ทดลองวิเคราะห์สถานการณ์กองทุนสวัสดิการชุมชนจากตัวเลข พอช.


ต้องติดอาวุธหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่ให้มีศักยภาพในการวิเคราะห์กองทุน ไม่ใช่เพียงมองแค่เพิ่มจำนวนสมาชิกกับเพิ่มจำนวนเงินรวม เพิ่มกิจกรรม

 

ไปวัดทำบุญ  ท่านบอกว่าวันนี้ให้ปลอดพันธะและปลอดภาระงาน  แต่เราถือว่าทำงานด้วยฉันทะและสมาธิ คงไม่ผิดหลักการมากนัก

งานตอนนี้คือ สังเคราะห์งานสวัสดิการชุมชนจากการทบทวนวรรณกรรมหรือเอกสารเป็นหลักเพื่อนำเสนอให้ทีมงานสวัสดิการชุมชนของอาจารย์ภีมและสกว.  ครั้งนี้ได้ผนวกการวิเคราะห์ง่ายๆไว้ด้วย โดยใช้ข้อมูลของ พอช.  แม้ว่าข้อมูลบางตัวอาจดูน่าสงสัย  แต่ในเบื้องต้นนี้ก็ถือว่า ข้อมูล พอช.ถูกต้องไว้ก่อน  จึงได้ทดลองวิเคราะห์ตัวเลขแบบง่ายๆมานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้รู้และปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ว่า  ผลที่เห็น น่าเชื่อถือแค่ไหน และมีนัยยะอย่างไรต่อขบวนสวัสดิการชุมชนของไทย

จำนวนเงินกองทุนในตารางนี้มาจากสมาชิก และรวมเงินสมทบของ พอช.  อปท. ไว้แล้ว 

ข้อค้นพบจากตารางนี้คือ

  • ตั้งแต่ก่อตั้งจนปี 2550   อาจมองว่าขบวนสวัสดิการชุมชนประสบความสำเร็จในแง่จำนวนสมาชิกและการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน  จำนวนสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งประเทศเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 14  (ปัจจุบันมีประมาณ 1 ล้านคน) แต่เงินกองทุนเติบโตขึ้นเพียงร้อยละ 6  (มีเงินกองทุนประมาณ 134 ล้านบาท) ผลก็คือ  เฉลี่ยแล้วสมาชิกหนึ่งคนมีเงินกองทุนสนับสนุนน้อยลง  จากคนละ 287 บาทในปีเริ่มต้น เหลือเพียง 131  บาทต่อคนในปี 2550  (ตรงนี้ต้องตีความดีๆ เพราะปีก่อตังของพื้นที่ต่างๆไม่ตรงกัน)
  • กทม.และปริมณฑล  และภาคตะวันออก มีอัตราการเติบโตของเงินกองทุนและอัตราการเติบโตของสมาชิกใกล้เคียงกัน  เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นมากในขณะที่จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  ผลคือ สมาชิกหนึ่งคนมีเงินกองทุนสนับสนุนมากขึ้น  อาจมองได้ว่า ปลอดภัยที่จะใช้เงิน แต่เงินกองทุนมากถึง 1,000 บาทต่อคนในภาคอีสาน (มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ) อาจแปลว่า เอาเงินมากองมากเกินไป  ไม่แปลงเป็นสวัสดิการสักที   ตรงนี้ หน่วยงานสนับสนุนควรลงไปช่วยดู
  • ภาคที่กระตือรือล้นมากในการจัดสวัสดิการ คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากกว่าจำนวนเงินกองทุน  ทำให้เงินกองทุนเฉลี่ยต่อสมาชิกหนึ่งคนลดลง  เหลือเพียงคนละ  310 บาท  82 บาท และ 29 บาท ตามลำดับ  ตัวเลข 82 และ 29 บาทต่ำมากจนน่าสงสัยเรื่องความคลาดเคลื่อนของข้อมูล  แต่หากข้อมูลถูกต้อง ก็เป็นเรื่องน่าคิดในเรื่องการใช้เงิน  และแนวทางการดำเนินงานของชุมชนและหน่วยงานสนับสนุนในวันข้างหน้า
  • ในรายละเอียดแต่ละพื้นที่  ไม่มีพื้นที่ใดระบุเรื่องทางบัญชีรายรับ รายจ่าย จึงไม่มีข้อมูลสนับสนุนคำอธิบายภาพที่อ่านจากตัวเลขเหล่านี้  เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อในเชิงลึก และอยากให้พื้นที่และหนวยสนับสนุนช่วยติดตามดูแล 
  • ตัวอย่างบางกิจกรรมที่น่าตกใจคือ  การจ่ายเงินชดเชยการเสียชีวิต  ของครูชบ ออมวันละบาท 16 ปีจ่าย 30,000 บาท (เราว่าสูงมากแล้ว) แต่บางตำบลในภาคเหนือ  ออมวันละบาทเพียง 5 ปี หากเสียชีวิตจะจ่าย 30,000 บาท  เป็นการจ่ายเงินที่ "ทุ่ม" มากจริงๆจนน่าเป็นห่วง  หน่วยงานสนับสนุนวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ต้องขอเสนอแนะตรงนี้  คือ  ต้องติดอาวุธหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่ให้มีศักยภาพในการวิเคราะห์กองทุน  ไม่ใช่เพียงมองแค่เพิ่มจำนวนสมาชิกกับเพิ่มจำนวนเงินรวม เพิ่มกิจกรรม

สถานการณ์กองทุนสวัสดิการชุมชน
ภูมิภาค ปีที่ก่อตั้ง 2550 อัตราการเติบโต
กทมและปริมณฑล      
จำนวนเงินกองทุน             491,960            1,794,278                2.65
จำนวนสมาชิก                   922                  2,404                1.61
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               533.58                746.37                0.40
ภาคกลางตอนบน      
จำนวนเงินกองทุน          1,106,877          14,330,231              11.95
จำนวนสมาชิก                6,831                22,870                2.35
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               162.04                626.60                2.87
ตะวันตก      
จำนวนเงินกองทุน          1,782,106            4,700,384                1.64
จำนวนสมาชิก                6,267               161,720              24.81
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               284.36                  29.06 -0.90
ตะวันออก      
จำนวนเงินกองทุน          1,697,747            8,290,023                3.88
จำนวนสมาชิก                7,446                29,980                3.03
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               228.01                276.52                0.21
เหนือ      
จำนวนเงินกองทุน          7,528,824          19,678,421                1.61
จำนวนสมาชิก               16,962                63,411                2.74
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               443.86                310.33 -0.30
ตะวันออกเฉียงเหนือ      
จำนวนเงินกองทุน          4,384,978          26,695,865                5.09
จำนวนสมาชิก               16,182                24,572                0.52
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               270.98              1,086.43                3.01
ใต้      
จำนวนเงินกองทุน          2,709,295          58,884,996              20.73
จำนวนสมาชิก               13,882               718,119              50.73
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               195.17                  82.00 -0.58
ประเทศ      
จำนวนเงินกองทุน        19,701,787        134,374,198                5.82
จำนวนสมาชิก               68,492            1,023,076              13.94
เงินกองทุนต่อสมาชิกหนึ่งคน (บาท/คน)               287.65                131.34 -0.54
ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน 
จำนวนเงินกองทุนและจำนวนสมาชิกเป็นข้อมูลจาก พอช. "สวัสดิการชุมชนท้องถิ่น"  พย. 2550
       

 

หมายเลขบันทึก: 166556เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ต้องบอกว่า คงเอาข้อมูลชุดนี้ไปปรึกษา พอช.อีกทีเพื่อดูว่า  จำนวนเงินกองทุนนี้มีขอบเขตความหมายอย่างไร  รวมอะไรบ้าง

ผมอาจจะยังไม่ค่อยได้คลุกคลีเรื่องนี้เท่าไหร่  แต่หลักการดีมากครับ

ประสบการณ์ที่พบบ่อยๆคือ วันที่ก่อครั้งกองทุนและช่วงข้าวใหม่ปลามันนั้น อุดมการณ์ของกองทุนยังสถิตในดวงใจสมาชิก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป สมาชิกใหม่ๆเข้ามา อุดมการณ์ของกองทุนกลายเป็นเรื่องรอง เผลอสมาชิกบางคนอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่ากองทุนมีหลักการเพื่ออะไร จุดนี้จะพัฒนาไปสู่การเบี่ยงเบน สมาชิกที่ไม่เข้าใจจะดึงเอากองทุนเข้ารกเข้าพงไม่มากก็น้อย

คณะกรรมการต้องมีกระบวนการฝึกสำหรับผู้ที่เข้าใหม่ ตามติดกระตุกความคิดทุกช่วงเวลาที่เหมาะสม  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องปกติครับ เพียงแต่หากผู้นำรู้เท่าทันก็จะต้องสร้างภูมิคุ้มกัน

พอช.ในฐานะที่เป็นองค์กรพี่เลี้ยงควรประเมินทุกๆ 3-5 ปี แล้วกำจัดจุดอ่อนเสียแต่ต้นมือครับอาจารย์ครับ

น้องๆผมทำงานที่นั่นหลายคนครับ มือดีดีทั้งนั้น

ตัวอย่างบางกิจกรรมที่น่าตกใจคือ  การจ่ายเงินชดเชยการเสียชีวิต  ของครูชบ ออมวันละบาท 16 ปีจ่าย 30,000 บาท (เราว่าสูงมากแล้ว) แต่บางตำบลในภาคเหนือ  ออมวันละบาทเพียง 5 ปี หากเสียชีวิตจะจ่าย 30,000 บาท  เป็นการจ่ายเงินที่ "ทุ่ม" มากจริงๆจนน่าเป็นห่วง  หน่วยงานสนับสนุนวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร ...

สวัสดีครับ อาจารย์ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

  • ลองคิดดูง่าย ๆ เก็บวันละบาท ไม่มีการลงทุนให้เกิดผลตอบแทน กว่าจะครบ 30,000 บาท ก็อีก 82 ปีให้หลัง
  • หากกองทุนสามารถบริหารให้เท่ากับเงินเฟ้อที่ 6 % ได้ ก็ต้องใช้เวลา 30 ปี
  • หรือผลตอบแทนที่ 10 % ก็ต้องใช้เวลา 22 ปี
  • หรือหากบริหารให้ผลตอบแทนทบต้นกองทุน โตปีละ 16 % ได้ ก็ต้องใช้เวลาถึง 16 ปี

 

แต่การจ่ายคืน เป็นการเฉลี่ยอายุขัยของประชากร ดังนั้น คิดอย่างคร่าว ๆ จะได้ว่า

 

  • กองทุนที่จะจ่ายคืน 3 หมื่นบาทใน 16 ปี ต้องมีฝีมือการลงทุนให้ผลตอบแทนการลงทุนปีละอย่างน้อย 5.5 % ทบต้น
  • แต่กองทุนที่จ่ายคืน 3 หมื่นบาทได้ใน 5 ปี ต้องมีฝีมือลงทุน 34 % ต่อปี ทบต้น
  • แบบแรก ที่จ่ายคืนเมื่อครบ 16 ปี ผมมองว่า พอเป็นไปได้ แต่ตึงตัวมาก
  • แต่แบบหลัง ดูแล้วตาค้าง เพราะฝีมือผู้บริหารการลงทุน ต้องทิ้งห่าง เหนือวอร์เรน บัฟเฟต เซียนระดับโลก ได้หลายขุม

 

สิ่งที่น่ากลัว...

 

  • ถ้ากองทุนไม่สามารถอยู่กับโลกของความเป็นจริง สักวันหนึ่ง ก็จะมีชะตากรรมที่ไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่ ทั้งตัวกองทุนเอง และ สมาชิกเอง
  • เมื่อถึงวันนั้น เกรงว่า รากฐานที่เพียรสร้างกันมา จะล้มระเนนเป็นโดมิโน

ต่อครับ...

  • ประเด็นที่ทำให้ภาพไม่ชัด คือ อายุของสมาชิกครับ
  • ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มสูงวัย จะทำให้กองทุนเปราะบาง เพราะอาจมีช่วงที่ต้องควักจ่ายสูงผิดปรกติเกิดขึ้นมากจนทำให้ล้ม ต่อให้เป็นแบบที่ครูชบตั้งเอง ก็อาจยังเสี่ยง
  • แต่ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ อยู่ในวัยเด็ก กว่าจะจ่ายจริง ก็อีกหลายสิบปีให้หลัง การตั้งเกณฑ์โปรโมชันว่า ครบ 5 ปี จ่ายได้เลย ก็อาจไม่มีปัญหา เพราะกว่าจะถึงเวลาจ่ายจริง อีกหลายสิบปี
  • หากไม่นำมิติโครงสร้างประชากรของสมาชิกกลุ่ม และข้อมูลอายุขัยคาดหมายประชากรมาร่วมพิจารณา ผมไม่คิดว่าจะสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือความยั่งยืนของระบบได้

ผมเสนอว่า

  • ภาพใหญ่ ควรพึ่งงานวิจัยประเภท simulation ที่นำมิติเรื่องโครงสร้างอายุประชากร (โดยเฉพาะในกลุ่มสมาชิก) แผนการจ่ายคืนในกรณีต่าง ๆ การลงทุน นำมาประมวลเข้าด้วยกันในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยนำแนวคิดเรื่องคณิตศาสตร์การประกันภัยเข้ามาเป็นแกนการวิเคราะห์ จะทำให้เห็นรูปแบบทางออกที่หลากหลาย

สวัสดีค่ะ คุณบางทราย

  • ตัวเองรู้จักพี่ๆน้องๆ พอช.อยู่ไม่กี่คนค่ะ  แต่ทุกคนที่รู้จักเป็นคนเก่งและมีความตั้งใจสูงมาก  น่าชื่นชมค่ะ
  • ที่เขียนเรื่องนี้ เพราะอยากเป็นกำลังกองหนุน อยากให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุดสำหรับพี่น้องชาวบ้าน  ก็เลยเขียนเพื่อชวนกันคิดเท่านั้นค่ะ

คณ wwibul สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่ช่วยคิดคำนวณนะคะ  ดร.วรเวศน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาเคยทำวิจัยในประเด็นเงินบำนาญทำนองเดียวกับที่คุณ wwibul กล่าวถึงเหมือนกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท