การศึกษานอกระบบเพื่อชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์


มีคนหนึ่งมีวุฒิจบ กศน. ม.๓ แต่ขอมาสมัครเรียนพื้นฐานเพราะอ่านภาษาไทยไม่ออกเขียนไม่ได้

หลังจากที่ได้ตระเวนเก็บข้อมูลพื้นฐานคนไร้สัญชาติในพื้นที่ เพื่อจะได้ตอบโจทย์ "การจัดสวัสดิการชุมชนด้านสาธารณสุข" ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นความทุกข์ของคนทุกข์ในเรื่องนี้

ประเด็นหนึ่งที่ได้พบ และเห็นว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องการศึกษา (ซึ่งได้เข้าใจมากขึ้นจากบันทึกของ อ.ปัทมาวดี ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการชุมชนด้วยเหมือนกัน)

เราพบว่ามีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มมีโอกาสเรียนหนังสือจนจบ ป.๖ แต่หลายคนก็ไม่มีโอกาสเรียนต่อ เพราะต้องช่วยที่บ้านทำไร่อยู่ในหมู่บ้าน ...อาจเป็นโชคดีที่ในจำนวนนี้มีหลายคนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย จึงไม่ค่อยคิดที่จะเข้าไปทำงานในเมือง (หรืออาจจะคิดแต่ไม่มีโอกาส) ส่วนใหญ่จึงอยู่ในหมู่บ้าน

และก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียน เพราะอายุมากเกินเกณฑ์ .. กรณีที่พบในพื้นที่ มีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวเพิ่งย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยน้องๆ ที่อายุอยู่ในเกณฑ์ก็สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาได้ แต่กรณีเด็กโต อายุ ๑๔-๑๕ ก็ไม่สามารถเข้าเรียนได้

จากสภาพข้อเท็จจริงในชุมชนเช่นนี้ ทำให้เรามองถึงความจำเป็นในการจัดการศึกษาให้กลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งอาจเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยสร้างฐานชุมชนให้เข้มแข็งได้ ตรงข้าม หากเราปล่อยปละละเลย ก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาในชุมชนได้ เพราะเมื่อเยาวชนเหล่านี้ ไร้การศึกษา ไร้สิทธิ ไร้ความหวัง และไร้โอกาสในการพัฒนาชีวิต พวกเขาก็จะตกอยู่ในวังวนของยาเสพติด หรือแก๊งวัยรุ่น เช่นที่เป็นอยู่ได้

รูปแบบการศึกษาที่เรากำลังเตรียมกันสำหรับเริ่มต้นในปีการศึกษาหน้านี้ เป็นรูปแบบที่เสริมจากระบบของการศึกษานอกโรงเรียน ที่ทาง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะจะสอดคล้องกับความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องช่วยครอบครัวทำไร่ในชุมชนด้วย

แต่ด้วยระบบการเรียนการสอน ที่เป็นการพบกลุ่มสัปดาห์ละครึ่งวัน แบบ กศน. ทำให้เยาวชนเหล่านี้ซึ่งพื้นฐานภาษาไทย หรือแม้แต่พื้นฐานระดับประถมไม่ค่อยดีอยู่แล้ว (หลายคนอ่านเขียนไทยไม่ได้เลย..อีกหลายคนอ่านได้เท่า ป.๒ แม้จะจบ ป.๖ ก็ตาม)  ไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตามหลักการของ กศน.ได้เต็มที่

การเสริมของเรา จึงเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้นเสริมให้อาทิตย์ละ ๑ วัน ในวิชาสำคัญพื้นฐาน ตามหลักสูตรของ กศน. ทั้งระดับประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย โดยถ้าใครอยากได้วุฒิการศึกษาด้วยก็ต้องไปสมัครกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโดยตรง มีหลายคนที่เป็นนักศึกษาของ กศน.อยู่แล้ว แต่อยากได้ความรู้เข้มข้นก็จะมาเรียนเสริมได้ .. มีคนหนึ่งมีวุฒิจบ กศน. ม.๓ แต่ขอมาสมัครเรียนพื้นฐานเพราะอ่านภาษาไทยไม่ออกเขียนไม่ได้ .. ได้ทดลองให้อ่านก็ได้ประมาณชั้น ป.๒-ป.๓ .. บอกว่าที่ผ่านมาได้เพราะสนิทกับครูประจำกลุ่ม ..

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นจัดสวัสดิการชุมชนด้านการศึกษาในรูปแบบนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยเริ่มทดลองเป็นกลุ่มเล็กๆ ก่อน และเนื่องจากจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ก็จะได้มีโอกาสเสริมประเด็นปัญหาชุมชนให้เยาวชนได้มีโอกาสวิเคราะห์และหาทางออกให้ลึกซึ้งขึ้น โดยเรียนรู้จากปัญหาและการแก้ปัญหาของที่อื่นๆ ในประเด็นต่างๆ

กำลังพยายามค่อยๆ เตรียม ค่อยๆ ปรับจากความรู้ต่างๆ ที่เก็บเกี่ยวนี้ ปรับทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น แม้จะไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก แต่ก็คงค่อยๆ เรียนรู้ไปทำไป  อยากประยุกต์จากแนวคิดของ "โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต" ของ อ.เสรี พงศ์พิศ ด้วย เพราะเห็นว่าชัดเจนกับเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อชุมชน .. เพื่อให้คนอยู่ในชุมชน ..ไม่ใช่การศึกษาที่ทำให้เยาวชนอยู่ในชุมชนไม่ได้เช่นทุกวันนี้

คงมีอะไรต้องเรียนรู้อีกเยอะจากงานนี้ค่ะ ??

 

 

หมายเลขบันทึก: 165980เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

เป็นกำลังใจให้ค่ะ  จากจุดเล็กๆ ถ้าสามารถเสริมสร้างให้คนในชุมชนเองได้มาทำหน้าที่เป็น "ครู" ด้วย ก็จะเป็นสวัสดิการโดยชุมชนเพื่อชุมชน อาจเริ่มต้นด้วย "ครูอาสาสมัคร" ในชุมชน แต่ถึงจุดหนึ่ง การแลกเปลี่ยนก็อาจมาช่วยหนุนเสริมคุณครูได้  เช่น นักเรียนนำพืชผักหรือสิ่งที่มีเล็กๆน้อยๆมาให้คุณครูเป็นการขอบคุณ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ อ.ปัท

ใช่เลยค่ะ เราก็เตรียมการฝึกให้น้องๆ ชนเผ่ามาช่วยเป็นครูสอนด้วยค่ะ และจะค่อยๆ สอนให้เขาและเธอมี blog ของตัวเองเพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การเรียนการสอนกับผู้มีประสบการณ์ใน gotoknow นี้ด้วยค่ะ อ.คอยให้กำลังใจครูอาสาสมัครมือใหม่เหล่านี้ด้วยนะคะ

ดิฉันติดตามงานของคุณ pilgrim มาโดยตลอดค่ะ ว่าแต่รับสมัครครูอาสาบ้างไหมค่ะ...ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจค่ะ

 

ขอบคุณคุณจารุวรรณมากนะคะ สำหรับการติดตามและกำลังใจ ถ้าจะช่วยให้ความเห็นหรือคำแนะนำก็จะยิ่งขอบคุณมากค่ะ

แต่ถ้าคุณจารุวรรณจะลงมาช่วยด้วยอย่างนี้ก็จะดีที่สุดค่ะ ยินดีมากเลยค่ะ ยังไงติดต่อกันทาง e-mail ก็ได้ค่ะ

ขอขอบคุณล่วงหน้าแทนทุกคนทางนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท