ผู้เชี่ยวชาญหายไปไหน


ช่วยน้องๆ มือใหม่ดูผู้ป่วยหลากหลายปัญหา...น้องๆ ขาดความลึกซึ้งของการให้เหตุผลทางคลินิกและการให้โปรแกรมการประเมินรักษาแบบผู้เชี่ยวชาญ...

โชคร้ายของผู้รับบริการ ที่ต้องโดนเร่งให้ออกจากโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพจากหน่วยงานของรัฐ เพราะปริมาณผู้ป่วยต่อคิวจ่ออยู่จนล้นเกินว่าที่ รพ. หรือบุคลากรจะรับมือได้อย่างมีประสิทธิผล หรือโดนเร่งออกจากหน่วยงานเอกชน เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงและเลือกปฏิบัติในคุณภาพที่ต่ำกว่าปกติสำหรับผู้ป่วยในระบบการประกันสังคม

โชคดีที่ยังมีคลินิกกิจกรรมบำบัด ที่น้องๆ อาจารย์และนักกิจกรรมบำบัด เป็นกลุ่มชนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจศึกษาแก่นแท้ของวิชาชีพกิจกรรมบำบัดและสร้างสรรค์คุณภาพของโปรแกรมการประเมินและรักษาอย่างต่อเนื่อง เราเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ....แต่การพัฒนาความเชี่ยวชาญของน้องๆ ทีมงานอาจไม่ทันต่อปริมาณผู้รับบริการจากหน่วยงานต่างๆ ข้างต้น ที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ และมีปัญหาที่ซับซ้อนเพราะไม่มีการให้บริการที่ถูกต้องในหน่วยงานข้างต้น ลองศึกษาตัวอย่างกันนะครับ

  • ผู้ป่วยบาดเจ็บทางสมอง 1 ราย โดนให้อาหารทางสายและไม่ได้มีการขอคำปรึกษาจากนักกิจกรรมบำบัดเพื่อประเมินและฝึกทักษะการกินอาหาร ทำให้ปัจจุบันที่มาพบผม มีภาวะการกลืนลำบาก เนื่องจาก ความล่าช้าของการควบคุมกลไกการกลืน มีน้ำลายไหลย้อยเพราะเปิดปากหายใจตลอดเวลา การหายใจไม่สัมพันธ์กับการกลืน และยังคงให้อาหารทางสาย โดยไม่มีการประเมินตั้งเป้าหมายของการรักษาในระยะยาว
  • ผู้ป่วยบาดเจ็บทางสมอง มากกว่า 2 ราย ไม่สามารถนึกคำเพื่อสื่อสารได้ ไม่มีการส่งปรึกษานักฝึกพูดหรือนักกิจกรรมบำบัดในเรื่องเทคนิคการฝึกทักษะการสื่อสารในชีวิตประจำวัน หรือการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาศักยภาพการทำงานที่เหลืออยู่
  • ผู้ป่วยท่านหนึ่ง อดีตผู้นำต่างชาติ พูดไทยไม่ได้ แต่ฟังไทยได้ ก่อนหน้านี้ ไม่มีการวิเคราะห์ปัญหาได้ชัดเจน จนมาพบผมจึงประเมินว่า  มี Psychological Neglect & Fear of Fall ซึ่งโชคดีที่ผมจบทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ทำให้ประเมินกรณีตัวอย่างนี้ไม่ยากนัก หลักการใช้กิจกรรมบำบัด ได้แก่ การเพิ่มกำลังใจในการทำกิจกรรมที่มีความสุข ผ่านเกมส์การเคลื่อนไหวแขนขาต่อยอดไปถึงการฝึกกิจวัตรประจำวัน มีช่วงพักและสื่อสารให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง นักกิจกรรมบำบัดและนักกายภาพบำบัดร่วมมือกันลดการบังคับให้ทำโปรแกรมที่ฝึกซ้ำๆ อย่างเดียว แต่ต้องช่วยกันปรับโปรแกรมให้ผู้ป่วยทำอย่างตั้งใจ มั่นใจ มีเป้าหมายชัดเจนและไม่โดนบังคับฝึก
  • ผู้ป่วยท่านหนึ่ง วัยรุ่น จบการศึกษาต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับการฝึกทักษะการทำกิจวัตรประจำวันที่ละเอียด ได้แต่ทำโปรแกรมการเคลื่อนไหวแขนขาแบบ Routine มากเกินไป และไม่มีการประเมินกิจกรรมที่อยู่บ้านหรือกับคนดูแลที่ช่วยกันยกจนผู้ป่วยไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อผมพบครั้งแรก จึงพยายามปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่อยู่บ้าน และเปลี่ยนทัศนคติให้คนดูแลลดความช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยได้ฝึกทักษะการดำเนินชีวิตเท่าที่ศักยภาพของเขาในปัจจุบัน ผมจึงวางแผนระยะยาวว่า วัยรุ่นท่านนี้น่าจะฝึกกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดนตรี ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ การเขียนชื่อ เป็นต้น

หลายๆ ท่านที่มารับบริการกิจกรรมบำบัด ต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและให้ความรู้ว่า "กิจกรรมบำบัด จะช่วยพัฒนาชีวิตของแต่ละท่านได้อย่างไร" ....ไม่ใช่เดินทางมาที่คลินิกแล้วรอแค่นักกิจกรรมบำบัดฝึกเพียงบางองค์ประกอบของกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยที่ไม่สามารถวิเคราะห์อย่างเชี่ยวชาญว่าปัญหาหรือศักยภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างไรกันแน่ เป้าหมายที่สำคัญของผู้ป่วยจะทำให้วัดประเมินและเกิดรูปธรรมได้อย่างไร...ทักษะชีวิตที่ดูเหมือนนามธรรม...แต่หากเราเรียนรู้และวิเคราะห์อย่างมีหลักการ...การฝึกทักษะชีวิตแก่ผู้ป่วยแต่ละรายๆ นั่นไม่ยากจนเกินไปครับ

หมายเลขบันทึก: 166462เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นี่คือปัญหาของผู้ป่วยของเรา ที่หมอไม่ให้ความสำคัญของฟื้นฟูเท่าที่ควร ทำให้หลายคนเสียโอกาสดีๆไปมากมาย ในไม่ช้าจะดีขึ้นนะครับ

ขอบคุณครับคุณยงยศ ขอส่งความสุขกายสุขใจด้วยธรรมะเนื่องในวันมาฆบูชาครับ

 

  • สวัสดีค่ะ
  • สนใจในสิ่งที่อาจารย์ยกตัวอย่าง
  • รู้สึกเหมือนกันว่าตามแก้ปัญหาแล้วทำให้คนไข้เสียโอกาส
  • ประเด็นสำคัญที่พบ คือ คนรุ่นเก่าตามความรู้เหล่านี้ไม่ทัน
  • จึงอยากปรึกษาว่า คนรุ่นเก่าจะมีโอกาสเพิ่มเติมความรู้เหล่านี้ได้อย่างไร
  • ให้คำแนะนำแหล่งเรียนรู้ด้วยจะดีมากเลยค่ะ
  • จะได้ช่วยกันดูแลคนไข้ให้ดีขึ้นเร็ว
  • หมอเชื่อว่า ทุกคนในวงการล้วนมีหัวใจของความเป็นมนุษย์
  • หากแต่ความรู้ในการประเมินและบำบัดหล่นหาย จึงทำไม่เป็น แล้วทำให้ไม่ได้ทำ
  • ไม่ใช่ละลเย หากแต่เป็นเพราะศาสตร์ทางการแพทย์ยุคนี้ไปเร็วมาก และเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น 
  • คนที่ไม่อยู่ในแวดวงสถาบันการศึกษา ตามไม่ใคร่ทัน

เห็นด้วยกับคุณหมอเจ๊ครับ ที่ศาสตร์ทางการแพทย์พัฒนาเร็วมาก

อาจารย์ที่ปรึกษาของผมที่ออสเตรเลียเคยแนะนำว่า คนรุ่นเก่าต้องปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อสืบค้นข้อมูล เช่น googlescholar หรืออ่านวารสารล่าสุด ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ต้องพยายามจัดการความรู้และสัมมนากับคนรุ่นเก่า ในแง่ความลึกและประสบการณ์ของศาสตร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องระหว่างคนสองรุ่น

ขอบคุณคุณหมอเจ๊ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท