หมอบ้านนอกไปนอก(55): เจ็บไข้ได้ป่วย


ระบบสุขภาพมีความหมายกว้างกว่าเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเยอะ เป็นระบบที่ซับซ้อน เกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆหลายมิติ การปฏิรูประบบสุขภาพต้องอาศัยผูนำที่กล้าเปลี่ยนแปลง จริงใจ จริงจังและทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

        สัปดาห์ที่ 25 อากาศคลายความหนาวลงไปมาก น่าจะเป็นสัญญาณการเคลื่อนเข้าสู่ฤดูร้อน ตอนแรกผมกลัวว่าอากาศหนาว ผมจะแพ้อากาศเป็นหวัดคัดจมูกง่าย แต่ผ่านไปหกเดือนไม่มีปัญหาเลย มีเพียงหายใจดังเฉยๆ ตอนปีใหม่กลับเมืองไทยช่วงบ่ายมีจามตลอด อาจจะมาจากแพ้ฝุ่นมากกว่า เมืองไทยฝุ่นเยอะกว่าเบลเยียมอย่างเห็นได้ชัด ภรรยาเตรียมยามาให้หลายชนิดแต่โชคดีที่ได้ใช้น้อยมาก วันหนึ่งสุวรรณฤทธิ์ (ริด) ปวดข้อ ผมกับพี่เกษมเอายาไปให้เขา เขาบอกว่าคุณนี่เป็นหมอจริงๆเลย  

        อยู่เบลเยียมผมดูแลตัวเองดีกว่าอยู่เมืองไทยเยอะ ออกกำลังกาย ทานอาหารพอเหมาะ ลดอาหารที่มีน้ำตาลหรือขนมหวาน ควบคุมน้ำหนักตัวและเส้นรอบเอว ทานผักผลไม้ กินยาต่างๆน้อยมาก ตั้งแต่ปีใหม่กลับมาสวดมนต์และสวดชินบัญชรก่อนนอนทุกคืน ต้องขอบคุณพี่อ้อ (ราเชนทร์ ทัพภวิมล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด) ที่ให้หนังสือสวดมนต์เป็นของขวัญปีใหม่ ผมร้างราการสวดมนต์ก่อนนอนไปนานมาก พอได้สวดมนต์ทำให้จิตใจสงบดีขึ้น ส่วนใหญ่หลับดีขึ้น แม้อยู่เบลเยียมมีประกันสุขภาพให้ แต่ไม่อยากป่วยที่เบลเยียมเพราะไม่มีใครดูแลและต้องร่วมจ่าย (Co-payment) เมื่อไปรักษาพยาบาล ทำให้ต้องดูแลตัวเอง

        ยาย (แม่ใหญ่) ส้มจีนของผมอายุย่าง 91 ปี ป่วยมาเป็นเดือนแล้วไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสวรรคโลกหลายวันต้องขอบคุณพี่วิชัย (ผู้อำนวยการโรงพยาบาล) ที่ช่วยดูแลเป็นเจ้าของไข้อย่างดี ขอบคุณพี่วิศิษย์ สนปี (เพื่อนแพทย์เชียงใหม่) ที่ช่วยดูและส่งตัวยายไปนอนโรงพยาบาลและคุณหมออีกท่านหนึ่งที่แม่จำชื่อไม่ได้ช่วยเป็นธุระดูแลให้อย่างดี การมีหมอที่รู้จักกันดูแลทำให้ลดความวิตกกังวลได้เยอะ ความรู้จักมักคุ้นทำให้ผู้ป่วยและญาติอบอุ่นใจ HAจึงเน้นการตอบสนองสิทธิผู้ป่วยกำหนดให้แพทย์ต้องแจ้งชื่อให้ผู้ป่วยและญาติทราบว่าใครกำลังรักษาเขาอยู่ เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

        หมอบอกว่ายายเป็นโรคถุงลมโป่งพอง เพิ่งวินิจฉัยเป็นครั้งแรกแล้วมีปอดบวมแทรกซ้อน ยายไม่สูบบุหรี่ แต่ตาสูบบุหรี่ ผู้ชายในบ้านส่วนใหญ่สูบบุหรี่ เป็นไปได้ว่ายายเป็นผู้สูบมือสองที่รับควันบุหรี่จากคนอื่นๆ น่าดีใจที่บ้านเราการรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ทำได้ดีมาก ที่เบลเยียมมีคนสูบบุหรี่ตามถนนหนทางเยอะมากทั้งวัยรุ่นหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงวัย ในร้านอาหารหรือบาร์ ผับเต็มไปด้วยคนสูบบุหรี่ ยายออกไปพักอยู่บ้าน แม่ละภารกิจจากการดูแลหลานกลับไปดูแลยาย ยายไม่ยอมขยับตัว ไม่ยอมทานอาหารเอง ต้องให้อาหารทางสายยาง แม่เป็นคนหลักในการดูแล ต้องเรียนรู้การทำอาหารและให้อาหารทางสายยาง การพลิกตัวเพื่อป้องกันแผลกดทับ

        การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเป็นภาระหนักของคนในครอบครัวที่ต้องเรียนรู้วิธีการต่างๆและบางทีอาจมีปัญหาขัดแย้งกันในการดูแลระหว่างญาติพี่น้องได้ ด้วยความที่เห็นความสำคัญในด้านนี้ ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตากจึงได้สนับสนุนให้เปิดงานการพยาบาลผู้สูงอายุโดยมีน้อย (วราพร คุ้มอรุณรัตนกุล) เป็นหัวหน้าทีมดำเนินการสามารถช่วยดูแลผู้สูงอายุและแนะนำญาติให้ดูแลผู้สูงอายุได้ดีมากแต่มีปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุน

        ยายมีบัตรทอง ทำให้รักษาฟรี โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค (สามสิบบาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค) หรือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีทำให้คนไทยเข้าถึงบริการมาก (Accessibility) ขึ้น เป็นการสร้างความเป็นธรรม (Equity) ในสังคม ช่วยลดความยากจนจากความเจ็บป่วย (Iatrogenic poverty) จากการควักกระเป๋าจ่าย (Out- of- pocket) ค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากลงได้ เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการนี้คือพี่สงวน นิตยารัมพงศ์ (อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ที่เพิ่งล่วงลับไป ที่เกาะติด ทุ่มเทมาตลอด

        เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของระบบสุขภาพ เมื่อคนๆหนึ่งมีโรค (Disease) ในตัว เขาอาจมีปัญหาทางด้านจิตใจ สังคม จิตวิญญาณตามมาเกิดเป็นความเจ็บป่วย (Illness) ขึ้น และเชื่อมโยงกับปัญหาแวดล้อมรอบตัวอื่นๆทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ (Sickness, Health problem) ขึ้นมา ที่เกิดจากภาวะรวมๆของความทุกข์ (Suffering) จากการเจ็บป่วยในทุกๆด้าน จนต้องการการบำบัดดูแล มีต้นทุน(Cost) ที่อาจจ่ายเองหรือคนอื่นจ่ายให้ทั้งทางตรง (Direct cost) ในการรักษาพยาบาล หรือทางอ้อม (Indirect cost) สำหรับคนใกล้ชิดที่ต้องลางาน สละเวลามาช่วยดูแลและต้นทุนที่จับต้องไม่ได้ (Intangible cost) เช่น ความเจ็บปวด ความโศกเศร้า ความเครียดต่างๆ การสูญเสียความมั่นใจ เป็นต้น การปฏิรูประบบการเงินด้านสุขภาพจึงต้องใส่ใจเรื่องพวกนี้ด้วย โครงการบัตรทองนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินอย่างมาก มีการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน (Purchaser-provider split)  แต่การปรับเปลี่ยนคงมีปัญหาอยู่บ้างถ้าการบริหารจัดการหน่วยบริการยังเป็นแบบเดิม ไม่ปรับตัวตาม

        ระบบสุขภาพเป็นระบบซับซ้อน (complex system) ที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเส้นตรง (linear) จากหนึ่งไปสอง แต่ปัจจัยต่างๆหลากหลายเชื่อมสัมพันธ์เป็นทั้งเหตุและผลกันอย่างมาก เมื่อปฏิรูปหรือปรับปรุงระบบจึงต้องมีการเตรียมการอย่างดี ทำเชิงยุทธศาสตร์ มองทุกอย่างเป็นระบบ ขับเคลื่อนไปทั้งระบบ คนทำต้องกล้าเปลี่ยนแปลงภายใต้ความรอบคอบระมัดระวังอย่างจริงจังและจริงใจ เหมือนกับหมอที่ต้องการผ่าตัดคนไข้ ไม่ใช่อยู่ๆก็จับคนไข้ขึ้นเตียงผ่าตัดเลย ต้องเตรียมเลือด เตรียมน้ำเกลือ เตรียมสภาพคนไข้ให้พร้อม วิเคราะห์วินิจฉัยให้ชัดเจนก่อนและที่สำคัญคนไข้ต้องยินยอมรับการผ่าตัดด้วย มิฉะนั้นการผ่าตัดย่อมมีปัญหา การผ่าตัดระบบริการสุขภาพก็เช่นเดียวกัน

        วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 อ่านหนังสืออยู่บ้านทั้งวัน แม้ท้องฟ้าโปร่งใส ใจก็ไม่อยากออกไปไหน ตอนบ่ายมีติวกับพี่เกษมและริดที่บ้าน ตอนเย็นออกไปปั่นจักรยานริมน้ำ คนเริ่มมาวิ่งออกกำลังกายกันมากขึ้นเพราะเริ่มหนาวน้อยลง ริมน้ำเป็นที่จอดรถ มีเรือขนาดใหญ่มาเทียบเป็นจุดๆ ท้องฟ้าใส มองเห็นทิวเมฆเป็นทางยาวตามแนวบินของเครื่องบิน พระอาทิตย์ยังคงเรืองแสงอ่อนๆ สายลมเย็นๆ ผ่อนคลายความตึงเครียดไปได้เยอะ กลับมาทานข้าวเย็น ซักผ้าแล้วก็อ่านหนังสือต่อ

        วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ตอนเช้าสอบระบาดวิทยา ทำได้แต่ไม่รู้ตรงใจอาจารย์หรือเปล่า กลับบ้านมานอนพัก อ่านหนังสือ ออกไปขี่จักรยานริมน้ำสเกลด์ยามเย็น ริดมาติวด้วย จนสี่ทุ่มก็แยกย้ายกันอ่านหนังสือต่อ ผมอดคิดไม่ได้ว่าเราจะมีวิธีวัดผลการเรียนที่ไม่ต้องเครียดกับการสอบไหม ถ้าไม่มีสอบเด็กก็ไม่อ่านหนังสือ พอมีสอบก็เครียด บางทีที่อ่านไปก็ไม่ตรงกับที่ออกสอบ บางครั้งอ่านเยอะอ่านน้อยเลยไม่แตกต่างกันในผลของการสอบ

         วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ท้องฟ้าที่เคยสดใสมาหลายวัน เปลี่ยนเป็นฟ้าครึ้มฝนตก สอบวิชาการตัดสินใจ ค่อนข้างยาก ตอนบ่ายต่อสไกป์คุยกับน้องแคน แม่และภรรยาหลังจากที่ไม่ได้คุยกันหลายวัน สดชื่นขึ้นมาก ผ่อนคลายไปได้เยอะ ไม่ต้องไปปั่นจักรยานเลย การอ่านหนังสือแบบหักโหมมาหลายวันทำให้ค่อนข้างอ่อนล้า เหนื่อยหน่ายและเครียด พี่เกษมดูสบายๆมากกว่า ไม่ต้องอ่านมาก นอนเยอะตั้งแต่สี่ทุ่มแทบทุกวัน แต่ก็ทำข้อสอบได้ดี ทำให้นึกถึงรูมเมทสมัยเรียนแพทย์คือหมอใหญ่ (จงกิจวัตร จิววิจิตต์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแม่สอด ตาก) คล้ายๆกันเลย นอนเยอะมากสี่ห้าทุ่มก็นอนแล้ว อ่านหนังสือไม่มากแต่คะแนนสอบออกมาดี ผมอ่านมากกว่าแต่ได้คะแนนน้อยกว่า หมอใหญ่ทำกับข้าวเก่งเหมือนพี่เกษม ภรรยาหมอใหญ่ชื่อคล้ายๆภรรยาผม (เอ้ กับ เอ๋) เป็นพยาบาลเหมือนกัน หุ่นคล้ายๆกันและเป็นนักกีฬาเหมือนกัน

        วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ฟ้าใส ฝนไม่ตก มีสอบเศรษฐศาสตร์ ไม่ยากนัก แต่คาดเดาผลยาก ต้องใช้วิจารณญาณในการตอบสูง ไม่ตรงไปตรงมา กลับบ้านทานข้าวกลางวันแล้วก็นอนอ่านหนังสือแล้วเผลอหลับไปนานพอควร ตื่นมาแล้วสดชื่นมาก ได้อ่านหนังสือต่อจนเย็น หลังอาหารเย็นมีการติวกับพี่เกษมเกือบสี่ทุ่ม กลับห้องนอน ฟังเทปภาษาอังกฤษแล้วก็นอนหลับ

        วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ฟ้ายังคงสดใส ไร้ซึ่งเม็ดฝน สอบวิชานโยบายสุขภาพ ข้อสอบดูเหมือนไม่ยาก แต่ก็ยากเพราะต้องวิเคราะห์ทุกข้อ หลังทำข้อสอบเสร็จอาจารย์วาลาเรียมาแจกแบบประเมินหลักสูตรหลังเรียนจบเนื้อหาหลัก 3 ส่วนคือการพัฒนาระบบสุขภาพ การจัดการปัญหาสุขภาพและการวิเคราะห์ วิจัย การตัดสินใจและการบริหารโครงการ แบบประเมินยาวมาก ละเอียด ครอบคลุมเนื้อหาหลักสูตร วิธีการสอน การจัดตารางเรียนและกระบวนการเรียนรู้ หลังจากประเมินจากนักศึกษาแต่ละคนแล้วจะให้มีการจัดกลุ่มเพื่อวิเคราะห์แล้วนำผลที่ได้ไปปรับปรุงหลักสูตร หลังสอบทุกวันผมรู้สึกสมองอ่อนล้ามากเพราะต้องถูกเคี่ยวเข็ญให้ตอบข้อสอบ บรรยากาศที่ตึงเครียดทำให้ความสามารถในการจินตนาการหล่นหายไปเยอะ

        พูดถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็ขอเล่าเรื่องระบบสุขภาพของเบลเยียมต่อเลย โครงสร้างประชากรของเบลเยียมเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเป็นแบบฐานกว้างปลายแคบแบบประเทศกำลังพัฒนาแต่ปัจจุบัน (2007) ฐานแคบลง ตรงกลางกว้างและปลายแคบแบบประเทศพัฒนาแล้วทั่วไป ส่วนใหญ่อายุ 15-65 ปี ร้อยละ66.8 น้อยกว่า 15 ปี ร้อยละ 18.1 มากกว่า65 ปี ร้อยละ 15.2 มีประชากรรวม 10,584,534 คน ความหนาแน่ประชากร 346 คนต่อตารางกิโลเมตร อัตราเกิดอย่างหยาบ 11.5 ต่อพัน อัตราตายอย่างหยาบ 10 ต่อพัน อัตราทารกตาย 4.4 ต่อพัน อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดชาย 75.85 ปีและหญิง 81.69 ปี

        ลักษณะหลักๆทางด้านสุขภาพ ระบบสุขภาพของเบลเยียมเกิดการพัฒนาไปตามธรรมชาติ มีระบบประกันสุขภาพแบบบังคับร่วมกับระบบบริการสุขภาพแบบเอกชน หน้าที่หลักร้อยละ 90 ของภาคราชการเน้นหนักไปที่การกำกับภาคเอกชน โดยผ่านทางกลไกหลักคือระบบประกันสุขภาพ ในระบบบริการสุขภาพมีแพทย์รวม 41,734 คน อัตรา 4 ต่อพัน (2004) ทันตแพทย์ 8,660 คน อัตรา 0.83 ต่อพัน (2004) นักกายภาพบำบัด 28,252 คน พยาบาล 67,295 คน (2004) มีเตียงรับผู้ป่วย 56,000 เตียงหรือ 5.38 ต่อพัน (2001) เตียงรับผู้ป่วยจิตเวช 16,000 เตียงหรือ 1.53 ต่อพัน (2001) เตียงสำหรับการพยาบาลที่บ้าน 2.93 ต่อพัน (1991) บ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ 94,000 เตียง (1999) บริการเยี่ยมบ้าน บริการส่งเสริมป้องกันโรคเช่นอนามัยแม่และเด็ก อนามัยเด็กวัยเรียน อาชีวอนามัย

         ระดับบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ไม่มีการแยกกันอย่างเป็นทางการ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทุกระดับได้โดยตรง แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคล้ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในการดูแลระดับปฐมภูมิ ไม่มีระบบส่งต่อและรับส่งต่ออย่างเป็นทางการ จึงไม่มีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยที่จะไปใช้บริการในระดับต่างๆ ผลการให้บริการในปี 1999 อัตราใช้บริการเฉลี่ย 5 ครั้งต่อคนต่อปีกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ความครอบคลุมของวัคซีนโปลิโออยู่ที่ ร้อยละ 95.4 คอตีบไอกรนบาดทะยัก ร้อยละ 97 หัดร้อยละ 81-92.1 ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 1.8 ล้านคน (1998) ระยะเวลานอนเฉลี่ย 7.5 วัน

         การประกันสุขภาพในระบบประกันสังคม เป็นระบบบังคับครอบคลุมกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (Major risk) สำหรับประชากรทุกคนและความเสี่ยงต่ำ (Minor risk) สำหรับร้อยละ 88 ของประชากรเช่นตกงานหรือช่วยเหลือครอบครัว ระบบนี้เรียกว่าระบบทั่วไป (General scheme) คิดเป็นร้อยละ 90 บนหลักฐานการประกันสังคม ไม่มีแบ่งแยก ทุกคนได้เข้าระบบโดยไม่มีข้อจำกัด การร่วมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นตามระดับของรายได้ ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น

        ระบบการเงิน (Financial system) เป็นระบบผสม มีเงินสมทบจาก 3 แหล่งคือประมาณร้อยละ 42 จากนายจ้างและลูกจ้าง (National Office for Social security: ONSS) ร้อยละ 42 จากภาษีทั่วไป (general taxation) ร้อยละ 16 มาจากการร่วมจ่ายทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของผู้ใช้บริการ การบริหารระบบการเงินทางสุขภาพบริหารโดยINAMI-RIZIV ภายใต้การดูแลของกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการสังคม (Ministry of Health & Social Affairs) อัตราค่าบริการมีการเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการทุกปี ถ้าตกลงกันไม่ได้กระทรวงสุขภาพจะเป็นผู้กำหนดให้ การจ่ายเงินในให้สถานบริการมี 2 แบบคือร้อยละ 95 จ่ายตรงให้สถานบริการตามการเรียกเก็บ (Fee for service system) สำหรับบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป อีกร้อยละ 5 เป็นระบบเหมาจ่ายตามหัวประชากรที่ลงทะเบียน (Capitation fee system หรือ Forfait) ส่วนบริการเฉพาะด้านจ่ายโดยระบบร่วมจ่าย (Mutuality) แบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยสำรองจ่ายไปก่อนแล้วขอเบิกเงินคืนภายหลังแต่ได้คืนประมาณร้อยละ 75 ของที่จ่ายจริง ส่วนผู้ป่วยในทางMutualityจ่ายตรงให้โรงพยาบาล

         ในปี 2000 มีการคิดค่าบริการรายหัว (Capitation tarrifs) ออกเป็น 4 กลุ่มคือAO, VIPO75, VIPO100, VIPOMEX มีอัตราทั้งสูงสุด (Maximum) และต่ำสุด (Minimum) แต่ละกลุ่มขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคม (social status) ค่าบริการเหล่านี้จ่ายให้กับผู้ให้บริการ 3 กลุ่มคือแพทย์ นักกายภาพบำบัดและพยาบาล ดังนี้

        AO จ่ายสูงสุด/ต่ำสุดให้แพทย์ 37.2/54.9 นักกายภาพบำบัด 24/24 พยาบาล 8.4/8.4 รวม 69.6/87.4 ยูโร

        VIPO75 จ่ายสูงสุด/ต่ำสุดให้แพทย์ 86.4/122.1 นักกายภาพบำบัด 81/81 พยาบาล 135.3/135.3 รวม 302.7/338.4 ยูโร

        VIPO100 จ่ายสูงสุด/ต่ำสุดให้แพทย์ 173.7/241.5 นักกายภาพบำบัด 157.5/157.5 พยาบาล 427.2/427.2 รวม 758.4/826.2 ยูโร

        VIPOMEX จ่ายสูงสุด/ต่ำสุดให้แพทย์ 173.7/241.5 นักกายภาพบำบัด 24/24 พยาบาล 8.4/8.4 รวม 206.1/273.9 ยูโร ความหมายของ 100 คือสามารถเบิกคืนได้เต็มจำนวน ส่วน 75 คือเบิกได้แต่ร้อยละ 75 ซึ่งจะเป็นในกลุ่มของแม่ม่าย เด็กกำพร้า ตกงาน ไร้ความสามารถ ส่วน AO อาจได้คืนมากหรือน้อยกว่า ร้อยละ 75 ก็ได้

        ระบบสุขภาพของเบลเยียมมีความซับซ้อนตามความสามารถในการจ่าย ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในแต่ละปีประมาณร้อยละ 9.5 ของGNP ระบบยังคงเป็นลักษณะเน้นโรค (Disease-oriented) มุ่งไปทางเรื่องรักษาโรคมากกว่าส่งเสริมสุขภาพ ระบบประกันสุขภาพมุ่งไปที่การสามารถเข้าถึงบริการได้ (Accessibility) โดยยังไม่ได้สนใจในเรื่องการยอมรับ (Acceptability) ในบริการที่จัดให้ สถานบริการในเบลเยียมเป็นเอกชนทั้งหมดแต่เป็นแบบไม่หวังกำไร (Private-non-for- profit) ใช้ระบบจ้างเหมา (Contract) แบบ Contracting-in ส่วนที่เราคุ้นเคยกันโดยจ้างเหมาเอกชนทำนั้นเรียกว่า Contracting-out

        เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความรักทั้งแบบฝรั่งคือวาเลนไทน์กับแบบพุทธคือมาฆบูชาที่ผ่านมา ผมจบด้วยบทกลอนเชยๆที่เขียนส่งให้ภรรยาเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ด้วยความคิดถึงบ้าน

แม้ตัวไกล ใจใกล้ ไม่แปรผัน                     ดวงใจฉัน ซื่อตรง คงเสมอ          

มอบอยู่เคียง ข้างกาย และใจเธอ               ไม่พลั้งเผลอ รักมั่น นิรันดร์ไป      

ใจดวงนี้ เคยเหงา เปล่าเปลี่ยวนัก               มาพบรัก เธอให้ ใจสดใส            

เปี่ยมพลัง พร้อมก้าวเดิน ตลอดไป             ใจคู่ใจ กายชิด สนิทนาน             

วาเลนไทน์ ใช่วันเดียว แห่งความรัก            ตัวพี่จัก บอกแจ้ง แถลงสาส์น      

รักของพี่ มอบให้เอ้ ทุกวันวาร                    ตราบแสนนาน ร่วมภิรมย์ สุขสมเอย

 

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

28 กุมภาพันธ์ 2551, 15.35 น. ( 21.38 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 168047เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2008 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมไม่รู้เป็นเพราะอะไรเหมือนกันครับหมอ   เดิมผมเป็นคนแพ้มากๆ  มีอาการน้ำมูกไหล บ่อยมาก

พอไปเรียนผมเลยเตรียมยาแก้แพ้ไปหลายเม็ด เพราะเกรงว่าช่วงแรกอาจจะจะต้องใช้

แต่ปรากฏว่าตรงกันข้ามครับ   อาการนี้หายไปเลย  จนถึงทุกวันนี้  เป็นน้อยมากครับ  น่าจะเป็นที่ความสะอาดของอากาศนะครับ  และฝุ่นน้อยอย่างที่หมอว่าจริงๆ

สวัสดีครับอาจารย์ธวัช

ผมก็คิดว่าน่าจะมาจากแพ้ฝุ่นหรือควันในอากาศมากกว่าความหนาวเย็นของอากาศ บ้านเราฝุ่นเยอะมาก การก่อสรางไม่มีวันจบ เต็มไปหมด สารพัดฝุ่นจึงกระตุ้นให้คนเป็นภูมิแพ้กันได้ง่าย

ติดตาม สคส. ยุคใหม่อยู่ครับ กลับไปคงได้มีโอกาสไปร่วมเรียนรู้ด้วย หลักสูตรการเรียนรู้สู่การเป็นคุณอำนวยคงมีคนสมัครเข้าร่วมเยอะแล้วนะครับ น่าสนใจมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท