สรุปผลการถอดบทเรียนการลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทาน


ปรับแนวคิดการทำนาจากเดิมที่ได้รับผลตอบแทนต่อไร่สูงสุด เป็นการลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

วันนี้มีเรื่องเล่าต่อจากเมื่อวานคะ เป็นการประชุมเพื่อสรุปผลการถอดบทเรียนการลดต้นทุนการผลิตข้าวในเขตชลประทาน 6 จังหวัด

ที่จริงโครงการนี้มีการดำเนินงานใน 8 จังหวัดแต่ทีมงานกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเพียง 6 จังหวัดได้แก่จังหวัดอ่างทอง ชัยนาท สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐมและสุพรรณบุรี เนื่องจากอีก 2 จังหวัดได้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดที่ทีมไปทดสอบกระบวนการถอดบทเรียน ส่วนอีก 1 จังหวัดคือปทุมธานี มีเพียง 1 จุดที่ดำเนินการ จึงไม่ได้ไปถอดบทเรียน

จากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการพัฒนาวิธีการส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างต่อเนื่องโดยใช้กระบวนการและโครงการสำคัญได้แก่โครงการศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน โรงเรียนเกษตรกรชาวนา และโครงการนำร่องบูรณาการส่งเสริมการผลิตข้าวยั่งยืนในเขตชลประทาน ปี 2550  พบว่ามีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ประสบความสำเร็จจึงได้จัดทีมไปถอดบทเรียนจากชาวนาเหล่านี้

กระบวนการถอดบทเรียนเริ่มจากทีมวิทยากรกระบวนการชี้แจงวัตถุประสงค์ ความเป็นมา ต่าง ๆแล้วจึงนำสู่การถอดบทเรียนโดยให้เกษตรกรเล่าเรื่องการทำนาแบบเดิมเป็นอย่างไรแล้วนำสู่การเล่าเรื่องการทำนาแบบลดต้นทุนเป็นอย่างไรใน 4 ประเด็นหลักคือ

  • การปรับปรุงบำรุงดิน
  • การจัดการเมล็ดพันธุ์
  • การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
  • การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

ในระหว่างการเล่าเรื่อง มีการซักถามในกลุ่มโดยวิทยากรกระบวนการและเกษตรกร โดยมีการเสริม เพิ่มเติม รวมทั้งให้ข้อมูลที่ตนเองปฏิบัติอยู่เป็นระยะ ๆ โดยทีมได้บันทึกเรื่องเล่า บันทึกภาพ เสียงและหลังการถอดมีการสรุปบทเรียนแก่กลุ่มเกษตรกรด้วย

ทีมได้สรุปเป็นรายจังหวัดและได้สรุปภาพรวม พบว่า

การทำนาได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเริ่มมีปัจจัยสำคัญคือ ระบบชลประทานทำให้มีการทำนาปรัง ทำนาตลอดปีหรือทำนา  2 ปี 5 ครั้ง เปลี่ยนพันธุ์ข้าวเป็นพันธุ์ส่งเสริม ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมากเกินความจำเป็น การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและผลิตข้าวชุมชนพร้อมกับการเปิดโรงเรียนเกษตรกรทำให้ชาวนาเริ่มพึ่งพาตนเองให้ความสำคัญการใช้เมล็ดพันธุ์ดี การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน การดูแลและการปฏิบัติที่ดี มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวนาด้วยกัึนเองและนักวิชาการต่าง ๆ

โครงการนำร่องบูรณาการส่งเสริมการผลิตข้าวยั่งยืนในเขตชลประทานภาคกลางโดยมี ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศชุมชน เป็นที่ปรึกษา ได้ปรับแนวคิดการทำนาจากเดิมที่ได้รับผลตอบแทนต่อไร่สูงสุด เป็นการลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมใน 4 ประเด็นปัญหาหรือที่เรียกว่าจุดคอขวดที่กล่าวไว้ข้างต้น

ทีมงานได้สรุปว่าความสำเร็จของการลดต้นทุนการทำนา ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ

  • การปรับแนวคิดด้านการพึ่งพาตนเอง
  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตข้า
  • การถ่ายทอดความรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม

การปรับแนวคิดด้านการพึ่งพาตนเองพบว่าการทำนาต้องได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมด้วยการลดต้นทุนการผลิต อนุรักษ์ดินและน้ำแทนการได้รับผลผลิตสูงสุดเพียงอย่างเดียว ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม สร้างความเข้มแข็งโดยการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่าย

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าว โดยใช้เมล็ดพันธุ์ดีอัตรา 15-20 กก./ไร่ การปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่เผาตอซัง หมักฟาง ใส่ปุ๋ยคอก ไถกลบ ตากดินกรณีนาในที่ดอน ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยเรียนรู้แมลงที่เป็นประโยชน์และที่เป็นศัตรู ทำให้ลดการใช้สารเคมีและมีการใช้น้ำหมักสมุนไพรด้วย  ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพิ่มทางเลือกการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี

การถ่ายทอดความรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม โดยใช้กลุ่ม/องค์กรที่เข้มแข็งในพื้นที่เช่นศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้อง กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้เป็นข้อตกลงร่วมกันในการลดต้นทุนการทำนา ส่งเสริมให้มีการจัดทำแปลงทดลองด้วยตนเอง จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการขยายผลสู่สมาชิก

โดยมีข้อสังเกตุว่า กลุ่มที่เข้มแข็งทำให้การขยายผลการลดต้นทุนการทำนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ควรมีการสร้างเวทีเครือข่ายเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยภาครัฐให้การสนับสนุนและการขจัดปัญหาอุปสรรคการจัดหาแม่ปุ๋ยตามคำแนะนำโดยกลุ่มจะต้องมีบทบาทในการจัดหาแม่ปุ๋ย การผสมปุ๋ยและปรับสูตรปุ๋ยให้สามารถทดแทนกันได้

มีการเพิ่มเติมและให้ความเห็นจากที่ปรึกษาโครงการ กรมพัฒนาที่ดินและกรมการข้าว ตลอดจนที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยมีข้อสรุปคือ

1.แต่งตั้งคณะทำงาน มีผู้แทน ธกส.(มีบริษัทปุ๋ยในเครือ) ผู้แทนอาชีวศึกษาเข้าร่วมด้วย

2.จัดทำสรุปการถอดบทเรียนพร้อมแสดงเงื่อนไข และประโยชน์

3.ย่อยนวัตกรรมเพื่อการเผยแพร่

4.จัดทำแผนการส่งเสริมการทำนาแบบลดต้นทุน

เป็นการประชุมที่มีประโยชน์มากคะและมีข้อสรุปชัดเจนว่าจะเดินต่ออย่างไรโดยท่านประธาน(นายอภิชัย จึงประภา)มอบหมายให้สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญา(สนพ.)เป็นเจ้าภาพดำเนินงานต่อไป

ธุวนันท์ พานิชโยทัย

19 ก.พ.2551

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าว#นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 166090เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2008 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน พี่หม่า

    เมื่อวานจังหวัดขอนแก่นก็มีคุยกันในการทำแผนพัฒนาข้าวคะ  ปัจจุบันพบว่าปัญหาที่มากับเครื่องเกี่ยวนวดคือเมล็ดวัชพืชข้าว (ข้าวพื้นเมืองซึ่งมีอายุสั้น)   เกิดขึ้นออกดอก ติดรวงและร่วงหล่นในแปลงนาข้าวอิสานจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสิ่งเจือปน พันธุ์ปนสูง  ผลผลิตข้าวถูกกดราคา..เพราะข้าวไม่บริสุทธิ์   เราคุยกันว่าการตัดพันธุ์ปนในแปลงผลิตข้าวน่าจะเป็นประเด็นเน้นหนักของโรงเรียนเกษตรกรข้าว  และเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรถอนทิ้ง อย่าเสียดาย

    มีผู้รู้บอกว่าการเผาตอซังที่นิยมกันมาก นอกจากจะทำให้แปลงนาสะอาด ไถง่าย แล้วยังเป็นกระบวนการตัดตอนทำลายเมล็ดวัชพืชข้าวด้วย...ทำให้ไม่สามารถงอกได้ในฤดูถัดไป...ซึ่งเป็นกระบวนการควบคุมโดยธรรมชาติ  แต่เมื่อเรารณรงค์ไม่เผาตอซัง  ปัญหาการระบาดของวัชพืชข้าวก็สูงขึ้น....ได้อย่างเสียอย่างนะคะ...

อ้อจ้ะ

ที่ไปถอดองค์ความรู้ก็มีปัญหาเรื่องการตัดพันธุ์ปนเหมือนกัน ก็มีการปฏิบัติหลายวิธีเช่นใช้แรงคนตัด ใช้สารเคมีลูบ เรื่องนี้ก็น่าสนใจหากเป็นปัญหาหลักของชาวนามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็น่าจะดีและเป็นประโยชน์คะ มีผลเป็นอย่างไรเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ

การเผาตอซังเป็นประเด็นที่กรมฯเรารณรงค์มานานมาก พี่คุยกับกองวิศวกรรมของกรมฯเรา เขาบอกว่าข้อดีมีมากกว่าคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าทางอาหารของฟางมีมากพี่เคยคุยกับชาวนาสุพรรณบุรี เขาบอกว่าการเผาทำลายจุลินทรีย์และท้าให้เงินสูญเสียไปเป็นพันบาทเลยคะ พี่เคยบันทึกไว้ในบล็อกเดี๋ยวจะลิงก์ให้นะคะ

พี่หม่า

อ้อคะ

พี่หาเจอแล้ว สิงก์อ่านลุงประทิน ข้อยมาลา ชาวนาสุพรรณบุรี

พี่หม่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท