บิ๊กแบงก์ติงว่าที่ รมว.คลัง ชี้แค่ลดดอกเบี้ยไม่พอปลุกศก. หวั่นสร้างปัญหา-ฉุดกำลังซื้อ


อดีตผู้บริหารแบงก์ใหญ่ เตือนสติว่าที่รมว.คลัง อย่างคิดอะไรง่าย ชี้แค่ใช้นโยบายลดดอกเบี้ย ไม่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ ซ้ำอาจก่อปัญหาเรื่องรายได้ของผู้ออมเงิน จนไม่มีรายได้มาใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง แนะต้องคำนึงเรื่องเงินเฟ้อ บิ๊กธ.ไทยพาณิชย์ ชี้นโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ชัด คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตประธานสมาคมธนาคารไทย และ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ระบุว่า หากตั้งรัฐบาลแล้ว กระทรวงการคลังจะใช้นโยบายในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าหากจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง เห็นว่าควรจะต้องมีการแจงเหตุผล หรือต้องเข้ามาหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ซึ่งการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จะต้องมีหลายปัจจัยเข้ามาช่วย เช่นจากปัจจัยจากตลาดโลก และความเชื่อมั่นในประเทศร่วมด้วยคงไม่ใช่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง  "จริง ๆ แล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมาจากหลายปัจจัย คือจากตลาดโลก ซึ่งปัจจัยจากตลาดโลกในขณะนี้เห็นว่าเราคงยังพึ่งไม่ได้ และปัจจัยของความเชื่อมั่น ซึ่งโดยเฉพาะปัจจัยความเชื่อมั่น หากใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ควรจะต้องแสดงทิศทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชัดเจน ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจเอง ขณะนี้ก็กำลังที่จะต้องการรวบรวมสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลใหม่ทำ" คุณหญิงชฎา กล่าว ด้านนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยในภาวะปัจจุบันคงลดลงได้ไม่มาก เพราะมีข้อจำกัดในการดูแลเงินเฟ้อและขณะเดียวกันก็ต้องดูแลผู้ฝากเงินโดยเฉพาะกลุ่มเกษียณและคนทั่วไป ซึ่งมีรายได้หลักจากอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้าผลตอบแทนเงินฝากลดลงมาก ๆ อาจจะยิ่งทำให้มีการชะลอการจับจ่ายใช้สอยลงไปอีกจนทำให้เศรษฐกิจกลับกลายเป็นชะลอตัวได้เช่นกัน  นายสมชาย กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเลือกระหว่างการดูแลเงินเฟ้อกับแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ว่าจะได้ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐชะลอรุนแรงแค่ไหน ซึ่งมีการมองกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอรุนแรง  ดังนั้น ถ้าผลออกมาว่าชะลอรุนแรงผลกระทบต่อไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะไปในทิศทางที่รุนแรงด้วย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่แทบทุกประเทศมีสินค้าที่ส่งไปขายที่สหรัฐทั้งนั้น รวมทั้งภาคการลงทุนโดยตรงก็น่าจะมีการดึงเงินกลับ ฉะนั้นภาวะนี้การห่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะเหมาะเพราะเงินเฟ้อ เป็นเรื่องที่เพิ่มตามราคาน้ำมันมันที่ควบคุมไม่ได้ สรุปควรให้เศรษฐกิจเติบโตโดยมีภาวะเงินเฟ้อบ้างน่าจะดีกว่าปล่อยให้เศรษฐกิจหดตัวแบบมีเงินเฟ้อ

ด้านนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จะขยายตัวดีกว่าปีที่แล้วหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ประกอบด้วย       1.การเมืองต้องมีมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจฟื้นตัวมากขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่รวมถึงมาตรการต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้  อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังอยู่เช่นกันคือ เสถียรภาพและนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ที่ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร  และปัจจัยอีกประการหนึ่งก็คือ ความแปรปรวนของปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ เช่น วิกฤติการณ์ซับไพร์มที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ราคาน้ำมันที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก รวมทั้งสถานการณ์ด้านการเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ

 

แนวหน้า  23  ม.ค.  51

หมายเลขบันทึก: 160897เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท