"ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง" โดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา


 

ในที่สุดก็มีการขอพระราชทานคำนิยามของปรัชญามา คือเป็นปัญหาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ มีอยู่ว่า คนเข้าใจคำว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่างๆ กัน พอจะมาพูดคุยว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้อย่างไร บางทีต้องใช้เวลากันทั้งวันถกเถียงกันว่า ความหมายแปลว่าอะไร ในที่สุดทางสภาพัฒน์ฯ ได้ดำเนินการขอพระราชทานคำนิยามออกมา ซึ่งในหนังสือที่ผมได้นำเอามาแจกให้กับท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายในวันนี้ ก็ได้ปรากฏคำนิยามดังกล่าว ที่จริงแล้วในปี ๒๕๔๒ ที่พระราชทานคำนิยาม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้กรุณาเผยแพร่คำนิยามทั้งหมดไปครั้งหนึ่งแล้ว สำหรับคำนิยามอันนี้ เป็นคำนิยามที่มีสาระประมาณหน้าหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ยังยากอยู่สำหรับผู้ที่จะมาประยุกต์ใช้ ว่าจะสามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร พวกเราที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้จึงขอมาสรุปและกลั่นออกมาให้ง่ายขึ้นไปอีก เพื่อที่ผู้ใช้หรือผู้ประยุกต์ใช้ จะได้สามารถมาใช้ได้โดยอย่างสะดวก ก็จะขออนุญาตสรุปว่าสำหรับคำนิยามที่พระราชทานมา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย ๓ หลักกับ ๒ เงื่อนไข

     ผมก็อายุชักจะมากแล้ว จำอะไรก็เริ่มเลอะเลือนลงไปบ้าง ก็จำได้เพียง ๓ หลัก และ๒ เงื่อนไข หลักที่ ๑ คือหลักของการเดินสายกลาง ไม่สุดโต่ง หลักที่ ๒ คือใช้ความรู้และเหตุผลในการตัดสินใจ คือแทนที่จะใช้อารมณ์หรือตัดสินใจปัจจุบันทันด่วน อาศัยความรู้ และเหตุผลในการตัดสินใจ นี่คือหลักที่ ๒ ส่วนหลักที่ ๓ คือการมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะจากปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่อยู่นอกเหนืออิทธิพลของเรา การมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตรงนี้ สรุปสั้น ๆ คืออย่างเสี่ยงเกินไป อย่าเล็งผลเลิศเกินไป อย่าโลภเกินไป เพราะว่าถ้าทำอะไรไปโดยหวังว่าทุกอย่างมันจะดีหมด บางทีเหตุการณ์ข้างนอก ซึ่งอยู่เหนืออิทธิพลของเรา อาจจะทำให้ผิดพลาดได้ และผลกระทบที่เกิดกับเรา อาจจะทำให้ถึงกับล้มไปก็ได้ ฉะนั้นทำอะไรไปขอให้นึกถึงว่าเหตุการณ์บางอย่างอาจจะไม่ดี ถึงแม้มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น เราก็ยังพออยู่รอดได้ ก็เป็นเรื่อง ๓ หลักด้วยกัน ที่ใช้ควบคู่กันไป ต้องใช้พร้อมๆ กันไป ๓ หลัก

     ส่วน ๒ เงื่อนไข ได้แก่ เงื่อนไขที่ ๑ คือคุณธรรม ผู้ที่ปฎิบัติหรือผู้ที่ตัดสินใจนั้นควรจะตัดสินใจด้วยคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความเพียร ความอดทน พูดง่ายๆ คืออย่าไปนั่งงอมือ งอเท้า แล้วหวังว่าทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นมาอย่างดี หลายๆ อย่างนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากการทำอะไรง่าย ๆ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเพียร แต่มีความซื่อสัตย์ เรียกว่าไม่ทำอะไรแบบอยากได้ผลเร็ว ๆ เขาเรียกว่า ตัดมุม หรือ Cut corner ขอให้ทำอะไรด้วยความซื่อสัตย์ คนเขาเห็นความซื่อสัตย์ ตัวเองก็จะได้รับผลจากการที่มีคนเชื่อถือ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16802เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2006 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท