Self AAR 6


เดือนกุมภาพันธ์ สำหรับดิฉัน เป็นเดือนแห่งการพบปะพูดคุย เนื่องจากดิฉันเตรียมโปรแกรมนัดพบหน่วยงานย่อยทีละหน่วยงาน  เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ และหาแนวทางแก้ไข ประกอบด้วย 4 ภาควิชา 1 สำนักงานเลขา และ 1 สโมสรนิสิต ในแต่ละภาควิชาก็จะให้นักวิชาการศึกษาประจำภาค เป็นเลขาคอยจดบันทึกเรื่องที่คุยกันด้วย มีเลขาคณะเข้ารับฟังและบันทึกไว้อีกทุกกลุ่ม สำหรับสโมสรนิสิต ก็มีนักกิจการนิสิต รับฟังอยู่ด้วย

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคณบดีพบบุคลากรทั้งคณะ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ให้ผลผิดกันไกลทีเดียว การได้พูดคุยกันในวงแคบ และเป็นวงที่มีวัฒนธรรม/ ลักษณะงานแบบเดียวกัน จะได้รับทราบปัญหาที่ชัดเจน และได้เรียนรู้ อุปนิสัย ความคิด ความต้องการของแต่ละบุคคลอย่างเข้าถึงจริงๆ  ดังนั้นปัญหาที่จดบันทึกไว้ในแต่ละหน่วยงาน จึงยาวเป็นหางว่าว  แต่ก็มีหลายเรื่องสามารถแก้ไข หรือสนองความต้องการได้ทันที แม้อีกหลายเรื่องที่ต้องการเงิน  ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ หรือต้องการการปรับกระบวนการให้ชัดเจน ก็ล้วนแก้ไขได้  หากให้ความสนใจจริงๆ (ดิฉันพยายามตั้งใจฟัง ถ้าจะพูดก็เพียงพูด เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายและพยายามกระตุ้นให้ทุกคนได้พูด) เป็นวิธีที่ดีมากนะค่ะ แทบไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย และได้งานกลับมาทำต่อเพี๊ยบ

คราวนี้เป็นงานนอกสถาบันบ้าง  2 - 3 ปี ที่ผ่านมา งานที่เกี่ยวกับวิชาชีพรังสีเทคนิค ที่ดิฉันเคยมีส่วนร่วมอยู่ คือ การเป็นอนุกรรมวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านการจัดสอบและขึ้นทะเบียนฯ  และปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ ส่วนการเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค (ชุดใหญ่) ดิฉันไม่สามารถเข้าไปเป็นกรรมการได้ เพราะไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด (พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ว่าต้องเป็นคณบดีคณะรังสีเทคนิคหรือหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค)  ครั้นพอได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี ดิฉันก็เข้าใจว่า ดิฉันเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพโดยปริยาย เพราะใครๆ ในวิชาชีพนี้ ก็รู้ดีว่า คณะรังสีเทคนิคนั้นไม่เคยมี และยังไม่มีปรากฎในประเทศไทยตราบเท่าทุกวันนี้

ในการประชุมคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งที่ผ่านมา (วันที่ 8 ก.พ. 49) ดิฉันจึงเข้าร่วมประชุมโดยเหตุแห่งความเข้าใจเองดังนี้  และถูกคณะกรรมการวิชาชีพทักว่า ท่านมาแทนหัวหน้าภาคกระนั้นหรือ??  ดิฉันแปลกใจ ที่ได้รับคำถามที่ไม่คาดคิดเช่นนี้  เพราะดิฉันไม่ได้ตีความตามตัวอักษรในพระราชกฤษฏีกาฯ อย่างตรงๆ  แต่ตีความเอาเองว่า ข้อความในกฏหมายสื่อเจตนาให้เป็นคณบดี (ผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานทางการศึกษา) เป็นกรรมการ  แต่ถ้าหน่วยงานไหนไม่มีคณบดี ก็อนุโลมให้ตำแหน่งรองลงมาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เป็นกรรมการก็ได้ ซึ่งก็คือหัวหน้าภาควิชา  แล้วนี่ การประชุมครั้งถัดไป ดิฉันควรให้หัวหน้าภาคอนุมัติให้คณบดีไปแทนดีไหมนี่ ??  เป็นคณบดีที่มีชื่อคณะว่าสหเวชศาสตร์  จึงไม่เข้าข่ายวิชาชีพไหนๆ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เอาไว้เป็นข้ออ้างได้ ไม่ต้องรับผิดชอบ

กลับเข้ามาทำงานในคณะดีกว่า โดยเฉพาะการขลุกอยู่กับนิสิต เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ดิฉันได้มากที่สุด งานแสดงผลงานโครงงานภาคโปสเตอร์ของนิสิตระดับมหาวิทยาลัยปีนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 49  คณะสหเวชศาสตร์ ส่งผลงานโครงงานของนิสิตเข้าประกวดทุกสาขาวิชา นับได้ว่าเป็นคณะวิชาที่นำผลงานเข้าประกวดจำนวนมากที่สุด  ดิฉันถือเป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ แม้จะมีภารกิจมากมายเพียงใด  ดิฉันต้องไปให้กำลังใจแก่นิสิตในงานให้ได้ แม้มีเวลาเพียงน้อยนิดก็ยังดีกว่าไม่ไปเสียเลย  ลูกศิษย์ก็เหมือนลูก  เขาจะไปแสดงผลงาน แสดงความสามารถที่ไหน พ่อ แม่ต้องไปชื่นชมให้กำลังใจ  ผลที่ได้จะดีหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าความกล้าแสดงออกของเขา เพียงเท่านี้ดิฉันก็ภูมิใจมากแล้ว ดิฉันไปร่วมงานทุกปี  ปีนี้คณะสหเวชฯ ก็คว้ารางวัลมาอีก  2 รางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ  เป็นรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 1  ชื่อผลงาน คือ

การประดิษฐ์เครื่องวัดความหนาทรวงอกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดย

    • นายฉัตรชัย โคตถา
    • นางสาวนพเก้า เรืองสมบัติ
    • นายสราวุธ ธนชวนชัย 

การประดิษฐ์กล่องไฟนิรภัยที่ได้มาตรฐานสำหรับห้องมืดเอกซเรย์

    • นายธวัชชัย ปราบศัตรู
    • นายมานพ คำมุงคุณ
    • นายอุเทน สง่าประโคน

เนื่องจากผลงานทั้ง 2 ชิ้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ ดิฉันจึงส่งเสริมให้นิสิตไปจดทะเบียนสิทธิบัตรด้วย และเตรียมปรับปรุงเพื่อส่งเข้าประกวดในระดับภูมิภาค และระดับประเทศต่อไป (ถ้าโชคดีเข้ารอบ)

ในเดือนนี้ นอกจากการพบปะพูดคุยกับบุคลากรในคณะแล้ว ดิฉันยังมอบหมายให้งานบุคคลของคณะ (คุณนิตยา รอดเครือวัลย์) จัดทำแบบประเมินตนเองของผู้บริหารด้วย โดยทำคู่ขนานกับแบบประเมินตนเองของบุคลากร ทั้งนี้ จากผลประเมินทั้ง 2 กลุ่ม สามารถนำมาวิเคราะห์การบริหารงานของกลุ่มผู้บริหารของคณะโดยรวมได้  แบบประเมินดังกล่าวดัดแปลงมาจากแบบประเมินของ Baldrige National Quality Program Web site ท่านสามารถดาว์นโหลดได้จาก  www.baldrige.nist.gov. ส่วน version ภาษาไทยที่ดิฉันดัดแปลงเป็นของคณะ เป็นดังนี้ แบบประเมินตนเองของผู้บริหาร  แบบประเมินตนเองของบุคลากร  งานนี้คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี หัวหน้าภาควิชา เรื่อยลงมาถึงหัวหน้าสำนักงาน ต้องทำใจเพราะถูกประเมินหมด

การดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของบุคลากรในคณะ เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน  ในเดือนนี้คณะฯ ลงทุน ซื้อเครื่องไล่นก แบบ High Tech (ไล่ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) มาติดตั้งบนดาดฟ้าของอาคารของคณะฯ ซึ่งเดิมเป็นแหล่งพำนักอาศัยอันแสนสุข แต่สุดแสนสกปรก ด้วยมูลนกและซากนกพิราบ ติดตั้งมาได้สัก 2 สัปดาห์แล้ว ได้ผลดีทีเดียว ทั้งนี้ ก่อนติดตั้งก็ได้ทำความสะอาด และพ่นยากำจัดเชื้อโรค เสียแต่ว่า ราคาแพง เพราะเป็นของนอก แต่ก็คำนวณแล้วว่า ถูกกว่าการซื้อตาข่ายมาขึง ซึ่งมีข้อเสียอีกอย่าง คือ ทำให้มองอาคารจากภายนอกแล้วทัศนวิสัยไม่สวยงาม อย่างไรก็ตาม ความพยายามในครั้งนี้  ทำให้คุณจักรพงศ์  แสงจักร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของคณะฯ เกิด Idea ในการไล่นกขึ้นมาใหม่ ซึ่งดิฉันขออุบไว้ก่อน ถ้าได้ผลแล้ว จะนำมาเล่าให้ฟังต่อไป

ส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคบุคลากรในคณะ เมื่อเป็นคนในวิชาชีพทางด้านสุขภาพ ก็ไม่ควรเสียแรงที่เป็น  จึงต้องทำเพื่อตนเองด้วย (ตัวเองไม่แข็งแรงแล้ว จะไปช่วยให้คนอื่นแข็งแรงได้อย่างไร ? ) คณะฯ จึงจัดให้ทุกสาขาวิชา ตรวจสุขภาพให้บุคลากรของคณะกันเองด้วย มีทั้ง เอกซเรย์ปอด  ตรวจภาวะกระดูกพรุน  วัดสมรรถภาพของร่างกาย  เจาะเลือดตรวจทุกระบบ มีเครื่องตรวจวัดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย  ตลอดจนให้มีวันเต้นแอโรบิค และเปิดห้อง Fitness ให้ใช้บริการ  ดิฉันคิดว่าการออกกำลังกาย ก็ควรส่งเสริมตลอดไป  ส่วนการตรวจสุขภาพก็ให้มีเป็นประจำทุกปีเช่นกัน

งานของมหาวิทยาลัย ที่ดิฉันพอช่วยได้บ้างในเดือนนี้ คือ

  1. เป็นวิทยากรร่วม กับท่านอาจารย์วิบูลย์ (ผศ.ดร.วิบูลย์   วัฒนาธร) ในคราวหน่วยประกันฯ มน. จัดอบรมการเป็น CKO / KF ของกลุ่มบุคลากรเลขานุการคณะ กับ QA  (6 ก.พ. 46) งานนี้ ดิฉันค้นพบ ดาวรุ่งดวงใหม่ ซึ่งจะเป็นหัวเรื่ยวหัวแรงสำคัญทั้งทางด้านประกันคุณภาพและทางด้าน KM ให้กับมหาวิทยาลัยต่อไปได้เป็นอย่างดียิ่งทีเดียว คือ อาจารย์ ดร.รุจโรจน์  แก้วอุไร  ความจริง ผลงานต่างๆ ของอาจารย์รุจโรจน์ ท่านทั้งหลายคงประจักษ์ในเวที B2B อย่างชัดเจนอยู่แล้ว
  2. งานด้าน ฐานข้อมูล Online ของสกอ. ที่กองแผน สำนักงานอธิการบดี จะต้องรวบรวมในระดับมหาวิทยาลัย (ดิฉันเป็นหนึ่งในกรรมการรวบรวมข้อมูล) ความจริงนับเป็นเรื่องที่ดี ที่หน่วยเหนือ สกอ. เป็น FA จัดทำโปรแกรมฐานข้อมูลทั้งระบบ เพราะขืนปล่อยให้หน่วยงานในสังกัดดิ้นรนสร้างกันเอง (ที่จริงก็ทำกันอยู่ เพราะไม่ทันใจ) ข้อมูลก็จะแปลกแยกแตกต่างเทียบเคียงกันได้ยาก สิ่งที่ดิฉันค้นพบทั้งในระดับคณะ  มหาวิทยาลัย และ สกอ. ที่เป็นบทเรียน คือ ก่อนที่เราจะสั่งให้ใครทำอะไรให้เรา ถ้าอยากได้งานที่มีคุณภาพ ตรงกับความประสงค์ของเรา เราในฐานะของผู้สั่งงานจำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจน  ตั้งแต่ที่มา  ความสำคัญ และความหมายของเรื่องนั้นๆ  มิฉะนั้น ผลที่ได้ก็จะไม่ถูกต้อง และเสียเวลา บางครั้งก็เสียความรู้สึกด้วย

คำเตือน (ตน)

เดือนหนึ่งๆ ที่ผ่านไป

วันหนึ่งๆ ที่ล่วงไป

ช่างรวดเร็วเหลือเกิน

เวลามีค่ามากนัก

ต้องใช้เวลาทุกวินาทีอย่างมีค่าที่สุด

ก่อนที่จะไม่มีเวลาให้ใช้ 

 

 

 

    

คำสำคัญ (Tags): #self#aar
หมายเลขบันทึก: 16881เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2006 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท