ไปจัดเวทีที่เครือข่ายสินธุ์แพรทอง จ.พัทลุง(4): ปัญหา แนวทาง บทสรุป


“ผู้นำกิจกรรม” มีเยอะ แต่ “ผู้นำความคิด” และ “ผู้นำการจัดการกระบวน” หายากยิ่ง

ปัญหาและอุปสรรค

  

ปัญหาการทำงานของภาคี คือ

เรื่องของเวลา เจ้าหน้าที่ภาระงานมาก  เครือข่ายชอบใช้เวลานอกราชการ  อีกด้านหนึ่งระบบราชการรีบเอาผลก่อน  ข้างในกลวงไม่เป็นไร   

มีความแตกต่างในแนวคิด   ภาคีภายนอกมักจะคิดแบบ เข้ามาจัดการชุมชน  แต่ชุมชนชาวบ้านจะคิดเรื่อง ความสัมพันธ์   ภายนอกที่คิดเข้ามาจัดการชุมชนนั้น ใช้ไม่ได้ อันตราย  ต้องเห็นขบวน เห็นเงื่อนไขก่อน   

นอกจากนี้ภาคีอาจจะเปลี่ยนประเด็นไป เพราะแนวนโยบายเปลี่ยนไป  เวลาเข้ามาร่วมกิจกรรมสั้น  ชาวบ้านยังไม่เข้าใจการเคลื่อนขบวน  การทำกิจกรรมจะมองประโยชน์ช่วงสั้น  คิดกิจกรรม  ทำกิจกรรม  แต่ไม่มองเชิงยุทธศาสตร์   

ต่อเรื่องการทำงานแบบบนลงล่าง   หน่วยงานมีเงื่อนไขนโยบายกำหนดมาก่อน  คนปฏิบัติ (หมายถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของหน่วยงาน) จึงต้องรู้จักฉีกลูกออกมาเล่น” …เป็นข้อเสนอแนะจากภาคีผู้ปฏิบัติ 

คุณคนองเดช ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า  เนื่องจากภาคีต่างๆเข้าไปไม่พร้อมกัน  ให้ชุมชนเป็นผู้จัดการตัวเองก็จะเข้มแข็ง  (ไม่ใช่ต่างหน่วยต่างเข้ามาจัดการ)  ตีความได้ว่า   การจะบูรณาการการทำงาน  ต้องให้ชุมชนเองเป็นแกนในการทำการบูรณาการ  

แนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต 

คุณอนุชามองว่าโจทย์ของพื้นที่ คือ  (ก) การทำงาน  ทำอย่างไรอย่าให้ขาดรุ่น   (ข) ความรู้มีมาก แต่การจัดการความรู้(เพื่อนำความรู้ไปใช้ต่อยอด)ยังไม่ทัน 

แนวทางปัจจุบันของ ธกส.จะทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  คุณอุทัย (เครือข่ายฯ)บอกว่า กำลังจะร่วมกับ ธกส. ทำโครงการซื้อหนี้นอกระบบมาบริหารเอง   เศรษฐกิจพอเพียงนั้น  ต้องทำให้พอกินก่อน จึงทำให้พอเพียง  

ข้อสังเกตของเราความสำเร็จของเครือข่ายสินธุ์แพรทองในการทำงานร่วมกับภาคีภายนอก   เราคิดว่ามาจาก   

(1)  การรู้จักตัวเองว่าต้องการอะไร  เครือข่ายมียุทธศาสตร์การพัฒนาของตนเองอยู่  เมื่อหน่วยงานลงมา ก็เหมือนถูกสอบวิทยานิพนธ์   กล่าวคือ ต้องตอบให้ได้ว่า มาทำไม  มาทำอะไร ทำไมต้องเป็นลำสินธุ์  แล้วลำสินธุ์จะได้อะไร   หน่วยงานภายนอกต้องปรับแก้โครงการอยู่หลายรอบกว่าจะเป็นที่ยอมรับของเครือข่ายฯ 

(2)              ความสามารถในการบริหารจัดการตนเอง  (มาจากศักยภาพแกนนำ และกระบวนการทำงาน  เช่น  การขยันจัดเวทีเรียนรู้ เวทีถอดบทเรียน เวทีประชุม  โดย ให้ เวที เป็นผู้แก้ปัญหา  ไม่ใช่ เครือข่าย เป็นผู้แก้ปัญหา  การจัดระบบแกนนำ 4 แถว)

(3)              การเปลี่ยนภาระงานให้เป็นการเรียนรู้  ด้วยแนวคิด คน(ภายนอก)มา ก็พาความรู้มาด้วย   ในการทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้   เครือข่ายฯได้ฝึกให้แกนนำแถวสอง แถวสามของตน ได้ออกมาปฏิบัติงาน เช่น ในการนำเสนอต่างๆ  ซึ่งช่วยฝึกฝนและสร้างเสริมศักยภาพให้แกนนำเหล่านี้ไปในตัว   เครือข่ายให้ความสำคัญกับการที่ภายนอกที่เข้ามาศึกษาชุมชนจะต้อง คืนความรู้ให้ชุมชน ด้วยเสมอ

(4)              สร้างที่ยืนให้หน่วยงาน   โดยพยายามเข้าใจว่า  หน่วยงานต่างๆที่ลงมานั้น  เขาลงมาเพราะมีหน้าที่ต้องทำงานให้ลุล่วง   เครือข่ายฯจึงต้องพยายาม สร้างที่ยืนให้เขา   ในความเข้มงวดของกระบวนการคัดกรอง  เครือข่ายฯกลับ ใจดี ไม่ปฏิเสธ และใจกว้างเปิดรับการเข้ามาของภาคีภายนอก    เพียงแต่ บางงานที่ไม่สอดคล้อง  เครือข่ายฯอาจจะให้หน่วยงาน เคลื่อนงานนอกยุทธศาสตร์ของเครือข่ายได้  จึงให้ความร่วมมือแค่ ทำให้เสร็จ 

คุณอุทัยบอกว่า  ผู้นำกิจกรรม  มีเยอะ  แต่ ผู้นำความคิด และ ผู้นำการจัดการกระบวน  หายากยิ่ง   

คุณอนุชาบอกว่า ชุมชนเข้มแข็ง อาจเป็นแค่กระบวนการในบางประเด็น  

เป็นการสนทนาจาก "ผลึกความคิด" ของนักพัฒนาตัวจริงหลายท่าน  ขอบคุณจากใจจริงที่ท่านเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณค่า  ไม่ทราบว่า  มีท่านใดอ่านบล็อกอยู่บ้าง  หากท่านจะกรุณาเข้ามาแสดงความเห็น (เช่น บอกว่าเราสรุปผิด เข้าใจผิด) ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งๆๆ   

หมายเลขบันทึก: 162869เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ถอดบทเรียนกี่ครั้งก็ออกมาแบบเดียวกัน
  • แต่ก็ยังถอดกันไม่เลิก  เปลี่ยนคนมาถอด  อิอิ
  • ที่แย่คือคนที่ไม่รู้  แถมยังมี  รู้  แต่ไม่ทำ
  • ชอบคิดแทนชุมชน  ชาวบ้าน  แล้วก็ตั้งกฏกติกาลงมาพร้อม  เสียหายไปแล้วก็เยอะ  ( ครูบาสุทธินันท์  บอกว่ายังจะมีมาให้เห็นอีก  )
  • แต่ภาคประชาชนอีกหลายๆแห่งก็คงต้องพัฒนาตัวเอง  เพราะยังไม่พร้อมเหมือนกัน
  • โจทย์ก็คือ  ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ?  ใครเป็นคนทำ ? 
  • ชุมชนอยู่มานานแล้ว  และจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน  คนที่ลงไปทำงานกับชุมชนที่เกาะติดพื้นที่มานานๆ  ทำถูกวิธี  ถูกแนวทาง  ก็จะมีประสบการณ์และรู้จริง
  • แต่ที่เข้ามาแป๊บๆแล้วออกไป  ไม่รู้จัก  ไม่เข้าใจ   และไม่รักชุมชนจริงๆ ( ที่แย่คือดูถูกชุมชนด้วย )  ตีโจทย์ไม่แตกหรอกครับ   

น่าสนใจครับอาจารย์

  • ผู้มาจากภายนอกเป็นผู้หวังดีครับ มาด้วยเจตนาดีทั้งนั้น  ผมทำโครงการ ก็คิดจะให้ชนบทได้ดี ข้าราชการทำแผนงานโครงการต่างๆก็คิดดี หวังดี
  • แต่การเข้าไป การนำเสนอกิจกรรม หรือการตอบสนองกิจกรรม ดูเหมือนมีความพยายามจะทำให้ดีที่สุด แต่ระบบระเบียบราชการหรือของหน่วยงานกลายเป็นสิ่งผูกรัดให้ไม่สามารถตอบสนองให้สอดคล้องกับสิ่งที่ชาวบ้านเสนอได้ และกระบวนการทำงานของบุคลากรของรัฐก็ยืนอยู่บนข้อจำกัดของระเบียบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ยิ่งทำงานมานาน การเข้าหาชาวบ้านก็เป็นแบบผู้เหนือกว่า มิใช่ผู้อยู่เสมอ และควรจะใช้ art of littening ให้มาก แต่มักจะพูดแบบต้องอย่างนั้น อย่างนี้
  • อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถปฏิเสธระบบราชการได้ เพราะเป็นเครือข่ายการทำงานที่ใหญ่ที่สุด จะให้ตอบสนองชาวบ้านไปทั้งหมดก็ย่อมไม่ได้ ไม่ว่าหน่วยงานใดๆ ก็มีข้อจำกัดทั้งนั้น
  • ผมเห็นด้วยว่า ต้องภายใน(ชุมชน)เป็นหลัก แล้วเอาภายนอกมาเสริม ทั้งในแง่วิชาการ ความก้าวหน้ากว่า ฯลฯ แต่ต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ มิใช่เอาพิมพ์เขียวไปใช้แบบเดียวกันทั่วประเทศ เพราะชุมชนต่างกันมากมาย

ผมมิบังอาจแสดงความเห็นในสิ่งที่ที่ประชุมสรุปดังกล่าวได้ เพราะแต่ละประเด็นนั้นมีรายละเอียดเบื้องหน้าเบื้องหลัง สาระมากมาย กว่าจะสรุปมาได้ มีเบื้องหลังที่ถกกันมามากใช่ไหมครับ

เพียงแต่ผมมีมุมมองกว้างๆอย่างนี้ครับ

  • การทำงานของเครือข่ายนั้นเท่ากับเราสร้างระบบการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกัน ระบบนี้ควรดัดแปลงให้ชุมชนเขาออกแบบเองให้มากที่สุด แน่นอนอาจจะต้องให้ข้อมูล ความรู้ โดยการศึกษาดูงานก็ตาม ฯลฯ แล้วให้เขาแลกเปลี่ยนกันจนมั่นใจร่วมกันว่าระบบเครือข่ายของเราเอาแบบนี้
  • แต่เมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว สร้างระบบขึ้นมาแล้วก็ต้องวงเล็บไว้ในใจว่า ระบบนี้จะต้องปรับ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง และตลอดไป จนกว่าจะลงตัวที่สุด
  • ต้องใช้ทัศนคติว่า ตลอดเส้นการเดินทางของเครือข่ายจากวันที่ก่อตั้งไปจนถึง 1 ปี 5 ปี และตลอดไปนั้น จะเป็นช่วงเวลาที่มีการปรับตัวตลอดเวลา  อาจจะปรับเร็ว ปรับช้า ปรับมาก ปรับน้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบุคคล หากเราเอาหลักการทางวิชาการไปจับ  เราจะเห็นจุดอ่อนของเครือข่ายหลายจุด อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างเพิ่งเอาหลักการทางวิชาการไปยื่นให้แล้วจะต้องทำตามนี้ แต่อาจจะนำเสนอแล้วให้เครือข่ายพิจารณา ตัดสินใจเอง 
  • ส่วนมากคนนอกจะเอาหลักการจากข้างนอกไปให้มากมาย แต่ลืมหลักการของภายในชุมชน หลักการของภายในก็คือทุนเดิมที่เขามีอยู่แล้ว ผมหมายถึงทุนทางสังคมน่ะครับ เครือข่ายจะอยู่ด้วยการเฉลี่ยผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวไม่ได้  ชุมชนยืนอยู่บนทุนทางสังคมเดิมที่เขามีอยู่ เราสามารถเห็น พบ และจับต้องเอามาเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบเครือข่ายนี้ได้บ้างไหม
  • ผมพบว่า เราพูดถึงทุนทางสังคมกัน แต่เราไม่ได้ให้น้ำหนักในการเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์  และไม่เสริมสร้างทุนเดิมให้เข้มแข็งด้วยซ้ำไป หลายต่อหลายครั้งไปทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย  หากชุมชนนั้นมีแรงเกาะเกี่ยวกันแบบเปราะบาง ก็พังทลายโดยเร็ม  หากชุมชนนั้นทุนเดิมเข้มแข็ง เช่นสังคมมุสลิม ทุนแบบนี้พิจารณาเอามาปรับ เอื้อใช้ แรงเกาะเกี่ยวภายในจะช่วยหนุนเสริมระบบเครือข่ายอย่างมากครับ

ผมอาจจะพูดในสิ่งที่อาจารย์รู้ๆอยู่แล้วก็ขออภัยด้วยนะครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

คงเป็นอย่างที่คุณหมอบอก  คือ ถอดบทเรียน "ปัญหาและอุปสรรค" กี่ครั้งๆ ที่ไหนๆ ก็เหมือนๆกัน   

แต่ก็คงมีบางลักษณะที่ไม่เหมือน เช่น "การจัดการ" ของพื้นที่ที่จัดการตัวเองได้  กับจัดการตัวเองไม่ได้   ตรงนี้ การถอดบทเรียนและการเรียนรู้ระหว่างกันอาจจะมีประโยชน์บ้างค่ะ  

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

งานนี้เป็นงานสาระนิพนธ์ของนักศึกษาบัณฑิตอาสาค่ะ   โชคดีที่พื้นที่ นักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษามีความสนใจตรงกัน  จึงเลือกห้วข้อนี้เป็นหัวข้อศึกษาค่ะ

การถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้มีประสบการณ์จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น   ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท