On Gotoknow: go to you(tube)


ผมเขียนเรื่องนี้จากการจุดประกายของคุณยอดดอยที่เคยมาให้ความเห็นในบล็อกของผมนะครับ เป็นประกายที่ว่าเราชุมชน gotoknow เป็นชุมชนแบบไหน จากคำโปรยที่ว่า "คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้" และมีทางเดินไปทางไหนได้บ้าง

อินเตอร์เน็ตได้เปิดประตูหลายบานที่ไม่เคยเปิดออกมา เป็นช่องทางให้คนหลายๆ กลุ่มได้เคลื่อนไว้และสร้างเครือข่ายกว้างขวางและมีพลัง ทั้งๆ ที่โอกาสเหล่านั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีอินเตอร์เน็ต และในวันนี้ YouTube ก็กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งครับ ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องการที่คนไทยได้ดู “ยามเมื่อลมพัดหวน”หรือ “ในฝัน” ผ่าน YouTube นะครับ แต่ผมอยากจะพูดถึงจุดหมายดั้งเดิมของ YouTube ที่ว่า Broadcast Yourself™ ซึ่งจุดมุ่งหมายตรงนี้ได้รับการตอบสนองที่แตกต่างหลากหลาย บุคคลหรือกลุ่มคนที่ไม่เคยมีเสียง ก็กลับมีเสียงขึ้นมา นักร้องหลายคนที่ไม่มีค่ายสังกัดเปิดตัวใน YouTube เด็กสาว (ร่วมกับทีมงานถ่ายทำมืออาชีพ) กลายเป็นดาราดัง

autistic child

คนกลุ่มหนึ่งที่ออกมายึดเอา YouTube เป็นช่องทางสื่อสารคือกลุ่มเกย์ครับ เมื่อวัน Come Out Day  แห่งชาติที่อเมริกา ก็มีการ Post วิดีโอกันมากมายใน YouTube วันนี้มีคนอีกกลุ่มหนึ่งออกมายึดเอา YouTube เป็นช่องทางสร้างกระแสได้อยู่หมัดก็คือกลุ่มคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น Autistic หรือ Asperger

I'm Autistic! (I)

In My Language

Second Life with Autism

คนที่เคยทำงานตัดต่อวิดีโอด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ PC คงพอจะทราบว่าเดี๋ยวนี้การใช้งาน Video Editing Tools นั้นไม่ได้อยากเย็นเท่าไรนัก แต่ความท้าทายอยู่ที่ข้อความที่จะสื่อออกไปครับ การสื่อออกไปด้วยภาพและเสียงนั้นมีพลัง ทั้งยังเข้าถึงได้ง่ายกว่าการเขียน

ผมค่อยข้างมั่นใจว่าการทำวิดีโอใน YouTube นั้นไม่ยาก มีกล้องดิจิตอลตัวหนึ่ง มีคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมตัดต่อก็ทำได้แล้ว บ้านเราก็ทำได้ แต่ความท้าทายอยู่ที่เราจะสื่อสารอย่างไร และจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะได้ยินเสียงของ “ตัวจริง เสียงจริง” อย่างที่คุณยอดดอยอยากได้ยิน

จะเป็นไปได้ไหมที่จะกลายเป็นหนังสั้นของน้องๆ ที่เรียนภาพยนต์? ผมถามตัวผมเองด้วยว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะถือกล้อง (ไม่ต้องถึงกับแบก เพราะมันตัวเล็กนิดเดียว) ไปสอนน้องๆ หรือไปชวนเขาตัดต่อหนังกันสนุกๆ

พูดตรงๆ ครับว่ามือสั่น อยากลอง แต่คงต้องรออีกสองปี (ติดภาระกิจการเป็นนักเรียน) ผมก็เลยเอาไอเดียมาให้ฟรีๆ ไม่คิดสักบาท ขอแค่ใครทำแล้วเอามาเล่าสู่กันฟังบ้างก็พอครับ

อ้างอิง
Wired Magazine - The Truth About Autism

ภาพประกอบ
autistic child by Boxchain

หมายเลขบันทึก: 169881เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2008 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

จากที่ได้อ่านเรื่องของคุณครูดอย.คอมขอบังอาจเสนอความคิดสักเล็กน้อยนะค่ะ ว่าความคิดของคุณ OK และมันจะสิ่งสร้างสรรค์มากถ้าเราทำแล้วนำมาเป็นประโยชน์ทางการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส

  • คุณแว้บให้เครดิตผมค่อนข้างมากนะครับ ความจริงผมชอบเป็นคนเบื้องหลังมากกว่า สำหรับผม การอยู่เบื้องหลัง มันทำให้เราถูกครอบด้วยกิเลสตัณหาน้อยลง ชีวิตมีอิสระมากขึ้น แต่ยังไงก็ขอขอบคุณมากนะครับ ที่นำชื่อผมไปอยู่ในคำสำคัญของบันทึกนี้
  • สิ่งที่คุณแว้บเสนอมานั้นเป็นเรื่องที่ดีมากๆครับ ผมเองก็คิดจะทำอยู่ และก็อยากจะชวนเด็กชายขอบทั้งหลายที่อยู่ในโครงการต่างๆที่ผมรับผิดชอบมาร่วม "ปั้นฝัน" กันด้วย แต่ก็มีปัญหาหลายอย่าง
  • อย่างแรกเลยนี่ คือเรื่องเทคโนโลยี พื้นที่ส่วนใหญ่ของคนชายขอบในประเทศไทย (ผมหมายถึงทั้งในแง่พื้นที่ทางกายภาพและสังคมวัฒนธรรมนะครับ) เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ คำถามคือ ใครจะเป็นผู้ร่วมลงทุนได้บ้าง (ทั้งในแง่ทุนวัตถุ ทุนความรู้ ทุนเครือข่าย)
  • คืออย่างนี้ครับคุณแว้บ ผมว่าไทยกับอเมริกาบริบทต่างกัน หากเด็กบ้านเราจะเข้าไปใน Youtube ได้ นี่จะเป็นเด็กกลุ่มไหน  ในขณะที่เด็กบนดอยอยู่ปอสี่แล้วยังเขียนชื่อตัวเองไม่ถูกเลย
  • บ้านผมไฮเทคในอันดับต้นๆของอำเภอแล้ว ยังต้องใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วต่ำอยู่เลย เพราะที่นี่ไม่มีสาย ADSL มาลง ผมลองเข้า Youtube แล้ว จะโหลดทีนั่งงีบไปได้ชั่วโมง กลายเป็น You Fube คือฟุบไปเลย เฮ้อ!!!
  • หากเราจะชวนกันทำเรื่องนี้ ผมว่าต้องคิดเป็นระบบเลยครับ คงต้องมองไปที่โครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม วิธีคิดต่อความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค ฯลฯ ของเขาด้วย คือมองยาวๆว่าจะทำให้ต่อเนื่องได้อย่างไร และถ้าทำไปแล้วเกิดความผิดพลาด เป็น "บาปบริสุทธิ์"ขึ้นมา จะมีระบบอะไรคอยช่วยเหลือ
  • ไม่ได้หมายความว่าบ้านเราจะทำไม่ได้นะครับ แต่ถ้าจะทำกับกลุ่มด้อยโอกาส (ซึ่งน่าลองนะครับ) ในความคิดของผม คนชายขอบบ้านเรา ไม่ได้เข้มแข็งเท่าคนชายขอบของอเมริกา ในแง่ที่รัฐบาลของเขามีระบบคุ้มครองสิทธิปัจเจกและให้สิทธิต่างๆแก่คนเหล่านี้มากกว่า เราจำต้องอาศัยใช้ภาคีเครือข่าย หรือการหนุนเสริมกันนะครับ คล้ายๆกับทำวิจัยแบบ PAR แต่เอามาใช้ในงานสื่อ
  • ความคิดของคุณแว้บเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้คนชายขอบมีอำนาจต่อรอง แต่คนเหล่านี้ต้องการพี่เลี้ยงอย่างมากครับ
  • ถ้าสถาบันการศึกษา หรือครูอาจารย์ท่านใด จะมีบริการชุมชนในด้านนี้ คงจะดีไม่น้อย และน่าจะได้มารวมกลุ่มชวนกันคิดกันทำนะครับ
  • อย่างน้อยก็ในบันทึกโกทูโนวแบบนี้

สวัสดีครับพี่วิสุทธิ์

พอผมเขียนไปก็นึกไปว่ามันจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรได้บ้าง แน่นอนว่าทุนวัตถุ ความรู้และเครือข่ายของบ้านเราน้อยกว่าที่อเมริกามาก ผมเห็นรายการที่นำเสนอเรื่องราวของคนชายขอบบ้านเราก็ต้องสู้กับปัญหาเรื่องทุนหนักพอสมควร อีกแห่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและติดตามอยู่ห่างๆ มานานคือมูลนิธิกระจกเงา เจ้าของ bannok.com เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องนะครับ เพิ่งจะทราบว่าเขาแยกเว็บ e-commerce ออกมาชื่อว่า ebannok.com (ชื่อเขาแรงจริงๆ)

พูดตรงๆ นะครับ ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัวผมมาก แม้จะเคยทำงานกิจกรรมสมัยเป็นนิสิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมสามารถพูดแทนเขาได้ แต่ผมมองในมุมมองของผมที่เห็นว่าวีดีโอใน youtube มีข้อดีที่เด่นชัดอยู่สองประการคือ (1) เป็นตัวจริงเสียงจริง ซึ่งผมไม่ใช่ และ (2) วิธีการนำเสนอเฉียบขาดมากโดยเฉพาะ "In My Language" ของคุณ Amanda Baggs เพราะตอบโจทย์ที่ต้องการได้ตรงเผง คือต้องการสร้างกระแส สร้างความเข้าใจ ผมมองว่าเรื่องการนำเสนอนี่ละครับที่ผมพอจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้บ้าง เช่นเริ่มจากการแนะนำการใช้สื่อ หรือถ้าผมสอนวิชาตัดต่อวีดีโอ ก็พาน้องๆ นักเรียนไปซะเลยเป็นไง

นึกถึงอีกเรื่องคือผมตอนอ่านบันทึกของพี่ก็คือเรื่องโครงการหนังสือทำมือ การเอาเรื่องของน้องๆ มาเล่าให้ฟังนั่นละครับ อ่านแล้วเป็นประกายจริงๆ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท