การเปรียบเทียบเชิงเทคนิคระหว่างการตรวจหลอดเลือดแดงสมอง


DSA VS. MRA

การเปรียบเทียบเชิงเทคนิคระหว่างการตรวจหลอดเลือดแดงสมอง
ด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

(Brain Arteries Imaging : Comparative Technical Approach of DSA and MRA)


วิธวัช หมอหวัง*      วท.บ รังสีเทคนิค
พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ* วท.บ รังสีเทคนิค
สุรีรัตน์ ธรรมลังกา** พย.บ.,วท.ม.(สุขศึกษา)
ศุภวรรณ จิวะพงศ์*   วท.บ รังสีเทคนิค


*ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
**งานการพยาบาลรังสีวิทยา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช

วิธวัช หมอหวัง, พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, สุรีรัตน์ ธรรมลังกา, ศุภวรรณ จิวะพงศ์. การเปรียบเทียบเชิงเทคนิคระหว่างการตรวจหลอดเลือดแดงสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550 ; 1(2) : 61-72

 

คำนำ

ปัจจุบันนี้การแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีท่าทีที่ไม่หยุดยั้ง การตรวจหลอดเลือดแดงสมองสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยอยู่เสมอ มีคอมพิวเตอร์ระดับสูงช่วยในการประมวลผลได้ ดังนั้นเชื่อว่าหลายคนที่ทำงานด้านรังสีการแพทย์อาจมีคำถามเดียวกันว่า ระหว่างการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง DSA กับเครื่อง MRI อย่างไหนเหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่ากัน ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องทราบก่อนว่า ทั้งสองแบบมีการเตรียมตัวผู้ป่วยและมีวิธีการตรวจอย่างไร ใช้เวลาในการตรวจนานเท่าใด ภาพที่ได้เป็นอย่างไร มีความเสี่ยงอย่างไรและที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการตรวจมากน้อยเพียงใด


การเตรียมผู้ป่วยเพื่อรับการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด (DSA)
ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วัน ก่อนวันนัดตรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้


1. ซักประวัติ และข้อมูลของผู้ป่วย

1.1 โรคประจำตัว : ความดันโลหิตสูง ไตวาย ไวรัสตับอักเสบ
1.2 การแพ้ยา สารไอโอดีน หรืออาหารทะเล หรือประวัติโรคภูมิแพ้ หอบหืด

2. เจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (coagulogram,Platelet, BUN, Cr.)
3. ทำความสะอาดและโกนขนบริเวณขาหนีบทั้งสองข้าง และ/หรือรักแร้ซ้าย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รังสีแพทย์จะใส่หลอดสวนและ/หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ขณะตรวจ
4. อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการตรวจอย่างคราวๆ
5. ดูแลให้ผู้ป่วยและญาติ เซ็นใบยินยอมรับการตรวจรักษาทางรังสี
6. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำตามแผนการรักษา กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มทางหลอดเลือดดำ แพทย์เจ้าของไข้ควรงดอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง ตลอดจนยาละลายลิ่มเลือดชนิดกิน ก็ควรงดอย่างน้อย 3-7 วัน ก่อนวันตรวจ
7. ผู้ป่วยงดอาหาร และน้ำดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
8. จัดเตรียมยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ห้องตรวจต้องการ


 

วิธีการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง DSA
การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง DSA มีวิธีการตรวจคือ การตรวจภายใต้การ sterile โดยรังสีแพทย์ทำการนำสายสวน (Catheter) ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดหลอดเลือดของผู้ป่วย สอดเข้าไปตรงบริเวณขาหนีบของผู้ป่วย โดยมีลวดนำสายสวน (Guide wire) สอดนำเข้าไปก่อนจนใกล้บริเวณหรือจุดที่ต้องการหลังจากนั้นสอดสายสวนตามมา แล้วฉีดสารทึบรังสีด้วยเครื่องฉีดพร้อมกับถ่ายภาพหลอดเลือดขณะที่ฉีดสารทึบรังสีเข้าไป ณ เวลา ต่างๆ กัน ดังตารางที่ 1 โดยปริมาณสารทึบรังสีขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดและอายุของผู้ป่วย เวลาที่ใช้ในการตรวจนับตั้งแต่นำผู้ป่วยเข้าห้องตรวจจนกระทั่งออกจากห้องตรวจใช้เวลาประมาณ 20-60 นาที ฉีดสารทึบรังสีทั้งหมดประมาณ 50-100 ml ดังนั้นก่อนการตรวจจำเป็นต้องซักประวัติผู้ป่วยเรื่องการแพ้อาหารทะเลหรือโรคประจำตัวต่างๆ อย่างละเอียด ค่าใช้จ่ายในการตรวจ DSA 17,000 บาท ( Angiographic selective : ราคากรมบัญชีกลาง ) ภาพที่ได้เป็นดังภาพที่ 1

หลอดเลือดที่ตรวจ ปริมาณสารทึบรังสี (ml) อัตราการฉีด (ml/s) อัตราเร็วในการถ่ายภาพ (วินาที) ภาพถ่าย
Internal carotid artery 8 5 2frame/sec : 4sec Town's
      1frame/sec : 20 sec Lateral
Vertebral artery 6 4 2frame/sec : 4sec Town's
      1frame/sec : 20sec Lateral
Extermal carotid artery 5 2-3 2frame/sec : 4sec Town's
      1frame/sec : 20 sec Lateral

ในการทำหัตถการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด (DSA) ต้องกระทำภายใต้วิธีปราศจากเชื้อ (Aseptic Technique) โดยรังสีแพทย์ที่มีความชำนาญ และต้องฉีดสารทึบรังสี (contrast media) พร้อมกับถ่ายภาพหลอดเลือด วิธีการดังกล่าวจำเป็นต้องมีพยาบาลเฉพาะทางช่วยแพทย์ในการทำหัตถการ ตั้งแต่การเตรียมผู้ป่วยก่อนรับการตรวจรักษาทางรังสี เพื่อให้ผู้ป่วยมีความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ ตลอดจน การพยาบาลผู้ป่วยขณะ และภายหลังการตรวจรักษาทางรังสี เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีอย่างปลอดภัย กระบวนการเป็นไปตามความคาดหมาย รวมทั้งยังให้การพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และบรรเทาอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนการตรวจทางรังสี



 

การพยาบาลผู้ป่วยขณะรับการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด (DSA)

พยาบาลประจำห้องตรวจหลอดเลือดทางรังสี นอกจากต้องจัดเตรียมเครื่องมือ/อุปกรณ์ปลอดเชื้อ (sterile) ตลอดจนสารทึบรังสีให้พร้อมก่อนการตรวจรักษา ส่งเครื่องมือ/อุปกรณ์ ทั้งยังกระตุ้นและรายงานความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในขณะแพทย์ทำการตรวจรักษา เช่น จำนวนสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และป้องกันการเกิดภาวะ
แทรกซ้อนจากการตรวจรักษา ดังนี้คือ

 1. ต้อนรับผู้ป่วยและญาติ ด้วยท่าทีที่สุภาพ อบอุ่น เป็นกันเอง เพื่อลดความตึงเครียด ความวิตกกังวล และความกลัวต่อการตรวจรักษา
2. ประเมินความพร้อมของผู้ป่วยซ้ำก่อนเข้าห้องตรวจหลอดเลือดทางรังสี ดังนี้

2.1 ความถูกต้องของตัวบุคคล (Patient Identification) และแผนการรักษา
2.2 ความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร เช่น ใบส่งตรวจ ใบเซ็นยินยอมรับการตรวจรักษา เป็นต้น
2.3 สภาพความพร้อมทางด้านร่างกาย ได้แก่ ความสะอาดของผิวหนังบริเวณที่ทำหัตถการ การได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
2.4 สภาพความพร้อมทางด้านจิตใจ ได้แก่ ความวิตกกังวล ความกลัว ความไม่สุขสบาย

3. ซักประวัติโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา สารทึบรังสี อาหารทะเล พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการตรวจอย่างคร่าวๆ
4. นำผู้ป่วยเข้าห้องตรวจหลอดเลือดทางรังสี และจัดท่านอนหงายราบ
5. ตรวจวัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital Signs) ทุก 15 นาที
6. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง และยาตามแผนการรักษา
7. ดูแลและบันทึกจำนวนปัสสาวะ
8. ดูแลและหมั่นตรวจสอบสารน้ำสำหรับหล่อ introducer kit โดยไม่ให้มีฟองอากาศ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดขณะตรวจ
9. ดูแลและบันทึกจำนวนสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยได้รับขณะตรวจ
10. ลงบันทึกการพยาบาล (Nursing Document) และส่งต่อข้อมูลให้หอผู้ป่วทราบ

 

การพยาบาลผู้ป่วยภายหลังการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด (DSA)

ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร โดยปิดแผลด้วย Sterile Pressure Gauze ที่บริเวณขาหนีบข้างขวา และ/หรือรักแร้ซ้าย ซึ่งเกิดจากการใส่สายสวนและ/หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ขณะตรวจ


1. ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด ในระยะ 6 ชั่วโมงแรก เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะตกเลือด (hematoma) และการหดเกร็งของหลอดเลือด (vasospasm) ตรงบริเวณที่ใส่สายสวน โดยต้องปฏิบัติดังนี้

1.1 ดูแลให้ผู้ป่วยนอนราบบนเตียง ห้ามงอขา หรือใช้แขนข้างที่แพทย์ใส่หลอดสวนอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง
1.2 ตรวจวัดสัญญาณชีพ (Vital Signs) พร้อมทั้งตรวจดูบริเวณขาหนีบ และ/หรือรักแร้ข้างที่ใส่หลอดสวน ทุก 30 นาที 6 ชั่วโมงแรก และทุก 1 ชั่วโมง จนครบ 12 ชั่วโมง
1.3 ถ้าไม่สามารถคลำชีพจรบริเวณส่วนปลายของขาหรือแขนข้างที่ใส่หลอดสวน ภายใน 1-3 ชั่วโมง และผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดชาเพิ่มมากขึ้น ผิวหนังซีด เย็น และสีผิวเริ่มคล้ำลง ซึ่งเป็นอาการของการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนปลาย แสดงว่าอาจมีลิ่มเลือดเกิดร่วมกับการหดเกร็งของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลไปสู่อวัยวะส่วนปลายไม่เพียงพอ ให้รีบรายงานแพทย์

2. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษา
3. สังเกตและสอบถามอาการผู้ป่วยถึงอาการแพ้สารทึบรังสี
4. ในรายผู้ป่วยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ และแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับสารทึบรังสี
5. ภายหลังตรวจ 24 ชั่วโมง เปิดผ้าปิดแผลและทำแผลแบบ Dry Dressing พร้อมทั้งดูแลและแนะนำผู้ป่วยระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำจนกว่าแผลจะหาย ประมาณ 5-7 วัน
6. เมื่อผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน พยาบาลต้องให้แนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามั่ว อาเจียนพุ่ง มีไข้ หนาวสั่น เป็นต้นและการมาตรวจตามแพทย์นัด


การเตรียมผู้ป่วยเพื่อรับการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นสนาม
แม่เหล็ก (MRI)

ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่ต้องงดอาหาร และน้ำดื่ม ยกเว้น ในผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึก ได้แก่ ผู้ป่วยกลัวที่แคบ กลัวเสียงดัง กลัวที่มืด ผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ จำเป็นต้องงดอาหาร และน้ำดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ


1. ซักประวัติ และข้อมูลของผู้ป่วย

1.1 โรคประจำตัว : โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคกลัวที่แคบ กลัวเสียงดัง
1.2 การแพ้ยา : สารเปรียบเทียบความชัดของภาพ (Gadolinium)
1.3 การผ่าตัดใส่โลหะ : เครื่องควบคุม/กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ลิ้นหัวใจ ข้อเข่าเทียม

2. อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการตรวจอย่างคราวๆ
3. แนะนำให้ผู้ป่วยสวมเสื้อที่ไม่มีโลหะ มารับการตรวจ
4. ติดต่อห้องตรวจคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ตามวันนัดตรวจ และควรมาก่อนเวลานัด 30 นาที

 

วิธีการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องตรวจ MRI

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง MRI เราเรียกว่า MRA Brain (Magnetic Resonance Angiography) มีวิธีการตรวจคือ นำผู้ป่วยเข้าเครื่องตรวจ MRI โดยมี Head Coil เป็นอุปกรณ์รับสัญญาณจากการนำคลื่นวิทยุ (RF) เข้าไปกระตุ้นในสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แล้วนำสัญญาณที่ได้ไปสร้างภาพโดยไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี เทคนิคที่ใช้ในการสแกนมี 2 แบบ คือ PCA (Phase Contrast Angiography) และ TOF (Time Of Flight) เป็นเทคนิค 3D T1W_FFE ทั้งสองแบบต่างกันที่ TR และ TE และเวลาที่ใช้ในการตรวจนับตั้งแต่นำผู้ป่วยเข้าห้องตรวจจนกระทั่งออกจากห้องตรวจใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ค่าใช้จ่ายในการตรวจ 10,000 บาท (ราคากรมบัญชีกลาง : ในบางกรณีการทำ MRA Brain จะมีการตรวจ MRI Brain ด้วยซึ่งเวลา และค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มมากกว่าเดิม) ภาพที่ได้เป็นดังรูป

เรานำภาพที่ได้จากการ Scan โดยตรง (raw data) มาทำการสร้างภาพใหม่ (reconstruction) ที่ work station โดยการตัดหลอดเลือดที่ไม่ต้องการออก การหมุนรอบ 180 องศา หรือ หมุนขึ้นลง เพื่อดูขอบเขตของหลอดเลือดที่ต้องการได้หลายมุมมอง วิธีการสร้างภาพใหม่แบบนี้เรียกว่า MIP

การพยาบาลผู้ป่วยขณะรับการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นสนาม
แม่เหล็ก (MRI)
พยาบาลประจำห้องตรวจคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) นอกจากจะดูแลผู้ป่วยขณะรับการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก ต้องดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างตรวจในเครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในขณะตรวจ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และป้องกันการเกิดภาวะหยุดหายใจจากการได้รับยาระงับความรู้สึก ดังนี้คือ

1. ต้อนรับผู้ป่วยและญาติ ด้วยท่าทีที่สุภาพ อบอุ่น เป็นกันเอง เพื่อลดความตึงเครียด ความวิตกกังวล และความกลัวต่อการตรวจ
2. ประเมินความพร้อมของผู้ป่วยซ้ำก่อนเข้าห้องตรวจหลอดเลือดทางรังสี ดังนี้

2.1 ความถูกต้องของตัวบุคคล (Patient Identification) และแผนการรักษา
2.2 ความถูกต้องของใบส่งตรวจ

3 ซักประวัติ และข้อมูลของผู้ป่วย

3.1 โรคประจำตัว : โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคกลัวที่แคบ กลัวเสียงดัง
3.2 ประวัติการผ่าตัดใส่โลหะในร่างกาย โดยเฉพาะเครื่องควบคุม/กระตุ้นการเต้นของหัวใจ
3.3 ประวัติการแพ้สารเปรียบเทียบความชัดของภาพ
3.4 ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างตรวจ: งดอาหาร และน้ำดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ

4 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการตรวจอย่างคร่าวๆ พร้อมกับให้ผู้ป่วยและญาติ เซ็นใบยินยอมรับการตรวจ
5 ดูแลให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล พร้อมทั้งถอดเครื่องประดับ แว่นตา ต่างหู ฟันปลอม
6 นำผู้ป่วยเข้าห้องตรวจ และอุดหูด้วย Ear plugs ทั้งสองข้าง
7 ในผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างตรวจ

7.1 ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจน
7.2 ตรวจวัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital Signs) ทุก 15 นาที

8 เตรียมสารเปรียบเทียบความชัดของภาพ และดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารเปรียบเทียบความชัดของภาพทางหลอดเลือดดำ
9 ลงบันทึกการพยาบาล (Nursing Document) และส่งต่อข้อมูลให้หอผู้ป่วยทราบ

การพยาบาลผู้ป่วยภายหลังการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นสนาม
แม่เหล็ก (MRI)
ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยต้องนอนในเครื่องตรวจเป็นเวลานานประมาณ 15-30 นาที และมีเสียงดัง แต่ไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างตรวจ

1. ก่อนผู้ป่วยลุกออกจากเตียงตรวจ ดูแลและสังเกตอาการวิงเวียนศีรษะ อาจให้ผู้ป่วยนั่งพักรอดูอาการต่ออีกประมาณ 5-10 นาที
2. ดูแลให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน
3. แนะนำการมารับผลตรวจ และอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามั่ว อาเจียนพุ่ง มีไข้ หนาวสั่น เป็นต้น และการมาตรวจตามแพทย์นัด
4. เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

ตารางเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสีย วิธีการตรวจด้วย DSA กับ MRA

วิธีการตรวจ ข้อดี ข้อเสีย
DSA 1.ข้อผิดพลาดเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากตรวจได้ใกล้บริเวณหรือจุดที่สงสัยว่ามีรอยโรคได้มากเพราะใช้สายสวนสอดเข้าไปตามหลอดเลือด 1.ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารก่อนทำการตรวจ
  2.สามารถวินิจฉัยโรคได้ง่าย เนื่องจากเลือดแยกตรวจทีละหลอดเลือด เช่น RICA(right internal carotid artery), LICA(left internal carotid artery), RVA(right vertebral artery),LVA(left vertebral artery) 2.ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสีและมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากต้องมีการเจาะหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ (puncture) เพื่อใส่หลอดสวนและ/หรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ขณะตรวจ ดังนั้นต้องทำหัตถการภายในห้องปลอดเชื้อ
  3.รังสีแพทย์สามารถเห็นภาพหลอดเลือดในขณะทำการตรวจตลอดเวลาและประเมินผลในการที่จะตัดสินใจรักษาไดทันที (embolization) 3.ผู้ป่วยและบุคลากรได้รับรังสี
  4.ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด 4.ผู้ป่วยต้องเข้าพักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 วัน
MRA 1.ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนทำการตรวจ 1.ข้อผิดพลาดเกิดได้ง่าย เนื่องจากบางครั้งสัญญาณที่รับเพื่อนำมาสร้างภาพขาดหาย
  2.ผู้ป่วยมีอัตราเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบแม่เหล็กน้อยมากๆ และภาวะติดเชื้อ (ไม่ต้อง puncture) 2.วินิจฉัยโรคยากกว่า เนื่องจากภาพหลอดเลือดสมองที่ได้จะรวมกันหมด คือ carotid artery และ vertebral artery ทั้งซีกด้านซ้ายและขวา แม้ว่าจะมีการตัดแบ่งดูทีละส่วนแล้วก็ตาม ความแม่นยำยังไม่เท่ากับการทำด้วยเครื่อง DSA
  3.ผู้ป่วยและบุคลากรปลอดภัยจากรังสี 3.ในขณะทำการตรวจ หากผู้ป่วยขยับศีรษะเพียงนิดหน่อย รายละเอียดของภาพจะเสียไปทันที (ภาพไหว) ไม่สามารถวินิจฉัยได้ ต้องเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ต้นทั้งหมด ซึ่งเสียเวลามาก
  4.ผู้ป่วยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล 4.ขณะเครื่องตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กทำงานจะมีเสียงดังมาก และผู้ป่วยต้องนอนในเครื่องตรวจนานประมาณ 15-30 นาที โดยไม่ขยับศีรษะและร่างกาย

สรุป
การตรวจหลอดเลือดแดงสมองด้วยเครื่อง DSA ยังคงเป็น Gold standard อยู่ ซึ่งอาจมีอัตราเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสีหรืออาจติดเชื้ออยู่บ้าง รวมไปถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มากกว่า อย่างไรก็ตามการทำหัตถการในห้อง DSAจำเป็นต้องทำภายใต้การ sterile ที่ดี ละเอียดรอบคอบพิถีพิถันทุกขั้นตอน ผลที่ถูกต้องแม่นยำสามารถวินิจฉัยโรคได้ดีกว่า ย่อมเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการตรวจรักษาโรค ดังนั้น หากเทียบกันระหว่างการตรวจทั้งสองแบบแล้วตัดสินว่าอย่างไหนดีกว่า ย่อมหาคำตอบได้ไม่ยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยและความพร้อมทุกๆ ด้านของผู้ป่วย และความจำเป็นภายใต้การพิจารณาของแพทย์เป็นสำคัญ


เอกสารอ้างอิง

1. กฤษฎี ประภาสวัติ, วลัยลักษณ์ ชัยสูตร และ อภิญญา เจริญศักดิ์. รังสีวินิจฉัย Diagnosis Radiology. กรุงเทพฯ : ที ซี จี พริ้นติ้ง จำกัด, 2546.
2. ชรินทร์ เอื้อวิไลจิต. รังสีวิทยาหลอดเลือด. คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ : บริษัทโฮลิสติกพับลิชชิ่ง จำกัด, 2542.
3. นรา แววศร. รังสีร่วมรักษา. โครงการตำราศิริราช. คณะแพทย
ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์. 2530.
4. Board of the Faculty of Clinical Radiology. Guide for Nursing Care in Interventional Radiology. London : The Royal College of Nursing, 2001.
5. Dagirmanjian A, Ross JS, Obuchowski N, et al : High resolution, magnetization transfer saturation, variable flip angle, time of flight MRA in the detection of intracranial vascular stenosis. J Comput Assist Tomogr,1995 ;19 :700-706
6. Laub G : Display for MR angiography. Magn Reson med, 1990 ; 14:222-229 

 

คำสำคัญ (Tags): #dsa#mra#angio
หมายเลขบันทึก: 161937เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท