต้องการบริการเพื่อดูแลสุขภาพของตน การจัดบริการที่ดีที่สุดคือเมื่อNeedและDemand ตรงกันเรียกว่าความต้องการแท้จริง (Felt need)

เรื่องคุณภาพบริการสุขภาพจะมองใน 3 ระดับคือระดับการดูแล (Care) ต้องมีPatient-centered care, integrated care, continuous car & effective ระดับบริการ (service) ต้องมีAcceptable, accessible & Affordable ระดับอำเภอ ต้องบูรณาการ ไม่มีช่องว่างบริการ ไม่ทับซ้อน มีข้อมูลผู้ป่วยเพียงพอ จัดบริการในสถานีอนามัยแบบกระจายอำนาจ สม่ำเสมอและทำงานได้หลากหลาย ส่วนในโรงพยาบาลเป็นแบบรวมศูนย์ บริการเป็นช่วงๆและเฉพาะด้าน ที่สำคัญต้องใกล้บ้านใกล้ใจ

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

15 มีนาคม 2551, 16.35 น. ( 22.35 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 171060เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2008 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น้องแคนอายุ 11 ปี เหมือนกับลูกชายดิฉัน ตอนอายุเท่านี้ โตแล้วค่ะ รู้เรื่องมากๆ และความที่ป็นผู้ชายของบ้านเวลานี่ที่คุณพ่อไม่อยู่ เขาจะยิ่งโตกว่าอายุอีกนะคะ

ภูมิใจแทนค่ะ

เชื่อว่าน้องแคนจะไม่ดื้อและดูแลตัวเองได้ รวมทั้งให้ไปเป็นตัวแทนพ่อกับแม่ด้วย

 

สวัสดีครับคุณSasinanda

น้องแคนไม่ดื้อจริงๆครับ แล้วก็เริ่มปรับตัวเป็นผูใหญ่มากขึ้น แต่ก็ยังหลุดแบบเด็กๆอยู่เหมือนกัน ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายครับ

สวัสดีครับน้องจิ

ดูแลสุขภาพด้วยเช่นกันนะครับ ใกล้จะเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยแล้วนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท