ไปจัดเวทีที่เครือข่ายสินธุ์แพรทอง จ.พัทลุง(3): การบูรณาการการทำงาน


การบูรณาการจะทำได้ดี ก็ต่อเมื่อพื้นที่มีแผน มียุทธศาสตร์เป็นตัวตั้งอยู่แล้ว

การทำงานแบบบูรณาการ 

เมื่อมีหลายหน่วยงานลงมา  เราจึงถามเรื่องการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ  ได้คำตอบว่ามี 2 รูปแบบ 

  • รูปแบบแรก คือหน่วยงาน หุ้น กันแล้วลงมาหาพื้นที่ทำงาน 
  • รูปแบบที่สอง คือ  หน่วยงานหนึ่งลงมาทำงานในพื้นที่แล้วให้พื้นที่หาหน่วยงานหุ้นส่วน 

ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบที่สอง ซึ่งถือว่าเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  เพราะทีมงานในพื้นที่ที่ทำงานให้แต่ละหน่วยงานก็เป็นทีมงานชุดเดียวกัน 

พัฒนาชุมชนเสริมว่า  การบูรณาการโดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งมี 3 ลักษณะ

  • หนึ่ง  บูรณาการกลไก  หมายถึงใช้กลไกที่สอดคล้องกัน เช่น กลไกการขับเคลื่อนแผนชุมชน กลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์  ทั้งนี้ก็แล้วแต่ประเด็น
  • สอง บุรณาการรูปแบบ  หมายถึงทำรูปแบบให้สอดคล้องกัน  เช่น ใช้แผนชุมชนเดียวกัน  ภาคีต่างๆจึงต้องตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนเดียวกัน  มีทีมในการทำแผนชุดเดียวกัน
  • สาม บูรณาการงบประมาณ  มีการใช้งบประมาณจากหลายหน่วยงานในการทำงานชิ้นเดียวกัน เช่น  การทำศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน เป็นต้น

 เราตั้งข้อสังเกตในใจว่า  แสดงว่า การบูรณาการจะทำได้ดี ก็ต่อเมื่อพื้นที่มีแผน มียุทธศาสตร์เป็นตัวตั้งอยู่แล้ว   ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับสินธุ์แพรทอง   แต่ในหลายพื้นที่   การบูรณาการคงไร้ทิศทางแน่ถ้าไม่มีแผนหรือยุทธศาสตร์ที่มาจากพื้นที่เป็นแกนหลักอยู่ก่อน 

 

พ่อเล็กเสริมว่า มีหุ้นส่วนอีกประเภท คือ หุ้นส่วนการเรียนรู้  จำเป็นต้องมีการจัดการความรู้  หน่วยงานต่างๆมาร่วมแบ่งปันความรู้  หน่วยงานจะมีที่ยืน  มีผลงาน  (พ่อเล็กคงหมายถึง การแบ่งปันผลงานด้วย !!  เป็นประเภทบูรณาการความพยายามแล้วแบ่งปันผลงาน...น่าจะ win-win ดี.. ยิ่งหน่วยงานบูรณาการกันได้  พื้นที่ก็ไม่ต้องปวดหัวกับหลายงาน ..อันนี้เราคิดเอง) 

พ่อเล็กบอกว่า เครือข่ายสินธุ์แพรทองจะทำงานทีละเรื่อง  เริ่มจากเรื่องที่แก้ง่ายๆก่อน แล้วค่อยขยับไปเรื่องยาก  เช่น  ในเรื่องสวัสดิการ ก็เริ่มจากการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  (เราตาโต เพราะสนใจเรื่องขบวนการจัดสวัสดิการอยู่   ดีใจที่พ่อเล็กเห็นว่า เรื่องที่ดินทำกิน เป็นเรื่องสวัสดิการ แต่แปลกใจว่า  การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ทำไมจึงเป็นเรื่องง่าย.. แต่เวลาไม่เอื้อให้ซักถามประเด็นนี้ในเชิงลึก) 

ส่วนใหญ่ชุมชนมักตีความสวัสดิการค่อนข้างแคบโดยเข้าใจ สวัสดิการ จากรูปแบบที่เขาจัดๆกันอยู่เหมือนๆกัน เช่น การออม เบี้ยชราภาพ ฌาปนกิจ  แต่เราคิดว่า  แต่ละพื้นที่ต้องการสวัสดิการต่างกัน  ปัญหาสำคัญที่สุดของชุมชนอยู่ตรงไหน  การเข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้นได้นั่นแหละ คือ การจัดสวัสดิการที่มีคุณค่ามากที่สุด    

แต่คนนอกพื้นที่ จะบังอาจไปตั้งนิยามแทนคนในพื้นที่ได้อย่างไร  ทั้งที่บางทีก็น่าจะยอมให้ “เสนอวิธีมองต่าง” ได้บ้างเหมือนกัน... 

เราจึงทึ่งกับสินธุ์แพรทองที่ตีโจทย์ที่ดินทำกินว่าเป็นเรื่องสวัสดิการ  ทึ่งกับบางชุมชนในภาคเหนือที่จัดเรื่องการประกันภัยพืชผลเป็นเรื่องของการจัดสวัสดิการ  ทึ่งกับบางพื้นที่ที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้สิน  เพราะเหล่านี้เป็นปัญหาวิกฤติจริงๆ  แต่การจัดสวัสดิการเหล่านี้ก็ไม่ง่ายเลยสำหรับชุมชน 

เราลองถามเรื่อง การบูรณาการองค์กรการเงินชุมชน 

ภาคีต่างๆเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่จำเป็น  เพราะวัตถุประสงค์แต่ละกองทุนไม่เหมือนกัน  ด้วยกฎหมายที่รองรับก็ไม่สามารถบูรณาการกันได้   ข้อดีของการมีหลายกองทุนก็เหมือนมีหลายขา  หากล้มสักขา ชุมชนก็ยังพอยืนอยู่ได้  ในทางตรงข้าม ถ้าหมู่บ้านมีหลายกองทุนและบริหารจัดการได้ ก็แสดงว่า เก่ง 

หากจะบูรณาการ ก็อาจบูรณาการดอกผลเป็นลักษณะของกองทุนสวัสดิการได้ เช่น หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งกองทุน  

 
หมายเลขบันทึก: 162864เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับอาจารย์ครับ

  • การบูรณาการจะทำได้ดี ก็ต่อเมื่อพื้นที่มีแผน มียุทธศาสตร์เป็นตัวตั้งอยู่แล้ว 
  • ผมเห็นด้วยครับต่อข้อสรุปข้างบนมากเลยครับ
  • จากประสบการณ์คือ ชุมชนวิ่งตามความต้องการของหน่วยงาน หรือข้อเสนอของหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็มีบริบทงานเฉพาะที่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนของชีวิตของชุมชน  บางทีหน่วยงานนั้นไปเสนอ ไปช่วย ไปสนับสนุนตามบทบาทหน้าที่ของเขา แต่เป็นความต้องการอันดับท้ายๆของเขา มาแล้วก็ไป  นานๆก็เข้ามาอีก
  • ย้อนกลับใหม่ ชุมชน รวมตัวกัน รวมกันจริงๆ ยกเลิก ลืม วางสิ่งที่มีอยู่ที่หน่วยงานต่างๆมาทิ้งไข่ไว้(ตั้งกลุ่มต่างๆ) เป็นการรวมเอาคนในชุมชนมานั่งทำการวิเคราะห์ชุมชนเองร่วมกัน ดีอะไร อะไรไม่ดี ขาดอะไร ไม่ขาดอะไร อะไรเด่น ด้อย ฯลฯ แล้วลำดับแผนงานที่จะทำให้ชุมชนเราดีขึ้นร่วมกันไว้  เมื่อเอาทั้งหมดมาลำดับแล้ว ก็แบ่งหมวดหมู่ให้ชุมชนมีไว้ในกระเป๋า  หน่วยไหนมา เกษตรหรือ ก็เอาหมวดเกษตรขึ้นมาแล้วคุยกับหน่วยงานเกษตรว่านี่คือแผนงานของชุมชน ไปด้วยกันได้ไหม ...ฯลฯ  อย่างนี้ก็ตรงกับสิ่งที่อาจารย์สรุป มิใช่ชุมชนไหลไปตามหน่วยงานข้างนอกเข้ามาที ก็ทำกันที หน่วนงานอื่นมาก็ทำซ้ำกันอีกเพียงต่างสาระออกไป ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันก็ได้
  • การเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เช่นนี้ ชุมชนจะเติบโตเข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเอง การทำแบบนี้เครือข่ายต้องมีวิสัยทัศน์ครับ

น่าสนใจงานของอาจารย์ครับ

ขอบคุณคุณบางทรายมากค่ะ  

สำหรับบางชุมชนที่ตั้งรับไม่ทัน  การเรียนรู้เพื่อเริ่มจัดกระบวนของตัวเองตามที่คุณบางทรายเล่าให้ฟังน่าจะช่วยให้ชุมชนจัดระบบงานได้ดีขึ้นค่ะ

สวัสดีคะอาจารย์ปัท

น่าสนใจที่ว่า การบูรณาการองค์กรการเงินชุมชน 

ภาคีต่างๆเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่จำเป็น 

ภาคี ที่ว่า  เป็นเจ้าของกองทุนต่าง ๆ ในชุมชนหรือเปล่าคะ?  หากใช่คงเป็นคำตอบให้ทุกชุมชนไม่ต้องพยายามบูรณาการองค์กรการเงินอย่างที่ผ่านมา เพราะเจ้าของกองทุนเห็นว่า "ไม่จำเป็น" 

ขอคำแนะนำด้วยคะ 

รัช

สวัสดีค่ะ น้องรัช

ภาคีที่ว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานกับชุมชน กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของกองทุนบางกองทุนค่ะ

พี่ว่า ถึงที่สุด ต้องทำให้ "ชาวบ้านเป็นเจ้าของกองทุน" ส่วนหน่วยงานเป็นพี่เลี้ยงก็พอค่ะ   จากนั้น ชาวบ้านเองจึงจะเป็นคนตอบว่า ควรบูรณาการกองทุนหรือไม่

ฉะนั้น  ก่อน "บูรณาการกองทุน"   คงต้อง "โอนกองทุน" ไปให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของก่อนกระมังคะ   แต่จะทำได้หรือเปล่าคงต้องมีการศึกษาข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้  รวมถึงเตรียมความพร้อมของชาวบ้านด้วย....

พูดคงไม่ยาก... เป็นนักวิชาการก็เบื่อตัวเองตรงนี้

แต่ อ้อ.. "บูรณาการดอกผลเพื่อจัดสวัสดิการ"  คงเป็นไปได้มากที่สุด และดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท