โรงเรียนขนาดเล็ก


โรงเรียนขนาดเล็ก
สามวันนี้ 2-4 พฤษภาคม 2553 มาประชุมอยู่ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี เกี่ยวกับโรงเรียนในฝันผู้ดำเนินการขอให้ที่ประชุม เสนอแนะการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก จึงกลับมาให้โพสต์เรื่องนี้อีกที ก่อนเสนอแนะก็จะขอตั้งคำถามให้ท่านทั้งหลายตอบ ถ้าตอบได้ก็จะคิดออก ผมจะถามไปตอบไป พอเป็นแนว ใครรับผิดชอบแก้ไข ในระดับนโยบาย หรือ ระดับปฏิบัติการน่าจะคิดเองได้ถ้าไม่ได้ก็ไปจ้างให้คนที่ไม่รู้อะไร ที่เขาเก่งมาทำ ทั้งระดับนโยบายและ ระดับปฏิบัติในระดับบนๆ เพราะคนที่จ้างมาจะได้คิดนอกกรอบน่าจะได้เก่ง กว่าคนที่อยู่ในกรอบ 1. โรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร 2. ประกอบด้วยใคร และอะไรบ้าง 3. ผู้ที่เกี่ยวของมีใครบ้าง คนเหล่านั้นเขามาทำหน้าที่อย่างไร 4. คนภายในโรงเรียน มี หรือ ไม่มีคุณภาพอย่างไร 5. ภาพรวมในความไม่สำเร็จคืออะไร 6. ภาพรวมในความสำเร็จ อยู่ที่ โรงเรียนใด อำเภอใด จังหวัดใด ใครเป็นครูใหญ่ ครูน้อย เขาทำงานกันอย่างไร มีอะไรที่จะนำมา เป็นแนวทางพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ ได้บ้าง 8. ชุมชนรอบข้างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ และไม่สำเร็จเขาดูแล สนับสนุนโรงเรียนอย่างไร 9. ระบบสนับสนุนโรงเรียนด้านทรัพยากร จากเบื้องบนสู่เบื้องล่างเป็นอย่างไร สภาพการใช้ทรัพยากรเป็นอย่างไร 10. ระบบการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนมีสภาพเป็นอย่างไร 11. ระบบการนิเทศ สนับสนุนส่งเสริม มีสภาพเป็นอย่างไร 12. ระบบการจูงใจ ให้ให้ความก้าวหน้าในวิชาชีพครู เหมือน หรือต่างจากครูทั่วๆ ไป หรือไม่อย่างไร 13. ผลการประเมินภายนอกเป็นอย่างไร 14. ผลการสอบระดับชาติเป็นอย่างไร 15. ระบบการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทย เหมือน หรือแตกต่าง ประเทศพัฒนาแล้วอย่างไร มีอะไรที่สามารถนำมาปรับใช้ได้หรือไม่ อย่างไร เอาละครับ นี้คือคำตอบ 1. โรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร ตอบ 1. โรงเรียนขนาดเล็ก คือ ........ 1.1 โรงเรียนที่ต้องการ (need) ผู้บริหารจัดการทางการศึกษา(โรงเรียนขนาดเล็ก) ระดับบน ที่มีคุณภาพ 1.2 โรงเรียนที่ต้องการปัจจัย ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เช่น -ครูวิชาเอก -สื่อ อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ -ผู้จัดการการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ 1.3 โรงเรียนที่ต้องการผู้ดูแลสนับสนุน ส่งเสริมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับ สภาพคุณภาพด้านปัจจัย และกระบวนการของโรงเรียนเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา ที่รับทราบกันมา โรงเรียนขนาดเล็กคือ โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน ไม่เกิน 120 คน มีครูไม่ครบชั้น ผมให้คำนิยามตามประสาผม ที่คิดว่าจะช่วยให้เกิดทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโรงเรียนที่เรียกกันว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะนี้แปดจุด 20 น. ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 คงตอบไมครบทุกข้อ มาช่วยกันตอบนะครับ จะไปเข้าประชุมแล้วครับ
หมายเลขบันทึก: 162808เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (44)

  หลังจากที่ได้ข้อคิดจากท่าน ศน.ชัด  บุญมา แล้วนับว่าท่านมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความจริงใจ จริงจัง ที่จะแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ถ้าจะวางพื้นฐานเบื้องต้น คือ

1.  สร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรในโรงเรียนขนาดเล็ก ยกตัวอย่าง โควต้า 15 % ความชอบ (ครูโรงเรียนขนาดเล็กอยากย้ายไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่)  10  ปี ไม่เคยได้ 2 ขั้นเลย 

2.  งบประมาณพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็กต้องตั้งไว้ เช่นค่าสาธารณูประโภค ค่าปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่  ไม่ใช้งบรายหัวนักเรียน

3.  ให้ผู้เชี่ยวชาญออกแบบการเรียนรู้แบบรวมชั้นเรียน  สร้างห้องเรียนสำเร็จรูป  ฯลฯ

4.  สร้างมาตรฐานคุณภาพการศึกษาลักษณะพิเศษสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก  (ยกเลิก แผนการสอน,การออกแบบการเรียนรู้,แบบหลอกๆ ที่ปฏิบัติไม่ได้) ครูคนเดียวสอน 3 ชั้น ควรจะออกแบบการเรียนรู้ที่ปฏิบัติได้จริงๆ

5.  สร้างเกณฑ์คุณภาพ จำนวนนักเรียนมีน้อย  ต้องมีค่าผกผันด้านคุณภาพมากกว่าจำนวนนักเรียนที่มีมาก (โรงเรียนขนาดเล็ก มีคุณภาพมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่) 

   ขอฝากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิดต่อนะครับ 

ผอ.จรัส ครับ 

คิดๆ แล้ว เรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

 อยากจะตั้งชื่อเรียกขานโรงเรียน ขนาดเล็กว่า

 

โรงเรียนขนาดเล็ก : โรงเรียนที่ท้าทายสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียนฝีมือดี

 

ที่คิดอย่างนี้ก็เพราะเห็นโงเรียนของ ผอ. พัฒนารุดหน้าไปเรื่อยๆ

 

คืนนี้ ผมขอเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นฐาน  2 ยุทธศาสตร์

 

1..ทุกคำ.................................ทำให้นักเรียนใช้ทุกคำที่เรียนมาแล้ว สร้างประโยค และเรื่องราวใหม่ๆ  อย่างสร้างสรรค์

2.ทุกคน..................................ทำให้ทุกคน ฟัง พูด อ่าน เขียน ถาม ตอบ ทุกวัน

 

สว้สดีครับ

ท่านอาจารย์ชัดกรุณาถ่ายทอดผลการประชุมเรื่องร.ร.ขนาดเล็กที่ประชุมจากกรุงเทพเมื่อเดือนมีนาคม 2551 หรือขอให้รองฯสวัสดิ์ ถ่ายทอดให้พวกเราฟังก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

เมื่อวันที่ 24-26 มีนาคม ที่ผ่านมาผมไปฟัง Fullan ท่านฯ รองสวัสดิ์ อินแถลง ท่านพิชิตพล สุทธิสานนท์ ไปเจาะลึกเรื่องโรงเรียนขนาดเลก กับ Fullan ในวันที่ 27 มีนาคม

ผมกลับมาแล้ว มีโอกาสถ่ายทอดแก่สมาชิกในเขต ผมเลือเอาสาระเกี่ยวกับเขพื้นที่ที่ Fullan เขาพูด และเขียนไว้มาเสนอเป็นยกแรก นำเสนอเสร็จ

ศน. อนันต์ เทียมอ้าย ท่านได้สรุปสิ่งที่ผมนำเสนอ

ไว้ดังนี้ ฉบับเต็มอยู่ในเอกสารที่เขาแจก

ลองอ่านดูนะครับ ว่าสาระที่สรุปได้ เป็นอย่างไร เขตพื้นที่อาจได้ข้อคิดไปทำงานที่ส่งผลถึงคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก และทุกขนาดครับ

องค์ประกอบความสำเร็จของสำนักงานเขตพื้นที่ 10 ประการ

1. ผู้นำที่มีการวางกรอบความคิดที่สอดคล้องและกระจ่าง

การปฏิรูปเขตพื้นที่การศึกษาที่ลึกซึ้งนั้นต้องการผู้นำที่วางแผน หรือแนวทางที่จะไปสู่เรื่องหรือกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลง ในการจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผู้นำต้องมีความรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ และจะต้องสร้างบุคลากรทางการศึกษาให้รู้ลึกซึ้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลง และต้องสร้างทีมงานอย่างเข้มแข็งเพื่อจะบรรลุถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ ผู้นำในองค์กร/หน่วยงานเป็นบุคลากรหลักที่จะต้องมีมุมมองที่เป็นระบบ และสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า และนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามอำนาจหน้าที่ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

ด้านที่ 1 พวกเขาได้รับมอบอำนาจเฉพาะมาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

ด้านที่ 2 พวกเขาได้เห็นภาพรวมขององค์กร เนื่องจากพวกเขาอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นในองค์กร

ด้านที่ 3 พวกเขาอยู่ในจุดที่สาธารณชนสามารถพบเห็นและรู้จักได้ง่าย

ด้านที่ 4 พวกเขาสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์

2. การมีเป้าหมายทางคุณธรรมร่วมกัน

การมีเป้าหมายทางคุณธรรมร่วมกัน มีองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1 การทำให้เป้าหมายในการยกระดับ และลดช่องว่าง มีความชัดเจนขึ้น

ประการที่ 2 เป้าหมายทางคุณธรรมไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะนักเรียนเท่านั้น บุคลากรที่เกี่ยวข้อง

ทุกฝ่ายต้องมีคุณธรรมและพัฒนาควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน

ประการที่ 3 หน่วยงานหลักต้องเป็นองค์กรที่ช่วยขยายผลให้เกิดความสำเร็จทั้งแนวตั้งและ

แนวนอนและต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ใน

เชิงสร้างสรรค์ไม่ใช่เพื่อการทำลาย

3.พาหนะที่เหมาะสม

จากที่ได้ศึกษาความคิดเห็นของนักการศึกษา จิม คอลลินส์ ได้เปรียบเทียบการจัดที่นั่งบนรถโดยสาร (โครงสร้างและบทบาทของระบบ) เขาไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างองค์กร โดยยกตัวอย่างโรงเรียนในชิคาโก ที่มีการพัฒนามานานถึงสิบห้าปี โดยใช้แนวคิดระหว่างการรวมอำนาจและการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง พบว่า โครงสร้างได้รับการชักนำและขัดเกลาโดยค่านิยมและแนวความคิดตามบทเรียนที่หนึ่งและสอง การมุ่งสนใจไปที่การเรียนการสอนโครงสร้างและบทบาทจะต้องสอดคล้องไปในทางเดียวกัน การจัดระเบียบจะช่วยในเรื่องการมุ่งเป้าหมายและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันของส่วนต่าง ๆ สิ่งที่ร่วมอยู่ในแนวทาง การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน คือการจัดทรัพยากรบุคคล โดยสรุป เราต้องสนใจโครงสร้างองค์กรมากกว่าตัวแผนผังองค์กรว่าใครจะอยู่ในตำแหน่งใด

4. การสร้างศักยภาพและความเป็นผู้นำ

1. ความเป็นผู้นำ( Leadership ) ในทศวรรษนี้ มองใน 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ผู้นำแต่ละคนไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาหรือเธอมีผลกระทบต่อการศึกษาขั้นพื้นฐานของนักเรียนมากเท่าใดเมื่อสิ้นวาระตำแหน่งผู้นำ แต่ดูว่า เขาและเธอได้สร้างผู้นำรุ่นหลัง มากน้อยเพียงใด โดยมุ่งที่การพัฒนาผู้นำในอนาคต

ประเด็นที่ 2 ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากจำนวนการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนผู้นำตามวาระ แต่มาจากทิศทางการดำเนินงานที่ไม่ต่อเนื่อง องค์กรที่มีการจัดระบบและมีความร่วมมือร่วมใจกันจะมีความต่อเนื่องในด้านทิศทางการพัฒนา

ประเด็นที่ 3 การพัฒนาทักษะทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ที่มีบทบาทในการก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน

2. การสร้างศักยภาพ องค์กรต้องกำหนดเป้าหมายให้เด่นชัดเกี่ยวกับศักยภาพที่ต้องการสร้าง ลักษณะใดต้องการสร้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และจะประสานงานการสร้างศักยภาพองค์กรอย่างไร ซึ่งคำนึงถึง สถานที่ บุคลากร กระบวนการหรือวิธีการที่เหมาะสม

5. การสร้าง lateral capacity

เป็นกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงโรงเรียนในเขตพื้นที่เดียวกัน เข้าด้วยกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาแนวความคิด ทักษะ และการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เช่น กรณีตัวอย่าง คณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียนในเขต

บริสตอล 19 แห่ง มีโรงเรียน 10 แห่งที่อยู่เหนือรับมาตรฐานของประเทศจากวัด ระดับการดำเนินงานหลาย ๆ อย่าง อีกเก้าโรงเรียนที่เหลืออยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ได้รับการพัฒนาจากโรงเรียนทั้ง 10 แบบจับคู่ทำให้เกิดการพัฒนาและร่วมมือกับปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียน ตัวอย่างที่ 2 การดำเนินงานโครงการ ของโรงเรียนในเขตชิคาโก ที่มีการนำคณะครูไปศึกษาดูงานโรงเรียนต่าง ๆ แล้วนำตัวอย่างที่ดีมาปรับปรุงงานของโรงเรียนโดยการพัฒนางานควบคู่ไปกับการพัฒนาความสำนึกร่วมกัน ตั้งแต่การตั้งจุดประสงค์ของการพัฒนา มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม

6. การเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง

การกำหนดวิสัยทัศน์ของเขตพื้นที่ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการนำมาใช้ เขตพื้นที่การศึกษาที่มีประสิทธิภาพมักจะไม่ค่อยมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม แต่มีการขัดเกลาปรับปรุงกลยุทธ์ที่นำมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นระบบ มีการติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมดำเนินการด้านการแก้ปัญหา การตรวจสอบ โดยมุ่งเน้นที่การเรียนรู้พร้อมกับการชักนำให้เกิดการปรับปรุงที่ยั่งยืนและลึกซึ้ง

การประเมินด้านการอ่านการเขียนหรือการประเมินเพื่อการเรียนรู้ เป็นกลยุทธ์ในการปรับปรุงโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ และกลยุทธ์การสร้างศักยภาพจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของครูผู้บริหารหรือไม่นั้น เขตพื้นที่การศึกษาต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรในโรงเรียนและต้องรวมถึงชุมชนด้วย

การนำข้อมูลไปใช้ในระบบการศึกษาจะต้องทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้

กลยุทธ์ต่าง ๆเห็นได้ชัด จุดเน้นคือการเรียนรู้ในนักเรียนและนักการศึกษาต้องมีการลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น สำหรับนักเรียนหมายถึงการพัฒนาความสามารถในการอ่านการเขียนและคิดคำนวณ และนำไปสู่การเรียนแบบใหม่ ส่วนนักการศึกษานั้นการใช้การประเมินเพื่อการเรียนรู้และการมุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ของโรงเรียน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

7.ความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์

การปฏิรูปการศึกษาทั่วทั้งเขตมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับคนหลายระดับ จึงก่อให้เกิดข้อซักถามและการไม่เห็นด้วยมากมาย เขตพื้นที่การศึกษาจะประสบความสำเร็จต้องพยายามรักษาความสมดุลในการดำเนินงาน การปฏิบัติที่เคร่งครัดเกินไปจะเกิดการต้านความขัดแย้ง ถ้ายอมแพ้จะทำให้เกิดความล้มเหลว ข้อควรปฏิบัติ

ข้อที่ 1 ผู้นำเขตพื้นที่การศึกษา ต้องมีแยกแยะความขัดแย้งต่าง ๆว่าเป็นความขัดแย้งที่ดีหรือไม่ ถ้าแยกแยะความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ออกจากความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความขัดข้องได้ จะทำให้การทำงานราบรื่นและลดผลกระทบจากความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความขัดข้องได้

ข้อที่ 2 องค์กรการศึกษาที่ประสบความสำเร็จจะให้ความสำคัญกับความแตกต่าง ไม่กลัวเมื่อเกิดความผิดพลาดไปจากแผนที่วางไว้ การเรียนรู้จากความผิดพลาดจะขจัดความกลัว และสามารถจัดระเบียบสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วย

ข้อที่ 3 เขตพื้นที่การศึกษาที่กำลังก้าวไปข้างหน้ามีความคิดว่า ความไม่เห็นพ้องต้องกันเป็นเรื่องธรรมดา เขตพื้นที่การศึกษาที่ประสบความสำเร็จจะมีลักษณะของความร่วมมือร่วมใจกัน แต่ก็ไม่ได้มีความสอดคล้องหรือมีความเป็นเอกฉันท์ในทุก ๆ เรื่องเสมอไป ประเด็นที่ไม่สามารถต่อรองหรือยืดหยุ่นได้ เช่น การยกระดับมาตรฐานและลดช่องว่าง การพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ความโปร่งใสของผลสำเร็จ ซึ่งการไม่สามารถต่อรองได้นี้ช่วยลดจำนวนความขัดแย้งลง และนำไปสูการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาต่อไปข้างหน้า

8. กลุ่มวัฒนธรรมที่มีความต้องการสูง

กลุ่มวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมั่นสูง มักเป็นกลุ่มที่ต่อต้านครูที่ละเลยต่อหน้าที่ และไม่มีความสามารถเพียงพอ องค์กรที่มีความเชื่อมั่นสูง จะรวมเอาความนับถือ ความตั้งใจส่วนตัว การผสมผสาน และความสามารถเข้าด้วยกัน ครูที่มีความตั้งใจดี หากไม่มีความสามารถในงานที่เขาทำก็ไม่อาจเป็นที่เชื่อถือได้ กลุ่มที่มีระดับความเชื่อมั่นสูงสามารถทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ พวกเขาจะกระตุ้นให้บุคลากรเกิดแรงทำงาน และให้เครื่องมือ หรือวิธีการที่จะช่วยให้การทำงานเป็นผลสำเร็จ กลุ่มเหล่านี้มีความเคร่งครัดเป็นระเบียบและความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามแนวคิดจะประสบผลสำเร็จในที่สุด และยังยึดถือในเรื่องความสามารถของบุคลากรและจริยธรรมทางวิชาชีพอีกด้วย

9.หุ้นส่วนภายนอก

เขตพื้นที่การศึกษาที่ใดที่พัฒนาไปโดยไม่มีหุ้นส่วนภายนอก และเขตพื้นที่การศึกษาที่มีหุ้นส่วนภายนอก จะมีความก้าวหน้า ขึ้นอยู่กับผู้นำ ว่าเขาได้ทำอะไรอยู่ การเป็นผู้นำในสถานการณ์ยุ่งยากนั้นมีความซับซ้อน บางครั้งอาจได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ถ้าผู้นำไม่มั่นคงในแนวทางที่กำลังทำ หุ้นส่วนภายนอกอาจทำให้สถานการณ์ เล ว ร้ายได้

หุ้นส่วนภายนอกมีบทบาทต่อเขตพื้นที่การศึกษา ประการแรก พวกเขาจะเป็นตัวเร่งในการทำงาน ประการที่สอง หุ้นส่วนภายนอกอาจให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเสริมสร้างและหรือช่วยให้การสร้างศักยภาพภายในสมบูรณ์

10.การเติบโตของการลงทุนทางการเงิน

รัฐบาท สาธารณชน ต่างเต็มใจที่จะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินแก่การศึกษาของรัฐ ไม่ใช่เพียงเราะว่าเงินทุนนั้นมีความจำเป็น แต่เป็นเพราะพวกเขามั่นใจว่าเงินที่ลงทุนไปนั้นจะคุ้มค่า และประสบผลสำเร็จ การทุนของรัฐมีสองเรื่องที่จำต้องเกิด ได้แก่ 1)ทรัพยากรที่มีอยู่แล้งต้องมีการแปร ขบวนใหม่อย่างเคร่งครัด 2)เราต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้รัฐบาลมีความเชื่อมั่นที่จะเพิ่มเงินลงทุนใหม่ โดยเชื่อว่าการลงทุนนั้นจะประสบความสำเร็จ คุ้มค่า2

S6MCu

สวัสดดีครับ อ.ชัด ผมมีโอกาสแวะเวียนมาหลายครั้งหลายหนแต่ก็ไม่มีโอกาสเข้ามาทักทายกับท่าน โรงเรียนผมก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็กโรงหนึ่งที่กำลังจะเริ่มพัฒนารูปแบบจัดการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหลายที่ประสบอยู่ ได้ดำเนินการไปส่วนหนึ่ง ซึ่งได้รับความาอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจาก สพท.ชม เขต 1 ที่ส่ง ผู้ที่มีความรุ้ความชำนาญ ด้านการบริหารและการจัดการ โรงเรียนขนาดเล็ก คือ ท่านรองสวัสดิ์ อินแถลง ที่เข้ามาช่วยแนะนำให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ มากมาย ทำให้พวกเราพร้อมที่จะต่อสู้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กต่อไป

สวีสดีครับ ท่าน ผอ.วสันต์

ดีมากครับที่เข้ามาส่งข่าว แลกเปลี่ยน มี 2 ข่าว เกียวกับเรื่องนี้ที่จะเล่า

ข่าวแรก สพท.ชม. 1 มอบหมายให้ผมทำโครงการเสนอของบประมาณจากสถาบันพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อนำมาทำกิจกรรมพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กใน สพท.ชม.1 เสนอไปแล้ว ถ้าได้มาก็จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้น เรื่องที่ 2 ไป สพฐ.มา ทราบว่ากำลังมีการนำ RIT กลับมาใช้

สวัสดีครีบ

ศักดิ์ แสงเจริญจันทร์

ของฝากจากคนบนดอย

TBM 9 กิจกรรม

ของโรงเรียนบ้านแม่ตะไคร้ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1

1.กัลยาณมิตรสัมพันธ์ (เน้นการนิเทศภายในแบบคู่สัญญา)

2.มุ่งมั่นงานวิจัย (มุ่งมั่นพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ด้วย

งานวิจัยในชั้นเรียน)

3.ไฉไลภูมิทัศน์ (เร่งรัดปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวด

ล้อมให้ร่มรื่นและสวยงาม

เป็นโรงเรียนน่าอยู่แห่งทศวรรษ)

4.เคร่งครัดคุณธรรม (พัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีวินัยสร้าง

สรรค์และเคารพกติกาของสังคม)

5.ก้าวนำชีววิถี (ดำเนินกิจกรรมตามโครงการชีววิถี

เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปลอดการใช้สารเคมีในโรงเรียน)

6.สุขภาพดีกีฬามีสปิริต (พัฒนาผู้เรียนให้มีสุขภาพพลานามัย

ที่สมบูรณ์ เล่นกีฬาอย่างอารยชน)

7.ทักษะชีวิตด้วยโครงงาน (มุ่งพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ

ด้วยกิจกรรมแบบโครงงาน ตามแนว

ทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)

8.สร้างสรรค์ ICT (จัดหาและพัฒนาผู้เรียนให้สามารถใช้

และก้าวทันเทคโนโลยี)

9.สุนทรียภาพเปี่ยมล้น (พัฒนาทักษะการเล่นดนตรี มี

จินตนาการ และมีความสุนทรียภาพ

ในดวงใจ)

TBM = Teaching with Brian by Mind (สร้างคนด้วยสมองและจิตกุศล)

แสง ศักดิ์เจริญจันทร์

คำแน่วแน่

1.       กัลยาณมิตรสัมพันธ์           

2.       มุ่งมั่นงานวิจัย                                    

3.       ไฉไลภูมิทัศน์                                      

4.       เคร่งครัดคุณธรรม                           

5.       ก้าวนำชีววิถี                                      

6.       สุขภาพดีกีฬามีสปิริต                  

7.       ทักษะชีวิตด้วยโครงงาน              

8.       สร้างสรรค์ ICT                                 

9.       สุนทรียภาพเปี่ยมล้น 

(ศน.ครับ  มีทฤษฏีการบริหารใหม่ๆฝากให้คนบนดอยด้วยนะครับ กลัวตกข่าวจัง  น้ำมันแพง  ไม่ค่อยได้เข้ามาเขตฯหรอกครับ)                     

 

 

 

 

 

 

 

 

ท่าน ผอ.แสง ครับ

ดีใจมากครับที่เข้ามาคุยด้วย

ที่ท่านพูดมา เป็นสิ่งที่ท่านเคยเล่าให้ผมฟัง และเป็นสิ่งที่เพื่อนพ้องของผม  ที่ไปเยี่ยมท่านที่โรงเรียนมาแล้ว ล้วนชื่นชม  ผลงานของท่านเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากความคิดของท่าน  นี่ก็เป็นทฤษฎีใหม่  ที่รอการรับไปใช้ หรือปรับใช้จากโรงเรียนอื่น  ที่ได้มาสัมผัสกับท่านโรงเรียนของท่าน นักเรียนของท่าน  และชุมชนที่ตั้งโรงเรียนของท่าน

 

การสร้างสรรค์ ผลงานนั้นต้องอาศัย หลักการแนวคิด ของตนเอง

ปฏิบัติด้วยตนเอง  ยิ่งทำได้ผล ก็ยิ่งอยากทำ  ทำโดยไม่ต้องมารอนโยบาย  ทำเพื่องานแท้  ทำด้วยความรู้สึกอยากทำ ต้องสำเร็จแน่นอน 

สำเร็จหรือไม่เรารู้ของเรา  เรารู้ความสำเร็จของคนอื่น เพื่อทำให้มองเห็นจุดดีจุดด้อยของเราเพื่อเราจะได้ทำให้ดีขึ้นๆ   ต่อไป

 

เจริญศักดิ์ แสงจันทร์

เรียน ท่าน ศน.ที่เคารพ

ช่วยวิจารณ์ TBM 9 กิจกรรม ด้วยนะครับ

มีอะไรทะแม่งๆช่วยติชมด้วยครับ

น้อมรับด้วยจิตคารวะ

ท่าน ผอ.ครับ

(สร้างคนด้วยสมองและจิตกุศล)

เป็นหลักคิดที่ดีมากครับ

ถ้าแตกรายละเอียด ของหลักคิดนี้ออกไป แล้วตรวจสอบกับ 9 ข้อ อาจจะได้วิธัการอื่นๆ อีก ทฤษฎีพหุปัญญา Brain base learning ก็น่าจะให้ความคิดเพิ่มเติมได้บ้าง หรือ มาจากทั้งสองทฤษฎีนี้แล้ว?????

มีหลักของตัวเอง ก็สุดยอดแล้วครับ

ชัด

วันนี้มาแนะนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ชื่อว่า Digital Library@school ให้แก่คณะครูโรงเรียนขนาดเล็กทุกคน ทุกโรงเรียน

ในช่วงต้นของการนำเสนอ ได้พูดถึงมิติของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีหลายมิติ ทีจะต้องเข้าใจ ผมเข้าใจของผมอย่างนี้ ครับ

1. โรงเรียนขนาดเล็ก คือความหวังของผู้ที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กๆ ในชุมชน

2. โรงเรียนขนาดเล็ก คือ สีสรรค์ของชุมชน

3. หลังจากตื่นนอนในยามเช้า โรงเรียนขนาดเล็กคือความหวังของเด็กๆ ในชุมชน

4. โรงเรียนขนาดเล็ก คือสถานที่แห่งความสุขของเด็กในชุมชน

5. โรงเรียนขนาดเล็ก คือแหล่งประสบการณ์ แรกเริ่มของชีวิต

6. โรงเรียนขนาเดล็ก คือที่ทำงานครั้งแรก ที่ประทับใจไปตลอดชีวิตของคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง

7. โรงเรียนขนาดเล็ก คือ โรงเรียนที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหาร และครู ทุกคน

8. โรงเรียนขนาดเล็ก คือ โรงเรียนที่ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง หรือหลายอย่างของ

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทันที หรือ โดยเร็วที่สุด (มิใช่เอาแต่พูดแต่ไม่ได้ทำอะไร)

เพื่อทำให้

8.1 พ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กๆ ไม่ผิดหวัง

8.2 เด็ก ๆ ในโรงเรียนมีความสุข เรียนรู้ได้ตามมาตรฐาน

8.3 ครูเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพในตำแหน่งครู ในฐานะที่ทำได้

ตามข้อ 8.1 และ 8.2 (ข้อนี้ต้องการให้พิจารณาปรับปรุงวิธีการทำผลงานทางวิชาการของครูที่มักยืดเยื้อ เสียเวลาสำหรับครู ที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดนักเรียน)

โรงเรียนขนาดเล็กจะพัฒนาขึ้นได้ ต้องออกแรงกันมากในทุกระดับ นับตั้งแต่ ศธ.ลงมา

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้เสนอแนวคิด 3 ข้อ กับ ผอ. ท่านหนึ่ง

ถามท่านว่า ทำได้ไหม

1. ผอ. พบเด็กวันละ 6 คน ป.1-ป.6 ดูกระเป๋านักเรียน แล้วถามถึงความรู้ความเข้าใจ ที่ครูสอนในวันที่ผ่านมา พร้อมกับสอนเสริมเล็กๆ น้อยๆ

2. การจัดกิจกรรมนักเรียน ทังในและนอกห้องเรียน ให้ยึดหลัก 1. นักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ 3-6 คน ให้ทุกคน ได้มี โอกาส ฟัง พูด ถาม เขียน ทุกคน ทุกวัน และให้แผนการวางแผน ลงมือปฏิบัติ ประเมินผล ร่วมกันเป็นกลุ่ม ในเรื่องเล็กๆ น้อย กลุ่มละ 1 เรื่อง ใน 1-2 สัปดาห์

3. ครูทุกท่านยึดหลัก นักเรียนต้องรู้จริง ทุกคำที่ปรากฏในหนังสือเรียน สามารถสร้างประโยคใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง

คิดว่าถ้า ทำได้ทั้ง 3 ข้อ บ่อยๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก

ใครคิดอะไรดีๆ เล่าเข้ามาบ้างก็จะขอบคุณยิ่ง

เมื่อวานเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็ก

ไปสังเกตการสอนที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าช่วย

ในโปรแกรมจะมีทุกกลุ่มสาระทุกชั้น

ในโปรแกรมซึ่งแยกเป็นกลุ่มสาระ เป็นเรื่อง แต่ละเรื่อง จะมีผลการเรียนรู้ ทดสอบก่อนเรียน คำสอน ใบงาน หรือกิจกรรม และ ทดสอบหลังเรียน

การใช้เพี่ยงแต่คลิ๊ก คำบรรยาย ภาพ เสียงเพลงประกอบ ก็จะออกมา

ดูครูสอน เด็กเรียน แล้ว ก็เป็นมิติใหม่ในการสอน

ทำให้คิดถึงสื่อ RIT ที่ผมเคยไปร่วมจัดทำเมื่อปี 25-26 ถ้านำมาจัดการกับคอมพิวเตอร์ ก็จะเป็นทางเลือกสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กทางเลือกหนึ่ง เพราะถ้าไปซื้อก็คงแพงน่าดู

ขณะสังเกตการสอน อยากจะเข้าไปแจม แต่ทำได้ยาก

ทำให้คิดถึงปัจจัยพื้นฐานในการเรียนการสอน

ที่โรงเรียนมักจะขาด

คิดว่าถ้าตนเองเป็นครูในวันนี้

จะทำโต๊ะชนิดพิเศษสักตัว รอบข้างมีลิ้นชักหลายๆ ลินชัก ในลิ้นชักจะมี

อย่างละ 1 โหล ดินสอ ไม่บรรทัด ยางลบ ปากกาสีแดง สีนำเงิน กระดาษวาดเขียน กระดาษ A4 กรรไกร ขวดกาว ฯลฯ ที่จำเป็นต้องใช้ในการสอน

ถ้ามีหลายห้อง ไม่มีเงินซื้อ ก็ทำตู้อุปกรณ์เหล่านี้ไว้ในห้องพักครู ใครเอาไปใช้ก็ได้ ใช้แล้วนำกลับเข้าที่ ต้องการเมื่อไหรหยิบใช้ได้ทันที่

การสอนโรงเรียนขนาดเล็กดู ๆ แล้วเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่จริง แล้วยาก

เพราะอยู่ภายใต้ความขาด

ที่ไม่ขาดก็คือความพยายามของครู และผู้เกี่ยวข้อง

จะพยายามถูก หรือไม่ถูกก็ถือว่าเป็นความพยายาม

การสอนที่ยาก อย่างหนึ่งก็คือการสอนวิชาคณิตศาสตร์ การสอนโจทย์ปัญหา

โดยครูที่ไม่มีวิชาเอกเป็นวิชาคณิตศาสตร์

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาฟังการเสนอนวัตกรรมการสนอของครูในงานเคเอ็มของ สพฐ.

ครูท่านหนึ่งท่านสอนคณิตศาสตร์ด้วยนิทาน ผมฟังแล้วก็จินตนาการณ์ การสอนคณฺิตศาตร์ไป ตามประสาคนที่ไม่ได้เรียนเอกคณิตศาสตร์

ถ้ากลับไปสอนคณิตศาสตร์ ช่วงชั้น 2

ผมจะทำอย่างนี้

สมมติว่ามีนักเรียนมี 7 คน

จะฟักสตางค์มาสักร้อย

บอกเด็ก ๆ ว่า วันพุธที่จะถึงซึ่งเป็นวันที่มีตลาดนัดข้างๆโรงเรียน ครูจะให้เด็กๆ ไปซื้อของที่อยากซื้อ ให้นักเรียนซื้อของจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปมอบให้พ่อแม่พี่น้องเพื่อนและครู

จะสั่งการอย่างไรก็ได้ที่แฝงไว้ด้วยการบวกลบคูณหารอย่าง่ายๆ

กลับมาแล้ว ให้เด็ก ๆ เขียนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครูซักถามให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข ให้เป็นเรื่องราว 1 เรื่อง หรือหลายเรื่อง

เมื่อได้เรื่องมาแล้ว ครูก็ซักไซ้ไล่เรียงเพื่อนำไปสู่การสร้างโจทย์ปัญหาร่วมกัน โดยพยายามให้เด็กๆ ได้สร้างเองได้มากที่สุด

เมื่อได้มาแล้วก็ค่อย ชักนำไปสู่การสอนตามปกติ

การสอนทำนองนี้คิดว่าจะช่วยให้เด็กเข้าใจจริง เพราะมีสิ่งเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงได้กับสถานการณ์จริงที่ได้ประสบพบเห็นมาแล้ว

และแน่นอนการสอนแนวนี้เขามีทฤษฎีอยู่แล้ว

ใครมี ใครสอนทำนองนี้ช่วยส่งทฤษฎี หรือ แผนการสอมาให้บ้างจะได้นำขึ้นเว็บไซท์ให้ดูกัน

คืนนี้นอนไม่หลับ อากาศหนาวเย็น เงียบสงบ

มาเดินเล่นสนามฟุตบอล แหงนดูดาวโอ้ไม่มี

กลับเข้าบ้านก็ยังไม่ง่วงอีก อ่านหนังสือก็อ่านมาทั้งวันแล้ว

กระไรเลยขีดเขียนบรรจงถ้อยร้อยคำดีกว่าน่า

พอจะขีดจะเขียนเป็นบ้าง เลยนั่งทบทวนตัวเองว่าได้ทำอะไร

ให้วงการศึกษาบ้าง พอมีอยู่บ้างมั้ง วันวานถึงวันนี้ทำดีบ้างไหม

นึกถึงท่านชัด ท่านชอบค้นคว้า ของฝากมีมาก ประสบการณ์สูง

หวังดีต่อครูมากๆ ท่านเปิดช่องให้เราทุกคนได้ลิขิตคำคมอยู่แล้ว

ขออาศัยคอลัมน์นี้สาธยาย

"ลงมือทำดีกว่าคำพูดที่สวยหรู" (Ben Fanklin) ดังนี้

เราพากเพียร สร้างโรงเรียน ขนาดเล็ก

สร้างเพื่อเด็ก ได้ทัดเทียม โรงเรียนใหญ่

สร้างทุกสิ่ง สร้างทุกอย่าง สร้างเข้าไป

สร้างสิ่งใด อะไรบ้าง จะเล่าฟัง

ภูมิทัศน์ คือสิ่งแรก รำลึกถึง

เป็นสิ่งดึง ดูดใจคน เหมือนมนตร์ขลัง

ดูผิวเผิน สร้างทำไม ไม่จีรัง

แต่คนยัง พูดแสดง เปลี่ยนแปลงไว

งานวิจัย ในชั้นเรียน เปลี่ยนเรียนรู้

ร่วมกับครู สู้ค้นคิด ผิดแก้ไข

ครูตระหนัก ช่วยกันทำ อย่างทันใด

น่าชื่นใจ ในพากเพียร เพื่อนครูเรา

เศรษฐกิจ พอเพียง เรื่องไม่ง่าย

ต้องอาศัย ใจเด็ดเดี่ยว ห้ามเหี่ยวเฉา

กำลังขวัญ กำลังใจ อย่าให้เบา

เปรีบยเทียบเอา สอนกับทำ ย่อมต่างกัน

คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี ต้องมีก่อน

เพียรขอวอน ผู้ใจบุญ เกื้อหนุนฉัน

สวรรค์มีตา ฟ้าประทาน โดยฉับพลัน

แสวงมัน ก็ย่อมได้ ใครจะรู้

เครื่องแต่งกาย ชุดนักเรียน ก็เพียรเปลี่ยน

ตัวผู้เรียน แสนภูมิใจ ในชุดหรู

รักโรงเรียน รักมากขึ้น รักคุณครู

ชุดเก่าดู เชยบรรลัย ใส่ได้ไง

ชุมชนใด ไกลใกล้เรา เข้าให้ถูก

สิ่งใดผูก พันใจ ให้จำไว้

ทำบ่อยบ่อย ทำซ้ำซ้ำ ทำต่อไป

ประทับใจ ปวงประชา อย่างแน่นอน

พระพุทธรูป ประจำ สถานศึกษา

สิ่งนี้น่า เชิดชู บูรณะก่อน

บารมี องค์ท่าน ช่วยเราแน่นอน

จิตนิวร ฝันร้าย สลายไป

ตัวนักเรียน นั้นสำคัญ ต้องมั่นพบ

ความเคารพ รักคุณครู ดูเลื่อมใส

รู้เด็กมาก รู้ใจเขา รู้กว่าใคร

ความในใจ จะบอกเรา เขาศรัทธา

แล้วค่อยแต่ง เสริมความงาม ตามจิตเกิด

ก่อกำเนิด สิ่งใหม่ใหม่ ตามใฝ่หา

สิ่งแปลกแปลก สร้างขื้นเทอญ เจริญตา

คนอื่นมา ได้เห็น เป็นตะลึง

วิธีสอน วิธีทำ ที่ดูเด่น

เมื่อพบเห็น ศึกษาเอา เข้าให้ถึง

เสวนา พากันทำ พาคำนึง

เป็นผลซึ่ง สถาบัน ประกันได้

สุขแท้จริง จากทำงาน นั่นคือผล

สุขบัดดล สุขทันตา ชั่วอายุขัย

พุทธองค์ ทรงตรัสสอน ไว้ก่อนใคร

สุขที่ใจ ใครไม่รู้ เรารู้เอง

หอมช่อตะไคร้

20 ส.ค.51 02.45 น.

สวัสดีค่ะ หนูเป็นนิสิตคณะครุศาตร์ค่ะ ช่วงอาทิตย์หน้าหนูและเพื่อนๆอีก 10 คน จะต้องไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง มีนักเรียนประมาณ 40 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงป.6 หนูควรจะจัดกิจกรรมในรูปแบบไหนดีคะ และกิจกรรมที่จัดควรคำนึงถึงอะไรบ้าง ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณท่าน "ผู้ไม่แสดงตน"

ที่ท่านกล่าวมาเป็นของจริง สุดยอดทฤษฎี ขอเชิญชวนคุณครู ไม่ว่าขนาดใหญ่่ หรือ เล็ก

น้อมนำขอเสนอแนะของท่านไปปฏิบัติ ประสบแต่ความสุขความเจริญทั้งครูทั้งเด็กแน่นอนครับ

ขออภัยหนูคณิศร ไม่ได้เข้ามาหลายวัน เพราะต้องเดินสายไปหลายที่

ไม่แน่ใจว่าจะทันการหรือเปล่า ถ้ายังต้องการคำแนะนำแบบรีบด่วนจะโทรไปคุยก็ได้

086 672 3038 หรือ email ไปก็ได้ [email protected]/

หากหนูให้ข้อมูลเพิ่มเติมมา พอที่จะให้คำแนะนำได้ครับ

อยากทราบว่าการที่โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งสามารถผลิตนักเรียนได้มีคุณภาพ

แต่กลับไม่ผ่านการประเมินของสมศ.เพราะอะไรคะ

บังเอิญได้ไปเห็นมาค่ะ เด็กค่อนข้างดี ครูก็มีวิญญาณครูอยู่เต็มตัว

ถ้าจะต้องโดนปิดไปคงน่าเสียดายค่ะ

คุณมณลดา ครับ

ถ้ามีคุณภาพจริงๆ แล้วไม่น่าจะไม่ผ่าน ผู้ประเมินของ สมศ. ก็ไม่น่าจะไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีการฝึกฝนฝึกปรือมาแล้ว

การพิจารณาคุณภาพโรงเรียนดูได้หลายส่วน โดยเฉพาะที่ตัวผู้เรียนซึ่งพิจารณาได้จาก

สีหน้าท่าทางที่สดใส กล้าพูด กล้าคุย ถามอะไรก็จะตอบได้คล่องแคล่ว

ให้ลองอ่านหนังสือก็อ่านได้เป็นส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะแต่เด็กเก่งๆ

เปิดดูกระเป๋านีกเรียน ดูความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสมุด หนังสือ ก็พอจะเห็นแวว

ซักถามความเข้าใจในสมุดที่จด โครงงานที่ทำ ก็จะรู้ว่าเด็กๆ รู็จริงหรือไม่

อย่างไรก็ดี ถ้าดูแล้วไม่ผ่านอย่างไม่น่าเชื่อ ก็อาจคิดหาวิธีการตรวจสอบผลการประเมินของ

ผู้ประเมินมาใช้ดููเหมือนกัน

อัญชลี สิทธิเหรียญชัย

สวัสดึค่ะ ปัจุบันนี้ทำงานอยู่ที่ โรงเรียนบ้านเนินม่วง อำเภอทับคล้อ สพท.พจ.2 เป็นโรงเรียนขนาดเล็กค่ะ ท่านกล่าวถึง RIT ดิฉันเคยใช้สอนเมื่อครั้งย้ายไปทำงานที่ จ.พิษณุโลก ปัจจุบันไม่เห็นแล้วในห้องสมุดโรงเรียน อาจจะมีบางที่แต่ยังหาไม่พบ ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นน่าจะเป็นบทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง รู้สึกเสียดายนวัตกรรมดีๆที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาครูขาดแคลนได้ดี เด็กโตดูแลเด็กเล็กได้ ครูมีเวลาหายใจทำงานที่นอกเหนือจากงานสอน การสอนในโรงเรียนขนาดเล็กเป็นงานที่ท้าทายจริงๆค่ะ ดิฉันย้ายที่ทำงานหลายแห่ง เพื่อจะได้กลับบ้าน จึงได้มีโอกาสทำงานในโรงเรียนที่มีจำนวนเด็ก จำนวนครู ขนาดของโรงเรียนที่แตกต่างกัน ได้มีโอกาสสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มักมีบทสนทนาเชิงหยอกเย้าว่า โรงเรียนเล็กส่งเด็ก ป.6ให้โรงเรียนมัธยมแก้ปัญหา ไม่ได้คิดว่าเป็นคำปรามาส แต่ทำให้นึกถึงอยู่เสมอว่า

เด็กมีปัญหาจากอะไร และเมื่อเด็กมาถึงมือของเรา เราจะดูแลเขาอย่างไร ดิฉันเคยใช้แนวของ RIT เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เมื่อครั้งทดลองจัดทำหลักสูตรบรูณาการสหวิทยาการเรื่อง ขยะในโรงเรียนของระดับช้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 แต่ก็เป็นเพียงความพยามยามของกลุ่มครูเล็กๆ ที่มีเพียงลายเซ็นว่ารับทราบแล้วเก็บไว้ในแฟ้มเท่านั้น ดิฉันขอสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับ RIT และจากประสบการณ์การสอนที่วนเวียนกับชนบท จากประสบการณ์ที่จัดการเรียนรู้กับเด็กหลายระดับวุฒิภาวะ ดิฉันคิดว่าการจัดการเรียนรู้ในระดับขั้นพื้นฐานควรเน้นทักษะชีวิตที่ฝังลึกค่านิยมวิถีไทยและสิ่งแวดล้อม ใช้ กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการให้มากที่สุด อยากให้ครูพาเด็กออกมาจากห้องคอม อยากให้ครูพาเด็กไปหาปู่ย่าตายาย ไอ้เผือกอีมอม (ขอโทษค๋ะ หมายถึง พี่โคน้องหมา) แล้วครูลองพาเด็กกลับมาห้องคอม สร้างโปรแกรมวิถีชีวิตที่เราพบเห็น

สุดท้าย ณ บทนี้ ขอขอบคุณที่ได้มีโอกาสมาได้รับความรู้และแนวคิดดี ๆ จากท่าน สวัสดีค่ะ

อ. อัญชลี สิทธิเหรียญชัย กล่าวถึง RIT

ก็ขอนำเรื่องเก่าๆ ที่เกี่ยวกับ RIT มาเล่าสู่การฟัง

Reduced Instructional Time หรือลดเวลาการสอนแบบบอกๆๆ ลง เพื่อการเพิ่มเวลาให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ จริง จำได้นานมากขึ้น ในการทำกิจกรรม จึงมีสื่อการเรียนที่เป็นบทเรียนสำหรับนักเรียนเป็นหลัก แต่ในบทเรียนจะมีกิจกรรมที่สั่งให้นักเรียนทำกิจกรรม/ให้นักเรียนอ่าน เพื่อการเรียนรู้มากมาย เช่น สอนการดูแลรักษาบ้านก็จะให้นักเรียนไปสำรวจตรวสอบห้องนำห้องส้วมในโรงเรียน นำข้อมูลกลับมาอภิปรายกันว่าสภาพเป็นอย่างไร ควรจะทำอย่างไรให้สะอาดมากขึ้น ให้วางแผนการ แล้วลงมือปฏิบัติ ขณะปฏิบัติครูอาจชี้ให้เห็นวิธีปัดกวาดเช็ดถู ที่ถูกต้องของนักเรียนบางคน หรือครูสาธิตให้ดู ปฏิบัติแล้ว และประเมินผลกันแล้ว ก็ให้ไปสำรวจห้องนำห้องส้วมที่บ้าน แล้วทำแผนพัฒนามาให้ครูดู ครูดูแล้วเห็นว่าดูดี ก็ให้ไปปฏิบัติ และนำผลมารายงานหน้าชั้น

สมัยนี้มีกล้องดิจิตัล อาจให้เด็กยืมไปถ่ายรูปก่อนหลังพัฒนามานำเสนอก็ได้

ที่พูดมาคร่าวๆ พอเห็นเป็นแนวนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถลดเวลาการสอนแบบบอกลง เพิ่มสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน หรือ อย่างน้อยเหมาะกับเด็ก เก่ง กลาง อ่อน ดังเช่นกระบวนการสอนบวกกับตัวครูบวกกับสื่อ RIT มากขึ้น ก็จะช่วยให้นักเรียนรูจริง รู้ลึก เชื่อมโยงได้ เรียนรู้ได้ดีเพิ่มขึ้น

สวัสดีครีบ หนูจิ ขอบคุณที่สีซอให้ดูครับ

ขอบคุณที่หลานเข้ามาให้กำลังใจ

อ่านประวัติ และผลงานของหนูแล้ว ชื่นใจจริงๆ เก่งจริงๆ และมั่นใจอย่างยิ่งว่าหนูเป็นทั้งเด็กเก่ง และเด็กดี ที่สะสมมานานด้วยตัวหนูเอง และความเป็นแบบอย่างที่ดี การดูแลเอาใจใส่ที่ดีเลิศของคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงคุณครูในวัยเด็ก อนุบาล ประถม มัธยมด้วย

ถ้าเข้ามาอีกที อยากให้เล่าให้เล่าสู่กันฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ ชั้นอนุบาล ชั้นประถม คุณพ่อคุณแม่ และคุณครูสอนหนูอย่างไร เพื่อคุณครู และพ่อแม่ผู้ปกครองท่านอื่นๆ จะได้แนวคิดแนวทางจากหนูไปใช้บ้างครับ

เมื่อวานพบคุณครูจากโรงเรียนขนาดเล็กท่านหนึ่ง นั่งคุยกัน ถามท่านว่าเดี๋ยวนี้ ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนของท่านซึ่งมีนักเรียนประมาณ 80 คน มีครูอยู่ 5 คน นั้น ท่านสอนด้วยไหม คุณครูบอกว่าท่านเป็นผู้อำนวยการแล้วครับ ท่านไม่สอนหรอกครับ

เหรอ?

เมื่อประมาณสัก สามปีที่ผ่านมา มีครูใหญ่จากอังกฤษมาเยี่ยมเขตพื้นที่ 11 คน ผมเป็นคนหนึ่งที่นำคณะเขาไปเยี่ยมโรงเรียน ขณะนั่งคุยในรถ ผมถามเขาว่าที่โรงเรียนของเขา เขามีนักเรียนกี่คน เขาบอกว่ามีอยู่ 50 คน

นี่มันโรงเรียนขนาดเล็กเหมือของเราเลยนี่ นึกในใจ

ผมถามเขาว่าเขาสอนด้วยไหม เขาสอนด้วยครับ

เมื่อปีที่ผ่านมา จำไม่ได้ว่าเดือนไหน พบน้อง ผอ. ที่พบกันทุกที ก็คุยกันทุกที

อยู่โรงเรียนน้องสอนบ้างไหม

ไม่ได้สอนค่ะ

ถ้าจะสอนในทำนองนี้ได้ไหม ผมลองขายไอเดีย

น้องมีนักเรียนอยู่ เจ็ดแปดสิบคน เช้า 6 คน เย็น 6 คน เวียนไปจนครบทุกคน แล้ววนไปเรื่อยๆ

พบนักเรียนทีละคน ขอดูกระเป๋า

- หยิบหนังสือให้อ่านให้ฟัง

- ตั้งคำถามให้ตอบ

- ให้แปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้ฟัง

- ชี้โจทย์เลขที่ทำมาแล้ว ให้ทำใหม่ โดยปิดคำตอบไว้

ฯลฯ

รวมๆ แล้วก็คือประเมินสภาพจริง

ถ้าเด็กๆ คำทำถูก ทำได้ ก็ชมเขาไป ถ้าไม่ได้ก็สอนเขาไปวันละเล็กละน้อย

ตอนพักกลางวัน ทานข้านกลางวันกับเพื่อนครู ก็หยิบยกเรื่องราวที่พบปะกับเด็กๆ มาพูดคุยกัน

ผมถาม น้อง ผอ. อีกครั้งว่าทำได้ไหม

เธอบอกว่าดีค่ะ จะลองดู

พบกันเมื่อเดือนที่ผ่านมาแว็บๆ ไม่ได้สอบถามว่า ที่ว่าดีค่ะ ได้ทำบ้างแล้วหรือยัง

เมื่อไรรัฐบาลจะมีโรงเรียนในฝันโรงเรียนขนาดเล็กบ้าง ตามหัวข้อ8ข้อที่ศน.ชัด ผมว่าเข้าท่าทีเดียว แต่ความพร้อมและบริบทโรงเรียนต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน ไม่ว่า นักเรียนใฝ่เรียน ครูใฝ่รู้จัดการเรียนรู้ ผู้บริหารอุทิศเวลา ชุมชนสนับสนุน ที่ลืมรัฐบาลต้องกล้าลงทุนจัดงบประมาณเมกกะโปรเจคให้โรงเรียนขนาดเล็ก แต่ก็คงไม่ลืมทฤษฏีหลักความพอเพียงตามแนวพระราชดำริเป็นพื้นฐานของทุกโรง............โรงเรียนในฝันโรงเรียนขนาดเล็ก..................................

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาคารวะ..ท่านปรมาครูศึกษานิเทศก์
  • ก็แว๊บไปอ่านประวัติท่านมา..ท่านเป็นศึกษานิเทศก์ตั้งแต่ศน.แอ้ดยังเรียนอยู่ชั้นประถมเลยค่ะ(ปี2520)
  • จะไม่น้อมคารวะก็ไม่ทราบจะว่าเช่นไรนะคะ
  • พอดีว่าศน.แอ้ดก็รับผิดชอบโรงเรียนขนาดเล็กของมหาสารคาม เขต 1 เช่นกัน
  • ปัญหาต่างๆก็คงจะไม่แตกต่างกันมากมายนัก
  • อยากให้ท่านได้เขียนบันทึกแบบนี้เยอะๆจะได้มาเก็บเกี่ยวความรู้นะคะ..

การทำงานให้ดีขึ้น มีที่ทำได้ด้วยตัวเอง และทำไม่ได้

เมื่อคิดถึงที่ทำไม่ได้ตัวเองแล้ว.....มักจะท้อแท้ แต่คิดไว้บ้างก้ดี ที่ปัญญาเกิดขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าคิดที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองให้มาก แล้วทำให้มากๆ ทำด้วยวิธีใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำ ทำแบบลองดูไปก่อน ถ้าได้ผลแล้วทำให้ใหญ่ ให้มากขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้ จะไม่มีวันท้อแท้ แถมมีกำลังใจจากความสำเร็จด้วยฝีมือของตัวเอง

ท่าน ผอ.ศักดิ์สุบรรณ พูดถึงโรงเรียนในฝัน ถ้าจะสุดยอด ก็ขอให้เป็นในฝันของตนเอง

ทำไปเท่าที่จะทำได้ พร้อมๆ กับรอ เมกกะโปรเจคไปด้วยก็ได้

ทำไปแล้วมีพบปัญหา หรือความสำเร็จอะไร ก็เล่ามา แล้วก็จะช่วยเชียร์ครับบบบบ

สวัสดีปีใหม่ 2552 ท่านว่าที่ ศน.คศ.4 การประกันคุณภาพภายในโรงเรียนในฝันขนาดเล็กที่ควรจะได้นานแล้ว สำหรับประสบการณ์ของท่านที่ผ่านมาตลอดจนชีวิตการทำงานของท่าน ท่านได้ทุ่มเทกับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา แต่ตอนนี้ท่านได้มาช่วยโรงเรียนประถมเล็ก บ้านนอกบ้าง ในเมืองบ้าง ผมในฐานะโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ขอท่านมีสุขภาพกายและใจ ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ก้าวดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง ปลอดภัย และมีความสุข ความเจริญ ความสำเร็จดังใจนึกหมาย ทุกประการ แต่อย่างลืม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาและอโรคยา ปรมาลาภา ไว้บ้างนะครับ

HAPPY NEW YEAR 2009

SAKSUBAN KANTHAR

1 JANUARY 2009

ขอบคุณครับ ท่านน้อง ผอ.ศักดิ์สุบรรณ

ขอให้น้อง คณะครู นักเรียน มีความสุขตลอดปี และตลอดไปเช่นกับครับ

ขออภัย ที่ตอบมาช้าไปหน่อย

ที่โรงเรียนมีอะไรใหม่ๆ เล่ามาบ้างนะครับ แม้เครือข่ายจะล่มไป ใจยังคงผูกพันนะครับ

สวัสดีครับ

ชัด

ศักดิ์สุบรรณ คันธา

สวัสดีวันครูครับ 16 มกราคม 2552 สำหรับคุณครูที่ทุ่มกาย และใจให้กับลูกศิษย์โดยเฉพาะคุณครูของผม คือ พ่อ แม่ ของผม

สำหรับ 2 ปี 2 เดือน ที่ย้ายมาโรงเรียนบ้านปงป่าเอื้อง ตอนนี้ผมกำลังเล่นการศึกษาแต่ไม่ใช่เล่นการเมือง นะครับ ตอนนี้งานแรกที่ผมใช้เวลาปรับตัวและศึกษางานใหม่ของโรงเรียนได้ 1 ปี ครึ่ง กับ งานชุมชนสัมพันธ์ก่อน เพราะต้องการให้ชุมชุมมีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษา ตอนนี้ชุมชนยอมรับผมแล้วว่า ผมต้องการมาพัฒนาลูกหลานของพวกเรา จากนี้ผมก็เริ่มเล่น การบริหารเชิงระบบ ตามที่ ศน.ชัด เคยอบรมให้ผม กล่าวคือ 1 เรื่อง 20 คำถาม ก่อน และการบริหาร 8 ระบบ คือ ระบบการบริหารจัดการ ระบบสื่อและแหล่งเรียนรู้ ระบบชุมชนสัมพันธ์ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระบบกิจกรรมนักเรียน ระบบหลักสูตร ระบบพัฒนาบุคลากร และ ระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะระบบสื่อและแหล่งเรียนรู้ ผมได้ไอเดียที่ขอลอกเรียนแบบ ท่านผอ.เจริญศักด์ มา โดยผมจัดแหล่งเรียนรู้ 15 แหล่งเรียนรู้ ได้แก่ แหล่งเรียนรู้ที่ 1 การเลี้ยงปลา 2.การเลี้ยงจิ้งหรีด 3.ไม้ดอกไม้ประดับ 4.ไม้ผลยืนต้น 5.ระบบนิเวศจำลอง 6.ห้องสมุดมีชีวิต 7.ขยะทองคำ 8.การทำปุ๋ยใบไม้แห้ง 9.ระบบประปาหมู่บ้าน 10.ระบบธนาคารข้าว 11.พืชแกล้งดิน(หญ้าแฝก) 12.การเลี้ยงโคเนื้อ 13.การปลูกพืชสวนครัว 14.รั้วกินได้ 15.ลานกีฬาสร้างคน แต่ก็อยู่ในบริบทของโรงเรียนผมในรูปแบบเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ตอนนี้ผมกำลังหาเอกลักษณ์ของโรงเรียนหรือที่เรียกว่า best practice ของโรงเรียน จะเล่นการศึกษาเรื่องใด ท่านศน.ชัด คิดเห็นว่าอย่างไร ก็ช่วยแนะนำด้วยครับ ไอเดีย 1 เรื่อง 20 คำถาม ก็ดี พยายามถามต่อไปเรื่อย ๆ ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำครับ

ขอบคุณครับ ที่มาคุยออกอากาศด้วยกัน ผมจะได้ช่วยเล่น การเล่นกับการทำงานที่จริงจัง ไม่เครียด เล่นอย่างจริงเพื่อนักเรียน เห็นผลแล้วชื่นใจเอง

ก็ทำให้ดีขึ้นเอง ก็เป็นการเล่นที่สนุก ถ้าสนุกกันหลายคน แน่นอน ผลตรง ผลอ้อมก็จะเกิดขึ้น

ดีมากครับ ทที่เห็นอะไรดีๆ แล้วนำมาทำมาปรับให้เหมาะกับตนเอง ที่พวกเราไปเยี่ยม ผอ.เจริญศักดิ์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมเองก็ได้เรียนรู้จากท่านหลายเรื่อง ถ้าโรงเรียนขาดเล็ก ทำได้อย่างท่าน ไม่จำเป็นต้องเหมือนท่าน ก็สุดยอด

15 แหล่งเรียนรู้ ของ ท่าน ผอ.ศักดิ์สุบรรณ ที่กล่าวถึง ก็ดูดี ทั้ง 15 เรื่องนั้น ถ้าสามารถจัดการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามหลักสูตร โดยเชื่อมโยงกับวิชา ผลการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียน รู้จริง เชื่อมโยงได้ เด็กๆ ก็จะเกิดการเรียนรู้จริงจำได้คงทน นำไปใช้ หรือปรับใช้ หรือ เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้

เช่น การเเลี่้ยงปลา มีบ่อแล้ว ช่วยกันปล่อยปลา ก่อนปล่อย ช่่วยกันชั่งน้ำนำหนัก

ไว้ อาจเป็นปลาทีตัวโตหน่อน มีเครื่องหมายกำกับไว้ (จะทำอย่างไร ช่วยคิดด้วย) หรือ จะนับจำนวน ชั่งน้ำหนักรวมกันทัั้งหมด แล้วเลี่ยงไว้ จับขึ้นมานับ ชั่งน้ำหนัก เป็นระยะๆ 2- 3 ครั้ง การเรียนการสอนที่เกิดขึ้น ก็จะน่าตื่นเต้น ตื่นเต้นด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ ผอ.และครูมองทาง ไว้ วางแผนการใช้แหล่งเรียนรู้ นี้ไว้แล้วล่วงหน้า แค่บ่อเลี่ยงปลา นี่ก็สามารถเชื่อมโยงไปได้ หลายกลุ่มสาระ หลายวิชา คณิต อังกฤษ ไทย รวมทั้งคุณลักษณะของนักเรียนที่ต้องการ เอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ

มีแผนการจัดการเรียนรู้ ทั้ง 15 แหล่งพร้อม เมื่อไร บอกด้วย จะหาโอกาสมาชื่นชม

สวัสดีครับ

ชัด

ขอให้ความตั้งความปรารถนาดีต่อนักเรียน ดลบันดาลให้ ท่าน ผอ.และครอบครัวมีความสุข ความเจรฺิญสืบไปนะครับ

คุยเข้ามาอีกนะครับ

เชิญท่านเยี่ยมชมและติชมเวปไซด์ของโรงเรียน ได้ที่ เห็นของจริง ไม่ใช่เขียนลอย ๆ ที่ www.school.seeds-zone.com/ ลิงค์ผ่านเวปไซด์ของ สพท.ชม.เขต 1 แล้ว

ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมและติชมครับ

ขอบคุณสำหรับการเยี่ยมและติชม เวปไซด์ของโรงเรียน ก็ต้องพัฒนาโรงเรียนและประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่โรงเรียนทำไปเรื่อย ๆ คงไม่มีวันหยุด สำหรับการศึกษาคือการพัฒนาชีวิตคน ต้องเรียนรู้ไปตลอด ลองผิดลองถูก บ้างตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป อย่างเช่น ตอนนี้ต้องมุ่งติวเด็กเพื่อทำการสอบระดับชาติ แต่ถ้าเด็กเข้าใจและใฝ่เรียนรู้ ผู้ปกครองเข้าใจ เราคงไม่ต้องติวเด็กอย่างที่ทำทุกวันนี้ ครับ ท่านศน.ก็เหมือนกัน ไม่น่าเชื่อว่าคนใกล้เกษียณ ยังเรียนรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตอยู่ ไม่รู้ว่าตอนผมใกล้เกษียณจะเก่งคอมเหมือนท่านหรือยัง หรือ คง หลง ๆ ลืม ๆ เลอะเลือน ท่านเก่งจริง ๆ นับถือท่านครับ

สวัสดีค่ะ

แวะเข้ามาทักทายค่ะ หลังจากไม่ได้เจอกันนานมาก

ช่วงที่ผ่านมาเจอวิกฤตมากมาย ก็ทำให้เข้มแข็งขึ้นค่ะ

เริ่มรู้จักอาจารย์ตอนที่ไปช่วยโรงเรียนขนาดเล็กที่สันทราย

รู้สึกว่า ศน.คนนี้ พูดแปลกๆ คำพูดทุกคำ ซ่อนความหมายอีกมากมาย

แล้วก็ได้ติดตามการทำงานของท่านมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก

ท่านมีแนวคิดดีๆ มองโลกในแง่ดี

ให้กำลังใจคนทำงาน

ขอขอบคุณท่านแทนคนที่มุ่งมั่นทำเพื่อเด็กๆ

คนที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ทำเพียงเพราะว่าเป็นอาชีพเท่านั้น

เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ขออนุญาตถามท่านผอ.โรงเรียนขนาดเล็ก ผ่านท่านอาจารย์ชัด

มีโรงเรียนใดมีความประสงค์จะร่วมวิจัยและพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียนโดยใช้กระบวนการเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมบ้างหรือไม่

โดยทีมวิจัยจะลงไปอยู่ในพื้นที่ประมาณ 6 เดือน

คำตอบที่ต้องการคือการทำงานตามแผนดังกล่าวจะสามารถช่วยให้โรงเรียนและชุมชนร่วมกันพัฒนาการศึกษาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

แล้วจะแวะมาทักทายใหม่คะ

ผมหายหน้าหายตาไปจากโรงเรียนขนาดเล็กมานาน เพราะคิดว่าพูดอยู่คนเดียว มีพรรคพวกบอกว่าเข้าไปอ่าน แหม ก็ไม่เห็นเข้ามาพูดด้วยเลย ต้องขออภัย คุณแบน ที่เข้ามาพูด แล้วผมไม่ได้ตอบ

ช่วงหลังนี้ ส่วนใหญ่จะโกอิเตอร์ อยู่ใน www.cc.britishcouncil.org และก็ www.facebook.com อยู่บ้างเล็กน้อย เพิ่งเริ่ม twiiter หากจะพบกันในภาคภาษาอังกฤษ ก็ add เป็น friend ได้ครับ ในชื่อ Chat Boonya

สำหรับเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ยังอยากแลกเปลี่ยนกันตรงนี้ เพื่อไม่ขาดหายไป เข้ามาคุย แล้วอีเมล์ไปบอกล่าว

ที่ [email protected] ได้ครับท แล้วจะมาคุยกันอีก

สวัสดีครับ

ชัด

สามวันนี้ 2-4 พฤษภาคม 2553 มาประชุมอยู่ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี เกี่ยวกับโรงเรียนในฝันผู้ดำเนินการขอให้ที่ประชุม เสนอแนะการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก จึงกลับมาให้โพสต์เรื่องนี้อีกที

ก่อนเสนอแนะก็จะขอตั้งคำถามให้ท่านทั้งหลายตอบ ถ้าตอบได้ก็จะคิดออก

ผมจะถามไปตอบไป พอเป็นแนว ใครรับผิดชอบแก้ไข ในระดับนโยบาย หรือ ระดับปฏิบัติการน่าจะคิดเองได้ถ้าไม่ได้ก็ไปจ้างให้คนที่ไม่รู้อะไร ที่เขาเก่งมาทำ ทั้งระดับนโยบายและ ระดับปฏิบัติในระดับบนๆ เพราะคนที่จ้างมาจะได้คิดนอกกรอบน่าจะได้เก่ง กว่าคนที่อยู่ในกรอบ

1. โรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร

2. ประกอบด้วยใคร และอะไรบ้าง

3. ผู้ที่เกี่ยวของมีใครบ้าง คนเหล่านั้นเขามาทำหน้าที่อย่างไร

4. คนภายในโรงเรียน มี หรือ ไม่มีคุณภาพอย่างไร

5. ภาพรวมในความไม่สำเร็จคืออะไร

6. ภาพรวมในความสำเร็จ อยู่ที่ โรงเรียนใด อำเภอใด จังหวัดใด ใครเป็นครู

ใครเป็นครูใหญ่ ครูน้อย เขาทำงานกันอย่างไร มีอะไรที่จะนำมาเป็นแนวทางพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ ได้บ้าง

8. ชุมชนรอบข้างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ และไม่สำเร็จเขาดูแล สนับสนุนโรงเรียนอย่างไร

9. ระบบสนับสนุนโรงเรียนด้านทรัพยากร จากเบื้องบนสู่เบื้องล่างเป็นอย่างไร สภาพการใช้ทรัพยากรเป็นอย่างไร

10. ระบบการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนมีสภาพเป็นอย่างไร

11. ระบบการนิเทศ สนับสนุนส่งเสริม มีสภาพเป็นอย่างไร

12. ระบบการจูงใจ ให้ให้ความก้าวหน้าในวิชาชีพครู เหมือน หรือต่างจากครูทั่วๆ ไป หรือไม่อย่างไร

13. ผลการประเมินภายนอกเป็นอย่างไร

14. ผลการสอบระดับชาติเป็นอย่างไร

15. ระบบการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทย เหมือน หรือแตกต่าง

ประเทศพัฒนาแล้วอย่างไร มีอะไรที่สามารถนำมาปรับใช้ได้หรือไม่ อย่างไร

เอาละครับ นี้คือคำตอบ

1. โรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร

1. โรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมา คือ

1.1 โรงเรียนที่ขาดแคลนผู้บริหารจัดการทางการศึกษา(โรงเรียนขนาดเล็ก) ระดับบนที่มีคุณภาพเพียงพอ

1.2 โรงเรียนที่ขาดแคลนปัจจัย ที่มีคุณภาพ เช่น

-ขาดครูวิชาเอก

-ขาดสื่อ อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ

-ขาดผู้จัดการการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

1.3 โรงเรียนที่ขาดแคลนผู้ดูแลสนับสนุน ส่งเสริมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับ

สภาพความขาดแคลน

1.4 โรงเรียนขนาดเล็กคือ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่ห่างไกล (อาจารย์วิเชียร จีถม รูมเมท กรุณาช่วยเพิ่มให้)

ที่ผ่านมา ที่รับทราบกันมา โรงเรียนขนาดเล็กคือ โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน

ไม่เกิน 120 คน มีครูไม่ครบชั้น

ผมให้คำนิยามตามประสาผม ที่คิดว่าจะช่วยให้เกิดทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโรงเรียนที่เรียกกันว่าโรงเรียนขนาดเล็ก

ขณะนี้แปดจุด 20 น. ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 คงตอบไมครบทุกข้อ

มาช่วยกันตอบนะครับ จะไปเข้าประชุมแล้วครับ

เข้ามาเยี่ยมที่เขียนทิ้งไว้ ดีใจครับที่มีท่านทั้งหลายคลิ๊กเข้ามาเยี่ยม จริงๆ อยากพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมากมาย ถ้าท่านทั้งหลาย

ช่วยตั้งคำถาม หรือร่วมคิดร่วมเสนอแนะด้วยนิดๆหน่อยๆ ก็จะดีมาก ผมจะได้เข้ามาพูดต่อได้ ขอบคุณครับที่มาอุดหนุนบล็อกของผม

ตั้งคำถามไว้หลายวันมาแล้ว ดูเหมือนว่าจะได้รับการอุดหนุนเข้ามาเยี่ยมกันพอสมควร

จึงขอตอบคำถามของตัวเองไปก่อน ท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม หากได้แสดงความคิดเห็นสักสองสามประโยคก็ยังดีครับ เพราะผมก็ไม่แน่ใจในตัวเลขที่ระบบเขาบอกมาเหมือนกัน

1.โรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร

โรงเรียนขนาดเล็กคือ “โรงเรียนท้าทาย” สำหรับนักบริหารการเรียนรู้

ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ก็น่าจะชื่อว่า “The Challenge School” For The Learning Manager.

เหตุผล ที่ให้ความหมายอย่างนี้ ก็เพราะ โรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมาคือโรงเรียนที่ขาดทรัพยากรโรงเรียนที่ห่างไกล ฯลฯ แต่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนหนึ่งก็สามารถเป็นโรงเรียนชั้นดีได้ ถ้าผู้บริหารโรงเรียนเห็นว่าการขาด เป็นความท้าทายของผู้บริหาร ท่านผู้บริหารที่ผมรู้จักดี 2 โรงเรียน คือโรงเรียนบ้านแม่จ้อง อำเภอดอยสะเก็ด และโรงเรียนบ้านแม่ตะไคร้อำเภอแม่ออนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารทั้งสองคน คือ ผอ. สนธิชัย สมเกตุ และ ผอ. เจริญศักดิ์ แสงจันทร์ เป็นนักบริหารการเรียนรู้ตัวจริง ที่เข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่อยู่ใกล้ และไกลออกไปจากโรงเรียนที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กของท่านเป็นโรงเรียนที่สุดยอดในสายตาของผม และผมเชื่อว่าในประเทศไทยเรานี้ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กที่สุดยอดอยู่มากมาย แต่ขาดการเข้าไปดูแลเอาใจใส่จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

2. ประกอบด้วยใคร และอะไรบ้าง

ครูใหญ่ซึ่งได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่สอนเป็น นิเทศครูได้ และครูที่ทนไม่ได้กับความไม่เข้าใจในสิ่งที่สอนของเด็ก จึงขยันหาวิธีการสอน และสื่อการสอนใหม่ มาช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ง่าย ได้เร็ว ทำในสิ่งที่มอบหมายได้ ไปจนคิดได้เอง ทำได้เอง

การสอนของครูใหญ่ ที่ผมคาดหวังก็คือ พบเด็กๆ ป.1-6 ทุกวัน วันละ 6 คน ตอนเช้าเที่ยงเย็น ที่ไม่ใช่เวลาการสอนปกติ ถ้าวันไหนไม่อยู่ก็ให้มีครูท่านอื่นทำหน้าที่แทนหมุนเวียนกันไป ทุกคนทำแทนได้ หน้าที่ก็คือหยิบกระเป๋านักเรียนทีละคนมาดู หยิบหนังสือให้อ่านให้ฟังบ้าง ให้ทำเลขให้ดูสัก 1 ข้อ ให้สรุปเรื่องที่เรียนมาแล้วให้ฟังว่าเข้าใจว่าอย่างไร ให้ทำอะไรก็ได้ที่เป็นการตรวจสอบ ความรู้จริง ของเด็กๆ จากสิ่งที่ครูได้สอนไปแล้ว ตรวจแล้วก็แก้ไขเยียวยาได้ ก็ทำทันที ถ้าคนไหนทำไม่ได้ก็นำไปพูดคุยกับคุณครู หรือครูใหญ่จะเข้าไปแจมขณะที่ครูกำลังสอนก็ได้ถ้าเป็นที่ยอมรับของครูว่า

ท่านเป็นครูใหญ่ตัวจริง คือยิ่งใหญ่ในการเรื่องความสามารถในการสอนจริงๆ

สิ่งที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องมี คือสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย ที่ครูหยิบมาวาง

แผนนการสอนได้สะดวก สะดวก ชนิดที่คลิ๊กปุ๊บมาปั๊บได้ยิ่งดี ในกรณีที่มีครูผู้สอนได้สอนตรงกับวิชาเอกที่เรียนมาก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ ท่านใดไม่เรียนวิชาเอกมาจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วย

3. ผู้ที่เกี่ยวของมีใครบ้าง คนเหล่านั้นเขามาทำหน้าที่อย่างไร

ประกอบด้วย

1. ผอ. เขตพื้นที่นักบริหารการเรียนรู้ ที่ไปทำกิจกรรมกรรมดูแลช่วยเหลือครูใหญ่ ครู บ่อยๆ และ ศน. ที่รู้จริง รู้ลึก และรู้ใจของครูว่า ครูชอบและไม่ชอบให้ปฏิบัติกับครูอย่างไร

ในปีหนึ่งๆ เขตพื้นที่ต้องทบทวนดูว่าได้ไปทำอะไรให้โรงเรียนบ้าง ไปทำอย่างไร ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไร ระหว่างทางตรงกับทางอ้อมอะไรมากกว่ากัน

2. สพฐ. โรงเรียนขนาดเล็กจะดีหรือไม่ อยู่ที่นโยบายทางการศึกษา และวิธีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เช่น กรณีหลักสูตรใหม่ ก็ถือว่าเป็นผลงานของ สพฐ. แต่การปฏิบัติการที่ให้ครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน สพฐ. ทำอะไรอย่างไร ได้ผลแล้วอย่างไร สพฐ. ตอบได้ ถ้าตอบได้ว่าโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนใดในประเทศนี้ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กชั้นเลิศบ้าง ก็จะเป็นศึกษาดูงาน กระตุ้นให้เกิดความท้ายสำหรับผู้บริหารโรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งครูเก่งรุ่นใหม่ไปเป็นครูใหญ่ ในชื่อผู้บริหารโรงเรียนกันต่อไป

ครับโชคดีจังที่ได้เจอgotoknow block ผมเป็นชาวบ้านที่เข้าไปม่ส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียขนาดเล็ก เมื่อมาได้มาเห็นข้อคิดของอ.ชัดประทับใจครับท่านได้มองปัญหานี้ค่อยข้างลึก ไม่เหมือนกับผู้บริหารการศึกษาระดับสูง จึงแก้ปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กได้น้อย ปัญหาหาที่ผมเจอในส่วนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโรงเรียนขนาดเล็กคือ 1.เขตไม่ส่งผู้บริหารมา 2.เขตพื้นที่ไม่สนใจนิเทศติดตาม 3.ครูไม่สนใจที่จะสอน 4.ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะทุ่มเททุ่มตัวอย่างเต็มที่ครูฏ้ไม่สนใจใยดีจะสัมพันธ์กับชาวบ้าน ชาวบ้านจึงออ่นใจแต่โชคดีหน่อย ผอ.เขตคนใหม่เข้ามาสนใจบ้างพอเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านแต่นั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าท่านจะมีแนวทางพัฒนาอย่างไร

แต่เมื่อได้มาอ่านข้อคิดของท่านแล้วดูเหมือนมีทางออกครับ

สวัสดีครับ ท่านเลี่ยมครับ

โชคดีจริง ๆ ที่ผมมาพบท่านโดยบังเอิญ ไม่ได้เข้ามาดูเรื่อง โรงเรียนขนาดเล็กเสียนาน เพราะพบว่าไม่มีใคร จะมาสนใจสักเท่าไหร่

ผมก็ไปง่วนอยู่กับเรื่องอื่นๆ ถ้าท่านเข้ามาอีก และอยากคุยกันต่อ ท่าน ไปที่เว็บไซต์ของผม ซึ่งผมต้องเช็คทุกวัน หากท่านจะคุยกับผม ผมจะยินดีอย่างยิ่ง ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่าน โดยเปิดเป็นกระ"ทู้ เลี่ยม-ชัด สนทนา" ไว้ในเว็บไซต์ ของผม จะไปเยี่ยมก่อนก็ได้ครับ http://boonyaras.net

ผมอยากคุยกับท่านยาวๆ หาตัวแทนชาวบ้าน ที่อยู่ใกล้ชิด กับโรงเรียน ยากมากครับ

ผมคงเสนอแนวคิด แนวทางได้อีกมาก หากมีข้อมูลโรงเรียนในเชิงลึกจากท่าน

ขอบคุณล่วงหน้า แล้วจะรอท่านครับ

หรือ จะอีเมล์ไปถึงผมก็ได้ครับ

ด้วยความเคารพ

ชัด

มีสมาชิกเข้ามาโพสต์ไว้ในห้องการจัดการความรู้ในโรงเรียนว่า

"สมาชิกใหม่ครับ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาทุกแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการบริหารงาน เป็นเรื่องสำคัญ หน่วยงานต้นสังกัด และที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะคนยากจนเลือกเกิดไม่ได้ เป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ผู้หญ่ในระดับสูงจัดไว้ในมาตรฐานอีกระดับหนึ่ง" 

จึงยกมาไว้ในที่นี้  และ ให้ของแสดงความคิดเห็นตอบกลับ  ดังนี้

โรงเรียนทุกโรงเรียน จะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเขตพื้นที่  มีศึกษานิเทศก์ ผอ.เขต รองฯ จนท.  อื่น ๆ เข้ามารับรู้ทุกข์ สุข สมัยก่อน ที่มี สปอ. สปจ. โรงเรียน ครูจะอบอุ่น สะดวกในการไปมาหาสู่ พอมาอยู่เขตพื้นที่ ทำให้ห่างเหิน พอจะไปโรงเรียน      ก็ต้องมีค่าน้ำมันรถ ทำให้ไปบ่อยไม่ได้   ก็เหินห่าง  ทั้งที่เป็นหน้าที่โดยตรง  ศึกษานิเทศก์ ก็มีไว้ให้ช่วยโรงเรียน ไปโรงเรียนบ่อยๆทำกิจกรรมที่ช่วยโรงเรียนบ่อยๆ   แต่งบประมาณอยู่ในอำนาจของ ผอ.บางเขต ท่านสนับสนุนเต็มที่ โรงเรียนก็อบอุ่น  หรือไม่ก็ไม่อบอุ่น ด้วยการปฏิยัติที่ไม่ถูกต้องของศึกษานิเทศก์ หรือ การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของโรงเรียน  แต่โดบหน้าที่แล้ว ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เพราะเป็นหน้าที่ที่ต่างก็ได้รับมอบหมายกันมา

เขตพื้นที่ จึงถือเป็นต้นสังกัดที่คอยดูแลช่วยเหลือโรงเรียน  ถ้าโรงเรียนอึดอัดกับการปฏิบัติการใดๆ ของเขต ก็ต้องพูดคุยกับเขต พูดคนเดียวไม่ดัง ก็ต้องใช้ สมาคมครู  สมาคมผู้บริหาร สมาคมรองฯ เป็นปากเสียงให้   อย่างเช่น ศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศอึดอัดกับการปฏิบัติงาน  จึงต้องใช้สมาคมศึกษานิเทศก์ เป็นปากเสียงให้ จนรัฐมนตรี เห็นด้วยและมีการปรับเปลี่ยน ระบบการเข้ามาดดูแลช่วยเหลือโรงเรียนให้แก่ศึกษานิเทศก์  หรือ สมาคมผู้บริหารมัธยมอึดอัดกับเขตพื้นที่มีทั้งประถมและมัธยม ก็ต้องใช้ทุกวิธีการ จนได้เขตพื้นที่มัธยมกลับมา    ในอนาคตถ้าเขตพื้นที่ยังช่วยเหลืออะไรโรงเรียนไม่ได้ดีเท่าที่ควร  ก็ต้องกลับไปเป็นในลักษณะ สปจ. สปอ. หรือ ในลักษณะอื่นๆ ที่มี สมาคมครู  สมาคมผู้บริหาร สมาคมรองฯ เป็นปากเสียง หรือแกนนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า

การที่ท่านเขียนมานี้ ก็ต้องขอชื่นชม  อย่างน้อยสังคมก็จะได้รับรู้ความรู้สึกของท่านที่อยู่กับโรงเรียนขนาดเล็ก  และจะได้บอกกล่าวเล่าขานกันต่อๆ ไป วันนี้ท่านโพสต์มาหาผม พรุ่งนี้มะรืนนี้ ท่านโพสต์ ไปยัง รัฐมนตรี สพฐ. หรือ หนังสือพิมพ์ ยังได้อีกเพราะการศึกษาของชาติต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ชัชที่เคารพ

ผมได้มีโอกาสแวะมาชมบทความของพี่ ดีใจและขอบคุณมากที่พี่ช่วยเหลือและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับพี่น้องเพื่อนครู ผู้บริหาร เป็นประโยชน์มากครับ เพราะฐานของความสำเร็จทั้งปวงจะอยู่ที่โรงเรียน คือฐานปฏิบัติการใหญ่ โดยการช่วยเหลือตนเอง และการสนับสนุนจากต้นสังกัด ชุมชน สังคม เป็นต้น

ผมมีโอกาสไปในต่างจังหวัดหรือที่เคยทำงานกับพี่มาเราก็มราบว่ายังมีเพชรเม็ดงาม ๆ ที่ผู้บริหาร ครู ชุมชน เขตพื้นที่ช่วยกันพัฒนาขึ้นมากมายในแผ่นดินนี้ เพีงแต่ว่าโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจจะยังน้อยไป หรือยังไม่มีโอกาสได้พบกัน ในหลาย ๆ เรื่องเพียงปรับวิธีคิดเปลี่ยนวิธีทำงาน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็สามารถปฏิบัติประยุกต์ได้แล้ว เพราะผมเชื่อในศักยภาพของผู้บริหาร ครู ถ้าเอาจริงเอาจังแล้วความสำเร็จก็จะตามมา ไม่ใช่คิดเองแต่ไปพบมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เป็นกำลังใจให้ทุก ๆ ท่าน และขอบคุณพี่ชัชมาก ๆ ที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อวงการศึกษาโดยตลอดครับ

ระลึกถึงเสมอครับ

นายนาวิน วิยาภรณ์

น้องนาวิน ที่รัก

ไม่ได้เข้ามาหลายวัน คิดว่าไม่มีใครมาปฏิสัมพันธ์ทางโกทูโนนี้เสียแล้ว พี่ก็ไปอยู่บนเฟซบุ๊คซะเป็นส่วนใหญ่ ในชื่อ lechat yaboon ร่วมกับครูน้องๆ ไปทำ Global Teacher Forum, Students Forum ไว้เป็นทางเลือกที่จะแลกเปลี่ยนกัยครูต่างประเทศเล็กน้อยๆ เป็นแนวรองรับ ASEAN และ Global Citizen ภาคปฏิบัติ โพสต์ไปโพสต์มาพอสนิทกันแล้วก็ใช้ skype พบหน้ากัน

คุยกันสนิทแล้ว ก็ชวนให้ทำกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยกันกับคุณครูของเรา พี่ก็ไปเยี่ยมห้องเรียนของเขาบ้าง ได้สนทนากับคุณครูและเด็ก ๆ แล้วนำไปบอกกล่าวคุณครูให้ใช้เป็นทางเลือกในการจัดการเรียนการสอนข้ามประเทศข้ามโลก เป็นมิติใหม่ของการจัดกาเรียนการสอนในโลกปัจจุบัน

หากเข้ามาอีกก็อาจคุยกันต่อในที่นี้ มีเรื่องทางการศึกษาที่จะแลกเปลี่ยนกับน้องมากมาย ตุลานี้เป็นค้นไปมีเวลาตลอดวันเลยครับ

ท่านอื่นๆ ที่เข้ามาเจอ เข้ามาใช้โกทูโนกันมากๆนะครับ ถามมาก็ได้ เสนอแนวคิดมาก็ได้ ผมจะได้คุยต่อได้ ขอบคุณน้องนาวินที่เข้าคุยด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท