ชุมชนาธิปไตย : วงจรทุนในชุมชน 7 ประเภท สร้างความแข็งแกร่งสู่ความพอเพียง


แนวคิด “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ได้รับความแพร่หลายและวางรากฐานในสังคมไทยมานานพอสมควร ตั้งแต่ยุคสมัยของมหาตมะ คานธี จนกระทั่งถึงปัจจุบันมีศัพท์ใหม่ที่ใช้เรียกเป็นกระแสร่วมสมัยที่พัฒนาในเนื้อหารายละเอียดไปอีกมากโดยพิทยา ว่องกุล “ชุมชนาธิปไตย”

เช่นเดียวกับกระแสชุมชนนิยมอื่นๆ แนวคิดชุมชนาธิปไตยก็เน้นความเข้มแข็งของชุมชนเช่นเดียวกัน เพียงแต่ได้ประยุกต์ให้ผสมผสานหลักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเรื่องทุน เพื่อสร้างรากฐานให้ชุมชนาธิปไตยสามารถปักหลักมั่นคงอยู่ในกระแสทุนนิยมตลาดเสรีได้ โดยสิ่งที่เป็นจุดยืนของแนวคิดเรื่องทุนในชุมชนาธิปไตยก็คือ หลักการปฏิสัมพันธ์แบบพึ่งพิงกันเป็นห่วงโซ่ชีวิตเป็นเศรษฐธรรมในธรรมชาติ หลอมรวมวงจรทุนและการผลิตกลายเป็นยุทธวิธีการสร้างวงจรทุนของชุมชน เป็นธนาคารทุนประเภทต่างๆ ของหมู่บ้านนั้น ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้ 7 ประเภทคือ

  1. ทุนเงินตรา เช่น กลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์ออมทรัพย์
  2. ทุนธุรกิจการค้า เช่น สหกรณ์ร้านค้า ศูนย์สาธิตการตลาด กองทุนน้ำมันในหมู่บ้าน
  3. ทุนแห่งชีวิต เช่น กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มปลูกผัก สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเลี้ยงไหม กลุ่มเลี้ยงผึ้ง ธนาคารข้าว ชมรมชาวประมงรายย่อย ธนาคารโคกระบือ ฯลฯ
  4. ทุนแรงงานฝีมือ เช่น กลุ่มปั้นหม้อ กลุ่มจักสาน กลุ่มทอผ้า กลุ่มตีเหล็ก กลุ่มทำเครื่องถม กลุ่มช่างไม้ กลุ่มช่างแกะสลัก เป็นต้น
  5. ทุนสวัสดิการชีวิต เช่น กลุ่มฌาปนกิจ กองทุนยา ธนาคารชีวิต ธนาคารสุขภาพ กลุ่มสวัสดิการหมู่บ้าน
  6. ทุนรวมแรงงาน หรือธนาคารแรงงาน เช่น กลุ่มลงแขก แชร์แรงงาน กลุ่มซอมือ กลุ่มแรงงานรับจ้าง ฯลฯ
  7. ทุนอุตสาหกรรมชุมชน เช่น กลุ่มที่ร่วมกันแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ระดมทุนกันทำอุตสาหกรรมขนาดย่อยหรือระดับครัวเรือน ซึ่งมีระบบการทำธุรกิจชุมชนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผลิต การรวบรวมผลผลิต หรือระบบการกระจายกันผลิตแต่บริหารการตลาดโดยกลุ่ม เช่น โรงงานยางพาราของชุมชน กลุ่มผลิตน้ำผลไม้ชุมชน ชุมชนผลิตอุตสาหกรรมยาสระผมและสบู่ของชุมชน กลุ่มผลิตทุเรียนกวน เป็นต้น
การเริ่มต้นของธนาคารหมู่บ้านแบบใดแบบหนึ่ง จะต้องมาจากทุน 7 ประเภทนี้ ในชุมชนมีทุนด้านไหน ก็เริ่มจากตรงนั้น อาศัยวิธีที่แตกต่างหลากหลายเป็นฐานการสร้างตัวเองไปสู่ความเจริญ โดยอาศัยสภาพความจริงของหมู่บ้านนั้นเป็นหลัก ดังนั้นหมู่บ้านที่ยากจนก็ยังพอมีวิธีทางตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้นมาเองได้ ด้วยแรงงาน ด้วยพืช สัตว์ เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจชุมชนที่ทำได้จริง ถ้าหากรู้กฎของทุนในชนบท มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความเพียรพยายาม

ยกตัวอย่างเช่นในหมู่บ้านที่ยากจน สามารถใช้ทุนรวมแรงงานกับที่ดินว่างเปล่าของหมู่บ้าน สร้างธนาคารข้าวเพื่อเป็นหลักประกันการอดอยากและช่วยตัดวงจรหนี้สิน เมื่อเวลาผ่านไปธนาคารข้าวจะเพิ่มจำนวนข้าวมากขึ้น ทั้งจากดอกผลที่กู้ยืมและการร่วมกันทำนาในปีต่อๆ มา พร้อมๆ กับชาวบ้านยากจนบางคนได้ปลดหนี้สินจากพ่อค้า สามารถเพิ่มผลผลิตด้วยตัวเอง ข้าวในธนาคารข้าวที่เพิ่มขึ้นและเหลือ สามารถนำไปขายสร้างวงจรทุนต่อไปได้ เช่น สหกรณ์ร้านค้า หรือกลุ่มออมทรัพย์ หรือกองทุนปุ๋ย เพื่อเป็นหลักประกันในการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคราคาถูก หลักประกันการมีระบบเงินทุนของหมู่บ้าน หรือหลักประกันของการลงทุนทางการเกษตรราคาถูก ซึ่งในระยะต่อมาก็จะสามารถสร้างกองทุนอุตสาหกรรมชุมชนประเภทต่างๆ และกองทุนสวัสดิการ หรือกองทุนสำหรับแก้ปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะของชุมชนขึ้นมาได้

อุตสาหกรรมชุมชน จึงเป็นการพัฒนาของวงจรทุนขั้นสุดท้าย ที่นำให้ชุมชนก้าวเข้าสู่ความเข้มแข็งในระบบตลาดเสรีทุนนิยม ทั้งนี้อุตสาหกรรมชุมชนเป็นแนวคิดที่มุ่งแปรรูปผลผลิตตามธรรมชาติ หรือกระทำการผลิตสินค้าโดยสมาชิกในชุมชน เพื่อการบริโภคและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ด้วยหลักคิดสำคัญที่ว่า ความหลากหลายของผลผลิตในชุมชน ทั้งในด้านการบริโภคแบบพึ่งพาตนเอง การเก็บหรือถนอมอาหารไว้กินในครอบครัวและในชุมชน จะช่วยลดรายจ่ายให้ครอบครัว และสร้างเสริมสุขภาพอนามัยให้ตนเองได้อย่างดี และอย่างรับผิดชอบดีที่สุดของชุมชน ซึ่งจะเป็นฐานการสร้างสังคมสุขภาพอนามัยที่ดีมีคุณธรรม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ด้านกำไรสูงสุดเช่นที่นักธุรกิจกระทำกันในปัจจุบัน โดยเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่าแนวคิดและเป้าหมายของชุมชนาธิปไตย สอดคล้องกับแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยิ่ง แม้แต่ขั้นตอนไปสู่ระดับการพึ่งตนเองสูงสุด วงจรทุนระดับสูงสุดของชุมชนที่นำไปสู่การปักหลักมั่นคงในตลาดเสรีทุนนิยม ก็คล้ายคลึงกับขั้นตอนในทฤษฎีใหม่อย่างยิ่ง ทั้งขั้นตอนในทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอนในเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรูปธรรม 3 ขั้นตอนสู่เศรษฐกิจชุมชนอันเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงของหมอประเวศ… ในแนวคิดชุมชนาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน ได้วางยุทธศาสตร์รูปธรรมไว้ที่ “อุตสาหกรรมชุมชน” อันประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนคือ

  1. จุดเริ่มต้นของการแปรรูป หรือผลิตสินค้าของสมาชิก เน้นการผลิตเพื่อบริโภคหรืออุปโภคของตนเองในครัวเรือนเป็นหลัก ดังนั้นการผลิตสินค้าจะมีลักษณะหลากหลาย เพื่อการพึ่งตนเอง ลดรายจ่ายที่เสียไปจากการซื้อ และป้องกันไม่ให้เงินของชุมชนไหลออกไปนอกชุมชนโดยไม่จำเป็น ทำให้มีเงินหมุนเวียนแพร่สะพัดอยู่ภายในหมู่บ้าน นั่นคือการมุ่งผลิตเพื่อตลาดที่เป็นตัวเองของผู้ผลิต (เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ครัวเรือนพอเพียง)
  2. ขยับขยายการผลิตออกไปสู่เพื่อนบ้าน เพื่อช่วยลดภาระซื้อของแพงแก่เพื่อนบ้าน เป้าหมายคือการช่วยลดรายจ่ายให้เพื่อนบ้าน และแทนที่การนำเข้าสินค้าจากภายนอกชุมชน (เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจพอเพียงก็คือทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 ชุมชนพอเพียง)
  3. การประยุกต์ใช้ฐานการผลิตจากอุปกรณ์ง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในพื้นที่ และใช้ฐานคนจำนวนมาก (ระบบการจัดการในชุมชน) แทนเครื่องจักรขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถทำการผลิตในธุรกิจชุมชนที่เหมือนกับการผลิตจากบริษัทขนาดใหญ่ แต่มีการลงทุนที่ต่ำกว่ามาก (สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ “Small is Beatiful” ของอี.เอฟ. ชูเมกเกอร์) นั่นคือการทำตลาดด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมเชื่อมโยงไปยังนอกชุมชน นำเอาสินค้าที่เหลือจากการใช้ภายในชุมชนแล้วออกจำหน่าย โดยในภาวะที่สินค้าล้นตลาด ทางชุมชนก็เพียงแต่ลดกำลังการผลิตลงซึ่งไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะแม้ไม่ผลิตก็สามารถอยู่ได้ และไม่มีการขาดทุนจากของเหลือใช้เอง (เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ที่เชื่อมโยงระบบตลาดและการผลิตเข้าสู่ระบบตลาดปัจจุบัน เพียงแต่ของพิทยา ว่องกุล เน้นกลไกตลาดเสรีมากกว่า “ความร่วมมือ” กับองค์กรภายนอกแบบในหลวง)
สำหรับการวางยุทธศาสตร์ของพิทยา ว่องกุล เริ่มจากความเข้าใจในวิสัยทัศน์การพัฒนากระแสหลักที่เน้นการรวมศูนย์ทุนและทรัพยากร นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจสังคม เมื่อรวมกับวิสัยทัศน์ด้านศักยภาพชุมชนที่พบเสถียรภาพแม้อยู่ในท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ กำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับชุมชนคือ การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ดังนี้

การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของชุมชน มีความแตกต่างจากการพัฒนากระแสหลักคือ

  1. เน้นกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน เพื่อสร้างฐานความรู้ และองค์ความรู้ที่เป็นของตนเอง รวมไปถึงการวางแผนพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยผู้นำ ผู้ทรงภูมิปัญญาในชุมชนเป็นแกนกลาง พัฒนาและรวบรวมความรู้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่ชุมชนได้
  2. เน้นกระบวนการสร้างทุนชุมชน/ทุนสังคม ครอบคลุมทั้งเรื่องการสร้างกลุ่มโดยอาศัยเงินตราเป็นสื่อ และทุนทางสังคมที่มาจากบุคลากร ภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรมชุมชน สถาบันในชุมชน สาธารณสมบัติ ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ฯลฯ
  3. กระบวนการศึกษาวิจัย ควรปรับเป็นกระบวนทัศน์ใหม่เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา แสวงหาความร่วมมือจากนักวิชาการ หรือสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานภายนอกชุมชน กับส่งเสริมให้ชุมชน หรือสถาบันในชุมชน (โรงเรียน ครู ปัญญาชน ผู้นำชุมชน) ทำงานวิจัยเอง เพื่อนำผลที่ได้มาวางแผนพัฒนาชุมชนในขั้นตอนต่อไป โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาที่กำหนดขึ้นจากการวิจัยด้วย
  4. กระบวนการผสานความหลากหลายจากปัจจัยที่เป็นคุณต่อการพัฒนา เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ชุมชนเปิดรับเอาความรู้ และความช่วยเหลือจากภายนอก โดยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างชุมชน ชุมชนกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน และร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือแหล่งเงินทุนต่างประเทศ โดยมีชุมชนเป็นผู้ตัดสินและวางแผนพัฒนาตนเอง กระบวนการผสานความหลากหลายของปัจจัยดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งผลดังกล่าวจะเชื่อมโยงไปสู่แผนระดับภาค ระดับชาติ และส่งผลกระทบต่อการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมโดยรวมในท้ายสุด
  5. กระบวนการสร้างเครือข่ายชุมชน ที่จะต่อยอดความรู้ในการพัฒนาตนเองและเครือข่ายตลอดเวลา เป็นการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายของตนอย่างมีพลัง นำไปสู่การยกระดับทุนจากการร่วมทุนระหว่างองค์กร และการพัฒนาระบบตลาดของเครือข่าย รวมไปถึงการพัฒนาสถาบันการเงินของเครือข่าย
การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ 5 ประการดังกล่าว จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ 5 ประการที่เป็นพัฒนาชุมชนแบบ “องค์รวม” คือ
  1. โครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน พึ่งตนเองได้ พัฒนาไปสู่ธุรกิจชุมชน อุตสาหกรรมชุมชน และความร่วมมือเป็นเครือข่าย
  2. ชุมชนจะเป็นฐานสังคมใหม่ที่มีระบบการศึกษา สาธารณสุข ระบบสวัสดิการ และกฎหมายที่มาจากชุมชนเป็นของชุมชน
  3. ความเข้มแข็งของชุมชน และกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา จะสร้างโครงสร้างสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ที่ดี ใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
  4. นำไปสู่โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ในทุกระบบการพัฒนา
  5. ระบบความร่วมมือแบบพหุภาคี ที่มีประสิทธิภาพ และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม
ระบบแนวคิดเศรษฐกิจที่มีความเป็นระบบรอบด้านตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงยุทธศาสตร์รูปธรรม ของในหลวงและนักคิด 2 ท่านที่ได้กล่าวมานี้ มีความเพียงพอต่อการสร้างความเข้าใจในความสอดคล้องและพัฒนาการที่แตกต่างกันที่เกิดขึ้นในไทย ดังนั้นในหัวข้อต่อไปจะกล่าวถึงแต่เฉพาะสิ่งตัวอย่างที่เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจในแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสั้นๆ โดยในโอกาสหน้าจะได้มีการนำเสนออย่างละเอียดต่อไป นวัตกรรมและตัวอย่างความสำเร็จ… แนวโน้มสู่อนาคต

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบใด เมื่อลงไปในระดับรูปธรรมแล้วจะพบว่าล้วนใช้ตัวอย่างเดียวกันทั้งสิ้น อย่างเช่น กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของครูซบ ยอดแก้ว ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อให้สมาชิกกู้ไปทำอาชีพ และเพื่อการจัดสวัสดิการชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิก 6 หมื่นคน เครือข่ายกว่า 250 กองทุน มีเงินหมุนเวียนกว่า 371 ล้านบาท หรือกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของพระสุบิน ปณีโต กลุ่มชุมชนไม้เรียง กลุ่มเกษตรผสมผสานที่ขอนแก่น ธุรกิจชุมชนของบริษัทบางจาก ที่ทำให้ชาวบ้านหลุดจากสภาพหนี้มีเงินออม เป็นต้น

หมอประเวศได้กล่าวถึงปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ว่า เรื่องเศรษฐกิจพื้นฐานหรือเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องยาก และจะเห็นได้ว่าชนบทมีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับทรัพยากรและการผลิตพื้นฐาน มีศักยภาพในการดำเนินการอย่างมาก เพียงแต่ขาดการส่งเสริมดูแลจากการบริหารด้านบน และองค์ความรู้จำนวนหนึ่ง ที่ชาวบ้านสามารถนำมาเป็นรูปธรรมประยุกต์ใช้งานได้

ดังนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต่อยอดเสริมจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง – ทฤษฎีใหม่ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้อย่างมากมาย นอกจากหมอประเวศ วะสี หรือพิทยา ว่องกุล แล้ว ยังมีดร.เสรี พงษ์พิศ ที่เสนอ “วาระของชุมชน” หรือ ดร. ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ที่เสนอ “ศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจชุมชน” หรือการรวบรวมประสบการณ์ของนักพัฒนาเอกชนอย่างบัณฑร อ่อนดำ หรือจากองค์กรพัฒนาเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง ก็เป็นรูปธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างมากที่น่าจะมีการรวบรวมอย่างเป็นระบบต่อไป ทั้งนี้อาจรวมกลไกนโยบายระดับรัฐ อย่างที่ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 รวมเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตามหากดูหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ความพอประมาณและความมีเหตุผล” จะเห็นได้ว่ามีความตรงกันข้ามกับกระแสโลกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่กำลังก้าวเข้าสู่การแข่งขันเสรี เป็นตลาดโลกตลาดเดียว ซึ่งไทยเราก็อยู่ในกระแสเหล่านี้ด้วยโดยรัฐมีบทบาทนำในเรื่องดังกล่าว ทั้งเรื่องการปรับแก้กฎหมายและนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่เน้นการ “แข่งขัน” “เติบโตอย่างเสรี” ไม่ใช่ “พอเพียง”

ในตลาดเดียวกัน การมีสองนโยบายย่อมก่อให้เกิดความไม่กลมกลืนกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและการตลาดที่ไม่เน้นแข่งขัน เหลือจึงขายแบบเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อต้องเชื่อมต่อเข้ากับเศรษฐกิจการตลาดแบบแข่งขันเสรี จะสามารถทนทานต่อเปลี่ยนแปลงไปสู่กระแสการแข่งขันในตลาดเสรีได้หรือไม่ ในเมื่อในทฤษฎีขั้นที่สามที่ต้องอาศัยการติดต่อเชื่อมโยงเพื่อ “ร่วมมือ” กับองค์กรภายนอก ความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้ชุมชนหรือกลุ่มไม่เพียงแต่มีความรู้ด้านการผลิตเท่านั้น แต่จะต้องมีความรู้ด้านการตลาดอีกด้วย นั่นคือโอกาสทางการตลาดที่ชุมชนมองเห็น ย่อมเป็นโอกาสของชุมชนที่จะก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาดเสรี และออกจากการเป็นเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้แล้ว ฐานของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเน้นไปเรื่อง “ชุมชน” ซึ่งปัจจุบันกำลังมีสถานภาพไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองอยู่ตลอดเวลา ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมีความสั่นคลอนตามไปด้วย

สิ่งที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงขาดไปก็คือ คุณค่า หรือผลที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นแนวโน้มของการพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จึงยังไม่สามารถออกไปจากแนวคิดเกี่ยวกับ การผลิต การตลาด และกำไรได้ แม้ว่าเป้าหมายค่อนข้างแน่ชัดว่าคือการ “อุ้มชูตัวเองได้ ให้เพียงพอต่อตัวเอง” เมื่อชาวบ้านพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงไปได้ระยะหนึ่ง การนึกถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจของตนจะพุ่งไปที่คุณค่าที่มองเห็นได้ชัด นั่นคือ “กำไร” … กำไรมากๆ ก็คือตัววัดศักยภาพในการอุ้มชูตัวเองได้ และนำชุมชนออกจากเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่เศรษฐกิจเสรีไปในที่สุด

แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นใดก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทรงคุณค่า และทำให้เรามองเห็นโอกาสของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สามารถยืนอยู่ได้บนพื้นฐานของตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ …

 


บรรณานุกรม

  • พระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จากเว็บกาญจนาภิเษก http://www.kanchanapisek.or.th
  • ศ.นพ. ประเวศ วะสี, 2541. ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และศีลธรรม, สนพ.หมอชาวบ้าน
  • ศ.นพ. ประเวศ วะสี, 2541. ประชาคมตำบล : ยุทธศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ศีลธรรม และสุขภาพ, สนพ.มติชน และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  • ศ.นพ. ประเวศ วะสี, 2542. เศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคม แนวทางการพลิกฟื้นเศรษฐกิจสังคม, สนพ.หมอชาวบ้าน
  • พิทยา ว่องกุล (บรรณาธิการ), 2542. สร้างสังคมใหม่ : ชุมชนาธิปไตย – ธัมมาธิปไตย, โครงการวิถีทรรศน์ ชุดภูมิปัญญา ลำดับที่ 9 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมูลนิธิภูมิปัญญา
  • พิทยา ว่องกุล (บรรณาธิการ), 2542. รับวิกฤติโลกปี 2000 เศรษฐกิจยั่งยืน, โครงการวิถีทรรศน์ ชุดโลกาภิวัฒน์ ลำดับที่ 10 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมูลนิธิภูมิปัญญา

Reference :

http://www.thaitopic.com/mag/econ/suff.htm#5

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16804เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2006 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท