การนำเสนอในวันที่ 11 ก.พ.2551


กลุ่มปลาทู เรื่อง การทำนาเกลือ

การนำเสนอเรื่องการทำนาเกลือ คือ

  แหล่งผลิตเกลือทะเลที่สำคัญของประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยโบราณ  ได้แก่  จังหวัดสมุทรสาคร  สมุทรสงคราม  สมุทรปราการ  และเพชรบุรี  การทำเกลือทะเลหรือเกลือสมุทร  จึงเป็นอาชีพหนึ่งของชาวสมุทรสงคราม  ซึ่งกระบวนการผลิตเกลือทะเล นั้นจำเป็นต้องใช้เทคนิคผสมผสานเป็นพิเศษ  ซึ่งแสดงถึงการสืบทอดภูมิปัญญาของชาวบ้านแต่ครั้งอดีต                  ปัจจุบันอาชีพการทำนาเกลือกำลังจะสูญหายไป ด้วยเหตุที่มีการผลิตเกลือโดยกระบวนการทางวิศวกรรมเหมืองแร่ที่เรียกว่า เกลือหิน  หรือเกลือบริสุทธิ์จำนวนมาก กระบวนการผลิตเกลือทะเลต้องใช้พื้นที่ในการทำนาเกลือและต้องการแสงแดดจากดวงอาทิตย์เพื่อเพิ่มระดับความเข้มข้น (ความเค็ม)  ให้กับน้ำทะเลจนตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ  เริ่มจากการเตรียมพื้นที่ทำนาเกลือให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตเกลือย่างต่อเนื่องประมาณ1-2  กิโลเมตร  หรือพื้นที่ประมาณ  30-35  ไร่  ขึ้นไป  ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทำนาเกลือจึงควรอยู่ใกล้ชายทะเลหรือชายคลองที่สามารถดันน้ำ เข้าแปลงนาเกลือ แต่ละส่วนซึ่งเรียกว่า กระทงนา  กรณีพื้นที่ตรงสามารถชักน้ำ  หรือดันน้ำอย่างต่อเนื่องกันในแต่ละ กระทง  เรียกว่า  นายืน  หากพื้นที่ไม่ต่อเนื่องกันแต่ละกระทงต้องดันน้ำสลับไปสลับมา  เรียกว่า  นาวน  อย่างไรก็ตาม  ทั้งนายืนหรือนาวนจะต้องจัดเตรียมผืนนาเกลือ เชื่อมโยงกันถึง  5  ส่วน  เพราะจะต้องมีการดันน้ำจากส่วนแรกไปถึงส่วนที่  5  ตามลำดับ การทำนาเกลือเริ่มประมาณเดือนตุลาคม  และจะเริ่มปล่อยน้ำเข้าสู่  นาวัง โดยการดันน้ำเข้ามา ระดับความเค็มจะอยู่ที่ 0-2 ดีกรี  ส่วนที่  2 จะเป็นนาอันตาก ความเข้มข้น 7-8 ดีกรี ยิ่งตากเยอะยิ่งได้เปรียบ  ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ้นหน้าฝนแล้ว  หลังจากนั้นจะดันน้ำเข้าสู่ นารองเชื้อ เป็นส่วนที่จากนั้นพักไว้ประมาณ  5-7  วัน  แสงแดดจะค่อย    แผดเผาให้น้ำค่อยๆ  งวด  จนกระทั่งความเค็มเพิ่มขึ้น  ซึ่งถ้าใช้เครื่องวัดระดับความเค็มจะประมาณ  22-24  ดีกรี เดิมชาวนาเกลือจะใช้วิธีสังเกตความเค็มจากคราบสีน้ำ ซึ่งจับอยู่ริมกระทงนา หรือการใช้ไม้ชะคราม   หากระดับความเค็มพร้อม ก็จะปล่อยเข้าสู่นาเกลือส่วนที่  4  เรียกว่า  นาอันเชื้อ ส่วนที่  5 เป็นการเตรียมการปรับพื้นที่เพื่อรองรับน้ำจากนาเกลือ เรียกว่า  นาอันปลง นานี้ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการทำนาเกลือ  ที่จะกลายเป็นเม็ดเกลือในที่สุด ในนาอันปลงนี้ชาวนาเกลือจะใช้วัสดุกลิ้งบดทับพื้นที่ผิวดินให้เรียบแน่นมิให้มีรอยแตก  ประมาณ  4-5  ครั้งๆละ  3-5  วัน  และการกลิ้งบดแต่ละครั้งควรห่างกันประมาณ  5-7  วัน  ตามสภาพของผิวดิน  เมื่อชาวนาเกลือปล่อยน้ำเชื้อลงมาก็จะค่อยๆ  ตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ  มีค่าความเค็มประมาณ  82-  87  %             ขี้แดดนาเกลือ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี  จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าเป็นเมือง 3 น้ำ 3 นา ซึ่ง 3 น้ำ หมายถึง น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ส่วน 3 นา คือ นาข้าว นาเกลือ และนากุ้ง อันว่าเกลือนี้ถือเป็นของดีขึ้นชื่อของท้องถิ่น โดยที่สมุทรสงครามมีพื้นที่ทำนาเกลือประมาณ 5,000 ไร่ ใน 2 ตำบล คือ ตำบลบางแก้ว และตำบลลาดใหญ่ ในเขตอำเภอเมืองฯ หากคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนาเกลือก็คงไม่เคยได้ยินคำว่าขี้แดดนาเกลือ ซึ่งขี้แดดนาเกลือคือ... ในช่วงการหยุดทำนาเกลือหรือการพักนาในช่วงฤดูฝน ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม ซึ่งในช่วงนี้จะมีฝนตกมาขังในอันนาเกลือ ทำให้น้ำกร่อยหรือจืด เกิดสาหร่าย ตะไคร่น้ำ และจุลินทรีย์ต่าง ๆ จับตัวลอยอยู่บนผิวน้ำในอันนาเกลือและจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน น้ำในนาเกลือจะแห้งเพราะหมดฤดูฝน ทำให้สาหร่าย ตะไคร่น้ำ และจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในนาเกลือ จะแห้งเป็นแผ่น ตกสะเก็ด มีสีน้ำตาลดำ หนาประมาณ 2-5 มม. สิ่งนี้เองที่เรียกว่า ขี้แดดนาเกลือ ขี้แดดนาเกลือ หรือที่ชาวนาเกลือเรียกกันว่า ดินหนังหมา ที่เรียกกันว่าดินหนังหมาก็เนื่องมาจาก ถ้าเอาขี้แดดนาเกลือไปรดน้ำให้เปียกชุ่มหรือแช่น้ำแล้ว จะมีกลิ่นเหม็นเหมือนกลิ่นสุนัขตาย อนึ่ง คำว่า "อันนา" หมายถึง กระทงนา หรือ พื้นที่สี่เหลี่ยมที่มีคันนาล้อมรอบเรียกว่า อันนา หรือ กระทงนา เดิมทีขี้แดดนาเกลือ ถือเป็นภาระหนักของชาวนาเกลือในการกำจัดออกไปเมื่อเริ่มต้นฤดูกาลการทำนาเกลือ ชาวนาเกลือจะขูดขี้แดดนาเกลือทิ้งไป เพราะหา ไม่แล้วขี้แดดนาเกลือจะจับตัวเป็นแผ่นเป็นอุปสรรคทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงพื้นนาเกลือ ทำให้ได้เกลือน้อย เกลือสกปรก เสียราคา การกำจัดขี้แดดนาเกลือแต่ละครั้งต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานขนขี้แดดออกจากนาเกลือ ภายหลังการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของขี้แดด นาเกลือ ทำให้กลายเป็นของดีมีค่า สร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้ชาวนาเกลือ ปัจจุบันขี้แดดนาเกลือสามารถขายได้ กก.ละ 1 บาท และหากนำไปบดก่อนจำหน่าย จะตกราคา กก.ละ 2-3 บาท   

 

หมายเลขบันทึก: 165926เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท