เรื่องเล่าจากสนามวิจัย : 1 >>ทักษะวิจัยของครูสร้างได้จากการเยี่ยมบ้านนักเรียน


                   

                              ช่วงนี้เหมี่ยวได้เดินทางไปติดตาม คุณครู ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นท่องเที่ยว จังหวัดพิษณุโลกในเครือข่ายเรารักพระราชวังจันทร์ซึ่งมีโรงเรียนจ่านกร้องเป็นแม่ข่ายค่ะ เลยทำให้ได้เรียนรู้และรู้จัก Best Practice หลายเรื่องจากโรงเรียนที่เป็นลูกข่ายค่ะ  

                              สำหรับวันนี้ขอเล่าเรื่อง โรงเรียนท่าทองวิทยาคม นะคะ ที่นี่เค้ามีระบบดูแลนักเรียนที่ ได้รับรางวัลดีเด่นติดต่อกันมาหลายปีค่ะ ซึ่งพอฟัง อาจารย์วิสูตร และอาจารย์ศิริกุล ทีมงานพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นท่องเที่ยวของโรงเรียนท่าทองวิทยาคม เล่าให้ฟังค่ะ เลยพบความสำเร็จเล็กๆ ที่ซ้อนอยู่ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจได้นะคะ

                             "....ครูที่นี่เราออกเยี่ยมบ้านเด็ก คนละไม่เกิน 20 คน ซึ่งมีแบ่งกันตามหมู่บ้าน หรือตำบลเลยทำให้เยี่ยมได้ทั่วถึง ......บางครั้งข้อมูลที่เราได้ ต้องถามเพื่อนบ้านด้วย ถ้าถามแต่เด็กกับผู้ปกครองก็ไม่ค่อยบอกหมด แต่ถ้าถามคนแถวนั้นเค้าจะเล่าให้ฟังถามหลายๆ บ้านแล้วก็ทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กมากขึ้น....ทำให้รู้จักเด็กจริง...."

                              ตรงนี้เหมี่ยวเลยถามท่านอาจารย์วิสูตรต่อว่า กิจกรรมเยี่ยมบ้านแบบนี้ทำให้อาจารย์ได้รู้จักท้องถิ่น หรือได้ข้อมูลในชุมชนเพิ่มขึ้นไหมคะ อาจารย์ก็ตอบว่า ใช่ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น และรู้จักพื้นที่ดีขึ้น

                       ตรงนี้เลยมาคิดต่อ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นการตีความเองหรือไม่ แต่คิดว่าการตีความนี้น่าจะมีประโยชน์มากกว่าเลยขออนุญาตตีความเอาเองว่า

                        ปัญหาหนึ่งที่พบในการติดตามลูกข่ายคือ ครูขาดการลงชุมชน ขาดทักษะการหาข้อมูลที่เป็นบริบทของโรงเรียนอย่างจริงจัง  ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่จากภาระงานประจำ และเหตุผลส่วนตัว

                        ซึ่งหากพิจารณาแล้ว ปัญหานี้สามารถแก้ได้ โดยการเสริมสร้างทักษะวิจัยให้กับครูได้ด้วยงานประจำที่ทำอยู่คือ ระบบติดตามดูแล เยี่ยมบ้านนักเรียนที่ครูดูแลอยู่ เป็นการฝึกการวิจัยภาคสนามได้เป็นอย่างดีทีเดียว ซึ่งทักษะหนึ่งที่ครูต้องฝึกคือ การสัมภาษณ์ การสังเกต การจดบันทึก และสามารถทำงานอีกอย่างได้คือ การเรียนรู้พื้นที่หรือชุมชนที่เป็นบริบทของโรงเรียนได้ ซึ่งตรงนี้จะสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การจัดแหล่งเรียนรู้ และการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของครูได้ โดยไม่ต้องแบ่งเวลาหรือละทิ้งจากภาระการสอนหรือหน้าที่ประจำในโรงเรียนออกมาหาข้อมูล

                         ซึ่งหากมองในมุมมองของ KM ก็จะต่อด้วยการมานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับนักเรียนเพื่อให้การช่วยเหลือและติดตามต่อไป และเรียนรู้เรื่องชุมชน ซึ่งอาจมีเรื่อง "ภูมิปัญญา" มาเป็นประเด็นที่สนใจร่วมกันก็ได้ เรียกว่า มีเป้าหมายที่จะหาข้อมูลชุมชน หรือ จะเป็นเรื่องเล่าต่างๆ ก็ได้เหมือนกันแล้วแต่ทางทีมคุณครูจะสนใจเรื่องอะไรในชุมชน กิจกรรมตรงนี้อาจจะทำให้กิจกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียน มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นได้

                          ตรงนี้ครูที่สามารถเก็บข้อมูล และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพที่ครูสามารถทำได้ อาจพัฒนาเป็นผลงานวิชาการซึ่ง ผลงานชนิดนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง แต่อาจจะไม่เห็นว่าไปพัฒนานักเรียนอย่างชัดเจน แต่การทำผลงานวิชาการแบบนี้น่าจะส่งผลต่อ  เจตคติที่ครูมีต่องานประจำ คือการเยี่ยมบ้านนักเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือแหล่งเรียนรู้ อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูในโรงเรียนดีขึ้นเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนางานและการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพในที่สุด ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นักวิชาการหรือสนใจการพัฒนาวิชาชีพครู น่าจะกลับมาให้ความสนใจ นอกจากประเด็นการพัฒนาผลงานวิชาการที่เป็นนวัตกรรมของครู ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่หนึ่งที่อยากจะศึกษาและถามกับตนเองเสมอว่า การพัฒนาผลงานทางวิชาการของครู จะสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้จริงหรือ ซึ่งมันมีผลกระทบอะไรกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน และสุดท้ายเป็นคำตอบของการพัฒนาวิชาชีพครูหรือไม่

                           ซึ่งถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่เป็นครูหลายท่านที่กำลังเร่งทำผลงานสุดกำลัง คงจะมีคำตอบอยู่ในใจท่านแล้วนะคะ ซึ่งเหมี่ยวเองพอได้ถามครูหลายท่านที่รู้จักทั้งใกล้ตัวและที่รู้จักก็ตอบว่าดี ครูก็ได้ เด็กก็ได้ แต่ถ้ามีระบบหรือมีเวลามากกว่านี้ก็คงทำได้จริงๆ ดีกับเด็กจริงๆ แต่ครูต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพัฒนานวัตกรรม แล้วก็ไปวิ่งหานักวิชาการตรวจผลงานให้ แล้วก็ยังเหนื่อยที่ต้องไปบีบบังคับให้นักเรียนเรียนและทำคะแนนให้ได้ผล

                           ตรงนี้ใช่หรือไม่ ท่านที่เป็นครูหรือเป็นบุคลากรในการศึกษาเชื่อว่าคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว แต่ถามว่าครูที่เก่งๆ แล้วทำได้ เด็กได้จริงๆ มีไหม เท่าที่เดินอยู่บนเส้นทางการศึกษาทำให้เหมี่ยวพบครูเก่งๆ หลายท่านที่สามารถทำได้

                           แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่น่าสังเกตคือ ครูที่ทำได้ เป็นผู้ที่มีกระบวนการเรียนรู้ และแสวงหาความรู้อย่างไม่ท้อ อีกปัจจัยหนึ่งคือ การมีทีมงาน ช่วยงานทำเรียนรู้ร่วมกันเป็นบรรยากาศที่มาจากความรู้ในตัวครูหลากหลายความถนัด เช่น อาจารย์สุนันทา สุนทรประเสริฐ ที่โรงเรียนสุพรรณภูมิ และอาจารย์กัลยา แตงขำ ที่โรงเรียนบ้านใหม่ ราชบุรี ค่ะ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของศึกษาศาสตร์ มน. ทั้งสองท่าน ซึ่งท่านทั้งสองได้รับรางวัลเหรียญทอง คุรุสภา ปีที่ผ่านมาด้วยค่ะ

                        สุดท้าย battery ของ Notebook จะหมดแล้ว จึงขอเล่าให้ฟังใหม่ในบันทึกหน้านะคะ เลยไม่ได้สรุปเรื่องวันนี้เลย ยังไงแล้วช่วยติดตามต่อไปนะคะ จะนำมาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ค่ะ

                             



ความเห็น (8)

สวัสดีครับ

  • แวะมาทักทายนะครับ
  • ได้อ่านบันทึกแล้วครับ
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆ
  • แล้วจะแวะเข้ามาทักทายใหม่นะครับ
  • ขอบคุณครับ

ว่ามั๊ยครับ..ว่า

การศึกษาไทยอยู่ในภาวะตายซาก พายเรื่อในอ่าง

สอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มาอย่างยาวนาน

ตั้งแต่หลักสูตรโน้น จนถึงหลักสูตรนี้ 2544

แต่เราก็ยังพูดวนซ้ำ อยู่อย่างนี้

อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดวิเคราะห์ไม่เป็น..

มาตรฐานที่โรงเรียนมักไม่ผ่านเกณฑ์ของ สมศ.

นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

โรงเรียนมากมายอยู่ในภาวะเยี่ยงนี้

ส่วนโรงเรียนที่ผ่านการประเมินล่ะ...ดีแล้วหรือ?

ผอ.สทศ. บอกว่า"เกรดเฟ้อ" เกรด นร. 3-4 ปีที่ผ่านมา

บอกอย่างนั้น....

จะบังคับว่า ม.6 ต้องจบหลักสูตรด้วยเกรด 1.5

คุณภาพจะดีขึ้นหรือ?

ไม่ใช่ไม่มีความหวังอะไรกับการศึกษา

ตรงกันข้าม...จึงคิด จึงเฝ้าถามตัวเอง

ในสถานภาพครูคนหนึ่ง

หลายอย่างที่กล่าวมา...ค่อยสะสม และเชื่อ

ปัจจัยหลายอย่าง ฉุดรั้งความงอกงามไว้

ต่างคนต่างจุดประสงค์ ทั้งๆที่ทำเรื่องเดียวกัน

การศึกษา....

ใครก็พูดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ต่อการพัฒนา

ทั้งชาติ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง...จิปาถะ

อย่างไรเสีย...ครูต้องตั้งใจสอนนักเรียน

ให้คุ้มกับเงินที่ได้รับ อยู่แล้ว..

 

  • ขอบคุณ อาจารย์P  ธนิตย์ สุวรรณเจริญนะคะ ที่เข้ามาทักทาย
  • จะว่าไปแล้วเราน่าจะมาลองดูวีธีการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับนักเรียนเมื่อได้เรียนรู้กัน โดยยึดความสุขที่ได้รับจากการเรียนรู้เป็นเป้าหมายหลัก มากกว่าผลการเรียนดูบ้างก็อาจจะเห็นผลอะไรบางอย่างในทางที่ดีขึ้นได้
  • เราอาจได้พบศักยภาพในตัวเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ แต่มีความสามารถทางด้านอื่นๆ สูงก็ได้
  • เคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ MI หรือ พหุปัญญา ที่เชื่อว่า ความฉลาดของคนเรามีถึง 8 ด้าน เลยทีเดียว เด็กบางคนอาจเรียนเลขไม่เก่งแต่เก่งร้องเพลง เก่งเล่าเรื่อง เก่งกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เรียนรู้
  • เราลองมามองหาวิธีเรียนที่มีความสุขกันดีกว่า เราอาจจะพบทางออกใหม่ของการศึกษาของไทยที่ไม่วนอยู่ในอ่างอีกต่อไปก็ได้นะคะ

 

เรียน คุณเหมี่ยว

ข้อความผมที่บันทึกลงไป

เรียน คุณเหมี่ยว

การจัดการเรียนสอน ให้นักเรียนมีความสุข ครูน่าจะพยายามอยู่แล้ว ยึดเอาความสุขเป็นหลัก พูดได้..แต่การปฎิบัติจริง นร.ต้องได้มาตรฐาน มีผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามหลักสูตรฯ ฉะนั้น นอกจากเอาสนุก เอามัน (มีความสุขแล้ว) ที่สำคัญเด็กต้องรู้ด้วย...

เหมือนเปิดร้านขายกาแฟนะ ถ้าเราพร้อมแล้วในเรื่องเงิน เปิดขายเอาเพลินๆ เอาสนุกๆ ขายได้-ไม่ได้ ไม่เป็นไร เอาความสุขไว้ก่อน อย่างนี้ได้เลย มีความสุขอย่างเดียว...ไม่มีปัญหาอะไร

แต่ถ้าต้องเปิดร้านขายกาแฟ เพราะต้องหาเงิน ใช้เงิน เป็นอาชีพ คงจะทำเอาเพลินอย่างเดียวไม่ได้แล้วล่ะ เพราะไฟต์บังคับ ต้องมีรายได้ พอ ที่จะจุนเจือตนเองและครอบครัวด้วย ไม่งั้นก็อดตาย...

เหมือนการเรียนรู้ของนักเรียนนะ เอาเพลินเอามัน เอาสนุกอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องผ่านเกณฑ์ของหลักสูตรด้วย นี้แหละ คืองานสำคัญของครู อยากให้เด็กสนุกมั๊ย..แน่นอน แต่เด็กก็ต้องรู้ด้วย และรู้พอที่จะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของหลักสูตรฯ ซึ่งบังคับอะไรไว้มากมาย...

..........................

ข้อความที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ เพียงอยากบอกว่า งานวิจัยมากมาย ถ้าข้อมูลนั้นมีความจริงน้อยไป ผลวิจัยนั้นก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เคยฟังผลประเมินโรงเรียนบางโรงของสมศ.มั๊ย..ครูดี ผู้บริหารดี แต่นักเรียนตก โรงเรียนจึงไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ได้รับการรับรอง...

เพียงอยากบอกว่า ความจริง เป็นสิ่งสำคัญมาก ในการแก้ปัญหาต่างๆ... เท่านั้น

 

  • ต้องขอบคุณ อ. ธนิตต์ อีกครั้งค่ะ ที่ติดตามอยู่เสมอ
  • ความคิดเห็นของอาจารย์เป็นประโยชน์กับโครงการวิจัยนี้ค่ะ
  • ซึ่งโครงการวิจัยที่เหมี่ยวรับผิดชอบดูแลอยู่ เราเน้นสิ่งที่เป็นจริง สภาพจริง ผ่านความเชื่อและแนวคิดของ KM หรือการจัดการความรู้ ซึ่งให้ความสำคัญกับการค้นหาความสำเร็จเล็กๆ จากการทำงาน และเน้นความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ไม่เน้นที่ปัญหา เพราะเชื่อว่า ความสำเร็จเล็กๆ ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นสุดท้ายแล้วจะไปแก้ปัญหาเอง
  • อันนี้เป็นแนวความคิดหลักที่ทำให้เหมี่ยวทำการศึกษาในโครงการวิจัยที่ร่วมกับโรงเรียนบ้านกร่างและโรงเรียนเครือข่าย 20 โรงเรียนในพิษณุโลกค่ะ
  • และส่วนลึกที่สุดของหัวใจดวงน้อยของนักวิจัยคนนี้คือ คุณครูค่ะ เพราะด้วยความที่เป็นลูกครู หลานครู เติบโตมาจากครอบครัวที่เป็นครู จึงต้องการจะทำอะไรบางอย่างที่จะเป็นการช่วยสะท้อนความสุข ความสำเร็จ และสิ่งดีงามที่ครูได้ทำให้โลกใบนี้ได้รับรู้บ้าง

 

 

การที่ครูออกเยี่ยมบ้านของนักเรียนไม่เพียงแต่เป็นการฝึกสมถรรนะในงานวิจัยของครูในเรื่องของการ สังเกต สอบถาม จดบันทึก เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเปิดมุมมองของครูที่มีต่อนักเรียนในเรื่องของปัญหาต่างๆของนักเรียน สภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมชุมชน ความสามารถพิเศษของนักเรียน และความสัมพันธ์ความชื่นชอบระหว่างนักเรียนกับชุมชนของตนเองเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนสำหรับนักเรียนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะการเรียนการสอนในปัจจุบันจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นด้วย แนวคิดที่ครูออกเยี่ยมบ้านของนักเรียนนี้จึงเป็นสิ่งที่ดี สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชุมได้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท